ชวนรู้จักโลกของ ‘NFT’ สไตล์ BitToon สิ่งสำคัญที่ครีเอเตอร์สายดิจิทัลอาร์ตควรรู้

BitToon ชื่อนี้หลาย ๆ คนคงคุ้นเคยกันดีกับเพจ Facebook ที่คอยให้สาระความรู้พร้อมอัปเดตเทรนด์โลกในสไตล์การ์ตูนแก๊กหัวกลมที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งนอกจากเขาจะชอบท่องโลกดิจิทัลตามหาเทรนด์ใหม่ ๆ  และนำมาบอกเล่าให้ลูกเพจฟัง ตอนนี้ BitToon ก็ได้ก้าวเข้ามาสู่โลกของ NFT แล้ว

NFT เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับครีเอเตอร์ ด้วยการพื้นที่ให้สร้างสรรค์ผลงาน และมีกลุ่มนักสะสม (Collector) ที่พร้อมจะจับจองผลงานของเรา แต่แน่นอนว่าโลกดิจิทัลอาร์ตนี้ไม่ใช่แค่อยากเข้าไปก็เข้าได้ เพราะมีราคาที่ต้องจ่าย และครีเอเตอร์เองก็ควรทำการบ้านเพื่อรู้จักโลกนี้ให้ดีพอเช่นกัน วันนี้ทาง RAiNMaker เลยอยากจะพาทุกคนมาทำความรู้จักโลก NFT ในสไตล์ BitToon กัน!

กว่าจะมาเป็น BitToon ในโลก NFT  

จากเพจการ์ตูนแก๊กให้ความรู้ เปลี่ยนมาสู่การวงการ Mint ผลงานขายบนโลก NFT นั้นไม่ง่ายเลย แต่ในฐานะที่ BitToon เป็นบล็อกเกอร์ ก็เลยอยากที่จะก้าวเข้าไปลองทำความรู้จักกับโลก NFT ด้วยความเข้าใจจริง ๆ จากการลงทุนคริปโตเล็ก ๆ น้อย เพราะถือคติว่า

อยากรู้อะไรก็ลองแหย่ขาลงไปก่อน

และเพราะอยากที่จะเป็นบล็อกเกอร์แรก ๆ ที่เขียนให้ข้อมูล และเกร็ดสาระความรู้เกี่ยวกับ NFT หลังจากที่ลงทุนคริปโตมานานถึง 4-5 ปี ทาง BitToon ก็เลยเลือกที่จะเริ่มค้นหาตัวตน และสร้างเอกลักษณ์ของผลงานตัวเอง จนออกมาเป็นผลงานชิ้นแรกที่มีชื่อว่า ‘Mission To The Moon!’ ที่ขายบน Foundation ไปได้มากถึง 4.55 ETH หรือประมาณ 300,000 บาทเลยทีเดียว

Mission To The Moon!

ผลงานชิ้นแรกที่ BitToon ได้สร้างสรรค์ออกมา และก็ได้รับความสนใจจากเหล่าคอลเลกเตอร์เป็นจำนวนมาก ซึ่งในปัจจุบันมียอดประมูล Last Sold ครั้งล่าสุดอยู่ที่ 4.55 ETH หรือประมาณ 300,000 บาทเลยทีเดียว

ซึ่งแนวคิดของผลงานนี้มาจากแนวคิดที่ว่าทุกเหรียญคริปโตมีหน้าที่ต่างกัน เกิดมาด้วยจุดประสงค์ต่างกัน มาแก้ปัญหาของโลกต่างกัน แต่มีจุดหนึ่งคือ ‘To The Moon’ เปรียบเสมือนกับเหรียญนั้น มีกำไรพุ่งทะยาน ถล่มทลายไป เลยนำคาแรกเตอร์ของ BitToon มาผสมผสานกับเหรียญต่าง ๆ ในโลกคริปโตช่วยกันสร้างจรวดเพื่อพุ่งทะยานไปด้วยกันนั่นเอง

