Interview

Avatar

miss arisa April 7, 2019

บทสัมภาษณ์ : ​ต๊ะ พิภู พุ่มแก้วกล้า เปิดมุมมองประชาธิปไตยของการ ‘สื่อข่าว’

ช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมานี้ เราทุกคนคงตื่นตัวกับการติดตามข่าวการเมืองไม่มากไม่น้อย ทั้งในโซเชียล และสื่อดิจิทอลทีวี ถ้าให้ลองนึกนึงผู้ประกาศข่าว ผู้ดำเนินรายการที่แทบไม่เห็นเขาห่างไปจากจอเลยไม่ว่าจอมือถือหรือจอโทรทัศน์ ต้องนึกถึงผู้ชายคนนี้ ​ต๊ะ พิภู พุ่มแก้วกล้า หรือน้องๆรุ่นใหม่อาจจะติดเรียก ต๊ะ The Standard ไปแล้ว วันนี้เราจะมาคุยถึงบทบาทการทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง รวมถึงมุมมองเกี่ยวกับประชาธิปไตยในยุคที่สื่อโซเชียลแสดงความคิดเป็นได้อย่างไม่มีชีดจำกัดอย่างในปัจจุบันนี้

RAiNMaker : อยากให้เล่าถึงความแตกต่างระหว่างช่วงที่ทำสื่อโทรทัศน์ วิทยุที่เราจัดว่าเป็นสื่อเก่าไปแล้วกับการสื่อทำออนไลน์ 

ต๊ะ พิภู : จริงๆ แล้วผมเนี่ยก็ไม่ได้เริ่มต้นจากการมาทำสื่ออะไรขนาดนั้น ก็เป็นแค่ผู้ประกาศข่าว ก็มาตามการคัดเลือกของ MCOT หรือช่อง 9 อสมท. ตั้งแต่เมื่อประมาณ 10 ปีก่อนครับ เพราะฉะนั้นก็จะได้เรียนรู้ระบบที่เรียกว่าเป็น traditional คือในสายข่าวอย่างเดียว สายอื่นไม่นับนะครับ

สายข่าวก็จะมีกองบก. มีโต๊ะข่าวที่แยกกันเป็นสายๆ ไป ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่มา สุดท้ายในแต่ละช่วง กองบก.ก็จะทำหน้าที่ในการคัดเลือกข่าวที่มีคนออกไปทำข่าว ตามหมายในแต่ละวันมาประชุม เรียกว่าเอามาตัด เอามา Rewrite ให้มีการคำนวณทุกอย่างให้ตรงกันในแต่ละช่วงแต่ละเกร็ด แล้วก็สุดท้ายแล้วบก.ก็จะเป็นคนเลือก เรามีหน้าที่ในการอ่านตามแบบนั้น

ผมเริ่มต้นจากการอ่านครับ เพราะฉะนั้นเราก็แค่อ่านอย่างเดียว แค่อ่านให้ถูกใหม่ๆ ก็ยากละ ก็เป็นการรายงานสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เราเองก็ต้องมีพื้นฐานความรู้ข่าวที่ต้องทำการบ้านสะสมมา เพื่อถ้ามันจำเป็นต้องเสริมอะไรเข้าไปนิดนึง ให้มันมีความกระจ่าง มีความเข้าใจง่ายมากขึ้นกว่าเนื้อหาที่เราอ่านไป หรือต้องเท้าความก่อนหน้านั้นว่ามันเกิดอะไรขึ้น เพราะสิ่งที่เราอ่านบางทีมันแค่อัพเดท ณ ตอนนั้น

แต่ยังไงก็ตามแต่รูปแบบตอนแรกที่ผมทำของสื่อแบบเดิมคือสื่อโทรทัศน์เนี่ยก็จะเป็นเรื่องของการอ่านข่าวแบบที่เรารู้จักกันดี ซึ่งทุกวันนี้หลายช่องก็ยังทำแบบนั้นอยู่ แต่ต้องยอมรับว่ายุคสมัยมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตอนนี้แม้แต่สื่อออนแอร์หรือว่าสื่อทีวีเอง วิธีการนำเสนอข่าวก็จะไม่ใช่การรีพอร์ต หรือว่าการอ่านแบบรายงานแล้ว แต่จะเป็นการเล่า ใส่ Personal Opinion นิดๆ เล่าให้เห็นถึงบรรยากาศ มีเรื่องของอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ผมไม่ใช้คำว่าดราม่านะแต่มันจะมีเรื่องอารมณ์ร่วมเข้ามาเกี่ยวข้อง

ดังนั้นการอ่านข่าวแบบตรงๆ แบบแค่รายงานไปมันก็ยังได้อยู่ แต่ว่ามันก็จะได้แค่กลุ่มคนบางกลุ่ม และมันคงไม่ถูกใจกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เสพข่าวในยุคนี้ ซึ่งมันก็จะมีความแตกต่างกับการนำเสนอในปัจจุบันหรือว่าสื่อในรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้นอย่างที่เราคงจะเห็นแล้ว มันเริ่มต้นจากการเปลี่ยนมาเป็นการเล่าข่าว ใส่ความดราม่าเข้าไปในเนื้อหา ใส่อารมณ์ร่วม แล้วก็หาแง่มุมที่ฉีกออกไป

จากเมื่อก่อนสื่อ Traditional ของข่าวถ้าใครที่เรียนมาองค์ประกอบของมันก็คือ ใคร-ทำอะไร-ที่ไหน-อย่างไร-เมื่อไหร่ แล้วจะมีผลยังไงต่อไป มันก็แค่นี้ อาจจะใส่บทวิเคราะห์เข้าไปบ้าง แต่ว่าหลังๆ มันจะมีแง่มุมอย่างอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เรื่องของความเชื่อ เรื่องของความคิดของคนที่มองเข้ามา เรื่องของการเปรียบเทียบกับเหตุการณ์นู่นนี่นั่นครับ เพราะฉะนั้นความหลากหลายมันเพิ่มมากขึ้น

