คุยกับ Elect.in.th สื่อเชิง Data คู่มือการเลือกตั้ง และอนาคตของทุกคน

คู่มือเลือกตั้ง

ท่ามกลางข่าวดราม่าการเมือง เชื่อว่ายังมีคนไทยอีกมากมายที่ต้องการข้อมูลที่เป็นเชิง Fact การให้ความรู้ข้อมูล ครั้นจะหา Google ก็มีข้อมูลหลากหลายคนไม่รู้จะเชื่ออันไหนดี เพราะเหตุนี้จึงเป็นเวลาที่เราควรมีสื่อเชิง Data ซึ่งนั่นทำให้เราสนใจอยากที่จะพูดคุยกับทีมงาน Elect.in.th ที่มีคอนเซ็ปต์ชัดเจนตั้งแต่ชื่อเว็บว่าเกี่ยวกับการเมืองการเลือกตั้ง เบื้องหลังงานสดใหม่แบบนี้ไม่ได้ได้มาง่ายๆแน่นอน วันนี้เราพาไปคุยกับ 2 หัวเรือแห่ง Elect.in.th

RAiNMaker: สวัสดีค่ะ ทีมงาน Elect ช่วยแนะนำตัวหน่อยค่ะ

กุ๊งกิ๊ง : สวัสดีค่ะ กุ๊งกิ๊ง ธนิสรา เรืองเดช Project Manager ของโปรเจ็ค Elect ค่ะ

หวี : สวัสดีครับ หวีพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการ The Matter แล้วก็เป็นคนรับใช้กิ๊งในโปรเจ็ค Elect อีกทีนึง (หัวเราะ) ส่วนใหญ่เป็นคนหาข้อมูลครับ

ภาพจากงานเปิดตัว ELECT (elect.in.th)

RAiNMaker: อยากให้เล่าว่าโปรเจ็คนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ มีแนวคิดยังไงในตอนแรก

กุ๊งกิ๊ง : จริงๆ อันนี้เป็นความร่วมมือของ 2 ฝั่งนะคะ หลักๆ เลยก็คือฝั่งที่เป็นสื่อ เป็น Media กับฝั่งที่ทำสายเทคโนโลยี ทำสายดีไซน์ แต่ว่ามีความสนใจในเรื่องของการทำงานสื่อด้วย ตอนเริ่มต้นเกิดจาก  3 หน่วยหลักๆ คือ The MATTER, Boonmee Lab แล้วก็ Minimore ค่ะ

3 คนนี้รู้สึกว่า สื่อกับ Tech น่าจะเกิดอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาได้ เราก็เลยมามองหาว่าความสนใจที่เรามีร่วมกันคืออะไร หลักๆ ก็จะเป็นเรื่องของสังคมเนอะ ประเด็นสังคม ประเด็นการเมือง แล้วประกอบกับว่า จริงๆ มันเริ่มประมาณกลางปีที่แล้วที่คุยกัน มันเริ่มมีกระแสว่าเราจะได้เลือกตั้ง แต่ยังไม่รู้เมื่อไหร่นะ แล้วเราก็รู้สึกว่า เออ มันเป็นเหมือนธงที่อยู่ข้างหน้าว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้น หรือควรจะเกิดขึ้นแน่ๆ เราก็เลยคิดว่า เออ สิ่งที่เราขาดคืออะไร สิ่งที่เราขาดและเราทำได้คือเราทำข้อมูลดีกว่า ทำสื่อเนี่ยแหละแต่เป็นสื่อข้อมูลเพื่อนำไปสู่ธงนั้น เล่าให้คนฟัง นำไปสู่ธงนั้น ก็เลยเกิดเป็น Elect ขึ้นมา

ภาพจากงานเปิดตัว ELECT (elect.in.th)

 

เราเชื่อว่ามันจะมีการเลือกตั้ง แต่เราไม่เคยรู้แน่นอนว่ามันคือวันไหน วันที่เท่าไหร่ เมื่อไหร่ จุดประสงค์ของเราก็แค่ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงวันเลือกตั้ง

 

RAiNMaker: พอเปิดตัวเว็บ กลับมาการเลื่อนเลือกตั้งเมื่อตอนมกราคม มันมีผลกระทบอะไรมั้ยหรือเราเตรียมใจไว้ยังไงบ้าง

กุ๊งกิ๊ง : เราเชื่อว่ามันจะมีการเลือกตั้ง แต่เราไม่เคยรู้แน่นอนว่ามันคือวันไหน วันที่เท่าไหร่ เมื่อไหร่ จุดประสงค์ของเราก็แค่ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงวันเลือกตั้ง แล้วจริงๆ ก็คืออยากจะทำต่อไปด้วยหลังจากเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นแล้วต่อให้เลื่อนอีกกี่ครั้ง หรือว่าเราประกาศไปแล้วเราก็ไม่ได้บอกว่าจะทำแค่ 3 เดือนแล้วหยุด ก็คือ เจตนาเราก็คือปูพื้นฐานให้มันไปถึงวันเลือกตั้งแล้วก็จะยังดำเนินต่อไป เพราะฉะนั้นการเลื่อนเลือกตั้งหลังวันประกาศก็ไม่ได้มีผลกับเราขนาดนั้น