นิยามของ NFT ฉบับ BitToon 

โดยปกติแล้วหลายคนอาจจะเข้าใจว่า NFT หรือ Non-Fungible Token หมายถึงแปลว่า เหรียญหรือโทเคนที่ทดแทนไม่ได้ เพราะโทเคนแต่ละชิ้นจะมี DNA Digital เป็นของตัวเอง ซึ่งถูกกำหนดให้มีเพียงชิ้นเดียวแม้จะถูกทำซ้ำก็ตาม

แต่ NFT สำหรับ BitToon คือ Ownership หรือเครื่องแสดงความเป็นเจ้าของบนโลกดิจิทัลที่โลกอินเทอร์เน็ตทำให้ไม่ได้ เพราะมันต่างกันตรงที่โลกอินเทอร์เน็ตไม่สามารถรู้ได้เลยว่าข้อมูล ไฟล์รูป คลิปหรือสื่อมีเดียต่าง ๆ มีต้นตอมาจากไหน เพราะทำสำเนากันไปมา

แต่โลก NFT จะสามารถบอกได้ว่าสิ่งเหล่านั้นมีเจ้าของเป็นใคร รวมไปถึงเจ้าของงานก็สามารถแทร็กกิ้งได้ด้วยว่าใครบ้างที่มีผลงานของตัวเองอยู่เป็นใคร หรือว่าอยู่ที่ไหน เสมือนกับทำให้เราสร้างคอนเน็กชันได้มากขึ้น และต่อให้ดาวนห์โหลดหรือแคปไปได้ ก็ไม่ได้มีมูลค่าเท่ากับงานออริจินัลอยู่ดี

ปัจจัยสำคัญบนโลก NFT  

  • ศิลปินและครีเอเตอร์ที่สร้างผลงาน 

โลกของ NFT นับว่าเป็นโอกาสที่ดีให้กับเหล่าครีเอเตอร์ที่ได้มีพื้นที่จัดแสดงผลงานเพิ่ม ไม่ว่าจะมีชื่อเสียงมาก่อนหรือไม่ หรือเป็นใครมาจากไหนเหล่าคอลเลกเตอร์ก็ไม่ได้มองว่าสำคัญ เพราะผลงานจะเป็นตัวชี้วัดในโลกนี้เอง

เพราะเหตุผลนี้ศิลปิน ครีเอเตอร์ นักวาด นักดนตรี หรือไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามที่อยากมาสร้างผลงานที่มีชิ้นเดียวบนโลก NFT นับว่าตอบโจทย์เป็นอย่างมาก

  • คอมมูนิตี้ของครีเอเตอร์ 

แต่นอกจากการสร้างผลงานแล้ว เรื่องของคอมมูนิตี้เองก็สำคัญไม่แพ้กันเลย เพราะยิ่งครีเอเตอร์สามารถสร้างผลงาน และคอมมูนิตี้ไปพร้อมกันได้เท่าไหร่ ก็สามารถสร้างความน่าเชื่อถือ และทำให้คอลเลกเตอร์เกิดความภักดี (Loyalty) ได้ง่ายขึ้น เพราะพวกเขาจะคอยซัพพอร์ตเราทุกครั้งที่มีผลงานใหม่ ๆ เพราะถ้าคอมมูนิตี้แข็งแกร่ง ก็ยิ่งทำให้สภาพคล่องซื้อขายมันดี และ NFT มีมูลค่ามากขึ้น

  • พฤติกรรมของคอลเลกเตอร์เปลี่ยนไป 

แม้ยุคแรกเหล่าคอลเลกเตอร์จะไม่สนว่าครีเอเตอร์ที่สร้างผลงานมีชื่อเสียงไหม หรือเป็น Newbie หน้าใหม่ในวงการเลย ซึ่งผลงานที่ชอบก็จะถูกประมูลเพื่อให้ได้เป็นเจ้าของ โดยมีแค่ความรู้สึกชอบเป็นตัวตั้งเท่านั้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันนี้สิ่งเหล่านั้นมันได้เปลี่ยนไปแล้ว

