สัมภาษณ์เบื้องหลังทีมงาน Workpoint News แนวคิดและกระบวนการทำงานของทีมข่าวยุคใหม่

สำหรับ Workpoint ที่เราๆ ท่านๆ จะเคยรู้จักในรูปแบบของรายการบันเทิงที่มีความโดดเด่น แต่ถ้าพูดถึงสำนักข่าวออนไลน์ที่กำลังมาแรงในช่วงนี้ ก็จะเห็นชื่อ Workpoint News อยู่ลำดับต้นๆ เลยทีเดียว ทั้งการเลือกประเด็น รูปแบบการนำเสนอ ความจริงจังแบบกัดไม่ปล่อย รวมถึงการทำงานที่ทุ่มเทให้กับองค์กรอย่างสุดความสามารถ

โดย Workpoint News ก็นับว่าเป็นสำนักข่าวที่ทางทีมงานเองชื่นชมเป็นอย่างมาก รวมถึงวันนี้เราจะได้มาพูดคุยทำความรู้จักกับทีมงานของ Workpoint News กันครับ

รบกวนทั้งสามท่านช่วยแนะนำตัวกันก่อนเลยครับ

คุณบอม : สวัสดีครับ ผมบอม พงศกร จุฑามณีกุล ดูในส่วนข่าว Workpoint Online ตำแหน่งคือ Re-Writer ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าว

คุณหยก : สวัสดีค่ะ หยก รินรดา รวีเลิศ ค่ะ เป็น บก. และผู้ประกาศข่าว

สำหรับ บก. จะอยู่ในส่วนของข่าววิเคราะห์  เจาะเฉพาะข่าวดังข่าวเด่นในวันนั้นเป็นพิเศษ แต่ว่าในแง่เดียวกันก็คือ Support ทีมด้วย ถ้าเกิดจะต้องเลือกคอนเทนต์ข่าว หรือว่าข้อมูลแหล่งข่าวที่จำเป็น

คุณแพร : สวัสดีค่ะ แพรค่ะ สุธาสินี สุขโข สำหรับแพรก็จะดู Workpoint Shot ในส่วนของวิดีโอทำเป็นคลิปสั้นๆ ไม่เกินสามนาที ทำภาพ ลง Social Media ต่างๆ ค่ะ

 

ตอนนี้เรามีทั้งทีมที่ดูออนไลน์ และทีมข่าวสดทางช่องทีวี มีการทำงานร่วมกันอย่างไรบ้างครับ

คุณหยก : ข่าวทีวีเนี่ย จะเริ่มมีตั้งแต่ตีห้า น้องในทีมก็ทำงานกันตั้งแต่ห้าทุ่มของวันก่อนหน้านี้ เพื่อ Support ข่าวตอนตีห้า พอถึงเวลาห้าทุ่ม ทีมงานช่วงเช้าก็จะมาแล้ว ซึ่งก็จะซ้อนกับทีมดึก เพราะจะมีข่าวตอนเที่ยงคืนด้วย

เราจะมีกรุ๊ป LINE สำหรับโยนข่าวไว้ในนั้น โดยในกรุ๊ป LINE เนี่ย ก็จะมี บก. ภูมิภาคคนนึงที่เค้าจะมีนักข่าว Stinger อยู่ในมือเค้าทั่วประเทศ เวลาที่เค้าได้ข่าวอะไรมา เค้าก็จะโยนเอาไว้ในนี้ ฝั่ง Social Media และฝั่ง Web ก็จะดึงตรงนี้ไปใช้ด้วย

ทุกวันนี้ก็คือทุกคนสามารถเป็นนักข่าวได้หมด ใครก็สามารถให้ข่าวได้ เช่น เดินๆ อยู่เจอรถชน ถ่ายคลิปคนกำลังปั๊มหัวใจ