หวี : จริงๆ เราแฮปปี้ด้วยครับเพราะว่าเดิมเราทำงานกันไม่ทัน (หัวเราะ) คือต้องบอกอย่างงี้ จริงๆ โปรเจ็ค Elect เกิดจากลักษณะงานอาสาสมัครอะเนอะ เราไม่ได้ตั้งใจทำกันจริงจัง แต่รู้สึกคันไม้คันมืออยากทำอะไรบางอย่าง เพราะว่ามันจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

ในช่วงที่เริ่มต้นโปรเจ็คจริงๆ เลยนะ บรรยากาศมันมาแล้วว่ามันจะมีการเลือกตั้ง แต่พอเราเปิดตัวไปแล้วก็มีการประกาศว่าเลื่อนเลือกตั้ง ซึ่งจริงๆ มันก็เลื่อนแค่เดือนเดียว เราก็ยังแผนเดิม แล้วก็ในช่วงที่มันมีการเลื่อนเลือกตั้งเราก็เลยคิดงานอื่นๆ ได้เพิ่มเติมด้วยครับ

RAiNMaker: แต่เดิม The MATTER เองก็เป็นสื่อที่พูดถึงประเด็นการเมืองมาเป็นระยะอยู่แล้ว  ทำไมเราไม่ทำภายใต้ชื่อ The MATTER ไปเลย ในเมื่อฐานผู้อ่านอยู่แล้ว

หวี : อันนี้มันเป็นเรื่องน้ำเสียงแล้วก็เรื่องวิธีเล่าด้วย เพราะว่าถ้าเล่าในสไตล์ The MATTER มันจะเป็นการเล่าอีกแบบนึง ในขณะที่ Elect มันเป็นโปรเจ็คร่วมระหว่าง The MATTER, Boonmee Lab แล้วก็ Minimore เราก็อยากเล่าเรื่องข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งง่ายมากที่คนจะไปตีความว่าข้างไหนๆ หรือเล่าด้วยน้ำเสียงแบบไหน มาเล่าในสื่อใหม่ดีกว่า

โดยเราเชื่อว่าคนน่าจะ get message ในเชิงข้อมูลจากสื่อที่มันใหม่จริงๆ มากกว่า คือถ้าเล่าในเชิง The MATTER มันจะเล่าอีกแบบนึง เล่าในเชิง Elect เล่าอีกแบบนึง เล่าเน้น data เล่าเชิง fact เชิงอะไรไป The MATTER จะในเชิงวิจารณ์ วิเคราะห์มากกว่า

กุ๊งกิ๊ง : อีกด้านนึงเราอยากให้สื่อ Elect เนี่ยเปิดให้กับสื่ออื่นๆ เข้ามาแชร์หรือองค์กรอื่นๆ เข้ามาแชร์ ซึ่งตอนเริ่มต้นเราอาจจะเริ่มแค่ 3 ก็จริง แต่ว่าสุดท้ายแล้วเมื่อมันไม่มี Branding ของ The MATTER ติดอยู่มันมีสื่ออื่นๆ มีพาร์ทเนอร์เข้ามาร่วม อย่างเช่นตอนนี้ก็มี iLaw มี Wisesight มี Skooldio รวมถึงมี developer, designer จากหลายๆ วงการ รู้สึกว่าเขาเข้ามาได้ เขาเข้ามาช่วยได้ เขาเข้ามาขอความเห็นได้ ไม่ต้องกลัวว่าจะติดแบรนด์หรืออะไรอย่างงี้ ก็ดูเป็นพื้นที่ที่ open ซึ่งจริงๆ แล้ว ต่อให้เป็นหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนอะไรแบบนี้ค่ะ จริงๆ เราก็ Welcome ถ้าเขาจะมาให้ข้อมูลหรือว่ามาช่วยกันทำงานค่ะ

หวี : พอมันไม่อยู่ภายใต้แบรนด์อะไรบางอย่างมันก็เป็นพื้นที่กลาง ในการที่ทุกคนต้องมาช่วยกันลงแขกเกี่ยวข้าวได้ง่ายๆ

RAiNMaker: รวมถึงการตั้งชื่อด้วยมั้ยคะ เหมือนอยากจะให้เป็นศูนย์กลางข้อมูลการเลือกตั้ง

