ถ้าเทียบกับเมื่อก่อน ปัจจุบัน อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) นับเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของการทำการตลาดที่เรียกว่าแทบจะขาดไม่ได้ สังเกตได้จากตลาดอินฟลูเอนเซอร์ที่มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังคงมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อไปอีกในอนาคต
ทำให้หนึ่งในกลยุทธ์ของหลายแบรนด์ต้องมีอินฟลูเอนเซอร์เป็นตัวช่วยในการโปรโมตอยู่เสมอ จนเริ่มเกิดเป็นคำถามว่า “ทุกวันนี้จำเป็นต้องใช้อินฟลูเอนเซอร์ในแคมเปญจริงหรือไม่?” แล้วถ้าหากไม่ใช้อินฟลูเอนเซอร์ ผลลัพธ์จะเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด
แน่นอนว่าทุกคนทราบกันดีว่า อินฟลูเอนเซอร์ช่วยเป็นเสมือนกระบอกเสียงที่ทำให้แบรนด์สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายมากขึ้น รวมถึงยังหากลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ มาให้แบรนด์ได้อีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้น อินฟลูเอนเซอร์เล่นเกมการตลาดได้ดี เพราะมักตามทันเทรนด์เสมอ และมีความสามารถปรับตัวได้ดี
แถมอินฟลูเอนเซอร์ในตลาดยังมีให้เลือกมากมาย ที่แบรนด์สามารถเลือกใช้เพื่อตอบตรงตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็น Macro Influencer, Micro Influencer และ Nano Influencer
เมื่อก่อนแบรนด์มักจะทุ่มกับ Macro Influencer เพื่อให้ได้ยอดเอ็นเกจเมนต์ที่สูงกว่า แต่ก็แลกมาด้วยงบประมาณที่สูงตามไปด้วย แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าจะเปลี่ยนไปแล้ว เพราะหลายแบรนด์เริ่มลงามาเล่นกับอินฟลูเอนเซอร์ตัวเล็ก หรือผสมกันระหว่างทั้งสองระดับก็มี
วิธีการนี้นอกจากจะช่วยกระจายการเข้าถึง และเพิ่มยอดเอ็นเกจเมนต์แล้ว ยังเป็นการช่วยประหยัดงบประมาณได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ตรงนี้ก็แล้วแต่แบรนด์ว่าจัดสรรงบประมาณ และวางกลยุทธ์ไว้อย่างไร
ถ้าถามในมุมมองของ RAiNMaker เรามองว่าอินฟลูเอนเซอร์เป็นส่วนสำคัญของการโปรโมต แต่เมื่อเวลาผ่านไป อาจมีปัจจัยอื่นเพิ่มมามากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิดสูตรสำเร็จ หรือเครื่องมือใหม่ ๆ ที่เข้ามาช่วยการทำการตลาดมากขึ้น ไม่เพียงแต่ช่วยโปรโมต แต่ปัจจุบันอินฟลูเอนเซอร์ยังอาจช่วยทำยอดขายให้กับแบรนด์ได้อย่างมหาศาล
เพราะฉะนั้นถ้าจะให้ตัดการใช้อินฟลูเอนเซอร์ออกไปทั้งหมดเลยก็คงจะไม่ได้ สิ่งที่ทำได้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกลยุทธ์ให้ดีมากขึ้นคือ การวางแผน จัดสรรค่าใช้จ่ายกับอินฟลูเอนเซอร์อย่างชาญฉลาด ก็จะยังคงผลลัพธ์ที่ดีในงบประมาณที่สามารถจ่ายได้
อย่างที่บอกว่าปัจจุบันไม่จำเป็นที่จะต้องใช้อินฟลูเอนเซอร์ตัวใหญ่ในการโปรโมตอย่างเดียวเท่านั้น หรือใช้แค่อินฟลูเอนเซอร์ตัวเล็กอย่างเดียว เพราะแบรนด์สามารถเลือกใช้ผสมผสานได้ทั้งหมด
เช่น หากอยากได้ยอดเอ็นเกจเมนต์ อยากได้ Eyeball เยอะ ๆ ก็อาจจะลงทุนจ้าง Macro Influencer ไปเลย หรือหากอยากได้การเข้าถึง กลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ อาจจะเลือกใช้ Micro Influencer หรือ Nano Influencer ผสมกันไป ทุกสูตรไม่มีถูกไม่มีผิด มีแต่เหมาะกับแบรนด์หรือไม่เท่านั้นเอง
จากที่ภาพรวมตลาดของอินฟลูเอนเซอร์ยังเติบโต แถมยังมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้นมา เช่น Virtual Influencer จึงเป็นที่น่าสนใจว่าวงการอินฟลูเอนเซอร์อาจมีสิ่งใหม่ ๆ ที่น่าสนใจในอนาคตมาเสริมให้การโปรโมตน่าสนใจมากขึ้น
อย่างที่ตอนนี้โลกแห่ง Metaverse ก็เข้ามามีบทบาทในชีวิตของมนุษย์มากขึ้น ในอนาคตอันใกล้นี้เราอาจจะเห็นอะไรใหม่ ๆ จากแบรนด์ผ่านการมอบประสบการณ์ให้ลูกค้า โดยที่อาจไม่ต้องใช้อินฟลูเอนเซอร์มากเท่าที่เคยใช้ก็ได้