และจะมีอีกกรุ๊ปนึง คนที่เค้าโพสต์ตาม Facebook ต่างๆ เรื่องญาติพี่น้อง เรื่องเพื่อน ก็จะมีไปดึงมาใส่ ฝั่ง Social Media และฝั่ง Web ก็จะเอาไปใช้เหมือนกัน ถ้ามันมีข่าวไหนที่เอาไปทำ Short หรือลง Web ได้ โดยที่จะใส่แค่คอนเทนต์ข่าว จังหวัดที่เกิดเหตุ คลิปข่าว จากนั้นน้องในทีมก็จะไปตามต่อเอาว่าในนั้นมีอะไรต่อ มันมีเรื่องก่อนหน้านั้นไหม มันมีเรื่องหลังจากนั้นไหม

 

พอเรารวบรวมประเด็นได้หลายประเด็น มาถึงช่วงที่ก่อนจะออกรายการข่าวทางทีวี ใช้วิธีรวบรวมข่าวหรือเลือกประเด็นอย่างไรบ้าง

คุณหยก : วิธีเลือกข่าว ถ้าในฝั่งของทีวีคือ เราจะเล่นทุกประเภท ข่าวทุกประเภท การเมือง เศรษฐกิจ สังคม อาชญากรรม ความเชื่อ อุบัติเหตุเล่นหมด เพียงแต่ว่าสัดส่วนจะมากน้อยต่างกันตามความเหมาะสม

คุณบอม : ฝั่งเว็บนะครับ จะแบ่งเป็นกะการทำงาน จะมีทีมในเว็บทั้งหมด 12 คน จะเริ่มงานกะเช้าตั้งแต่ 6.00 น. – 15.00 น.  แบ่งเป็นครึ่งๆ  ประมาณ 4-5 คน กะบ่ายจะเริ่ม 15.00-22.00 น. 

โดยกะเช้าเนี่ย มาตอนแรกคือเราจะหยิบข่าวมาจากสองแหล่งคือจากที่ทีวีเล่น และจากเรื่องราวที่ Social Media ให้ความสนใจ การนำข่าวลงเว็บก็คือเราจะเลือกประเด็นที่สำคัญ ใกล้ตัว ข่าวที่คนให้ความสนใจเป็นหลัก เช่น สังคม อุบัติเหตุ อย่างที่พี่หยกพูดไป แล้วก็เรื่องการเมือง

และในกรุ๊ปของ Social ถ้ามีเรื่องที่น่าสนใจก็จะหยิบมาลงเว็บด้วย  ประเด็นที่ทีวีเล่นส่วนมากจะลงเว็บหมด เพราะว่าคนดูทีวีก็จะหาต่อในเว็บด้วย  เนื้อหา 95% จากทีวีจะเห็นในเว็บนั่นเองครับ

แล้วก็จะมีคนคอยมอร์นิเตอร์ด้วยว่า มีข่าวอะไร มีข่าวด่วนข่าวเด่นอะไรไหม การเมืองเศรษฐกิจ สังคม อาญชากรรม ต่างประเทศ ข่าวกีฬาด้วย เพราะว่าในเว็บมันคือบ้านของเรา ที่เราจะมีคอนเทนต์ และค่อยเอาออกไปทาง Social Media ต่างๆ

 

คุณแพร : สำหรับแพร ขึ้นชื่อว่า Social Media เราจะเลือกจากประเด็นเป็นหลักเลยว่า วันนี้ Social เค้าตามข่าวอะไร เราก็จะไปที่นั่น วิธีการทำงานร่วมกันของทีวีกับเว็บก็คือ เมื่อทีวีทำข่าวนี้  มีช่างภาพของทีวีไปถ่ายมา ออนไลน์ก็จะนำภาพของข่าวทีวีมาใช้

ไม่ว่าจะเป็นบทสัมภาษณ์ เราก็จะเอามาใส่ซับแล้วก็ลงภายในวันนั้น หรือว่าจะเป็นประเด็นที่เราสามารถต่อยอดเองได้ เช่น เรื่องราวชีวิตของคนนี้น่าสนใจ เราก็จะแบบหยิบมาทำ 