เพราะนอกจากยุคสมัยของโลก NFT จะเปลี่ยนแล้ว พฤติกรรมการซื้อของเหล่าคอลเลกเตอร์ก็เปลี่ยนไปเช่นกัน เพราะงานที่สร้างขึ้นมา คนเริ่มจะตั้งคำถามต่อแล้วว่าสามารถนำไปทำอะไรต่อได้บ้างนอกจากการตั้งโปรไฟล์ให้รู้ว่าตัวเองประมูลมา จึงเป็นอีกหน้าที่หนึ่งของครีเอเตอร์ต้องคิดเพิ่มขึ้นว่าผลงานนี้จะต่อยอดอย่างไรได้บ้าง เช่น การนำผลงานในโลกดิจิทัลไปแลกเป็นผลงานของจริงจับต้องได้ นำไปแลกเป็นของพรีเมียม หรือเอาไปรับเป็นโทเคนได้อีก เป็นต้น

จุดเปลี่ยนของวงการ NFT ในปัจจุบัน

  • ครีเอเตอร์มีมากกว่าคอลเลกเตอร์ 

เพราะ NFT เป็นโลกอาร์ตดิจิทัลที่ไม่ว่าใครก็อยากลองเข้ามาลงสนามด้วยการสร้างผลงานที่มีความเป็นตัวเองให้โลกได้รับรู้ แม้แต่คนที่วาดรูปไม่เป็นก็อยากจะเข้ามาลองอะไรสนุก ๆ ในวงการนี้

แต่ถึงจะดูเป็นวงการที่เข้าง่าย คนเข้ามาเยอะ จนครีเอเตอร์มีปริมาณมากกว่าคอลเลกเตอร์ที่คอยซื้อไปแล้ว เกิดเป็นปัญหาที่ Demand ไม่สมดุลกับ Supplies นั่นเอง

  • ไม่ได้มีแค่งานวาดภาพเหมือนแต่ก่อน 

วงการ NFT ส่วนใหญ่คนจะเข้าใจว่ามีแต่การประมูลผลงานแบบวาดภาพ หรือรูปดิจิทัล แต่ในปัจจุบันโลกของ NFT นั้นกว้างขึ้นเยอะมาก ๆ จนสามารถแยกเป็นคอมมูนิตี้ของตัวเองได้เลยก็มี ซึ่งผลงานที่ไม่ใช่ภาพวาดก็จะมี ภาพถ่าย, ป้ายหลุมศพ NFT, Non-Avatar Generative Art การใช้อัลกอริทึมสร้างงานศิลปะ และร้านขายชื่อต่าง ๆ เป็นต้น

  • งานสวยไม่ได้แปลว่าจะขายได้ 

จากเดิมในยุคแรกของโลก NFT นั้นเหล่าคอลเลกเตอร์จะเลือกเก็บผลงานที่คิดว่าสวยไว้ก่อน แต่ในปัจจุบันนี้แค่วาดสวยนั้นมันไม่พอ แต่จะต้องมีความแปลก และพร้อมที่จะสร้างต่อกันเป็นคอลเลกชันออกมาอย่างสม่ำเสมอตามซีซันด้วย

เพราะเป็นสิ่งที่การันตีให้กับคอลเลกเตอร์ว่าครีเอเตอร์ที่พวกเขาชอบนั้นมีการอัปเดตตลอด และตลาด NFT ก็เริ่มรู้แล้วว่างานแบบไหนเหมาะสม และขายได้ หรืองานแบบไหนที่ไปต่อได้ ซึ่งไม่ได้แค่ขายแล้วได้กำไรแบบแต่ก่อนแล้ว

  • คอลเลกเตอร์อยากรู้จักครีเอเตอร์มากขึ้น

แม้ผลงานจะเป็นเหตุผลแรกที่ทำให้เหล่าคอลเลกเตอร์เลือกซื้อ แต่ตอนนี้พวกเขาอยากรู้จักครีเอเตอร์ที่สร้างผลงานมากขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นประวัติก่อนหน้านั้นว่าเคยมีผลงานอะไรมาบ้าง หรือแม้แต่คอนเน็กชันของครีเอเตอร์ก็สำคัญเช่นกัน ดังนั้นครีเอตเอร์หน้าใหม่ ๆ จึงต้องสร้างตัวตนพอสมควร รวมถึงสร้างคอมมูนิตี้ให้คนไปคุยกันเกี่ยวกับงานของเราเอาไว้ด้วยก็ดี เช่น กลุ่มใน Discord เป็นต้น

