InterviewPodcast

Avatar

miss arisa May 22, 2019

Interview : คิด เขียน พูดผ่าน Podcast กับ ‘บิ๊ก ภูมิชาย’

ถ้าพูดถึงสื่อที่ทำ Podcast อย่างจริงจังและต่อเนื่องที่สุดคงต้องยกให้กับ The Standard และเบื้องหลังช่อง Podcast ก็คือนักคิด นักเขียนคนนี้ บิ๊ก ภูมิชาย บุญสินสุข หรือนามปากกา ‘บิ๊กบุญ’ เมื่องาน iCreator Meetup ครั้งที่ 2 เราได้เขาคนนี้มาเป็น Guest Speaker และยังได้พูดคุยเพิ่มเติมถึงคำแนะนำ เส้นทางสู่การเป็น Podcaster ไปจนถึงหนทางการหารายได้จาก Audio Content สุดฮอตอย่าง Podcast นี่

RM : การทำงานก่อนจะมาทำที่ The Standard หลายคนรู้จักบิ๊กบุญในฐานะนักเขียนบ้าง ดีเจบ้าง จริงๆแล้วอะไรมาก่อนหลังยังไง

Bickboon : เมื่อนานมาแล้วผมเคยจัดรายการอยู่ในเครือ Atime เป็นเวลาประมาณ 10 ปี ช่วยปี .. 2539 – 2549 หลังจากนั้นก็มาทำสำนักพิมพ์ a book กับพี่โหน่ง วงศ์ทนง เป็นบรรณาธิการบริหารอยู่อีก 10 ปี แต่ว่าช่วงที่เป็นดีเจก็มีเขียนๆเรื่องลง Online Diary, Blog ในยุคแรกๆ ก็คือเป็นคนชอบเขียนครับ แล้วสิ่งที่เริ่มเขียนก็คือชีวิตการเป็นดีเจนี่ล่ะ ตอนนั้น 88 No Problem เริ่มเปลี่ยนตัวเองมาเป็นคลื่น 2 ภาษาใหม่ๆ เราเปิดเพลงไทยและสากลครึ่งๆเลย ดีเจเองก็จัดรายการทั้งภาษาไทยอังกฤษ ส่วนใหญ่เรื่องที่จะเล่าก็เป็นเรื่องที่เราได้ไปสัมภาษณ์ศิลปินต่างชาติ เราไปเจอประสบการณ์อะไรมาบ้าง แต่จะเล่าในแง่มุมการใช้ภาษาอังกฤษ พอเขียนไปได้สักพักหนึ่งสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งก็มาเจอและชวนไปรวมเล่ม หลังจากนั้นก็ได้เขียนคอลัมน์ ได้ทำควบคู่กับการเป็นดีเจมา

RM : ประสบการณ์ทำงานทั้งพูดและเขียนมาประกอบเป็นรายการ Podcast ได้อย่างไร

Bickboon : จริงๆถ้าในสมัยนี้คงต้องพูดว่าเราจะต้องมองตัวเองเป็นแบรนด์ ฟังดูหล่อ แต่จริงๆมันคือคอนเซ็ปต์นี้ล่ะ เริ่มที่ความสนใจเราชัด ประสบการณ์เราเอื้อ สิ่งที่สนใจสุดคือภาษาอังกฤษ ไม่ว่าพี่จะทำคอนเทนต์อะไร พี่จะไปอยู่ที่ไหน ใครจะมาคุยกับพี่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเขียนออกมาเป็นตัวหนังสือ หรือว่าการพูดออกมาเป็นเสียงมันก็จะวนกลับมาเรื่องนี้ อย่างคุยชอบเรื่องบอลไม่ว่าคุยเรื่องอะไรมันก็จะกลับมาเรื่องบอล คุณชอบเรื่องการเมืองมันก็จะวนกลับมามันเป็นอย่างนั้นแหละ