นอกจากนี้ก็จะมีการนำเนื้อหาจากทีวีมาใช้ Workpoint ก็จะมีหลายรายการอย่างเช่น Let me in หรือ Makeover อะไรอย่างนี้ค่ะ ทางฝั่งของ Workpoint Short ก็จะรับผิดชอบในการทำคลิปนั้นๆ เอามาให้สั้น ดึงจุดสนใจออกมาหรือว่าถ้ามีใครน่าสนใจเช่นน้องที่เพิ่งออกไมค์ทองคำ เราก็จะตามไปสัมภาษณ์ชีวิตเค้าเป็นอย่างไรบ้างประมาณนี้ค่ะ

 

คอนเทนต์บน Web และที่เป็น Short ออกหนึ่งวันประมาณกี่ชิ้น?

คุณแพร : หนึ่งวันประมาณ 10 ชิ้นได้ค่ะ เน้นลง Social Media

คุณบอม :  Web ถ้าลง Social Media ประมาณ 25-35 ข่าว ที่เราลงผ่าน Facebook แต่ถ้าใน Web ก็จะประมาณ 70-90 ข่าว ขึ้นอยู่กับว่าเราจะประเด็นแบบไหน ถ้าประเด็นหลักเราต้องเสียเวลานิดนึงในการทำข่าว แต่ถ้ามันไม่ได้มีประเด็นอะไรหนักมาก ปริมาณก็จะมากน้อยตามกันไป

 

สำหรับรายการทีวีเนี่ย มีช่วงข่าวประมาณกี่ช่วง?

คุณหยก : เช้าจะยาวสุด ยาวจะรวมกลางคืน 4 ชั่วโมง ตั้งแต่ตี 5.00 น. – 9.00 น. แล้วก็จะมีช่วงเที่ยง เที่ยงเราเคยมี 45 นาที พอปรับผังไปมาตอนนี้เป็น 30 นาที มีข่าวช่วงกลางวันข่าวเบรกอีก 2 เบรก เบรกละ 5 นาที แล้วก็จะมีบรรจงชงข่าวตอนเย็นอีก 30 นาที แล้วก็ข่าวดึกอีกประมาณ 45 นาที

ความต่างมันอยู่ที่ว่าตอนเช้าเนี่ย เราจะเน้นข่าวที่เกิดขึ้นวันก่อนหน้า เช้ามาปุ๊ปเนี่ย เอาจริงๆ ข่าวมันจะยังไม่ได้มีอะไรมาก ยังไม่มีแถลง ยังไม่มีความคืบหน้าอะไร นอกเสียจากว่ามันจะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกลางดึก ดังนั้นข่าวเช้ามันก็จะเป็นลักษณะ Wrap up ข่าวของวันก่อนหน้า เอามาเล่าอีกทีหนึ่งตอนเช้าว่าเมื่อวานมันเกิดอะไรขึ้นบ้าง

บางคนปิดไฟนอนตั้งแต่สองทุ่ม ช่วงหลังจากนั้นมีความคืบหน้าอะไรไหม ใครเข้าไปมอบตัวกลางดึกหรือเปล่าอะไรอย่างเงี้ยค่ะ หรืออยู่ดีๆ ครูปรีชาสารภาพตีหนึ่ง เช้าขึ้นมาเราก็จะเอาเรื่องนี้ขึ้นมาพูดทั้งหมดว่า รอบวันที่ผ่านมามีอะไรบ้าง

ข่าวเช้าจะเยอะค่ะประมาณ 70-80 ข่าวต่อวัน เที่ยงประมาณ 20 ข่าว เบรกประมาณ 2-3 ข่าวต่อเบรก ข่าวช่วงเย็นจะไม่ค่อยเยอะ เพราะว่าจะเน้นข่าวที่ Exclusive ขึ้น เรื่องขยี้มากขึ้น เน้นมากขึ้น นักข่าวส่วนกลางจะลงไปเก็บข่าวเองสัมภาษณ์เอง ไปเกาะรั้วหน้าบ้านมา  มันก็จะมีสักประมาณ 5-6 ข่าวแค่นั้นเองค่ะ