ในทางกลับกันมันจะมีคำนึงขึ้นมาว่าความสนุกก็กลายเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อก่อนแล้วเรื่องของสื่อ ในด้านข่าว การเสพข่าว ไม่จำเป็นต้องมีความสนุก ไม่จำเป็นต้องมีความตื่นเต้น ไม่จำเป็นต้องมีดราม่า ก็แค่ให้รู้ว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นส่วนแต่ละคนจะคิดยังไงก็เป็นเรื่องของคุณ แต่ ณ ปัจจุบัน ข่าวข่าวนึงมันยากมากที่เราจะบาลานซ์อารมณ์ของคนที่ดูข่าวและเสพข่าวนั้นอยู่ให้ได้ มันมีความยากมากกว่าเมื่อก่อนมาก

RAiNMaker : จากที่เคยทำงานกับองค์กรใหญ่ๆอย่างสถานีโทรทัศน์ พอผันตัวมาทำในทีมที่เล็กลงมีความคล่องตัวขึ้นมั้ย หรือต้องปรับตัวย้งไงบ้าง

ต๊ะ พิภู : การปรับตัวไม่ใช่แค่ตัวผม แต่ในระดับภาพรวมของยุคนี้  ไม่ใช่แค่ธุรกิจสื่อนะ ทุกธุรกิจถ้าไม่ปรับตัว ถ้าไม่ก้าวนำ หรือว่าอย่างน้อยๆ ก็ก้าวให้ทันเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงไปของโลก ดึงนวัตกรรมมาใช้ แล้วก็ทำทุกอย่างให้อยู่บนพื้นฐานของการแข่งขันหรือการอยู่รอดได้ ผมว่าก็คงไปไม่รอด กับทุกสื่อ กับทุกสำนัก ต้องยอมรับว่าถ้าตอนนี้ไปดูผลประกอบการ ตัวเลขมันก็ลดลงอย่างน่าใจหายกันหมด

เพราะว่าในยุคนี้มันไม่ใช่ยุคของคนที่จะต้องเป็นปลาใหญ่ เงินทุนหนาเท่านั้น แต่มันต้องเป็นยุคของคนที่คิดไว เป็นปลาที่ว่ายได้เร็ว ความแข็งแกร่งมันเปลี่ยนไป มันไม่ใช่แค่เรื่องของไซส์หรือขนาดขององค์กร แต่มันเป็นเรื่องของความคิดนะครับ ที่เรียกว่ามีความก้าวหน้า มีความรวดเร็ว ยิ่งในสายสื่อสารมวลชนหรือว่าวงการข่าวเนี่ย แค่คิดช้ากว่าคนอื่นนิดเดียว เราก็มีโอกาสแพ้สูงแล้ว

ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา ถ้าสื่อสำนักไหนหรือว่าองค์กรไหนสามารถดีไซน์ การทำงานออกมาได้แตกต่างแล้วก็รวดเร็ว ฉับไว เข้าถึง เข้าใจง่าย ก็จะได้เปรียบคนอื่นอย่างชัดเจน จริงๆ มันเหมือนกันหมด มาจากแหล่งเดียวกัน แต่มันอยู่ที่ว่าคุณจะนำเสนอมันยังไงให้รูปแบบมันเข้าถึงทุกคนมากกว่า

และสังเกตได้ว่าหลายที่มักจะพยายามนำเสนอว่าเป็นที่แรก ก่อนใคร เพราะในยุคนี้แข่งกันที่ความเร็วครับ ความเร็ว ความลึก ความหลากหลาย ใครที่สามารถทำให้ข้อมูลแตกต่างได้มากที่สุดคนนั้นก็จะได้เปรียบ ก็ต้องยอมรับจริงๆ ว่าการทำงานทุกวันนี้เราคิดเยอะกว่าเดิมมาก

เราทำแบบสื่อ Traditional ทำแบบเดิม ตื่นมา อ๊ะ! ส่งหมายไป ทำที่นี่ๆ กลับมาเขียนแบบเดิมไม่ได้แล้ว เราต้องคิดล่วงหน้า แพลนเป็นสัปดาห์ เป็นอาทิตย์ เป็นเดือน ต้องรู้แล้วว่าในอีก 2 เดือนข้างหน้าจะมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นแน่ๆ ยกตัวอย่างเช่น อย่าง ณ ตอนนี้ที่ทางญี่ปุ่นเพิ่งประกาศศักราชใหม่ต้อนรับสมเด็จพระจักรพรรดิองค์ใหม่ เราเข้ายุคเรวะ คนก็ต้องมีการเตรียมการตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้วว่ายุคของเรวะมันจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เฮเซเป็นยุคแห่ง Pop Culture เป็นยุคที่เรียกว่าญี่ปุ่นเปลี่ยนผ่าน ทำให้ประเทศเติบโตได้ด้วยเศรษฐกิจแล้วก็เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หลังจากนี้ ญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้ว จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้างอะไรอย่างนี้มันต้องวางแผนในขณะนั้น ต้องวิเคราะห์กันล่วงหน้า อย่างนี้เป็นต้น

RAiNMaker : ถ้าพูดถึงเรื่อง Platform คุณต๊ะแทบจะเคยทำงานมาครอบคลุมแล้ว ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ ออนไลน์ จนถึง Podcast ส่วนตัวในแง่ของรายละเอียดการทำงานมีความแตกต่างมั้ยในแต่ละ Platform

ต๊ะ พิภู : ผมว่าผมโชคดีที่ได้ทำเกือบทุกรูปแบบ วิทยุ ข่าว โทรทัศน์ ออนไลน์ หรือแม้แต่จัด podcast ก็ค่อนข้างหลากหลาย ถามว่ามันมีสิ่งที่แตกต่างกันมั้ยมันมีแน่นอน แต่มันก็มีสิ่งที่เหมือนกันอยู่ในแต่ละแพลตฟอร์มก็คือมันใช้เรื่องของทักษะการสื่อสาร ทักษะการสื่อสารจริงๆ มันคือ Soft Skill ทุกคนมี การที่เราจะสามารถสื่อสารกับผู้คน ทำให้เขาสามารถสัมผัสได้ถึงเรื่องราวหรือข้อมูลต่างๆ