อย่างเรื่องภาษาอังกฤษคนอื่นอาจจะมาในรูปแบบของการสอนโดยตรง ครูคนนั้นครูคนนี้เขาสอนภาษาอังกฤษผ่านคอนเทนต์เพื่อติว เพื่อคนดูแล้วนำไปสอบได้ แต่ว่าเราไม่ได้มีความรู้แบบนั้น เราไม่ได้สนใจการเรียนภาษาอังกฤษเป็นระบบในห้องเรียน เป็นภาษาอังกฤษที่เอาไว้ใช้ไม่ได้เอาไว้สอบมากกว่า พอเราชัดกับสิ่งนี้เราชอบพูดภาษาอังกฤษตั้งแต่เราจัดการรายการมา เขียนงานมา แบรนด์เราเลยชัด คอนเทนต์เราชัด

แล้วพอเราชัดคนที่ชอบเหมือนๆเรามันก็จะเข้ามาหาเราเอง กลายเป็น Audeince ของเรา

Podcast ก็เป็นแค่เรื่องของ Platfrom วิธีในการนำเสนอเท่านั้น แต่คอนเทนต์ที่เราจะพูดออกมาเป็นยังเป็นสิ่งเดิมที่ชัดอยู่ มันก็จะออกมาในทุกแพลตฟอร์ม

RM  : แล้วถ้าคนที่อยากเริ่มต้น Podcast เขาไม่ได้มีประสบการณ์หรือทักษะในการพูดมาก่อนพอจะมีวิธีฝึกหรือวิธีเล่าเรื่องอย่างไรดี

Bickboon :  ต้องทำบ่อยๆ สิ่งที่ทำให้คุณพูดเก่งก็คือการพูดบ่อยๆเท่านั้น อย่างตอนพี่จัดรายการวิทยุช่วง 10 ปี คือทำงานเข้าปีที่ 4 แล้วถึงรู้สึกว่าเราพูดได้ Podcast ก็เหมือนกันตอนที่เริ่มถึงแม้จะมีประสบการณ์มาก่อน การเริ่มใหม่คือเริ่มใหม่ มันไม่เหมือนเดิม แม้จะอยู่หลังไมค์เหมือนเดิม คอนเทนต์จะคล้ายๆเดิม แต่ว่าภาพที่เราเห็นในหัวมันจะไม่เหมือนกันละ ภาพเมื่อก่อนที่เรานั่งชัดรายการวิทยุเราพูดออกไปมันคือ Mass Media คนฟังของเราจะถูกจัดกลุ่มโดยอายุ เพศ อาชีพต่างๆ แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ใช่แล้ว มันบอกไม่ได้แล้วว่าคนฟังของคุณเป็นผู้ชายกี่คน ผู้หญิงกี่คน ทำงานอะไรเท่านั้นแล้วจบ สื่อสมัยนี้มันมีความหลากหลาย ทั้งในแง่ของคนรับสาร เนื้อหาก็มากมายซอยย่อยๆออกไป

วิธีที่เราจะนึกภาพคนฟังในหัวมันก็เปลี่ยนหมด ก็ต้องมาเริ่มหาวอยซ์ตัวเองใหม่ เริ่มมาสะกดจิตตัวเองใหม่ ผมใช้คำนี้นะ สะกดจิตตัวเองยังไงให้จัดรายการได้ ก็ค้นพบว่ามันไม่มีหลักสูตรอะไรเลยนอกจากทำไปเรื่อยๆจนเราเจอเอง ผมเชื่อว่าทุกคนที่เป็น Host ของรายการของ The Standard Podcast เกือบทุกคนเลยมีปัญหาเดียวกันคือแรกๆก็ยังไม่เจอว่าต้องจัดรายการยังไง นึกไม่ออกว่าคนที่อยู่อีกฟากหนึ่งที่ฟังเราอยู่เป็นใคร แล้วเราต้องพูดยังไงกับเขา ต้องสวัสดีขอต้อนรับเข้าสู่รายการมั้ย? หรือต้องเกริ่นมั้ยนะ จำเป็นมั้ย หรือเปิดมาพูดเลยก็ได้แบบที่ทำใน YouTube ซึ่งแม้จะเคยผ่านมา มีแบบแผนให้ศึกษามาก่อนก็จริง ในที่สุดแล้วคุณก็ต้องหาคนฟังของคุณเอง หารูปแบบของคุณเอง หาวิธีพูดของคุณเอง เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรดีกว่าการลองทำไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ทุกคนที่จะเปิดไมค์ปุ๊บเจอปั๊บ