ถ้าถามว่าระหว่างทีวีกับออนไลน์ต่างกันยังไง คือ ผอ. ข่าวเค้าเคยบอกว่าฝั่งทีวีเนี่ยเป็นพวกหาปลา คือหว่านแหปุ๊ปเนี่ยได้ปลามาเป็นอวน ส่วนฝั่งออนไลน์เป็นพวกชงชา งานเค้าจะละเมียดขึ้นมาอีก เค้าก็จะมีการทำอะไรที่มันดึงดูดสายตาคนดู อย่าง Short ต้องมีการใส่ซับ ใส่ effect มีการดึงจังหวะ ต้องทำให้คนเข้าใจง่ายๆ ภายในคลิปสั้นๆ คือมันจะมีความละเมียดมากขึ้นในงาน Production

 

Workpoint เนี่ย ขึ้นชื่อเรื่องบันเทิงอยู่แล้ว พอเริ่มจัดตั้งหน่วยข่าวขึ้นมาเนี่ย ความเป็น Workpoint ที่คนมองว่าเป็นบันเทิงสุดๆ มีผลกับการเลือกข่าวเลือกประเด็นต่างๆ ไหมครับ?

 

คุณแพร : สำหรับแพร แพรไม่ได้มองว่า Social Media มันเป็นข่าวไปซะทั้งหมด เรามองเป็นคอนเทนต์มากกว่า เช่น เราไปสัมภาษณ์คนที่น่าสนใจ อย่างคนทำเพจ Little Monster เราจะไม่ได้เน้นไปทางข่าวอย่างเดียว ก็จะมีบ้างที่เราถ่ายคาเฟ่ มีบ้างที่เราหยิบประเด็นข่าวจากต่างประเทศ มาทำคลิปให้คนเข้าใจ จะไม่ได้เน้นที่ข่าวอย่างเดียว และก็เรื่องความบันเทิงแน่นอนว่าเราก็จะหยิบจับสิ่งที่มีอยู่ใน Workpoint ไม่ว่าจะเป็นดาราหรือใครสักคนที่ถ้าเกิดว่าเค้ามารายการไหนแล้วเจอประเด็นน่าสนใจ ก็เลือกจะไปสัมภาษณ์เค้าประมาณนั้น

จะไม่ได้ทำข่าวที่เครียดขนาดนั้น โดยส่วนตัวก็จะรู้กันเองในทีมว่าใครถนัดอะไรด้วย เราไม่รู้นะว่าทำอะไรแบบไหนแล้วมันปังหรือไม่ปัง เรารู้แต่ว่ามันต้องทำแล้วเราอยากทำ

 

คุณหยก : โดยรวมแล้วก็จะอยู่ที่หัวขบวนในการเลือกคอนเทนต์ เพราะวันวันหนึ่งข่าวมันเยอะ เฉพาะข่าวเช้าฝั่งทีวีอย่างเดียวก็ปาไปเกือบร้อยแล้ว ถ้าเกิดหัวขบวนไม่ดี โอกาสที่มันจะติดท็อปบน Social มันก็ยากค่ะ ฝั่งหยกเนี่ย ข่าวจะเยอะมาก จะมีบก. เลือกประเด็นว่าแต่ละเบรกจะมีอะไรบ้าง ในหนึ่งเบรกเราจะกระจาย ไม่ใช่ว่าเบรกเดียวก็ยัดรถชนเข้าไปทั้ง 8 ข่าว เบรกถัดไปยัดเศรษฐกิจเข้าไปทั้ง 8 ข่าว เราต้องกระจายเพื่อให้ใน 1 เบรกคนดูข่าวได้หลายโทน

