AINews

Avatar

doyoumind April 3, 2025

กรณีศึกษาดราม่า McDonald’s ใช้ ChatGPT เจนภาพการ์ตูนลายเส้น Studio Ghibli บทเรียนการใช้ AI สำหรับแบรนด์

หลังจาก OpenAI เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่บน ChatGPT อย่าง Generative Filter ให้ผู้ใช้สามารถสร้างภาพในสไตล์ต่าง ๆ ไปเมื่อวันที่ 25 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยหนึ่งในภาพยอดฮิตที่ทุกคนเจนออกมาคือภาพลายเส้นแบบ Studio Ghibli ค่ายแอนิเมชันจากประเทศญี่ปุ่นที่มีลายเส้นน่ารักอบอุ่นเป็นเอกลักษณ์

ซึ่งถ้ามองในเชิงเทคโนโลยีหลายคนคงตื่นเต้นที่ AI สามารถสร้างภาพการ์ตูนลายเส้นเหมือนแอนิเมชันดังได้เพียงคลิกเดียว แต่ในทางกลับกันผู้คนก็พากันตั้งคำถามว่า OpenAI ได้นำผลงานของ Studio Ghibli มาเทรนโมเดล AI แบบได้รับอนุญาตแล้วหรือไม่ เพราะถ้าไม่ สิ่งนี้ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของศิลปินเจ้าของผลงาน รวมถึงผลกระทบของ AI ที่ทำหน้าที่ผลิตซ้ำผลงานของศิลปินจะกระทบกับอนาคตของมนุษย์มากน้อยแค่ไหน ดังนั้นประเด็นหลักของเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของลิขสิทธิ์และจริยธรรมในการสร้างและใช้ผลงานศิลปะ

นอกจากประชาชนทั่วไปจะเจนภาพกันอย่างสนุกสนานเต็มโซเชียลมีเดียแล้ว ​เมื่อวันที่ 27 มี.ค. แอ็กเคานต์ X ของ White House ก็ได้โพสต์ภาพการ์ตูนสไตล์ Studio Ghibli ที่สร้างโดย AI เกี่ยวกับประเด็นของ Virginia Basora-Gonzalez หญิงผู้อพยพผิดกฎหมาย และผู้ค้ายาเสพติดที่ร้องไห้ขณะถูกจับกุมตัวอีกด้วย (โพสต์ต้นฉบับของ White House: https://x.com/WhiteHouse/status/1905332049021415862)

ต่อมาในวันที่ 29 มี.ค. แบรนด์ระดับโลกอย่าง McDonald’s ในประเทศเม็กซิโกก็ร่วมเทรนด์นี้ โดยการใช้ ChatGPT สร้างภาพสไตล์ Studio Ghibli ในการโปรโมตอาหารบนโซเชียลมีเดียทั้ง เบอร์เกอร์ และเฟรนฟรายส์ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความไม่เหมาะสม และมองว่าการใช้ AI แทนการจ้างศิลปินเป็นการลดต้นทุนแบบไร้จรรยาบรรณ อีกทั้งยังละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะเป็นการใช้ AI เป็นเครื่องมือผลิตซ้ำ

ทางด้าน ฮายาโอะ มิยาซากิ ผู้กำกับผู้อยู่เบื้องหลังผลงานแอนิเมชันชื่อดังอย่าง Spirited Away, My Neighbor Totoro และ The Boy and the Heron รวมถึงเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Studio Ghibli ได้เคยแสดงจุดยืนต่อต้านการใช้ AI ในงานแอนิเมชันเมื่อหลายปีก่อน โดยให้เหตุผลว่าการใช้ AI เป็นการดูหมิ่นชีวิต และเป็นสัญญาณของการล่มสลายทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณของศิลปะ

แม้ Studio Ghibli และ OpenAI จะยังไม่ได้ออกมาตอบโต้หรือชี้แจงใด ๆ กับเหตุการณ์ในครั้งนี้ แต่ข้อความข้างต้นจากมิยาซากิ ก็เป็นตัวชี้ให้เห็นว่า OpenAI อาจไม่ได้รับอนุญาตในการนำผลงานมาเทรน AI ก็เป็นได้ ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากแฟน Studio Ghibli และคนในวงการศิลปะให้บริษัทออกมาฟ้องข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์

เรียกว่าบทเรียนในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นปัญหาในการใช้ AI ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ และไร้จริยธรรมของมนุษย์ ถึงแม้ว่า AI จะเข้ามาช่วยมนุษย์ได้มากขึ้นหลายกระบวนการ แต่ AI ก็ควรเป็นเครื่องมือที่ต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่สิ่งที่จะมาแทนที่มนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะสุดท้ายแล้ว AI ไม่สามารถใส่ความคิดสร้างสรรค์ หรือจิตวิญญาณบางอย่างลงไปในผลงานแบบที่มนุษย์ทำได้

ที่สำคัญการใช้ AI จะต้องไม่ละเมิดลิขสิทธิ์โดยเฉพาะผลงานที่ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของมนุษย์ อย่างที่ศาลสหรัฐฯ ได้ระบุว่าผลงานที่สร้างโดย AI 100% จะไม่ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ เนื่องจากกฎหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐฯ กำหนดว่าผลงานต้องมีความคิดสร้างสรรค์ และต้องเป็นผลงานที่มนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้นเท่านั้น

ภาพจาก

Copyright © 2025 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save