หมดยุคจิตวิทยาของการทายนิสัยจากกรุ๊ปเลือดแล้ว เพราะตอนนี้คนเกาหลีเขาฮิตจัดประเภทลักษณะนิสัยด้วย ‘MBTI’ จนแบรนด์ต้องหยิบกิมมิกนี้มาทำเป็นการตลาดรูปแบบต่าง ๆ ให้ทันกระแส!
ทำความรู้จักกับ MBTI
Myers-Briggs Type Indicator (MBTI) เป็นแบบทดสอบประเภทบุคลิกภาพด้วยทฤษฎีทางจิตวิทยา โดยทั่วไปมีทั้งหมด 16 ประเภท และสามารถแบ่งย่อยเป็น 4 ตัวชี้วัด ได้แก่
- ความถนัดด้านการได้รับพลังงาน : ชอบเข้าสังคม (E) หรือ เก็บตัว (I)
- ความถนัดด้านการรับรู้สิ่งต่าง ๆ : อยู่กับความเป็นจริง (S) หรือ มีวิสัยทัศน์ (N)
- ความถนัดด้านการตัดสินใจ : ใช้ความคิด (T) หรือใช้ความรู้สึก (F)
- ความถนัดด้านไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต : มีระเบียบแบบแผน (J) หรือ ยืดหยุ่น (P)
เมื่อทำแบบทดสอบเสร็จแล้ว ก็จะได้ลักษณะบุคลิกจากตัวอักษรประกอบกัน 4 ตัว ที่บอกนิสัย จุดเด่น และเอกลักษณ์ของคนประเภทนั้น ๆ ซึ่งช่วยให้เราเข้าใจบุคลิกของตัวเองมากขึ้น ตลอดจนความถนัด ความสามารถและจุดเด่นของตนที่อาจนำไปใช้ต่อยอดพัฒนา พร้อมค้นหาอาชีพที่เหมาะสมในอนาคตได้
MBTI ฟีเวอร์มาจากไหน?
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาแบบทดสอบบุคลิกภาพและลักษณะนิสัย MBTI เป็นหัวข้อหลักในวงสนทนาของคนเกาหลีรุ่น MZ (Millenial และ Gen Z) ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19
สาเหตุที่ MBTI เติบโตมากในเกาหลีใต้ ในมุมมองด้าน Group Psychotherapy : เนื่องจากผู้คนรู้สึกสบายใจที่สามารถจัดหมวดหมู่ตนเองร่วมกับผู้อื่น
และอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด MBTI ฟีเวอร์ถล่มทลายไปทั่วเกาหลีเป็นเพราะ : การทดสอบบุคลิกภาพผ่านเว็บไซต์ออนไลน์ได้ง่ายมาก!
ความนิยมของ MBTI ในเกาหลีใต้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 16personalities เว็บไซต์ทดสอบลักษณะนิสัยที่อิงจากการทดสอบ MBTI เปิดให้ใช้งานฟรีและใช้เวลาทำเพียงสั้น ๆ โดยผู้ทดสอบต้องตอบคําถาม 93 ข้อเพื่อจัดประเภทตัวเองว่ามีบุคลิกภาพไหนจาก 16 ประเภท จากนั้นก็จะได้ผลลัพธ์ที่วิเคราะห์ตามคําตอบเลยทันที
ข้อมูลจาก Google Trends แสดงให้เห็นว่าคำค้นหาเฉพาะเจาะจงในช่วงปี 2021 – 2022 คนเกาหลีใต้นิยมเสิร์ชคำว่า “MBTI” มากกว่าประเทศอื่น ๆ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่พิสูจน์แล้วว่าชาวเกาหลีมีความสนใจใน MBTI มากกว่าเมื่อเทียบกับชาติอื่น ๆ ทั่วโลก
เมื่อกระแส MBTI มาแรงขนาดนี้ บางบริษัทถึงกับต้องใช้การทดสอบ MBTI เป็นเครื่องมือในการกำหนดคุณสมบัติพนักงาน บางที่กําหนดให้ต้องเคยทำหรือทำ MBTI ระหว่างการสัมภาษณ์เพื่อประเมินบุคลิกภาพของผู้สมัครงานว่าเข้ากันได้กับบริษัทหรือไม่ รวมไปถึงการทำกลยุทธ์การตลาดดึงดูดใจลูกค้าด้วย!