วิธีการมันแตกต่างกันอยู่ ยกตัวอย่างเช่น วิทยุกับพอดแคสต์จะคล้ายกัน เป็นเรื่องการส่งสารด้วยเสียงเพียงอย่างเดียว ต่างกันตรงที่พอดแคสต์มันเป็นการบันทึดเทป มันไม่สด เพราะฉะนั้นการอัดเนี่ยมันสามารถแก้ไขทุกอย่างได้ หาข้อมูลมาเพิ่มเติม เล่าไม่ดีอะไรมันได้ เพื่อให้ได้ คอนเทนต์ที่มีความสมบูรณ์ที่สุด

แต่วิทยุคือถ่ายทอดสด ฉะนั้นมันเลยอยู่กับสถานการณ์ ณ ตอนนั้น คุณต้องทำการบ้านให้พร้อม คุณต้องมีความตื่นตัว ต้องมีสมองที่  Fresh เพื่อที่จะปรับตัวตามสถานการณ์ให้ทัน บางทีคุณอาจจะพูดผิดโดยไม่รู้ตัวคุณต้องแก้ไขให้ได้ ผมเองก็พูดผิดประจำยอมรับเลยครับ แต่ข้อดีของวิทยุคือคนที่ฟังคุณก็จะตั้งใจฟังคุณจริงๆ เพราะเขาฟังที่ความเป็นคุณ ฟังที่เนื้อหาที่คุณเล่า และวิทยุเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากๆ ที่ฝึกให้คนสามารถ improvise หรือว่าสามารถพูดเรื่องราวได้มากกว่าแค่อ่าน

เพราะว่าวิทยุเนี่ยไม่เห็นหน้าตา มันวัดกันที่น้ำเสียง จังหวะ คำพูด และกึ๋น รวมถึงข้อมูลที่นำมาเล่า เพราะฉะนั้นใครที่เป็นนักเล่าข่าววิทยุที่มีคนติดตามเยอะๆ ยกตัวอย่างเช่น อาจารย์วีระ เขาอาจจะมีทั้งแฟนคลับ ทั้งคนที่ไม่ชอบแต่ก็ฟังแกแต่ที่แน่ๆทุกคนจำเอกลักษณ์ของแกได้ หรืออีกคนนึงที่แม้ว่าทุกวันนี้จะไม่สามารถกลับมาทำงานได้ แต่เราต้องยอมรับว่าเขาเป็นปรมาจารย์ด้านการเล่าข่าว เป็นผู้บุกเบิกการเล่าข่าวเช้าก็คือ คุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา

พี่ยุทธนี่คือคนที่จะให้เล่าทางวิทยุหรือพูดหน้าจอ จังหวะการเล่า ทุกอย่างของเขามันทำให้คนฟัง คุณจะรักหรือเกลียด จะชอบหรือไม่ชอบสรยุทธแต่คุณฟังสรยุทธ แบบนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นผมมองว่าวิทยุมันฝึกตรงนี้ แล้วก็มันทำให้เราทำการบ้าน ทำข้อมูลเยอะ วิทยุมันไม่ค่อยเหมือนทีวีที่มันมีองค์ประกอบอื่นที่ช่วยเรา ดึงเราไปดูภาพ บางครั้งภาพมันบอกเล่าเรื่องราว วนไปฟังเสียงทุกอย่างมันไปหมด เรามีโอกาสได้พัก แต่ว่าวิทยุเนี่ย เราต้องอยู่กับข้อมูลเต็มๆ อยู่ที่ตัวเรา เราต้อง hold เอาอันนี้ให้อยู่ ถ้าเราจัดวิทยุได้ดีได้เก่ง ก็มีโอกาสสูงที่เมื่อวันนึงเราพัฒนาไปทำทีวีแล้วเราจะไปรอด

ในขณะที่สื่อทีวีเองมันก็จะมีเรื่องของบุคลิกภาพ มีเรื่องของแววตา น้ำเสียง ท่าทางเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น จากที่เราต้องพยายามเล่าให้เห็นเป็นภาพ บางทีเราก็ต้องเก็บอาการเมื่อเรามาอยู่หน้าจอทีวี มันก็จะมีบริบทบางอย่างต่างกัน เนื้อหา content เดียวกันแต่วิธีการนำเสนอจะต่างกันออกไปครับ มันก็ต้องใช้ประสบการณ์เหมือนกัน

ทีวีก็จะมีองค์ประกอบอื่นเยอะ เรื่องของกล้อง เรื่องของแสง เรื่องของภาพที่มานำเสนอ ทุกวันนี้แข่งกันที่เทคโนโลยี  Graphic, Info ทุกอย่างมันต้องนำมาใช้ มาประสมให้หมด ช่องต่างๆก็แข่งกันด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรมที่เอามาใช้ผสมผสาน บวกกับการสื่อสารของผู้ประกาศข่าว คนเล่าข่าว เพราะฉะนั้นมันก็จะมีความแตกต่างหรือว่ายากต่างกันพอสมควร

RAiNMaker : จากที่เริ่มจากการเป็นผู้ประกาศจนขยับมาทำเบื้องหลังด้วย สิ่งที่ได้เรียนรู้เพิ่มเติมมีอะไรบ้าง

ต๊ะ พิภู : คราวนี้ก็จะเป็นเรื่องของการคิดคอนเทนต์ คิดรูปแบบการนำเสนอ ว่าเราอยากจะสื่อสารในรูปแบบไหน มุมไหน เพราะว่ายุคนี้ต้องยอมรับว่า คนที่เสพออนไลน์ จริงๆออนไลน์มีเวลาเยอะกว่านะ Air Time มันมากกว่าทีวี มันไม่มีข้อจำกัด อยากจะ Live นานแค่ไหนก็ได้ แต่ในทางกลับกัน ถ้าเราทำการบ้าน ถ้าเรา research เราจะรู้ว่าคนที่เข้ามาดูในโลกออนไลน์เขาไม่ชอบดูอะไรยาวๆ บางทีหันมาดู 4 นาที เขาก็เปลี่ยนแล้ว บางคนดูไม่กี่วิ ถ้าคอนเทนต์ไม่ตรงกับความสนใจของเขาเขาก็เปลี่ยน

