เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงกันมากพอสมควรกับพฤติกรรมการเขียนคอนเทนต์ ไม่ว่าจะเป็นบทความหรือข่าว ที่เราจะพบว่าบางเว็บไซต์จะใช้วิธีการคัดลอกเนื้อหาจากเว็บอื่นมาลงแล้วทำการให้เครดิต วันนี้ทีมงาน RAiNMAKER จะพูดถึงหัวข้อนี้รวมถึงนำเสนอมุมมองที่เราอาจจะไม่ได้ฟันหรือตัดสินว่า การกระทำแบบนี้ผิดหรือไม่ แต่เราจะพยายามสะท้อนอะไรบางอย่างออกมา
ก็อป วาง แล้วให้เครดิต
เชื่อว่าคนทำคอนเทนต์หลายคนอาจจะเคยเจอว่าบทความหรือเนื้อหาของตัวเองถูกก็อปไปวางในเว็บของคนอื่น แล้วมีการให้เครดิต โดยที่เรียกได้ว่าแทบไม่มีการปรับเปลี่ยนอะไรเลย ซึ่งความรู้สึกของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน อาจจะมองว่าก็ให้เครดิตแล้วก็ไม่น่าจะมีอะไร
แต่แท้จริงแล้ว หากเราย้อนกลับไปดูกันจริง ๆ เราจะสามารถมองพฤติกรรมนี้ได้หลายมุมว่าง่ายไปหรือเปล่า กับการนำเนื้อหาที่คนอื่นสร้างสรรค์ขึ้นมาไปอยู่บนหน้าเว็บของตัวเอง อย่างแรก อยากให้มองเรื่องของมูลค่าและช่องทางของคอนเทนต์นั้น ๆ
มูลค่าของคอนเทนต์ มองแยกกัน ตัวคอนเทนต์ กับช่องทาง
มองคอนเทนต์ ภาพ ตัวอักษร เหล่านี้เป็นงานชิ้นหนึ่งที่มีมูลค่าในตัวของมัน ส่วนช่องทางการเผยแพร่ เว็บไซต์, โซเชียลมีเดีย, แพลตฟอร์มต่าง ๆ อันนี้คือช่องทาง แน่นอนว่าไม่ว่าจะเป็นตัวคอนเทนต์ หรือตัวช่องทาง ทั้งคู่มีมูลค่าและเป็นปัจจัยในการสร้างรายได้ ถึงแม้ว่าคนที่ทำคอนเทนต์นั้น ๆ อาจจะไม่ได้ทำเป็นธุรกิจเพื่อขายผลงานนั้นโดยตรง แต่ทุกงานก็มีมูลค่าในตัวมันเอง
- ช่องทางการเข้าถึง คือมูลค่าไม่แพ้การทำคอนเทนต์ ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้, การโฆษณา, ยอดการเข้าชม และการติดตาม
- การให้เกียรติช่องทางการเข้าถึงของคนอื่นเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะเนื้อหาของเขาก็ควรจะอยู่ในที่ของเขา
- ถ้านำเนื้อหาของเขาไปไว้ในช่องทางของตัวเอง โดยที่อ้างว่าให้เครดิตแล้ว บอกแล้วว่าใครทำ แบบนั้นเขาจะมีช่องทางของเขาเพื่ออะไร ?
