หากถามถึงศิลปินสายวาดภาพที่กำลังเป็นที่พูดถึงในช่วงนี้ Top of mind ของหลายคนคงมีชื่อ SUNTUR ศิลปินนักออกแบบที่เล่าเรื่องราวผ่านภาพสไตล์มินิมอล อยู่เป็นอันดับแรก ๆ ด้วยผลงานที่คง Mood & Tone ความเป็นตัวเองออกมาได้เป็นอย่างดี แถมยังโดดเด่นในด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ จนได้คอลแล็บกับแบรนด์ชื่อดังมากมาย
นอกจากนี้ SUNTUR ยังเป็นหนึ่งในศิลปินที่ก้าวเข้าสู่โลก Metaverse ผ่านการผลิตผลงาน NFT ออกมามากมาย อย่างโปรเจกต์ล่าสุดที่ชื่อคอลเลกชัน ‘8760 Hours’ ผ่านแพลตฟอร์ม 1b1 NFT Shop ที่เล่าเรื่องผ่านภาพ ณ ช่วงเวลาที่แตกต่างกันทั้งหมด 8,760 ชิ้น
วันนี้ RAiNMaker เลยชวนทุกคนมาคุยกับ SUNTUR ถึงสูตรสำเร็จในฐานะศิลปินฉบับ SUNTUR กันค่ะ
เน้นย้ำภาพจำให้ชัดเจน
SUNTUR เริ่มต้นมาด้วยการเป็นศิลปิน จึงไม่แปลกที่เขาอยากจะสร้างภาพจำด้วยการเป็นศิลปินมากกว่าการเป็นครีเอเตอร์ เจ้าตัวกล่าวว่าตัวเองไม่ได้อยู่ในจุดที่จะแข่งขันในวงการครีเตอร์ได้ บวกกับจุดขายของตัวเองคือการวาดรูป และทำงานศิลปะ
เพราะฉะนั้นหากเอนไปทำงานด้านครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์มากเกินไป ก็เกรงว่าจะทำให้ภาพลักษณ์ศิลปินไม่ชัดตามไปด้วย ซันเต๋ออธิบายเพิ่มเติมว่าไม่ใช่ว่าการเป็นครีเอเตอร์หรืออินฟลูเอนเซอร์สายศิลปะไม่ดี เพียงแค่สิ่งนี้ไม่เหมาะกับตัวเขาเท่านั้นเอง นี่จึงถือเป็นจุดขายของเขาเลยก็ว่าได้
ความท้าทายในการทำงานร่วมกับแบรนด์
ด้วยความต้องการของทั้งแบรนด์และครีเอเตอร์ต่างกัน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องหาจุดตรงกลางให้เจอ ที่สำคัญคือต้องใส่ความเป็นตัวเองเข้าไปในงาน และกล้าที่จะเสนอความเห็นกับแบรนด์เพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่าทั้งกับแบรนด์ ตัวเรา และกลุ่มเป้าหมาย
สิ่งที่ฝากถึงแบรนด์และเอเจนซี
สิ่งที่น่าสนใจคือ ตอนนี้ผู้บริโภครู้ว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง เพราะฉะนั้นทั้งแบรนด์และครีเอเตอร์ต้องมีความจริงใจกับผู้บริโภค นอกจากนี้การไม่ให้เกียรติในการทำงานก็เป็นอีกสิ่งที่หลายคนมองข้ามอยู่
อย่างการที่แบรนด์หรือเอเจนซีไม่เชื่อในตัวศิลปิน และไม่เปิดโอกาสให้เสนอความคิดเห็นก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่อาจทำให้เกิดผลกระทบตามมาภายหลังกับทุกฝ่ายได้
ในส่วนของเรื่องลิขสิทธิ์ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ซันเต๋อให้ความสนใจ เนื่องจากอาจมีบางแบรนด์ที่ยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์ ที่คิดว่าเมื่อจ้างครีเอเตอร์แล้วผลงานทุกชิ้นจะตกเป็นของแบรนด์โดยสมบูรณ์
จึงเป็นสาเหตุที่ควรมีข้อตกลงที่ชัดเจนระหว่างแบรนด์และครีเอเตอร์ตั้งแต่แรก ทั้งเรื่องราคา ระยะเวลา และขอบเขตการนำผลงานไปใช้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นภายหลัง
เป้าหมายของ SUNTUR
ยังคงเป็นงานวาดรูปเหมือนเดิม เพิ่มเติมคืออยากทำโปรเจกต์ให้คนรู้จักและยอมรับตนทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมถึงโฟกัสที่การจัดนิทรรศการ และรับงานจากแบรนด์ ออกแบบผลิตภัณฑ์อยู่เรื่อย ๆ
ในส่วนของแบรนด์ตัวเอง ก็ยังคงนำผลงานมาออกแบบเพื่อต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่อยู่ในชีวิตประจำวัน หรือมีไปคอลแล็บกับแบรนด์อื่นบ้าง เพื่อเปิดโอกาสให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ
การเตรียมพร้อมสู่วงการ Metaverse
ในอนาคตเราอาจจะได้เห็นเทคโนโลยี VR แฝงอยู่ในนิทรรศการของซันเต๋อ เนื่องจากเจ้าตัวเองก็มีความสนใจและกำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่เช่นกัน ด้านผลงาน NFT ซันเต๋อก็มีโปรเจกต์ที่ปล่อยไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ผ่านคอนเซ็ปต์การบันทึกภาพทุกชั่วโมงใน 365 วัน รวมทั้งหมด 8,760 รูป
ชื่อคอลเลกชัน ‘8760 Hours’ สามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดและซื้อได้ที่ https://1b1.art นอกจากโปรเจกต์ใหญ่แล้ว ซันเต๋อเองก็ยังมีผลงาน NFT ประมูลขายอยู่เรื่อย ๆ เรียกว่าเป็นการผสมผสานเทคโนโลยีเข้ากับศิลปะได้อย่างแยบยลเลยทีเดียว
ฝากถึงครีเอเตอร์
ซันเต๋อยิงคำถามกลับมาให้เรา รวมถึงครีเอเตอร์คนอื่น ๆ ได้ไปลองคิดว่า “ลองถามตัวเองว่าอยากทำจริง ๆ หรือเปล่า และถ้าทำแล้วสามารถยอมรับฟีดแบ็กได้ไหม?” ซันเต๋อเสริมว่าเมื่อตอบคำถามเหล่านั้นกับตัวเองได้ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องการเริ่มเดินทางสู่สายครีเอเตอร์
สำหรับสิ่งที่ควรกังวล ซันเต๋อแนะนำว่าครีเอเตอร์ควรจะตรวจสอบคอนเทนต์ก่อนปล่อยออกไปเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่สื่อสารออกไปจะไม่กระทบคนอื่น พร้อมเสริมว่าการทำคอนเทนต์ที่ให้เป็นพลังบวกแก่สังคมดูจะเป็นอีกทางเลือกที่ดีทั้งกับตัวเอง และกลุ่มเป้าหมาย