เรามักจะได้ยินเสมอว่า Content is King แต่เดี๋ยวนี้เนี่ยคิงคนเดียวเอาไม่อยู่แล้ว นอกจากคอนเทนต์ที่เป็นคิงแล้วเนี่ย เราอาจจำเป็นต้องมีควีน จำเป็นต้องมีอัศวิน จำเป็นต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ หรือพูดง่ายๆ ว่าเราจำเป็นต้องมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มาเสริมให้ คอนเทนต์ของเราเนี่ยมันสวยงาม แล้วก็น่ารับชม น่าติดตามมากยิ่งขึ้น

องค์ประกอบเหล่านั้นก็คล้ายๆ กับสิ่งที่ผมพูดไปก่อนหน้านี้ ออนไลน์เล่นได้เยอะกว่า ข้อจำกัดน้อยกว่า เพราะว่ากฎหมายยังมาควบคุมได้ไม่มาก แม้แต่ระดับการใช้ภาษาก็ตาม สามารถใช้เป็นกันเองได้ หยาบคายนิดหน่อย ตลกมากหน่อย ได้หมด สิ่งเหล่านี้จะต้องดึงมาปรับ สังเกตได้ว่าบางครั้งความไม่มีกรอบของออนไลน์ก็เป็นเสน่ห์แต่ก็เป็นโทษในทางเดียวกัน อยู่ที่ว่าเราจะดึงมันมาใช้ยังไง

แล้วก็จะมีเรื่องของ Design มีเรื่องของ Style นะครับ ทุกสำนัก RAiNMaker เองก็ตาม The MATTER หรือ The Standard ทุกคนจะมี CI (core identity) เป็นของตัวเอง ทุกคนจะมีสิ่งที่นี่แหละคือ Signature ที่เมื่อคลิกเข้ามาดูคือรู้ว่าภาพแบบนี้ กราฟิกแบบนี้ คือสื่อๆนี้ สื่อออนไลน์ที่จะอยู่ได้ต้องมี Identity ที่แข็งและสามารถปรับตัวได้อยู่ตลอดเวลา

 

วันนี้มันใหม่ วันนี้มันสวย วันนี้มันใช่ แต่วันนึงมันอาจจะ Out มันอาจจะเก่า มันก็เหมือนดีไซน์ของบ้าน ของตึกแหละครับ เมื่อ 20 ปีที่แล้วตึกแบบนี้คือโมเดิร์นสุดๆ มา ณ​ วันนี้มันดูไม่ค่อย Trendy เท่าที่ควร เราอาจจะต้องรีโนเวทใหม่ สื่อก็คล้ายอย่างเดียวกัน วันหนึ่งต้องปรับตัวใหม่อีกครั้งก็ได้

 

RAiNMaker : พูดถึง The Standard Daily ถือว่าเป็นรายการข่าวที่เป็นตัวเองที่สุดเลยมั้ย

ต๊ะ พิภู : The Standard Daily เนี่ยเป็นตัวผม 90% เลยนะ เรามีทีมเล็กๆ รวมกันไม่ถึง 10 คน มีโปรดิวเซอร์คนนึงด้านการคิดคอนเทนต์ที่จะมาเล่า แต่ส่วนใหญ่แล้วมันก็บางทีผมก็เป็นคนเลือกเองนั่นแหละว่าผมอยากเล่าเรื่องนี้ แล้วเราก็คุยกัน ในขณะที่ก็จะมีโปรดิวเซอร์คนนึงที่ทำหน้าที่ของการติดต่อแขกรับเชิญ แล้วก็หาประเด็นมาคุยกับแขก แต่ทั้งหมดก็ต้องประสานมาที่ผม ผมก็จะเป็นจุดศูนย์กลาง

แล้วก็ต้องยอมรับ The Standard Daily เนี่ยไม่ได้เหมือนตอนต้นที่เราคิดไว้เป๊ะๆ ตอนแรกผมอยากจะให้ทุกวันๆมีการสรุปข่าว ตอนนี้ก็ยังอยากทำอยู่ แต่ว่ามันยังทำไม่ได้ เพราะว่าอาจจะเรื่ององค์ประกอบหลายๆ อย่างมันไม่สามารถทำได้ทุกวัน แต่เดี๋ยววันนึงถ้าทำสำเร็จผมอยากให้อาจจะเป็นรายสัปดาห์ ที่จะมีวันนึงเราสรุปให้ฟังว่า 5 ข่าวที่คุณต้องรู้ ที่คุณควรรู้ แล้วก็ 5 ข่าวแบบ The Standard ที่เราอยากให้คุณรู้

ทุกวันนี้มันมีระบบ Selective สังเกตมั้ยว่าถ้าเราเข้าไปใน LINE TODAY หรือเข้าไปในเว็บไซต์ข่าวต่างๆ Sanook, Kapook อะไรก็ตามแต่ มันก็จะมีหมวดหมู่ที่คัดแยกมาให้คุณ หรือกระทั่ง Facebook เองก็แอบรวบรวมข้อมูลของคุณว่าคุณคลิกเข้าไปดูอะไร คุยอะไรกับเพื่อน แล้วมันก็จะ Select โพสต์ขึ้นมาหน้าฟีดเรา แล้วลองดูว่านี้เป็นคอนเทนค์ที่คุณชอบใช่มั้ย ซึ่งคล้ายๆ กัน ตอนแรกที่ผมอยากจะทำ The Standard Daily ก็คือแบบนั้น แต่เราเลือกให้ เราดูจริต เราดูความสนใจ เราดู Intention ของผู้คนในสังคม แล้วเราก็เลือกมาเป็น 5 ข่าวที่ต้องพูดถึง แต่ขณะเดียวกันเราก็จะเอาแต่ใจตัวเอง เพื่อเรารู้สึกว่าข่าวเหล่านี้มีประโยชน์ เราอยากให้คุณได้รับชม