แล้วก็จะมี พี่ติ่ง สมภพ รัตนวลี เนี่ยค่ะเค้าก็จะเป็นคนเหมือนกับเป็นคนคั้นขั้นสุดท้ายอีกทีหนึ่ง เช่น ข่าวนี้ไม่จำเป็น มีข่าวที่ใหญ่กว่านี้แล้วยังไม่มีที่ลง เอาอันนี้ออกเอาอันนั้นเข้า แต่ถ้ามันดีอยู่แล้วเค้าก็ไม่แตะต้องอะไรนะคะ แต่สมมติว่าถ้ามีอะไรที่มันใหญ่กว่า อย่างอยู่ดีๆ มีเครื่องบินตกอย่างเนี้ยก็ต้องเอาข่าวที่มันเล็กดึงออกแล้วก็เอาอันนี้ยัดใส่เข้าไป

ส่วนถามประเด็นว่าถ้าเกิดช่องวาไรตี้อย่างเราเนี่ยเลือกประเด็นข่าวยังไง สำหรับฝั่งทีวีนะ การเป็นช่องวาไรตี้ ไมได้มีผลต่อการเลือกข่าว แต่มีผลกับ Mood and Tone ในการพรีเซนต์ออกไปมากกว่า

ข่าวมันยังเป็นข่าว เราไม่สามารถเอาข่าวล่วงละเมิดทางเพศมาเล่าให้เป็นวาไรตี้เป็นเรื่องตลกได้ เราก็ยังไม่สามารถทำข่าวให้มันเป็นเรื่องขำขันหรือตลก เพียงแต่รูปแบบการนำเสนอมากกว่า

เราก็จะนำเสนอในเชิงเล่าข่าว แต่ละคนมีคาร์แรคเตอร์ของตัวเอง อย่างพี่แป๊ะ สุภาพชาย เค้ามีโทนเสียงที่เข้ากับหูชาวบ้าน เค้าเล่าข่าวชาวบ้านแล้วคนชอบฟังมาก อันนั้นก็จะเป็นสไตล์ของผู้ประกาศ อย่างของพี่จงเค้าก็จะเป็นข่าวแนวจริงจัง อาญชากรรม ขยี้คนทุจริต คอรัปชั่นอะไรอย่างนี้ค่ะ มันก็จะเป็นคาแรคเตอร์ Mood and Tone ภาพรวมของรายการ

 

โดยภาพรวมของทั้งหมด ข่าวแบบ Workpoint คือแบบไหน อะไรคือเสน่ห์ของ Workpoint News

คุณบอม : ขอพูดในส่วนของเว็บก่อนละกันครับ เว็บมันจะเป็นเหมือนบ้านของเรา ใช้อ้างอิงอะไรได้มากมายในส่วนของข้อมูล คือ ข่าวของเว็บแน่นอนเราต้องเลือกสิ่งที่คนสนใจ และเป็นประเด็นใหญ่ ซึ่ง Workpoint News มันเป็นคำสองคำ คือ News แน่นอนข่าว มันก็ต้องเป็นข่าว ข่าวสถานการณ์ ข่าวทั่วไปที่ทุกคนสนใจ ถ้ามาหาในเว็บเราจะเจอ

นอกเหนือจากข่าว เรามีเรื่องน่าสนใจ มีพี่ๆ ออกไปทำสกู๊ป มีคนออกไปหาข้อมูลถึงแหล่งจริง ไปคุยกับคนที่อยู่ในคุก อะไรแบบนี้ ในเว็บเราไม่ได้นำเสนอเฉพาะข่าวอย่างเดียว มีคอนเทนต์ที่อาจจะคิดว่าหาที่อื่นไม่ได้ เพราะว่าเราออกไปทำเอง

 

คุณหยก : ฝั่งทีวี ในมุมของหยก ที่ทำงานกับทีม เปรียบเหมือนกับข้าวสำรับใหญ่ มีทุกอย่างทุกรสอยู่ในนั้น อยากกินต้มยำ มี อยากกินแกงจืด มี อยากกินผัดเผ็ดมี อยากกินยำที่เปรี้ยวหน่อยก็มี ไม่ว่าใครเข้ามาอยู่ในวงนี้ เค้าก็จะเจออาหารที่ถูกปาก อันนี้นิยามในฝั่งทีวี