กุ๊งกิ๊ง : ตอนแรกเราคิดกันหลายชื่อเหมือนกัน แล้วก็โหวตกันซักพักนึงเรารู้สึกว่าคำว่า Elect เนี่ยเราตีความเป็น 2 แบบ หนึ่งก็คือ ‘Election-เลือกตั้ง’ โดยตรง มันก็คือธงแรกที่เราตั้งว่าจะทำไปให้ถึง อันที่สองคือ Elect เราตีความหมายไว้ว่าการเลือก เป็นการเลือกในระดับที่ไม่ใช่แค่เลือกตั้ง แต่ว่าเป็นการเลือกอนาคตของเราได้ ไม่ว่าจะเป็นระดับนโยบาย หรือแบบทั่วไปในชีวิต เช่น สมมติว่าต่อไปหลังเลือกตั้งแล้ว และยังทำต่อได้ในเรื่องของ Active Citizen ก็ได้ว่าคนที่เป็นประชากรอยู่ในเมืองนี้เขามีสิทธิที่จะส่งเสียงยังไงได้บ้างให้กับระดับบริหารรู้เรื่อง หรือว่าเราทำอะไรกันเองได้บ้าง ก็คือเหมือนเป็นเลือกในทุกๆ  ระดับแล้วก็ในหลายๆ บริบท

RAiNMaker: จะเห็นได้ว่ารูปแบบการนำเสนอคอนเทนต์เป็นการใช้ Data เป็นหลัก ซึ่งในความเป็นจริงแล้วคนมักจะชอบอ่านบทความหรือวิดีโอมากกว่าหรือเปล่า ทำไมเราถึงฉีกออกมาเป็น Media Data

หวี : ส่วนตัวผมเชื่อว่าคนอยากอ่าน Data แต่ว่าเป็น Data ที่สนุก ซึ่งสมัยก่อนมันอาจจะไม่มีเครื่องมือในการเล่าที่สนุกแบบนี้ เพราะว่าสื่อก็ยังเป็นสื่อดั้งเดิม หนังสือพิมพ์ ทีวี วิทยุ อะไรพวกนี้ แต่ว่าตอนนี้พอมายุคออนไลน์ ยุคดิจิตอลมันมีเครื่องมือในการเล่นให้สนุกมากขึ้น เราก็เลยเอา Data ซึ่งจริงๆ มันมีอยู่แล้ว ทุกอย่างมันสามารถหาในเน็ตได้หมด ทุกคนหาได้เหมือนกับเราหมดเลย เพียงแต่ว่าเราเอามาใช้เป็นวิธีเล่าให้มันสนุกขึ้นเท่านั้นเอง infographic บ้าง interact บ้าง เล่าด้วยวิธีการอื่นบ้าง

กุ๊งกิ๊ง : พอพูดถึงคำว่า Data ภาพที่ปรากฏมันอาจจะเป็นตัวเลข เป็นกราฟ เป็นโปรแกรมอะไรซับซ้อน แต่ว่าจริงๆ แล้ว Data บางทีมัน Simple กว่านั้น มันง่ายกว่านั้น ยกตัวอย่างเช่น เรานัดเพื่อนที่คาเฟ่ แล้วเราเสิร์ชในเน็ต หรือแอปอะไรซักอย่างเพื่อหาร้านที่ยอดนิยมที่สุด คนไปเยอะที่สุดหรือคนแนะนำมากที่สุด อันนี้จริงๆ เรากำลังใช้ Data อยู่ เพียงแต่ว่ามันถูกเล่าด้วยอีกวิธีนึง แล้ว Elect ก็เลยพยายามจะตีความแบบนั้นว่า ตัวเลข และข้อมูลมากมายสามารถเล่าด้วยวิธีที่ user friendly คือเห็นง่าย เข้าใจง่าย แล้วก็รู้สึกเข้าถึงง่าย

RAiNMaker: ที่ผ่านมาข่าวการเมืองมันมีความดราม่าซะเยอะ เน้นตัวบุคคลซะเยอะ การเลือกตั้งแต่ละครั้งคนไทยก็มักจะไปโฟกัสตัวบุคคลมากกว่า คิดว่า Media Data จะช่วยเรื่องนี้ได้ยังไงบ้าง

หวี : ที่ผ่านมาที่คนไปโฟกัสตัวบุคคลหรือดราม่ามากกว่าเพราะมันไม่ได้มีข้อมูลเชิง Data ให้เขาได้ประกอบการพิจารณา คนถามกันมาตลอดเรื่องการเลือกตั้ง ไม่ใช่ในยุคเราเท่านั้นนะ ยุครุ่นพ่อรุ่นแม่เราก็เหมือนกันว่าแต่ละพรรคมีนโยบายอะไรบ้างแล้วมันเกี่ยวกับเขายังไงบ้าง เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาสื่ออาจจะมีข้อจำกัดอย่างที่บอก ทีวีก็ต้องไปรอข่าวค่ำ หนังสือพิมพ์ก็ต้องรอกรอบเช้าในการออก สื่อจึงเลือกได้แค่ประเด็นเพียงบางประเด็นมานำเสนอเท่านั้น แต่พอเรามีออนไลน์มีอะไรมากขึ้น เราเอา Data ของแต่ละพรรคที่เคยพูดว่ายังไง นโยบายยังไง ที่ผ่านมาเป็นยังไง เอามากางให้ดู ให้แต่ละคน แต่ละพรรคมีข้อมูลครบ เพราะพื้นที่เรามีไม่จำกัด ส่วนคนอ่านเขาจะนำข้อมูลไปประกอบการตัดสินใจมากน้อยยังไง อันนี้แล้วแต่แต่ละบุคคลล่ะ