 

เพราะเราคือสื่อใหม่ที่เราสร้างบรรทัดฐานใหม่ ที่เราตั้งใจนำเสนอข่าวในด้านที่มีประโยชน์มากกว่าด้านดราม่า แล้วก็เราจะป้อนให้คุณครึ่งนึง คุณจะเลือกรับไปมั้ยก็เป็นการเจอกันครึ่งทาง นี่คือสิ่งที่ผมตั้งใจไว้แบบนั้น

 

ส่วนช่วงทอล์คเนี่ย ตอนแรกคิดไว้ว่ามันจะเป็นช่วงที่มีเฉพาะโอกาสพิเศษ วันไหนมีแขกที่น่าสนใจก็มานั่งคุยกัน วันไหนไม่มีก็ได้ไม่เป็นไร แต่ทำไปทำมากลายเป็นว่าช่วงทอล์คมันกลายเป็นช่วงเด่น ทำให้ช่วงข่าวของผมเนี่ยยังทำไม่ได้อย่างที่ตั้งเป้าไว้ทั้งที่ปีกว่าแล้วที่ทำรายการมา ผมก็เลยต้องพักตรงนี้เอาไว้ก่อน ต้องยอมรับว่า 1 ปีที่ผ่านมารายการที่มีเกือบทุกวันจันทร์-ศุกร์ The Standard Daily มีแขกรับเชิญแทบจะทุกวัน

แล้วเราก็ได้แขกรับเชิญที่เป็นบุคคลระดับแถวหน้าของประเทศไทยให้เกียรติมาสัมภาษณ์ โดยเฉพาะในยุคที่การเมืองกำลังร้อนแรง บุคคลระดับหัวหน้าพรรค นักการเมือง อดีตรัฐมนตรี อดีตนายกรัฐมนตรีมา หรือแม้แต่บุคคลในแวดวงทหารให้เกียรติมา ซึ่งก็ต้องยอมรับว่ามันก็ทำให้คนติดตาม The Standard Daily มากขึ้นซึ่งผมก็ยกเครดิตให้กับทุกคน  ผมไม่ได้ให้เครดิตตัวเองยิ่งในการทำงานเบื้องหลัง เพราะผมยังมีจุดที่ต้องพัฒนาตัวเองอีกเยอะ

ส่วนในพาร์ทของการดำเนินรายการมันมีความเป็นตัวเองของผมที่ผมเป็นคนชอบฟัง ชอบคุย ชอบถาม ในแง่มุมแบบที่เป็นตัวเอง ผมไม่ได้อยากจะพยายามถามให้ตัวเองดูดี ไม่ได้อยากจะถามให้ตัวเองดูเจ๋ง แต่ผมอยากเรียนรู้คนที่ผมคุยด้วยมากที่สุด เพราะฉะนั้นวิธีการคุยของผมก็จะคุยโดยปรับตัวเองตามแขกรับเชิญ ถ้าเขาเปิดมาก ถ้าเขาพร้อมเปิดใจ เขาอยากสนุกไปกับเราเราก็จะไปในเส้นทางนั้น ถ้าเขาสร้างกำแพง ถ้าเขามีบางสิ่งบางอย่างที่เขาไม่อยากเปิดออก เราก็จะปล่อยเขาไว้ตรงนั้น

 

ถ้าเขาอยากสร้างภาพ อยาก Fake อยากทำให้ตัวเองดูดี ก็ปล่อยเขา คนดูจะเป็นตัดสินเอง

 

ผมก็จะเป็นผมแบบนี้ เล่นบ้าง สนุกบ้าง ขึ้นอยู่กับตัวแขกรับเชิญ ส่วนฝั่งก็เราจะพยายามใส่ Energy เข้าไป ถ้าจะในบางคำถามจะมีมุมที่น่ารักบ้าง ไม่น่ารักบ้าง แต่เพื่อทำให้รายการมันมี Dynamic คงจะไม่ได้นิ่งๆ วางมาดเหมือนตอนอ่านข่าว ซึ่งแน่นอนมันก็ต้องมีทั้งคนชอบและคนไม่ชอบ

RAiNMaker : แล้วมีแขกรับเชิญคนไหนที่อยากจะสัมภาษณ์แต่ยังไม่ได้สัมภาษณ์ ทั้งไทยและต่างประเทศ

ต๊ะ พิภู : คือจริงๆ แล้วผมพร้อมที่จะคุยกับทุกคนนะครับ ผมก็อยากจะมีโอกาสคุยกับหลายๆ คน อย่างผมเนี่ยผมชอบเรื่องฟุตบอล ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะสัมภาษณ์ Steven Gerrard หรือ David Beckham หรือตอนนี้ก็ Jurgen Klopp ผมเป็นแฟน Liverpool แต่ถ้าในประเทศไทยก็ต้องยอมรับว่าผมรอคิวท่านมานาน แต่ว่าท่านก็ยังไม่ให้เกียรตินนั้น

เพราะท่านอาจจะไม่ว่างนะครับ หรือไม่รู้ว่าวันหนึ่งท่านจะรับคอมเมนต์ในโซเชียลได้หรือเปล่า ก็คือนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผมอยากมีโอกาสนั่งคุยกับท่านแบบลุงกับหลานนะครับ แบบพี่กับน้อง คุยกันในแง่มุมอื่นๆ ผมอยากเห็นตัวตนของท่านในอีกหลากหลายมุมนอกเหนือจากมุมที่คนอื่นเห็นจากภายนอกที่มันอยู่บนหัวโขนที่ใหญ่ที่สุด แล้วทุกคนก็วิพากษ์วิจารณ์กัน

หรือแม้แต่อดีตนายกรัฐมนตรี คุณ ทักษิณ ชินวัตร ถ้าเป็นไปได้ผมก็อยากคุยกับท่าน อยากรู้ว่ามันผ่านมานานแล้ว สิบกว่าปีแล้ว หลังจากนี้ควรจะยังไงต่อดี ถ้าวันนี้ถอดชื่อของคนที่ชื่อว่าทักษิณ ชินวัตรออกไปจากระบบได้ คิดว่าประเทศไทยจะหลุดออกจากวังวนนี้มั้ย ผมอยากถามท่านตรงๆ แบบนี้