เหมือนกับที่บอกไปในเรื่องของอวนจับปลา เรามีอวนขนาดใหญ่ คือ อวนขนาดใหญ่ในที่นี้เราไม่ได้หมายถึงเรามีกำลังพลเยอะนะคะ คือ ถ้าเทียบกันแล้วจำนวนหลักร้อยเนี่ย ฝั่งทีวีเนี่ยมันมีน้อยมากเมื่อเทียบกับสำนักอื่น

และคนที่มีอยู่เนี่ยก็ไม่ได้ทำงานพร้อมกันในรอบเดียว มีแบ่งเวรอีก เพราะฉะนั้นในเวรหนึ่งเนี่ย มันมีแค่หลักสิบคนเท่านั้นเอง แต่เราทำข่าวได้เท่ากับสำนักที่เค้าทำได้รอบละ 300 คน เพราะฉะนั้นสิ่งที่หยกบอกว่าอวนของเราขนาดใหญ่เนี่ย มันไม่ใช่จำนวนคนทำงาน แต่มันคือวิสัยทัศน์ของหัวหน้าเราด้วย แล้วก็ช่องของเราด้วย ที่กว้างขวางพอที่จะได้

เราไม่ได้มีแต่ข่าว เราก็จะมีมุมขออย่างไมค์หมดหนี้ คนที่มาออกไมค์หมดหนี้นี่มันเหมือนวงเวียนชีวิตเลยนะ เราก็จะได้มุมในแง่นั้นมาเป็นข่าวอีก หรือคนที่ไปออกรายการ Let me in เบื้องหลังชีวิตเค้าเป็นยังไง ทำไมเค้าถึงต้องออกมาเป็นอย่างนี้ มันก็จะมีสิ่งให้ทางนี้ทำอีก เรามีพื้นที่ใหญ่ ดังนั้นไม่ว่าจะเรียกใครมาทานข้าวในวงนี้ เค้าก็จะเจอกับข้าวที่เค้าถูกใจแน่นอน เพราะกับข้าวเราเยอะ

 

คุณแพร : ของออนไลน์ก็เป็นช่องทางการสื่อสารที่ถึงคนในวงกว้าง เราทุกคนก็ทำงานด้วยการที่นึกเสมอว่าทำไปแล้วคนดูจะได้อะไร คือเราไม่ได้คิดว่าจะทำข่าวที่แบบจะต้องเอาดัง ขยี้รัวๆ แต่เราจะคิดว่าเราสามารถให้ความรู้อะไรคนดูได้บ้างไม่ว่าจะในแง่มุมไหนก็ตาม

 

หลายคนมองคน Workpoint ว่างานหนักมาก และก็มีวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่เหมือนใคร อยากให้เล่าในมุมของพนักงานนิดนึงครับ ว่าเค้าหล่อหลอมอย่างไร

คุณหยกไม่ผิดจากนั้น (หัวเราะ)

คุณแพร : อย่างแพรเป็นทีมที่บรรยากาศสบาย เพราะว่าพี่เอมก็เป็นวัยรุ่นและทีมงานในทีมแพรเองก็เป็นคนรุ่นใหม่หมดเลย จึงเป็นเหมือนกลุ่มคนไฟแรงทั้งหมด แพรว่าเรื่องงานหนัก ทุกคนในทีมแพรไม่ได้มองว่างานหนัก เค้ามองว่าทำไปแล้วได้อะไรมากกว่า ทุกคนในที่นี้หลงไหลที่จะทำหมายความว่า อย่างพี่บางคนแบบว่ามีประเด็นที่มันเอาไว้ก่อนก็ได้ แต่เค้าก็จะต้องปิดคืนนี้เพราะว่าอยากให้คนได้ดูคืนนี้ มันก็จะเป็นกลุ่มคนที่หลงไหลการทำข่าวเลยอาจจะไม่ได้มองว่ามันเป็นการทำงานหนัก