การตลาดสไตล์เกาหลีสุดอินเทรนด์
คอนเทนต์ที่เกี่ยวกับ MBTI กําลังได้รับความนิยมใน SNS (Social Networking Service) ทำให้บริษัทชั้นนำของเกาหลีใต้หยิบยก MBTI มาเป็นกิมมิกการตลาดช่วยเจาะกลุ่มเป้าหมายที่ชื่นชอบ MBTI จนประสบความสําเร็จอย่างมากในการทำโฆษณาให้กับแบรนด์
หากแบรนด์ทราบว่ากลุ่มเป้าหมายมีลักษณะนิสัยประเภทใดตาม MBTI จะสร้างข้อได้เปรียบในการทําความเข้าใจแรงจูงใจ รูปแบบพฤติกรรม และเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจของผู้ซื้อตาม MBTI ประเภทต่าง ๆ ได้อย่างถ่องแท้ยิ่งขึ้น อาทิ
- สายชอปออนไลน์ : INTJ / INTP / ENTP / ENTJ
- สายขอคำแนะนำ : INFJ / INFP / ENFJ / ENFP
- สายลองใช้จริงก่อนซื้อ : ISTJ / ESTJ / ISTP / ESTP
ข้อได้เปรียบอีกประการของการตลาดสไตล์ MBTI คือ สามารถรวบรวมข้อมูลจาก Potential Customers ได้ง่าย
และหากแบรนด์สามารถสร้างบุคลิกภาพที่สอดคล้องกับประเภทบุคลิกภาพ MBTI จะช่วยสร้าง Brand Personality ที่น่าสนใจจนผู้บริโภคสามารถจดจําแบรนด์ได้แม่นอีกด้วย
ส่องแบรนด์เกาหลีที่ขายของด้วย MBTI
แบรนด์เครื่องเขียน Supreme Heart (최고심)
เปิดตัวผลิตภัณฑ์เครื่องเขียนที่จัดหมวดหมู่ตาม MBTI ทําให้ยอดขายสูงขึ้นขนาดที่ต้องใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงในการต่อคิวซื้อเลยทีเดียว
แบรนด์เครื่องดื่ม Jeju Beer
เปิดตัวแคมเปญที่มีอักษรย่อ MBTI พิมพ์อยู่บนกระป๋องเบียร์ สร้างยอดขายมากกว่า 400,000 กระป๋องภายในสองสัปดาห์หลังจากวางจําหน่าย
KaKao Talk แอปพลิเคชันสื่อสารชื่อดัง
เพิ่มฟีเจอร์สติกเกอร์คาแรคเตอร์ MBTI บนหน้าโปรไฟล์ผู้ใช้เพื่อตกแต่งให้สวยงาม พร้อมบอกว่าผู้ใช้มี MBTI อะไร ซึ่งมุ่งสร้าง Brand Awareness ที่ทันเทรนด์ให้กับแบรนด์
Korean Air สายการบินแห่งชาติของเกาหลีใต้
นำเสนอบุคลิกภาพของลูกเรือว่าเป็นประเภท ESFJ ซึ่งเป็นบุคลิกของคนที่มีความสุขในการดูแลคนอื่น และ MBTI ของลูกเรือหลาย ๆ คนก็มักจะขึ้นต้นด้วย ESF- ทำให้ลูกค้ารู้จักภาพลักษณ์ของแบรนด์มากขึ้น เพื่อรับประกัน Service & Experience ที่ลูกค้าจะได้รับจากการบริการของแบรนด์
นอกจากการตลาดในหมู่ธุรกิจและแบรนด์แล้ว ในวงการไอดอลเกาหลีก็มักใช้ MBTI ในการวางกลยุทธ์โปรโมตคอนเทนต์และอัลบัม เพื่อดึงจุดเด่นของศิลปินให้แฟนคลับได้รู้จักตัวตนของศิลปินในมุมที่ดีที่สุด และถือเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่จะช่วยสร้างชื่อเสียงให้พวกเขาได้
จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่าจุดสนใจหลักของการตลาดไม่ได้อยู่ที่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ แต่อยู่ที่ความเกี่ยวข้องของผลิตภัณฑ์กับ MBTI ซึ่งเป็นการตลาดที่ยึดโยงเทรนด์ในสังคม ณ ขณะนั้น
แต่ต้องจำไว้ว่าการตลาดแบบนี้ใช้ได้เฉพาะกับการกระตุ้นยอดขายและ Brand Awareness เท่านั้น ไม่เหมาะสําหรับผลิตภัณฑ์ที่ต้องซื้ออย่างระมัดระวัง เช่น สินค้าฟุ่มเฟือยและอุปกรณ์ดิจิทัล
MBTI เชื่อถือได้แน่นะ?
อย่างไรก็ตาม มีหลายคนมองว่าการนำผล MBTI มาแบ่งประเภทนิสัยคนก่อนจะทำความรู้จักเหมือนเป็นการมองเหมารวม และไม่ต่างอะไรจากการตัดสินขาวกับดำ MBTI จึงอาจไม่สามารถวัดบุคลิกภาพคนได้อย่างถ่องแท้ เพราะมนุษย์ซับซ้อนมากกว่านั้น
ชาวเกาหลีส่วนมากมองว่าสิ่งนี้ทำให้เราเข้าใจตัวเองและคนอื่นมากขึ้น ก็ถือว่าเป็นเทรนด์สนุก ๆ ที่ช่วยให้เรามีเรื่องชวนคุยระหว่างกันได้ แต่ระวังอย่านำ MBTI มาทำการตลาดจนผลักคนบางกลุ่มออกไปล่ะ
หากใครอยากทราบว่าตนเองและแบรนด์ของคุณเป็น MBTI แบบไหน สามารถทดสอบง่าย ๆ เองได้ที่เว็บไซต์ : https://www.16personalities.com/languages
อ้างอิง:
Thestorystudio, CNN, UoH, Ewhabrandcommunication, SongdoChronical, PunPro