RAiNMaker : อีกหนึ่งการทำคอนเทนต์ที่ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างมากในช่วงเลือกตั้ง นั่นก็คือเวทีดีเบต ทั้ง The Stadard เและ GMM25 คุณต๊ะมีโอกาสได้ทำงานถึง 2 เวที 2 รูปแบบ มีความท้าทายยังไงบ้าง

ต๊ะ พิภู : คือมันยากทั้ง 2 เวทีนะครับ ผมเองก็ไม่เคยทำ ดีเบตการเมืองมาก่อนด้วย แล้วก็ต้องยอมรับเลยว่าถ้าไปเทียบกับพี่ๆ ผู้ประกาศหรือว่านักข่าวรุ่นใหญ่ ผมก็ถือว่ายังอ่อนอยู่มาก พรรษาทางการงานด้านนี้ก็น้อยกว่า ความรู้ในด้านการเมืองก็มีแค่ครึ่งๆ กลางๆ ยังไม่ได้ลึกซึ้งขนาดนั้น ก็ต้องทำการบ้านหนัก ถามว่าท้าทายมั้ย ท้าทายทั้ง 2 เวที ถามว่าต่างกันมั้ยก็ต่างกันพอสมควรครับ

เวทีของ GMM25 เนี่ยเป็นเวทีสำหรับนักการเมือง Young Blood คนที่มาจะเป็นหน้าใหม่ที่ไม่เคยเป็นส.ส.มาก่อนเลย ผมเคยสัมภาษณ์แค่หมอเอ้กคนเดียว ณ​ ตอนนั้นนะ เพราะฉะนั้นผมก็จะรู้ข้อมูลของนายแพทย์ธนวัฒน์คนเดียว ในขณะที่คนอื่นผมก็รู้จักแค่คุณฟิล์ม รัฐภูมิ ซึ่งรู้ว่าเขาเป็นดารา เคยเห็นเขาสัมภาษณ์ว่าทำไมเขาถึงอยากมาลงเล่นการเมือง แต่ว่าพื้นฐานของเขาอย่างอื่นผมไม่รู้เลย ส่วนที่เหลืออีก 7-8 คนนี่หนักกว่าเพราะผมไม่รู้จักเลยนะครับ แล้วข้อมูลของพวกเขาก็ไม่ได้หาง่ายๆ ก็ต้องทำการบ้านกันพอสมควร

แต่ว่าความยากมันไม่ได้มีแค่เรื่องที่เราไม่รู้จักเขา มันมีความยากในเรื่องของ Production องค์ประกอบของกล้อง กระบวนการต่างๆ เพราะรายการสด บางทีเราก็จะหันผิดมีความยากตรงนี้ แต่ความได้เปรียบก็คือเราจะอายุมากกว่าทุกคนที่มา เพราะฉะนั้นการวางตัวก็จะไม่ยากเท่ากับที่ต้องเจอกันนักการเมืองรุ่นใหญ่ มันก็จะทำให้เรารู้สึกสบายๆกว่า

ซึ่งก็จะตรงกันข้ามกับเวทีของ The Standard เวที The Standard โปรดักชั่นสำหรับผมไม่ได้ยาก เพราะว่าผมมีส่วนตั้งแต่กระบวนการช่วยคิดตั้งแต่แรก จริงๆ ทั้ง 2 เวทีเนี่ยผมช่วยคิดรูปแบบแล้วก็ออกแบบกติกาในแต่ละช่วงพอสมควร แต่ของ GMM25 จะเป็นโปรดักชั่นโทรทัศน์ซึ่งจะเป็นแพตเทิร์นอีกอย่างหนึ่ง ส่วน The Standard จัดที่เป็น E-sport Arena ยังไม่ใช่ความยากที่สุดในเรื่องของแสงสีหรือมุมกล้อง เพราะเราได้คุยกับทีมงานตลอด

แต่ความยากจะไปอยู่ที่การวางตัวอย่างทีบอกเวทีนี้คือรวมรุ่นใหญ่ คือระดับประธานยุทธศาสตร์ ระดับหัวหน้าพรรค ระดับ Candidate นายกรัฐมนตรี เขาคือคนที่พร้อมจะห้ำหั่นกันบนเวที แต่ลงจากเวทีเขาก็จับมือกัน บางคนอาจจะกินข้าวด้วยกันได้ บางคนอาจจะไม่มองหน้ากันเลย แต่ละคนมีความเก๋า เขาผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภากันมาแล้วไม่รู้กี่สมัย บางคนเป็นส.ส. เป็นรัฐมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว

เพราะฉะนั้นแน่นอนว่าพลังของเขากับเราซึ่งเป็นเด็กน้อย การที่เราจะไปอยู่ตรงนั้นการวางตัวค่อนข้างยากเลย ถ้าไปทำตัวแน่เกินไปมันก็จะดูกร่าง ดูไม่น่ารัก แต่ถ้าทำตัวเป็นนอบน้อมเกินไป การควบคุมเวทีก็จะดูอ่อนไป คนดูก็จะแบบเอาไอ้นี่มาได้ยังไง ไม่ไปเอาคนที่เก่งกว่านี้มา ผมก็พยายามทำให้ดีที่สุดบนเวทีทั้ง 2 เวที ที่เหลือก็อยู่ที่ Feedback ของผู้ชม

ทั้งนี้ตั้งแต่ตอนเตรียมงาน เราก็พยายามดีไซน์รูปแบบรายการมาเพื่อให้ผ่อนความหนักหน่วงในเรื่องของการดำเนินรายการให้มากที่สุด ทั้งการจับเวลา เงื่อนไขลำดับการตอบคำถาม แต่สุดท้ายแล้วมันจะออกมาเป็นยังไง ก็ต้องกล้าเสี่ยง ตอนแรกเราเชิญไป 10 พรรค สุดท้ายเหลือ 8 เพราะว่าถูกยุบไป 1 มันก็เลยทำให้ผมเนี่ยค่อนข้างจะคุมเวลาได้ง่ายขึ้น บวกกับ 7 จาก 8 ท่านผมเคยมีโอกาสสัมภาษณ์มาหมดแล้ว เพราะฉะนั้นก็พอจะรู้พื้นฐานของแต่ละท่านว่าชอบอะไรไม่ชอบอะไร ถนัดด้านไหน ต้องคุยยังไง การที่เรารู้จักกันไว้ก่อนบ้างแล้วนิดหน่อย มันก็ทำให้เราทำงานง่ายขึ้น