แพรมองว่าทำไปแล้วได้อะไรมากกว่า ทำไปแล้วได้อะไรกับตัวเอง กับองค์กร ทุกข่าวที่ทำไม่ได้มีแง่มุมในเรื่องของการทำงานหนักอย่างเดียว แต่ว่า มันมีสิ่งที่เราได้มามากมาย เราได้รับรู้เรื่องเหล่านี้ เราได้รับรู้เรื่องทางสังคมมากมาย เราก็เลยรู้สึกว่า งานมันอาจจะหนักนะ แต่มันตอบโจทย์ชีวิตเรา

 

 

คุณบอม : คือผมก็เพิ่งจบใหม่มา เพิ่งทำงานมาประมาณ 9-10 เดือน ในทีมผมจะต่างกับทีมแพรนิดหนึ่งก็คือ จะมีคนหลากหลายวัย มีคนทำงานด้านข่าว ด้านการเขียน มาก่อนเยอะแยะเลย การที่ผมเข้าไปเนี่ยแน่นอนเจอคนหลายวัย แต่พอผมเข้าไปแล้วเนี่ย เค้าไม่ได้ปิดกั้นความคิดผมว่าแบบ ต้องทำแบบนี้ๆ คือ คุณอยากทำอะไร คุณทำได้ แต่คุณก็ต้องรู้ว่าคุณทำไปเพื่ออะไร คุณทำประเด็นนี้ไปเพื่ออะไร

แต่ถึงแม้ที่บอกว่าจะทำได้หลากหลายแต่ว่ามันก็ต้องอยู่ในกรอบของหลายๆ อย่างเช่น เวลา เรื่องของทำไปแล้วได้อะไร แน่นอว่าทำไปแล้วต้องตรงตามวัตถุประสงค์ เค้าไม่ได้บอกว่า คุณทำข่าวแบบนี้คุณต้องเขียนแบบนี้นะ คุณต้องเลือกประเด็นแบบนี้นะ ไม่จำเป็นครับ คุณจะหยิบยกประเด็นอะไรมาก็ได้ที่เราสนใจ  แต่ไม่ใช่ว่า ชอบประเด็นนี้คุณทำไปสามสี่วันไม่ใช่ คุณก็ต้องแบ่งเวลาให้ถูก

 

 

คุณหยก : คือถ้าให้เม้าท์หัวหน้าอ่ะนะ ถามว่างานหนักไหม หยกก็บอกเลยว่าถ้าหยกล้างหน้าออกเนี่ยนะจะเห็นว่าตาหยกเนี่ยช้ำเลย นอนน้อยมาก แล้วไม่ใช่หยกคนเดียวนะทุกคนในทีมงานหนักหมด

แต่หยกก็ต้องบอกว่า มันไม่ใช่หนักแบบโรงงานนรกนะ ก็มีกฎหมายครอบอยู่ว่าทำงาน 9 ชั่วโมงต่อวัน มีวันหยุดตามกฎหมาย เพียงแต่ว่าอย่างที่น้องแพรบอก มันจะมีความรับผิดชอบส่วนบุคคลน่ะค่ะ ที่คนบางคนยินดีที่จะทำมากกว่า 9 ชั่วโมง คนบางคนยินดีที่จะทำมากกว่า 5 วันต่อสัปดาห์

เพราะฉะนั้นเนี่ย บางทีไปพูดต่อ มันคือการที่คนนอกมองว่า อู้หูวว ทำงานโคตรหนัก แต่จริงๆ แล้วก็คือมันคือสิ่งที่มันมาจากข้างในคนนั้นเองด้วยนะ เพราะว่าทำเกินก็มีโอทีนะ มันไม่ใช่ว่าเค้าไม่ให้อะไรนะ ที่นี่คือองค์กรที่หลายคนอยากเข้า คนเข้าแล้วก็ไม่ค่อยออก ออกน้อยมาก เพราะฉะนั้นถ้ามันจะหนักขนาดนั้นเนี่ยหยกว่าคนออกเยอะ Turn over rate มันคงสูงกว่านี้ เพราะฉะนั้นตรงนี้ งานหนักแต่เค้าเรียกว่า Better Sweet มันหนักมันเหนื่อยก็จริงแต่เรายินดีทำ