Podcast

การคิดแพลนมันสำคัญก็จริงแต่ว่าควรจะคิดแพลนพอประมาณแล้วเริ่มให้เร็วที่สุด จากจุดที่เราเริ่มคิดอยากจัดรายการไปสู่จุดที่ลองจัดรายการให้มันมีคอนเทนต์เป็นออดิโอออกมาจริงๆเนี่ยให้เกิดขึ้นให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นเป็นได้ เพราะว่าที่สุดแล้วเราจะใช้สิ่งที่เราได้ยินจากเทปแรกของเราในการทำงานต่อ เพราะผมเคยผ่านมาแล้วที่นั่งแพลนอยู่เป็นเดือน เป็นปี แล้วทุกสิ่งที่เราแพลนมันอยู่บนไฟล์ Google Docs มันอยู่ในหัว ถ้าตราบใดเรายังไม่ได้ยินมันออกมาเป็นเสียงจริงๆ เราไม่มีวันรู้เลยว่ามันเป็นยังไง และเราควรจะพามันไปตรงไหน เราควรจะบิดมันไปทางไหน เราจะไม่มีวันรู้เลย เพราะฉะนั้นรีบทำให้เร็วที่สุด

RM :  สิ่งที่เราเจอในนักจัด Podcast หน้าใหม่คือการอัดสด ไม่มีการวางสคริปต์อีกต่อไปแล้ว ตรงนี้คิดว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง

Bickboon : ความสดเป็นความสามารถพิเศษอย่างหนึ่งและเป็นทักษะ โอเคเดี๋ยวนี้การ Live มันอาจจะเข้ามา มันก็มีคนบางกลุ่มที่อยากดูชีวิตแบบนั้น แต่การจัด Podcast มันต้องมีการ Perform และอันหนึ่งที่เราเคารพคนฟังอยู่เสมอคือเรื่องของเวลา คุณสามารถจะสดได้นะแต่คุณต้องตัดต่อ เพราะถ้าคุณปล่อยเลยโดยไม่รู้ว่าจะพาคนฟังไปในทิศทางไหนมันก็จะออกทะเลและเละเทะไปหน่อย

ฉะนั้นมันต้องควรมีสคริปต์สักหน่อย และมันยังมีข้อดีอยู่นะ ยิ่งด้วยเราเขียนสคริปต์ให้ตัวเองพูดเราสามารถฝึกซ้อมให้ตัวเองพูดได้เหมือนไม่มีสคริปต์  ไม่ต้องถึงกับเป็น Full Script ร่ายมาจนจบว่าต้องพูดอะไรเป๊ะๆเพราะภาษาเขียนกับภาษาพูดมันก็ไม่เหมือนกัน และคนฟังก็อาจจะฟังออกว่านี้คือการอ่าน จะว่าไปสุดท้ายแล้วก็ต้องลองทำจริงแล้วฟังแล้วค่อยๆปรับๆไป หรืออาจจะหาคนช่วยฟัง เพราะรายการผมเองแรกๆมันก็ไม่ได้เหมือนทุกวันนี้ต่างออกไปมากทีเดียว หลักๆก็ต้องนึกถึงเวลาไว้ว่าเราเคารพมันแค่ไหนด้วยการทำคอนเทนต์ของเราให้มันโอเคที่สุดให้เขาฟังไปแล้วรู้สึกได้ว่าเราตั้งใจทำให้มันออกมาโอเค