RAiNMaker: กระบวนการทำงานของ Media Data แตกต่างยังไงจากคอนเทนต์ที่เป็นบทความ พอมันมีเรื่องเทคนิคเพิ่มขึ้นมามีความยากยังไงบ้าง

กุ๊งกิ๊ง : ถ้าคิดจากกระบวนการจากสื่อปกติ ก็จะมีทีมคอนเทนต์เป็นหลัก แล้วก็จะมีทีม Production ซึ่งแล้วแต่ออกมาว่ามันจะออกมาเป็นภาพประกอบแบบไหน หรือว่าเป็นวิดีโอรูปแบบใด แต่ทีนี้สิ่งที่เพิ่มขึ้นมา อย่างที่บอกว่าเราจับมือระหว่างสื่อกับ Tech เพราะฉะนั้นมันต้องมีโฟลว์ใหม่ เราต้องยอมรับว่ามันเป็นสกิลคนละด้าน เราเลยต้องหาคนตรงกลางเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันว่า Content แบบนี้นะ เล่าออกมาแบบนี้ได้นะ

ถ้าให้อธิบายโครงหลักๆ มันจะมี 3 ส่วนในการทำงาน Content, Designer และ Tech แต่ว่ามันไม่ได้ไหลไปตามน้ำขนาดนั้น สมมติว่าเราจะเริ่มงานชิ้นนึง คอนเทนต์จะนั่งรวมกันก่อนแล้วสรุปถึงประเด็นที่สนใจว่าเราจะทำประมาณนี้ หลายๆ ชิ้นออกมา มีเรื่องจะเล่าแบบนี้ๆดีไซน์เนอร์ก็จะนำเสนอว่าวิธีการที่เขาจะทำให้มันออกมาอยู่บนหน้าจอมันจะเป็นรูปแบบไหน ในขณะเดียวกันทาง Developer เขาก็ต้องบอกด้วยว่าสิ่งที่ดีไซน์เนอร์คิดมันเป็นไปได้จริงมั้ย เพราะมันเป็นเรื่องของเทคนิคของในการ Coding ด้วย แล้วจากนั้นก็คือทุกคนก็แยกย้ายไปทำงาน

 

ฝั่งคอนเทนต์ไปหาข้อมูลตามหน้าที่ของตัวเอง จากแต่ก่อนเขียนบทความออกมาเป็นก้อนเดียว ก็เริ่มเรียนรู้การทำงานบน Excel แบ่งข้อมูลเป็นตาราง ให้ Designer และ Tech สามารถดึงไปใช้ได้เลย ก็จะช่วยประหยัดเวลา

 

ส่วน Designer ก็ต้องเข้าใจ Developer ว่าบางทีเราทำกราฟิก เราวางแบบนี้มันง่ายไง มันแค่จับเมาส์ลาก แต่ว่าในเชิง coding มันต้องเขียนเยอะมากนะกว่ามันจะมาเป็นแบบนี้ๆ แล้ว Developer ก็ต้องคิดเยอะมากว่าการอยู่บนหน้าจอ อยู่บนมือถือแต่ละรุ่นมันก็ต่างกัน ทุกฝ่ายต่างปรับการทำงานให้ไปด้วยกันได้ดีที่สุด

RAiNMaker: พอมีข่าว มีข้อมูลที่ไหลมาเยอะมากๆ เราจัดการยังไงในการเลือกประเด็นหรือเลือกข้อมูล

