หลายคนคงคุ้นหูกับคำว่า KOL มากกว่า เนื่องจากหลังๆ มานี้มีการใช้ทั้งเหล่า KOL และ Influencer เข้ามาช่วยในการทำการตลาดกันมากขึ้นนั่นเอง แต่สำหรับคำว่า KOC บางคนอาจจะเพิ่งเคยได้ยิน และสงสัยว่าแตกต่างกับ KOL ตรงไหน วันนี้ RAiNMaker เลยจะมาบอกจุดต่าง พร้อมช่วยไกด์ให้ว่าควรเลือกใครให้เหมาะกับแบรนด์ ไปดูกันเลยค่ะ!
ในช่วงที่การตลาดยุคดิจิตัลเริ่มเติบโตและมีการแข่งขันมากยิ่งขึ้น พฤติกรรมการรับข้อมูลข่าวสารและการบริโภคก็เปลี่ยนไปด้วย เพราะฉะนั้นการมีตัวเลือกมาช่วยในการทำการตลาดก็เริ่มเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ดี ซึ่งหนึ่งในวิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันก็คือการใช้เหล่าผู้นำทางความคิดมาช่วยในการโปรโมตนั่นเอง
แต่ก่อนจะไปดูความแตกต่างระหว่าง KOL และ KOC ใครที่ยังสงสัยว่า แล้วมันต่างจาก Influencer ยังไงกันนะ? เราแนะนำให้ไปอ่านบทความนี้ก่อนเลยค่ะ Influencer vs KOL เหมือนกันหรือแตกต่าง? ทำไมถึงต้องมี ทีนี้ก็มาดูกันดีกว่าว่า KOL และ KOC คืออะไร
Key Opinion Leader (KOL)
เริ่มกันที่ Key Opinion Leader (KOL) หรือผู้นำทางความคิด ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ส่วนมากมักเป็นคนที่มีฐานผู้ติดตามมากอยู่แล้ว จึงทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจำนวนมากได้และค่อนข้างมีอิทธิพลต่อยอดขายของแบรนด์เลยทีเดียว การใช้ KOL ในการช่วยโปรโมตจึงถือเป็นการช่วยการันตี และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์
เนื่องจาก KOL มีฐานผู้ติดตามเยอะ จึงยิ่งทำให้มีอิทธิพลในวงกว้าง การลงทุนกับ KOL ในส่วนของการโปรโมตผลิตภัณฑ์จึงค่อนข้างได้ผลดี แต่ก็มีข้อเสียตรงที่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และหากตัว KOL เองมีข่าวในด้านลบก็จะส่งผลกระทบต่อแบรนด์ได้ง่ายยิ่งขึ้นด้วย
แต่ปัจจุบันคอนเทนต์การโปรโมตออกมาในรูปแบบของการขายของที่บางทีก็เน้นขายมากเกินไปจนกลายเป็นโฆษณาไปซะหมด เลยทำให้พฤติกรรมการบริโภคและแนวโน้มของการทำการตลาดเริ่มเปลี่ยนไป คนหันไปหารีวิวที่มาจากการใช้งานจริงมากกันมากขึ้น ส่งผลให้การใช้ KOC มาช่วยในการทำการตลาดมากขึ้นตามไปด้วย แล้วทีนี้ KOC คืออะไรล่ะ?
Key Opinion Customer (KOC)
Key Opinion Customer (KOC) จริงๆ ก็คือผู้บริโภคทั่วไปที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ แล้วนำมารีวิวผ่านโซเชียลมีเดียเป็นประจำจนมีฐานผู้ติดตามในจำนวนนึง ถึงแม้จะไม่ได้มีฐานผู้ติดตามเท่า KOL แต่ก็ถือเป็นกลุ่มผู้ใช้ที่มีจำนวนค่อนข้างมากในตลาดเลยทีเดียว
ในอนาคต KOC อาจสร้างคุณค่าและความน่าเชื่อถือให้แบรนด์ได้มากกว่า โดยเฉพาะในวงการบิวตี้ ผ่านการใช้ผลิตภัณฑ์จริง รีวิวจริง ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าสามารถเข้าถึงได้ เหมือนฟังรีวิวจากเพื่อน และจุดนี้เองทำให้ KOC มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อค่อนข้างมาก
ประเทศจีนได้มีการเริ่มใช้ KOC มาช่วยในการทำการตลาดมาระยะนึงแล้ว และการตลาดในอนาคตก็มีแนวโน้มที่จะใช้แพร่หลายมากขึ้น เพราะสามารถช่วยสร้างโอกาสในการเติบโตของแบรนด์ได้อย่างยั่งยืน
แม้ KOC จะมีอิทธิพลเริ่มจากวงแคบ แต่ด้วยความที่เป็นการรีวิวจากการใช้จริง จึงทำให้คอนเทนต์เป็นธรรมชาติมากกว่า เพราะสามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่อยากอ่านรีวิวจากผู้ใช้จริงนั่นเอง และเพราะสิ่งนี้เองที่ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์อย่างรวดเร็ว แชร์ต่อ บอกต่อกันเหมือนเพื่อน ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เมื่อเทียบกับ KOL ที่ส่งผลบนออนไลน์มากกว่า
ที่สำคัญการใช้ KOC ในการช่วยโปรโมตยังมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่า โดยทางแบรนด์อาจส่งผลิตภัณฑ์ให้ทดลองใช้แทนการจ้างให้ทำโฆษณาโปรโมต เป็นต้น
KOL vs KOC
เลือกยังไงให้เหมาะกับแบรนด์?
ทั้งสองไม่สามารถใช้แทนกันได้อย่างสมบูรณ์ อยู่ที่จุดประสงค์ของแบรนด์มากกว่าว่าจุดประสงค์คืออะไร ถ้าอยากได้ยอดขายจำนวนมากอาจเลือกใช้ KOL แต่หากอยากได้ลูกค้าที่ตรงกลุ่มเป้าหมายจริงๆ การเลือกใช้ KOC เข้ามาช่วย อาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า
นอกจากนี้ KOC ยังดูจะใช้ได้ผลดีกับแบรนด์เล็กๆ หรือแบรนด์เปิดใหม่ที่ต้องการการทำการตลาดในขั้นแรก เพื่อให้แบรนด์มีความน่าเชื่อถือ ให้เริ่มบอกต่อกันจากวงเล็กๆ ไปจนถึงวงกว้างขึ้น
ทั้งนี้การเลือกใช้ KOL หรือ KOC นั้นไม่ได้มีหลักการตายตัว สุดท้ายแล้วก็ต้องคำนึงถึงแนวทางและความเข้ากันระหว่างตัวผู้นำทางความคิดและแบรนด์เอง เพื่อการทำการตลาดและโปรโมตให้มีประสิทธิภาพสูงสุด บางครั้งเองก็อาจต้องใช้ทั้งสองอย่างร่วมกัน ในการช่วยกระจายการโปรโมตให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น