How To เริ่มเป็นครีเอเตอร์ในโลก NFT 

ความเสี่ยงก่อนจะเข้ามาทำ NFT ที่ครีเอเตอร์ควรรู้ 

  • การมีความรู้เรื่องเหรียญคริปโต และกระเป๋า Wallet 

การเป็นครีเอเตอร์ในโลก NFT ต่างจากในโลกปกติตรงที่ต้องเข้าใจเรื่องของ Wallet หรือกระเป๋าที่ใช้เก็บเงินของตัวเองให้ดี เพราะจะมีเรื่องของการโอน และเชนต่าง ๆ เข้ามาด้วย เพราะมีกระเป๋าให้เลือกเก็บเงินต่างกัน

    • กระเป๋าแบบ Custodial Wallet: เป็นกระเป๋าที่ทาง Exchange คอยดูแล และเก็บรักษาเงินให้
    • กระเป๋าแบบ Non-Custodial Wallet: เป็นกระเป๋าที่ครีเอเตอร์ต้องคอยดูแล และเก็บรักษาเงินทั้งหมดด้วยตัวเอง และหากลืมพาสเวิร์ดก็ไม่สามารถนำเงินออกมาได้ รวมถึงเสี่ยงต่อการถูกมิจฉาชีพแฮกด้วย
  • การคำนวณค่าแก๊สเพื่อ Mint งาน 

การลงผลงาน NFT หรือ Mint บน NFT นั้นไม่ฟรี เพราะการลงผลงานนั้นต้องมีต้นทุน คือ แก๊ส พราะการทำ NFT ต้องลงเงิน ค่าแก็ส และต้องอยู่บน Blockchain เมื่อสร้างงานแล้วการเปิดขายประมูลจะมีค่าแก็ส

เพราะโลกของ Blockchain เหมือนถนน การทำธุรกรรมก็เหมือนรถที่อยู่บนถนน พอคนเข้ามาเป็นจำนวนมากก็เลยเกิดเหตุการรถติด เลยมี ‘Gas War’ หรือสงครามการประมูลค่าแก็สเกิดขึ้น ฉะนั้นอยากให้รถเคลื่อนเร็วก็ต้องอัดแก็ส จ่ายแพงเพื่อให้ได้ผลงานนั้นมา เพราะค่าแก็สขึ้นอยู่กับว่าเชนนั้นมีธุรกรรมจำนวนมากน้อยแค่ไหนด้วย

โดยค่าแก๊สจะมีเรทขึ้นลงไปตามวันเสมือนหุ้นเลยก็ว่าได้ เมื่อจะลงงานทีต้องเช็กค่าแก๊สต่อวันเลยทีเดียว (เช็กได้จาก Google เลย) ถ้าวันไหนค่าแก๊สถูกก็โชคดีไป เพราะบางครั้งมีครีเอเตอร์เสียค่าแก๊สไปมากกว่ากำไรจนขาดทุนก็มี

  • การแทร็กกิ้งในโลก Blockchain 

เพราะโลก NFT สามารถให้ครีเอเตอร์แทร็กกิ้งหรือติดตามเหล่าคอลเลกเตอร์ที่ถืองานของตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน และใน Wallet มีอะไรบ้าง ถือเป็นเรื่องความเป็นส่วนตัว (Privacy) ที่โลก NFT ยังไม่สามารถจัดการกับมันได้ 100%

แต่ก็มีหลายโปรเจกต์กำลังแก้ไขให้ปกปิดข้อมูลส่วนตัวเหล่านั้นได้ มีทั้งปกปิดคนส่ง ปกปิดคนรับ และปกปิดการส่ง ไปจนถึงการปกปิดข้อมูลทั้งหมด ซึ่งยังคงเป็นเรื่องของอนาคต เพราะต้องใช้ภาษาคอมพิวเตอร์นั่นเอง

  • ความเสี่ยงของผู้ไม่หวังดี

ใครที่เก็บและรักษาดูแล Wallet เองก็นับว่าเสี่ยงแล้ว แต่ความจริงมันเสี่ยงตั้งแต่เริ่มจะเข้ามาในโลกของ NFT แล้ว เพราะมีการสร้างเว็บปลอมที่เสมือนจริงขึ้นมา เช่น แพลตฟอร์ม Opensea ที่สามารถเสิร์ชเจอได้ทั้งเว็บจริง และเว็บปลอมเลยทีเดียว