หวี : จริงๆ ข้อมูลเกินครึ่งนึงมันเป็นข้อมูลที่มีอยู่แล้ว ต่อให้ไม่มี Elect มันก็ลง The MATTER อยู่ดี ความยากหรือ Process ที่ต้องใช้เวลา คือการประสานงานมากกว่าอย่างที่กิ๊งเล่าไป ในส่วนของประเด็นที่เราคิดต้นๆ ตอนแรกจะมีแค่ 4 ชิ้น แต่ตอนนี้ล่อไป 10 กว่าชิ้นละ แล้วก็กว่าจะเลือกตั้งก็น่าจะมีซัก 20 กว่าชิ้น ประเด็นส่วนใหญ่คุยๆกันไปแล้วก็ปิ๊งว่ามันน่าจะเล่าเรื่องนี้ๆ หรือเราลองเล่าอะไรไปแล้ว คนอ่านมี feedback อีกแบบนึง มีอีกเรื่องที่เรายังไม่ได้เล่าแล้วเขาสนใจ ก็มาปรับไปเรื่อยๆ แล้วก็ใช้ทักษะความเป็นสื่อในการหาข้อมูล ในการขุดข้อมูล ซึ่งอันนี้ทาง The MATTER ที่นักข่าวเยอะก็จะถนัด แต่ว่า The MATTER ก็จะโยนให้ Boonme Lab และ Minimore แล้วก็พันธมิตรอื่นๆ ไปคิดวิธีในการเล่ามา แล้วเราก็ช่วย feedback กลับไป จนกว่าจะสำเร็จออกมาในที่สุด

 

สิ่งที่ช่วยได้คือเทคโนโลยี เอาเข้ามาช่วยประมวลผลข้อมูลจำนวนมาก สองคือหน้าตาที่ออกไป  Visualization ที่ออกไปมันก็แตกต่าง Interactive มากขึ้น ให้คนได้ Learning ด้วยตัวเองมากขึ้น ค้นหาคำตอบด้วยตัวเองมากขึ้น ซึ่งประเด็นที่คนอ่านเอาไปคิดต่อก็อาจจะไม่เหมือนกันก็ได้  – กุ๊งกิ๊ง

 

หวี : อีกอย่างเราดูตามความจำเป็นที่ต้องเล่า แล้วก็จังหวะเวลาว่ามันควรจะเล่าช่วงไหน เช่น พอใกล้เลือกตั้งแล้วคนคงอยากรู้แล้วแหละว่าบ้านตัวเองมีใครเป็นผู้สมัครส.ส.บ้าง แต่ว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องหรือก.ก.ต.เขาไม่ทำ เขายังทำไม่เสร็จดี พูดงี้ดีกว่า เราก็เลยทำเพื่อสนองความต้องการของคน พอปล่อยออกไปแล้วก็รับ feedback มาดูว่าคนต้องการอะไรต่อ แล้วเราก็ทำเพิ่มไป

อย่างถ้าไปดูในเพจ Elect ก็จะมีสรุปเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งสั้นๆ ก่อนหน้านี้เราเชื่อว่าเล่าชิ้นยาวทีเดียวจบแล้วคนน่าจะเข้าใจทั้งหมด ปรากฏว่ามันไม่ใช่ มันอาจจะยากไป การเล่ายาวมันอาจจะกันคนบางส่วนออกไป เราก็เลยหยิบแค่บางแง่มุมมาเล่าเรื่อยๆ หรือว่าสรุปนโยบายแต่ละพรรคมาเล่าเรื่อยๆ เราก็ปรับไปตามพฤติกรรมของคนนะ เพราะเราก็มองตัวเองว่าเราเป็นสื่อแบบหนึ่งที่จะให้ข้อมูลคนก่อนการเลือกตั้งที่กำลังจะจัดขึ้น

กุ๊งกิ๊ง : คือต้องบอกว่ามันเกิดจากการที่เราอยากรู้ว่าเราจะออกไปเลือกตั้ง เพราะมันมีให้ลงเลือกตั้งล่วงหน้าแล้ว แต่ยังไม่รู้เลยว่าบ้านเรามีใครลงสมัครบ้าง ป้ายหาเสียงเต็มไปหมดเลย ทำไมถึงไม่แหล่งข้อมูลออนไลน์ซักทีนะ น้องในทีมที่เป็น Developer เขาก็เสนอมาว่า ทำแบบนี้มั้ยพี่ โครงสร้างแบบนี้ ดีไซเนอร์ก็เอาไอเดียมาครอบ แล้วก็บอกว่าในเชิงปฏิบัติทำได้ แต่ว่าสุดท้ายแล้วเราไม่มีข้อมูลอะ เราไม่มีจริงๆ เราก็หาเท่าที่หาได้ก่อน ซึ่งโอเค มันอาจจะยังไม่ครบ ซึ่งอันนี้ก็ยังอยู่ในกระบวนการอัพเดทข้อมูลที่ถูกต้องต่อไปเรื่อยๆ ค่ะ จริงๆ ยังทำอยู่ ทำอยู่เรื่อยๆ

RAiNMaker : เนื่องจาก Media Data ค่อนข้างใหม่กับคนไทย มีวิธีการสื่อสารยังไงให้เขารู้ว่าเราสามารถมันกลับเข้ามาดู Data เหล่านี้ได้เรื่อยๆ นะ โดยเฉพาะตัว Social Listening