RAiNMaker : ทุกครั้งที่ต้องจัดรายการที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการเมืองแล้ว เราในฐานะผู้สื่อข่าวพอพูดไปฝั่งไหนนิดนึงเราก็ถูกโจมตี คุณต๊ะรับมือยังไงบ้าง

ต๊ะ พิภู : ก็ต้องจิตแข็งครับ คือต้องยอมรับอย่างนึงว่าในโลกยุคนี้คนแสดงออกทางความคิดได้ง่าย แต่บางครั้งมือและปากก็ไวเกินกว่าสมอง โดยเฉพาะสมองส่วนกลั่นกรอง ฟิลเตอร์ตัวที่ดูว่าอะไรถูกอะไรผิด บางทีเราก็พูดจาหรือวิจารณ์กันรุนแรงเกินความจริงเกินความจำเป็นโดยไม่ได้ฟังความให้ครบทุกด้าน ไม่ได้ดูข้อมูลให้ลึกซึ้ง หรือไม่ได้เข้าใจเรื่องนั้นอย่างถ้วนถี่

คนในโลกโซเชียลบางกลุ่มที่คอมเมนต์แรงๆในหลายครั้ง เขารู้ 1 พูด 5 วิจารณ์ 10 จนบางครั้งคุณยังไม่ได้เข้าใจในสิ่งนั้นดีเลย หรือบางทีคุณก็แค่ไหลตามกระแสไป หรือบางคนก็เอาแค่ความสะใจ เพื่อความสนุก มันมีหลากหลายรูปแบบมากๆ บ้างเรียกร้องประชาธิปไตยแต่ตัวเขาเองหลายคนก็ไม่ได้มีประชาธิปไตย ไม่ได้เคารพคนอื่น พอคนอื่นคิดไม่เหมือนเราก็โจมตี ก็รุมด่า ก็ Bully แบบนี้มันไม่น่าใช่ประชาธิปไตย

แต่ในฐานะที่เราเป็นคนที่อยู่ตรงนี้เราก็ต้องรับมันให้ได้ เราก็ต้องจิตแข็งแล้วก็ต้องแยกแยะให้ออก ถ้าเขาวิจารณ์มาด้วยข้อมูลที่ดี ที่เป็นการติเพื่อก่อ ที่มีน้ำหนัก เราก็ควรรับฟัง แล้วก็นำมาปรับปรุงแก้ไขว่า เออ ถึงแม้เราจะคิดอย่างนั้นเราอาจไม่ควรพูดอย่างนั้น และเหนือสิ่งอื่นใดคือเราต้องไม่ตอบโต้ เราต้องใช้ตรรกะที่ถูกเพื่อต่อสู้กับตรรกะที่ไม่ถูก ซึ่งการไปเถียงกันไปเถียงกันมาไม่ช่วยอะไร การสร้างความเกลียดชังขึ้นมาต่อสู้กับความเกลียดชังไม่ได้ทำให้ความเกลียดชังหายไปเลย รังแต่จะเพิ่มความเกลียดชังให้มากขึ้น สร้างปัญหาให้มากขึ้น และนี่คือสิ่งที่สังคมไทยกำลังเจออยู่

ต.อ. จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต

ผมรู้สึกว่าการที่เรามีความคิดเห็นแบบหนึ่งที่ก็ไม่ได้ไปทำร้ายใคร มันผิดตรงไหนที่เราคิดแบบนี้ หรือบางทีเราอาจจะไม่ได้คิดแบบนี้เต็มๆ ก็ได้ครับ แต่มันเป็นแค่ส่วนนึงของความคิดเรา เสี้ยวนึงที่เราคิดมาแบบนี้ แต่มันแค่ไม่ถูกใจคนอื่น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมสัมภาษณ์คนของทางฝั่งรัฐบาล ณ ปัจจุบันก็จะถูกโจมตีหนักมาก ทั้งๆ ที่ผมอาจจะไม่ได้เชียร์เขาเลยก็ได้

 

ณ วันนั้นเราต้องพยายามคุยกับเขาให้ดีที่สุด เพราะถ้าเราคุยกับเขาไม่ดี เขาก็จะไม่เปิดตัวตนข้างใน ไม่ให้ข้อมูลที่เราต้องการให้เรา แล้วมันก็จะไม่แฟร์กับเขา

 

ถ้าเราอคติหรือมาถึงก็ใส่ๆ คุยกับเขาด้วยความที่รู้สึกที่ไม่ชอบเขาตั้งแต่แรก มันไม่มีประโยชน์ ผมรู้สึกว่าความเป็น Professional คือเราต้องสามารถนั่งคุยกับคนที่เราอาจจะลึกๆ แล้วไม่ได้ชอบเขา หรือว่าความคิดเห็นหรือทัศนคติไม่ตรงกัน แต่เราสามารถคุยกับเขาได้อย่างถูกคอ ผมว่าแบบนี้เป็นประชาธิปไตยมากกว่า เราไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกันแต่เราคุยกันได้

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมทำก็คือ ผมอดทน ปรับปรุงตัวเอง แล้วก็ใช้กาลเวลาพิสูจน์ และสิ่งหนึ่งที่ผมบอกตัวเองว่าผมภูมิใจเสมอก็คือ ตั้งแต่ทำงานในสายนี้มา ผมไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์หรือทำร้ายใคร นอกจากจะไม่ตอบโต้แล้ว ยังไม่เคย… บางทีก็รู้สึกว่าไม่เห็นด้วยอย่างมาก ทำไมถึงพูดอย่างนี้ ทำไมถึงแสดงออกแบบนี้ แต่ผมรู้สึกว่าการจะยืนอยู่บนถนนสายนี้ การจะทำงานบนสื่อแบบนี้ได้ แม้ว่าใจเราจะเอนเอียงก็ตาม การแสดงออกของเราก็ต้องเป็นกลางให้ได้มากที่สุด เพราะมันคือหน้าที่ของเรา