Podcast

RM : ถ้า Podcaster ที่มีรายการเป็นของตัวเองแล้วอยากจะพัฒนาไปเป็น Publisher รับงานจากแบรนด์ต่างๆมากขึ้นควรต้องทำอย่างไรบ้าง

Bickboon : ด้วยความที่ Podcast บ้านเรายังใหม่มาก แม้แต่วันที่ผมไปนำเสนอกับทางพี่โหน่ง แล้วมานั่งคิดถึงโมเดลแรกเริ่มมันไม่ใช่ Business Model ด้วยซ้ำไป แต่มันเป็นโมเดลในการผลิตและสร้างแบรนด์ก่อน อันนี้ผมคิดในมุมที่ผมต้องทำให้มันทำเงินตั้งแต่แรกด้วยนะ ยิ่งเราทำสิ่งพิมพ์มาก่อน ทำ a day, a book มาก่อน เราไม่อยู่ในจุดที่จะทำอะไรกันเล่นๆได้แล้ว เพราะฉะนั้นมันก็จำเป็นที่จะต้องทำให้อยู่รอดในแง่ของความเป็นธุรกิจได้ด้วย แต่สิ่งที่คิดก่อนเราคิดในมุมของความ Creative ก่อน เพราะที่สุดแล้ว Podcast มันจะทำเงินได้หรือเปล่ามันอยู่ที่คนฟัง มันไม่ได้อยู่ที่ลูกค้า คนฟังต้องมาก่อนจะไปสู่จุดจะนำเสนอขายลูกค้าได้

ฉะนั้นทำของเราให้ดีก่อน นึกถึงคนฟังเอาไว้ เมื่อไหร่ที่เราได้คนฟัง เมื่อไหร่ที่เราได้คอมมูนิตี้ของเรา เมื่อไหร่ที่เราได้แนวทางของเราชัดเจน เมื่อนั้นเงินจะมาเอง

ฟังดูเหมือนโลกสวยนะ แต่มันเหมือนจะไม่มีวิธีอื่นเลยนอกจากวิธีนี้ในเวลานี้ เท่าที่ผมลองแล้วสำเร็จ แต่อาจจะมีวิธีอื่นก็ได้นะ หลายๆครั้งคนไทยก็ทำอะไรที่มันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนอย่างการไลฟ์ขายของ ฝรั่งงงไปเลย ต้องส่งคนดู ผมก็เลยคิดว่ามันอาจจะมีหลายหลายวิธีที่ทำ Podcast เพื่อให้ได้ตังค์แล้วเราสามารถอยู่ได้ ผมอาจจะทำวิธีนี้เพื่อให้อยู่ได้ในระดับบริษัท แต่คุณอาจจะสเกลเล็กลงมาแล้วมีวิธีทำให้อยู่ได้ในแบบคุณมันก็เป็นไปได้ อาจจะง่ายกว่านี้ก็ได้นะ

ธรรมชาติ Podcast มันคือความ Niche สปอนเซอร์ที่เขาต้องการจะซับพอร์ตมันมีอยู่ โมเดลเดียวกับ Micro Influencer ในปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องมีคนมาตามเยอะๆ แต่เข้าถึงได้เป็นกลุ่มๆไป ธุรกิจมีหลากหลายมากอาจจะมีคนต้องการความ Niche แบบนี้อยู่ ถ้าให้มองในจุดนี้แค่พวกเราครีเอเตอร์มา Podcast กันเยอะๆ จุดกระแสให้เป็นที่รู้จักแค่นี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในความเจริญรุ่งเรืองของพวกเราในอนาคตแล้วล่ะ

บทสัมภาษณ์โดยทีมงาน RAiNMAKER

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save