หวี : ส่วนตัวพี่และทีมเชื่อว่าคนจะเข้ามาดูเรื่อยๆ เนื่องจากพอข้อมูลมันเยอะ คนลืมแน่นอน ต้องกลับเข้ามาดูว่าข้อมูลที่เขาเข้าใจมันถูกมั้ย อีกอย่างการเลือกตั้งหนนี้กติกามันซับซ้อน ทุกคนต้องการเวลาในการทำความเข้าใจ ไม่ค่อยเชื่อว่าเขามาอ่านบทความชิ้นนึง อ่านครั้งเดียวปุ๊บ จบ แล้วจบไป เขาก็น่าจะอยากรู้อัพเดทข้อมูลว่าวีคนี้โซเชียลพูดถึงเรื่องอะไร พักนี้โพลพูดถึงแต่ละพรรคว่ายังไงบ้าง มันจะมีความคืบหน้าอยู่เรื่อยๆ

กุ๊งกิ๊ง : คือนอกจากชิ้นใหญ่ที่เราทำแล้วปล่อยออกมาแล้ว ในทุกๆ ชิ้นเราจะคิดต่อไปว่าเราหยิบตรงไหนมาเล่าได้อีกบ้าง หรือเมื่อถึงวาระไหนที่เราควรจะหยิบชิ้นนี้ออกมาเล่าได้อีก เพื่อให้คนกลับเข้าไปสู่ฐานข้อมูลใหญ่ของเรา เช่น เราเคยทำชิ้นเลื่อนเลือกตั้งครั้งนึง คือชิ้นแรกๆ เลยที่เราทำ เป็นช่วงแรกๆ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนมั้ง ปีที่แล้ว แล้วเมื่อเดือนมกราคมที่มันมีกระแสเลื่อนเลือกตั้งออกมา เราก็หยิบชิ้นนั้นออกมาย่อยในรูปแบบของอัลบั้มโพสต์

ก็คือเหมือนแปลงจาก media ที่เรามีอยู่แล้วมาเปลี่ยนวิธีเล่าเมื่อมันมีกระแสหรือเมื่อถึงสเต็ปที่คนควรรู้ หรือแม้แต่อย่างนโยบายอะค่ะ ที่พี่หวีบอกว่าจริงๆ มันมีอยู่ในเว็บไซต์ที่เปรียบเทียบพรรคต่างๆ มีนโยบายเลื่อนลงมาเป็นเหมือน fact sheet แต่ทีนี้ก็คือ Elect ก็หยิบมาเล่าเป็นชิ้นทีละชิ้นย่อยๆ มันมีวิธีการที่ไม่ได้ปล่อยให้มันแค่ค้างอยู่ในนั้น เพียงแต่ว่าหยิบ element บางอย่างออกมาเล่าเมื่อถึงเวลา แล้วก็เปลี่ยนรูปแบบมันไปเรื่อยๆ

RAiNMaker : ถ้าในมุมมองคนอ่านบ้างค่ะ ในยุคนี้มันเป็นครั้งแรกที่การเลือกตั้งมีสื่อ Social ทีม Elect คิดว่ามันจะมีผลเปลี่ยนแปลงกระแสมาเป็นคะแนนยังไง

หวี : มันน่าจะทำให้คนมีข้อมูลในการตัดสินใจมากขึ้น เพราะว่าสิ่งที่ Elect ทำเพื่อสนองความอยากรู้คนมันคือสิ่งที่คนอยากรู้มานานอยู่แล้ว หรือว่าที่ผ่านมาสื่ออาจจะเข้าถึงยากไปมั้ย วิธีในการเล่ามันไม่สามารถเล่าได้สนุกแบบนี้ เล่าได้ใช้หลายๆ วิธีด้วยกัน จริงๆ มันมีตัวอย่างจากประชามติในปี 59 ที่ว่าใน social กระแสเป็นแบบหนึ่งแต่ผลออกมาเป็นแบบหนึ่ง

คิดว่าน่าจะมีผลมั้ย โซเชียลน่าจะมีผล มีผลต่อการรับรู้ของคนแน่นอน แต่ว่ามีผลมากน้อยแค่ไหนอันนี้ยังตอบยาก แล้วก็ต้องการการวิจัยอะไรอีกเยอะ เพราะว่าแม้กระทั่งประเทศซึ่งอินเตอร์เน็ตเข้าถึงคน 100% ในโซเชียลกระแสเป็นแบบหนึ่ง แต่ว่าผลในการโหวตออกมาจริงๆ มันเป็นอีกแบบหนึ่ง เพราะว่าคนมีแหล่งข้อมูลในการหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจแล้วมี source หลายแหล่ง ไม่ใช่แค่สื่อโซเชียลที่เดียว

RAiNMaker: แล้วประเด็นของ Fake News ที่เกิดขึ้นมากมาย ทางทีมมองว่ายังไงบ้าง มีการคัดกรอง หรือว่ามีจุดสังเกตอะไรบ้าง