พฤติกรรมการคัดลอกเนื้อหาไปเผยแพร่ในช่องทางของตัวเอง แม้ว่าจะมีการบอกว่าเนื้อหามาจากไหน แต่อย่าลืมว่าสิ่งที่ถูกคัดลอกไปนั้นคือสมบัติชิ้นหนึ่ง คือสิ่งที่มีมูลค่า การเอาสิ่งที่มีมูลค่าและเกิดจากน้ำพักน้ำแรงของคนอื่นไปอยู่บนช่องทางของตัวเองนั้นเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอยู่แล้ว เว้นแต่ว่าจะได้รับอนุญาตเสียก่อน แต่แม้ว่าจะได้รับอนุญาตหรือไม่ก็ตามการกระทำนี้ก็สามารถมองได้อีกมุมในหัวข้อต่อไป
บ่งบอกความสามารถของคนทำ
การทำคอนเทนต์นั้นมีอยู่ 2 แบบ คือ Curator กับ Creator ซึ่งการทำ Curator คือการคัดเลือกเนื้อหามาเผยแพร่ ส่วน Creator คือการสร้างสรรค์ผลงานของตัวเอง แน่นอนว่าการเป็น Writer นั้นอยู่ในกลุ่ม Creator หน้าที่คือการสร้างสรรค์ผลงาน การเอาผลงานของคนอื่นมาโดยที่ไม่ได้มีการ Re-write ใหม่ เรียกว่าเป็นการก็อปวางแค่นั้น อันนี้อยากให้ลองคิดดูว่านี่คือสิ่งที่เรียกว่างานได้หรือเปล่า เพราะถ้างานแค่นี้เด็กอนุบาลที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นก็สามารถทำได้
การกระทำเช่นนี้สะท้อนถึงความสามารถของคนทำ ว่าไม่สามารถสร้างสรรค์เนื้อหาด้วยตัวเองได้ เพียงแค่อยากให้มีงานออกมาชิ้นหนึ่งเท่านั้น จึงทำการคัดลอกผลงานการสร้างสรรค์จากคนอื่น
ผลต่อ SEO และ Service อื่น ๆ
นอกจากในแง่ของจริยธรรมแล้ว การกระทำเช่นนี้ยังส่งผลต่อทางเทคนิคอื่น ๆ อีกเช่น SEO เวลาที่ Google ตรวจเจอเนื้อหาที่เหมือนกันแบบคำต่อคำนั้นแน่นอนว่าต้องมีเว็บใดเว็บนึงที่ก็อปมาแน่ ๆ (Duplicate Content) จากที่ทีมงานทราบมา Google จะทำการปรับลดเนื้อหาการแสดงผลทั้งคู่ ทำให้เจ้าของผลงานนั้นเกิดผลเสียไปด้วย
ยังไม่รวมถึงบริการจาก Service อื่น ๆ เช่นในแอพอ่านข่าวโดยการ Feed เนื้อหาไปลงช่องทางเหล่านี้ แน่นอนว่าจะต้องผ่านการเซ็นสัญญาหรือ Content Order ต่าง ๆ เสียก่อนว่าเนื้อหาที่นำมาลงจะต้องได้มาด้วยความถูกต้อง แต่ถ้าเราก็อปเนื้อหามาลงแล้วเนื้อหานั้นไปอยู่ใน Service ที่ผ่านการเซ็นสัญญาแล้ว แปลว่า คุณกำลังละเมิดสัญญาที่มีต่อ Service Platform นั้น และสามารถถูกยกเลิกสัญญาและดำเนินคดีได้
สรุปแล้วการก็อปเนื้อหาไปทั้งดุ้นและให้เครดิต เป็นเหมือนการเอาของของคนอื่นไปขายในชื่อของตัวเอง โดยที่คนสร้างสรรค์ผลงานก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ไม่ต่างจากการก็อปเพลงไปเขียนลงซีดีขาย หรือก็อปหนังไปเขียนลงซีดีขาย แล้วมาบอกว่าก็บอกแล้วว่าหนังเรื่องนี้ชื่ออะไรค่ายไหนทำ แต่สุดท้ายก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร รายได้ก็ไม่ได้เข้าค่ายหนัง แต่เข้าคนที่ทำ การอ้างว่าเป็นการช่วยเหลือนั้นเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น เนื่องจากสุดท้ายผู้กระทำก็หวังแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง
สรุป แล้วควรทำอย่างไร ถึงจะถูกต้อง
สรุปแล้วถ้าวัตถุประสงค์ของคุณคืออยากจะช่วยเหลือผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์ให้เนื้อหาของเขาได้รับการเผยแพร่จริง ๆ ละก็ ควรใช้วิธีการแชร์ หรือทำอย่างไรก็ได้ให้ผู้อ่านได้เข้าถึงช่องทางของเขา
หรือถ้าวัตถุประสงค์ของคุณคือการขายเนื้อหา ก็ต้องยอมรับว่าการเอาเนื้อหาของคนอื่นมาขาย ก็ดูจะไม่ได้เป็นการแสดงความสามารถเท่าไหร่ ดังนั้นก็ควรมีการอ้างอิงเนื้อหาอย่างถูกต้องและทำการเรียบเรียงใหม่โดยอ้างอิงจากของเดิม
ตัวอย่างวิธีการ
- เรียบเรียงเนื้อหาใหม่ทั้งหมด และให้เครดิตที่มาท้ายบทความ เช่น ที่มา (ชื่อเว็บ) | ตัวอย่าง – ที่มา RAiNMAKER
- หากเป็นเนื้อหาที่ต้นทางก็อ้างอิงมาอีกที อาจะใช้วิธีการอ้างอิงต้นทางจริง และบอกที่มา เช่น อ้างอิง (ต้นทาง) ผ่าน (ชื่อเว็บ) ตัวอย่าง | อ้างอิง NASA ผ่าน Spaceth.co
- ใช้วิธีการ cite คล้ายกับเวลาเขียนงานทางวิชาการ แต่ไม่ต้องอยู่ในรูปแบบทางการขนาดนั้น เพียงแค่บอกอย่างชัดเจนว่า เนื้อหาส่วนนี้มาจากผู้อื่น เช่น ทางเว็บไซต์ (ชื่อเว็บ) ได้บอกว่า “(เนื้อหา)” แต่ก็อย่าลืมว่า อย่าหัวใสใช้วิธีการแบบนี้แต่ก็อปมาทั้งบทความ แบบนั้นก็ไม่ต่างจากก็อปอยู่ดี ควร cite เฉพาะส่วนที่สำคัญ แล้วทำมาวิเคราะห์หรือเรียบเรียงต่อเอง | เช่น เว็บไซต์ MangoZero ได้เขียนลงในหน้าเว็บว่า “ร้านกาแฟชื่อดังได้ยืนยันกับทางเราแล้วว่า ลูกค้าสามารถมานั่งได้ไม่ว่าจะซื้อกาแฟหรือไม่ก็ตาม ซึ่งนับว่าเป็นการปฏิบัติตามนโยบายของทางสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศ”
แต่อย่างไรก็ตามวิธีการเหล่านี้อาจจะไม่ตายตัว สิ่งที่สำคัญมากที่สุดก็คือ เราควรมีความเคารพในผลงานของคนอื่นก่อน วิธีการนี้แน่นอนว่าไม่ได้เป็นกฎ เป็นระเบียบ หรือเป็นข้อบังคับ แต่นั่นแสดงถึงความเป็นมืออาชีพ และความสามารถในการทำคอนเทนต์ของเรา ถ้างานของเราเป็นเพียงแค่การคัดลอกเนื้อหาของคนอื่น แบบนั้นก็แสดงว่าความสามารถของเรามีแค่นั้นจริง ๆ การจะเป็นคนทำคอนเทนต์ที่เก่งนั้น อาศัยการฝึกฝน และเทคนิคต่าง ๆ ก็เกิดจากประสบการณ์เช่นกัน ถ้าอยากเป็นคนทำคอนเทนต์ที่เก่ง เริ่มต้นฝึกฝนด้วยตัวเองวันนี้ยังไม่สาย
เราอยากขอบคุณคนทำคอนเทนต์ที่ดีทุกคนที่ให้เกียรติผลงานของคนอื่น มาร่วมกันทำให้วงการคอนเทนต์ออนไลน์ประเทศไทยกลายเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์ และน่าอยู่ขึ้นมากกว่าเดิมกันดีกว่า
เรียบเรียงโดย ทีมงาน RAiNMAKER
Disclaimer :
- RAiNMAKER และ Mango Zero เป็นเว็บในเครือของ The Zero Publishing
- ผู้เขียนบทความเป็น บรรณาธิการเว็บไซต์ SPACETH.CO