โชคดีที่หยกเจอหัวหน้าที่ถูกจริตกันในแง่ที่ว่าหัวหน้าหยกเค้าเป็นคนที่ให้ความรู้สึกกับลูกน้องว่าอยู่ใต้ร่มเค้าแล้วเราไม่เปียกฝน เราปลอดภัย คือเค้าจะเป็นคนที่ปกป้องลูกน้องในขณะเดียวกันเค้าก็ชี้ทางที่ถูกให้ลูกน้องไปได้ ทีนี้ลูกน้องเดินไปเกิดแหกเส้นทางออกนอกลู่นอกทางไปสะดุดหินล้มอะไรขึ้นมาเค้าด่านะ เค้าด่าแต่เค้าก็หิ้วปีกพยุงขึ้นมาให้ไปต่อมันทำให้เรารู้สึกว่าเราไปได้เราสู้ได้

เค้าด่าแรงนะ เค้าด่าจริงจัง ถ้าเกิดไม่เคยอยู่กับเค้ามาก่อนก็คงนั่งร้องไห้เหมือนกัน แต่ถ้าเคยทำงานกับเค้าจริงๆ เนี่ยหยกรู้เลยว่าทุกคนจะเข้าใจว่าที่เค้าด่าเนี่ยเค้าสอนอยู่ และที่เค้าด่ามันคือสไตล์นักเลงของเค้าในคำด่าของเค้าอ่ะทุกคำสอนหมดเลย สอนเพื่อให้เราเป็นข่าวที่เป็นคนข่าวจริงๆไม่ใช่แค่คนอยากจะมีงานทำ

งานข่าวทุกที่ไม่ใช่แค่ Workpoint หรอก มันหนักทุกที่ ไม่มีที่ไหนงานไม่หนักหรอก ถ้าคุณจะทำในสนามข่าวคุณช้าคุณก็ตกขบวนแล้วคุณไม่ไวไม่คมก็ตกขบวนแล้ว

 

คุณบอม :  ความเต็มใจในการทำน่ะมันมีจริงๆ นะ พอเข้ามาแล้ว ด้วยอะไรหลายๆ อย่าง มีครั้งหนึ่งผมเลิกงานสี่ทุ่ม ผมกลับบ้านจะนอนตอนประมาณเที่ยงคืน ผมนั่งดู Twitter ของผม แล้วเจอนายกจับมือกับทรัมป์ แล้วยังไม่มีสื่อไหนเล่นเลยผมก็เลยลุกขึ้นมาหาภาพแล้วก็ลงตอนนั้นเลย มันรู้สึกว่าเราเต็มใจทำ รู้สึกว่าไม่ทำไม่ได้

คุณหยก : คือผู้ใหญ่ที่เนี่ย เค้าให้โอกาสทุกคน อยู่ที่ว่าคุณคว้าโอกาสนั้นไว้หรือเปล่า ซึ่งก็คือการทำงานให้เห็นว่าเราตั้งใจทำงาน ที่นี่ถ้าใครตั้งใจทำงานทุกคนมีตัวตนหมด ที่ไหนที่เรามีตัวตนที่นั้นคือที่ของเรา

คนบางคนอาจจะมองว่า โหหหห ในที่เดียวกันทำไมไม่เห็นรู้สึกแบบเดียวกันเลย แล้วคุณเต็มที่หรือยัง ถ้าคุณเต็มที่แล้ว คุณไม่ถึงกับต้องทำเกินที่เค้าต้องการก็ได้ ทำได้ที่เค้าต้องการตามที่เค้าคาดหวังที่เค้ารับคุณมาคุณมีตัวตนแล้วแหละ

 

 

Copyright © 2025 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save