กุ๊งกิ๊ง : จริงๆ อันนี้ Wisesight ช่วยเราอยู่ประมาณนึงค่ะในการเลือกแหล่งที่น่าเชื่อถือสำหรับการดึงข้อมูล ถ้าสมมติว่าเราตั้งโจทย์ไว้ว่า ‘เลือกตั้ง’ มัน match กับพรรคการเมืองไหนบ้างในสัปดาห์นี้ ซึ่งจริงๆ มันมีเยอะมากอยู่แล้วเนอะใน Twitter ใน Facebook ใน Pantip อย่างงี้ค่ะ แต่ Wisesight ก็ช่วยเรากรอบข้อมูล เช่น เลือก Official Account ของบุคคล ของ Candidate นายก ของพรรคการเมือง หรือของสำนักข่าว แล้วก็การมี keyword ต่างๆ ออกมาเพื่อให้ข้อมูลที่ได้มา มาจากคนที่ได้รับการยอมรับว่ามันเป็นทางการมากที่สุด อะไรอย่างนี้ค่ะ เพื่อป้องกันการเกิดความเข้าใจผิดต่างๆ หรือแม้แต่เวลาเรากำลัง report แต่ละครั้งก็จะมีการอ่านเพื่อ recheck ก่อนทุกครั้ง

หวี : เราพยายามอิงจาก source ซึ่งทางการ ส่วน source นั้นเขาจะพูดข้อมูลจริง-เท็จอะไรอันนี้เราไม่รู้ เราไม่มีหน้าที่ตัดสิน เพียงแต่ว่าเราพยายามดึงจากแหล่งข้อมูลที่มันน่าเชื่อถือได้  แล้วก็ให้ลิงก์ไปว่าเราดึงข้อมูลมาจากไหนเพื่อที่คนจะได้เช็คได้

RAiNMaker: แล้วอย่างเมื่อกี๊ที่เหมือนเกริ่นไปแล้วเล็กน้อยแล้วว่าหลังเลือกตั้ง Elect จะดำเนินต่อไป ตรงนี้ปูทางไว้ยังไง

กุ๊งกิ๊ง : คือวิธีคิดเรายังคงเหมือนเดิมก็คือเราจะทำสื่อข้อมูลเหมือนเดิม เพียงแต่ว่ามันอาจจะไม่ใช่แค่เป็นเรื่องการเมืองการเลือกตั้งแล้ว อย่างที่บอกว่ามันมีอีกหลายประเด็นที่จะนำไปสู่การเป็น Active Citizen ได้ อย่างเรื่องของการศึกษาหรือว่า Single Issue ต่างๆ คือรูปแบบอาจจะคล้ายๆ เดิมคือเป็นสื่อที่นำเสนอด้วย data มี visualization มีทีมข้อมูล design แล้วก็ทาง tech เหมือนเดิม

เพียงแต่ว่าประเด็นอาจจะกว้างมากขึ้น อย่างเช่นที่เราคิดเร็วๆ ก็คืออย่างเรื่องการศึกษา เรื่องการขนส่งสาธารณะอะไรอย่างนี้ค่ะ โดยที่เราก็จะมี welcome partner เข้ามาเรื่อยๆ มาร่วมทำงานกับเรา แล้วแต่ว่าในแต่ละเดือนก็อาจจะมีปล่อยเป็นชิ้นๆ ในแต่ละ Issue ไป แล้วก็อันนี้เป็นความคาดหวังว่าถ้าเราได้รับการสนับสนุนจากองค์กรหรือว่าอะไรก็แล้วแต่เนี่ย มันอาจจะขยับไปได้ไกลกว่านี้ เช่น อาจจะมีการจัดอีเวนท์มากขึ้น มีสิ่งที่เป็นสิ่งพิมพ์มากขึ้น ซึ่งจริงๆ อันนี้ก็พูดได้ว่าเดี๋ยวเรากำลังจะผลิตการ์ดเกมประชาธิปไตยเพราะว่ามีผู้สนับสนุนเราเป็น NGO จากเยอรมัน แล้วเราก็หวังว่ามันจะมีแบบนี้ออกมาเรื่อยๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนไอเดียของ Active Citizen ต่อไป

 

คือมองอย่างงี้ว่า คือถ้าเลือกตั้งมันเป็นเส้นอะไรบางอย่างเนี่ย ก่อนเลือกตั้งมันจะมีช่วงซึ่งทุกคนออกมาให้คำสัญญาต่างๆ มากมาย หลังเลือกตั้งก็เป็นช่วงของการทวงสัญญาว่าเขาทำตามได้มากน้อยแค่ไหน ก่อนหน้านี้อาจจะมีการทวงบ้างนิดหน่อยแต่ว่ายังไม่มีการรวมคำสัญญาอย่างเป็นระบบเท่าไหร่

 