ณ ปัจจุบันเราทำหน้าที่แบบนี้ ถ้าวันนึงผมเลิกเป็นผู้ประกาศข่าว วันนึงผมเลิกเป็นพิธีกรของ The Standard วันนึงผมไม่ได้ทำงานในสายสื่อสารมวลชน ผมก็อาจจะแสดงออกทางความคิดอย่างเต็มที่มากกว่านี้ว่าผมคิดยังไง คิดเห็นแบบไหน ในแต่ละเรื่องมันไม่ได้จำเป็นต้องไปด้วยกันหมด ต่อให้เราชอบอุดมการณ์ของคนกลุ่มนี้ พรรคพรรคนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเห็นด้วยกับเขาทุกเรื่อง ถูกมั้ยครับ นี่คือความสวยงามของประชาธิปไตย

กรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

แต่ตอนนี้ผมทำงานตรงนี้ ความจำเป็นของผมคือต้องเป็นกลางให้มากที่สุด แล้วต้องสามารถพูดคุยกับคนทุกกลุ่มให้ได้มากที่สุด ใครจะว่าเรายังไงเราไม่สนใจ เราเชื่อมั่นในเจตนารมณ์และอุดมการณ์ของเรา ผมเชื่อว่าเจตนาจะเป็นสิ่งที่นำพาเราไปยังจุดหมายที่เราคู่ควร อย่างที่บอกไปว่าผมไม่เคยโพสต์ด่าใคร ไม่เคยอัดคลิปว่าใคร ไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์ใครรุนแรง แล้วก็ไม่พูดอะไรในด้านเดียวในแง่เดียว ผมพยายามจะฟังให้รอบด้านก่อน แล้วก็ศึกษาให้ลึกซึ้งจริงๆ ก่อนที่จะวิพากษ์วิจารณ์อะไร

RAiNMaker : สุดท้ายอยากให้พูดถึงเสน่ห์ของการทำรายการข่าว แล้วก็ฝากถึงน้องๆ รุ่นใหม่ที่อยากจะเข้ามาทำคอนเทนต์สายข่าว

ต๊ะ พิภู : สิ่งที่อยากจะฝากก็คือข่าววันนี้นะครับมันทำง่าย แต่ทำให้ดีและทำให้อยู่ยืนยากมาก ที่บอกว่าง่ายก็คือทุกวันนี้ทุกคนมีมือถือ ทุกคนมีอินเตอร์เน็ต ทุกคนสามารถเป็นผู้รับและผู้ส่งสารได้ ดังนั้นคุณสามารถเป็น Journalist ได้ แต่ว่าคุณจะเป็น Journalist ที่ดีหรือเปล่า มันต้องมีองค์ประกอบพื้นฐานหลายอย่าง หนึ่งเลยก็คือคุณต้องมีทักษะการใช้ภาษาที่มีความถูกต้อง แล้วก็มีความสวยงามในการสื่อสาร

สองคือคุณต้องมีความรอบรู้ มีข้อมูลที่รอบด้าน ถ้าไม่รู้อย่าเพิ่งรีบเสนอ รีบแชร์ รีบส่งต่อ เพราะข้อมูลเล็กๆ เหล่านั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อชีวิตใครบางคนก็ได้ ผมเชื่อว่า ณ วันนึงเมื่อคุณเติบโตขึ้น คุณจะรู้ว่าบางสิ่งบางอย่างที่คุณเคยทำผ่านโลกออนไลน์มันไม่ใช่การกระทำที่น่าเคารพ น่ารักนะครับ หรือว่าเป็นการกระทำที่คุณภาคภูมิใจกับมันเลย

ต๊ะ The Standard

เมื่อวันเวลาผ่านไปคุณจะรู้สึกได้ว่า เฮ้ย วันนั้นฉันไม่น่าทำแบบนี้เลย ดังนั้นจงใช้ตรรกะคิดให้ดีๆก่อน แล้วถ้าอยากทำงานในสายนี้จริงๆ สิ่งเดียวที่ทำได้ก็คือ ทำการบ้านเยอะๆ อ่าน ฟัง ดูข่าวเยอะๆ และลงมือทำเลย เดี๋ยวนี้คุณสามารถอัดคลิป ทำเป็นคอนเทนต์นำเสนอเล่าข่าวอะไรก็ได้ ลองดูแล้วกลับมาแก้ไข ถ้าเราพูดไม่ดี อัดใหม่ ลองฝึกเล่าใหม่ ถ้ารู้สึกว่ายังพูดไม่ดี ทุกวันนี้ผมก็ยังทำแบบนั้น ผมกลับไปดูตัวเอง แล้วรู้สึกว่าเมื่อกี๊น่าจะเล่าได้ดีกว่านี้ เมื่อกี๊น่าจะพูดประโยคที่มันดีกว่านี้ บางทีบางอย่างมันมาไว ชุดคำพูดของเราจะถูกปรับเปลี่ยนไปตามอายุ ไปตามสิ่งที่เราเสพเข้ามา กระบวนการที่มันหล่อหลอมเรา ทำให้เราสามารถพูดประโยคต่างๆ ออกมาได้ มันจะมาจากสภาพแวดล้อมและการใช้ชีวิตของเรา

 

เพราะฉะนั้นยิ่งเราเสพมาก อ่านหนังสือมาก ฟังข่าวมาก ดูมาก เราก็จะรู้ว่าเรื่องราวแบบนี้ควรจะใช้ชุดคำพูดหรือประโยคแบบไหนในการสื่อสาร เพื่อให้คนสามารถเข้าใจได้ง่ายที่สุดครับ


บทสัมภาษณ์โดยทีมงาน RAiNMAKER

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save