หรือแก๊งมิจฉาชีพที่ชอบยิงโฆษณาจนขึ้นหน้าแรก ๆ บนเว็บไซต์ หรืออาจส่งอีเมลมาหาว่า เราเป็นศิลปินยอดเยี่ยมเลยอยากมอบโทเคนให้ ไปจนถึงหลอกว่างานเป็นที่นิยมเลยติดต่อมาหาก็มี ฉะนั้นการเป็นครีเอเตอร์ต้องระวัง และรอบคอบให้มากเข้าไว้

  • ความเสี่ยงจากการโอนเงิน
เพราะต้องใช้คริปโตในการโอน ศิลปินต้องมีคริปโต หรือมีเหรียญในการโอนเงินเพื่อนำมา Mint งาน โดยจะะโอนผ่านบล็อกเชน และต้องกรอก Address กระเป๋า ซึ่งหลายคนก็ก็อปปี้ Address กระเป๋ามาผิด เพราะมันมีหลายสิบตัว และอาจจะเผลอกดก็อปปี้มาไม่ครบ หรือลบตัวอักษรไป เงินเลยไม่เข้ากระเป๋า และกู้คืนไม่ได้ด้วยหากโอนผิด
  • ความเสี่ยงจากการโพสต์ในโซเชียล 

จากความเสี่ยงที่กล่าวมาทั้งหมดอาจจะเป็นเพราะสถานการณ์ต่าง ๆ มันเกิดขึ้นจากสิ่งรอบตัว แต่ความเสี่ยงจากการโพสต์ในโซเชียล เป็นสิ่งที่เราควรระวังตัวเองเอาไว้ให้มากที่สุด นั่นก็คือการไม่โพสต์สื่อมีเดียเกี่ยวกับกระเป๋าเงิน หรือ Wallet ของเราลงโซเชียลมีเดีย เพราะสำหรับมิจฉาชีพ ขอแค่มีพาสเวิร์ดก็เอาเงินของเราไปได้ตลอดเช่นกัน

อนาคตของครีเอเตอร์สาย NFT ในมุมมองของ BitToon 

BitToon มองว่า NFT นั้นไปได้ทุกวงการ เพราะมันคือเครื่องแสดงความเป็นเจ้าของ และเชื่อว่าอะไรก็เป็น NFT ได้ เพราะ NFT สามารถเปลี่ยนอะไรก็ได้บนโลกนี้ที่เป็นกายภาพให้ไปอยู่ในโลกดิจิทัลได้ และยังสามารถต่อยอดได้อีกไกล ไม่ใช่แค่งานอาร์ต ซึ่งงานอาร์ตที่เราเห็นกันมันเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น

และสำหรับอนาคตของครีเอเตอร์ในโลก NFT นั้น BitToon มองว่าส่วนใหญ่ครีเอเตอร์เป็นศิลปินเลยมีความคิดแบบ ‘Inside Out’ อยากที่จะสื่อสารความรู้สึกของตัวเองให้คนรับรู้  และเข้าใจสิ่งที่ตัวเองคิดแล้วอยากสื่อสารออกมา แต่ในโลกของ NFT ครีเอเตอร์จะต้องมี ‘Outside In’ ด้วย

พร้อมที่จะทำความเข้าใจตลาดว่ามันไปทางไหน หรือคอลเลกเตอร์มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปอย่างไร เพราะเราต้องเรียนรู้ว่าตลาดต้องการอะไร คนซื้องานอยากได้งานแบบไหน เพราะบางคนงานสวยมากแต่ขายไม่ได้ กับบางคนที่งานไม่เน้นสวยแต่ขายได้ในราคาแพง มันเลยมีความต่างกันเกิดขึ้น เป็นเหตุผลที่ทำให้ครีเอเตอร์ต้องปรับตัว พัฒนา และอ่านพฤติกรรมของคนซื้องานให้ได้นั่นเอง

Copyright © 2025 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save