หวี : คือถ้าเราถามว่านิยามตัวเองยังไง Elect นิยามตัวเองว่าเป็นสื่อข้อมูลการเมืองและการเลือกตั้งไทย คือเราไม่ได้ทำแค่เลือกตั้งแล้วจบเท่านั้นแต่ว่าทำเรื่องการเมืองด้วย เราหวังว่าเราจะเป็นฐานข้อมูลที่ Active Citizen ทั้งหลายนำข้อมูลของเราไปทวงถามคนที่เคยให้สัญญาไว้ว่า เคยสัญญาไว้แบบนี้ไง แล้วทำตามได้จริงหรือเปล่า เพราะว่าคนชอบพูดว่านักการเมืองก่อนเลือกตั้งก็สัญญาปากเปล่า เพ้อฝันไป ทำตามไม่ได้จริงหรอก เนี่ยเรารวมข้อมูลไว้ละ ให้คุณเอาข้อมูลของเราหยิบไปถามว่า เมื่อไหร่จะทำตามสัญญา

คู่มือการเลือกตั้ง

RAiNMaker: หรือเป็นไปได้มั้ยว่า Elect เองจะเป็นคนผลักดัน Issue บางอย่างเข้าไปสู่รัฐสภาหรือเข้าไปสู่องค์กรที่ขับเคลื่อนอะไรสิ่งต่างๆให้เป็นจริงได้

หวี : อันนี้มันใช้พลังเยอะ เราก็เลยวาง Position ตัวเองเป็นฐานข้อมูลก่อน เพราะว่าเรามองว่า ไม่ว่าการผลักดัน การขยับเขยื้อน หรือการสร้างแคมเปญต่างๆ ก็ตามมันต้องเริ่มต้นจากการมีข้อมูลก่อน ส่วนใครจะเอาข้อมูลของเราไปผลักดันอันนี้เรายินดี แต่ว่าถามว่าเราจะผลักดันเองมั้ย ตอนนี้ยังไม่มีกำลังคนพอในการผลักดันมากกว่า

กุ๊งกิ๊ง : กิ๊งมองว่าน่าจะเป็นคนละฝ่ายด้วยมั้ง ตามความถนัด คือเราถนัดในด้านการรวมข้อมูลมาให้ นำเสนอ เล่าให้ฟัง กระตุ้นให้เกิด Awareness บางอย่าง แต่ว่าในเรื่อง Call To Action เชื่อว่ามีคนที่ถนัดกว่าเราอยู่แล้ว ในการทำสิ่งเหล่านี้ เพียงแต่ว่าเราอาจจะสนับสนุนเขาในด้านที่ว่าถ้าคุณต้องการข้อมูลก็หยิบไปใช้เลย เอาไปใช้เลย บอกเขาเลยว่ามีสิ่งนี้อยู่

RAiNMaker : สุดท้ายอยากให้ฝากถึงเรื่องเกี่ยวกับการเสพข่าวสารก่อนจะเข้าคูหารอบแรก วันที่ 17 มีนาคมนี้ และการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม

หวี : ก็อยากให้หาข้อมูลเยอะๆ ก่อนจะเข้าไปเลือกตั้ง เพราะว่าเอาจริงๆ ตอนนี้ไม่ใช่แค่ Elect ที่เดียว แต่ว่าหลายๆ สื่อก็ตามก็พยายามนำเสนอข่าวในเชิง Data พยายามนำเสนอข่าวในเชิง Creative มากขึ้น เชื่อว่าเอาจริงๆ ข้อมูลที่อยู่รายรอบตัวเรามันมีพอละในการตัดสินใจ อยู่ที่ว่าคุณจะเลือกหยิบจับอะไรขึ้นมา แล้วก็พยายามเลือกสื่อ จากแหล่งที่มันมีตัวตนและเชื่อถือได้เท่านี้พอครับ

กุ๊งกิ๊ง : คือจริงๆ ไม่ต้อง Elect ก็ได้ค่ะ อะไรก็ได้ที่จะทำให้คุณรู้สึกว่าการไปเลือกตั้งครั้งนี้ การเดินเข้าคูหากากบาทครั้งนี้มันเป็นกากบาทที่คุ้มค่าที่สุดที่จะตัดสินอนาคต คือมันมีคำถามเยอะมากว่าแค่ 1 คน แค่ 1 เสียงมันจะมีพลังอะไรขนาดนั้นเหรอ จริงๆ มันมี เพราะว่า 1 เสียงของคนร้อยคน พันคน ล้านคนพอรวมกันแล้วมันเปลี่ยนอะไรได้จริงๆ 1 กากบาทของคุณมีความหมาย จงหาข้อมูลให้ดีซะ แล้วก็ไปเลือกในวันนั้น ไม่ว่าจะเลือกล่วงหน้าหรือว่าเลือกในวันจริงก็ตาม

ติดตาม RAiNMaker เพิ่มเติมได้ที่

Facebook : RAiNMaker
Twitter : RAiNMakerTH

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save