ในหนึ่งวันที่เลื่อนผ่านหน้าฟีดบนโซเชียลมีเดีย หลายคนต้องมีสักโพสต์ที่พูดถึง Metaverse, NFT และ Crypto อย่างเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้จะเป็นสิ่งใหม่ที่ยังไม่ได้เข้ามาแบบเต็มตัว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในอนาคตอันใกล้นี้สิ่งเหล่านี้ก็ค่อย ๆ แทรกซึมเข้ามาในชีวิตประจำวันของเราทีละนิด
ด้วยความที่ก็ยังเป็นสิ่งใหม่ หลายคนก็ยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ หรืออาจจะยังมองภาพไม่ค่อยออกมากนักว่าจะนำมาปรับใช้กับกลยุทธ์การตลาดอย่างไรดี เพราะถ้าให้พูดตามความจริงเรื่องพวกนี้ก็ยังแอบไกลตัวอยู่ไม่น้อย เมื่อเทียบกับภาพรวมประชากรทั้งหมด
สาเหตุหลักเพราะ Metaverse เป็นเทคโนโลยีที่ต้องมีอุปกรณ์รองรับ ถึงจะสามารถเข้าไปสัมผัสประสบการณ์ได้ บวกกับการรับรู้ในด้านเทคโนโลยีของคนบางกลุ่มยังคงมีขัดจำกัดอยู่ จึงอาจเป็นอุปสรรคอยู่บ้าง
มีรายงานจากผลการสำรวจของ UNSUPERVISED พบว่า นักการตลาด 41% รู้เกี่ยวกับ Mataverse มากถึงมากที่สุด 49% พอรู้บ้างถึงปานกลาง และ 11% ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับสิ่งนี้เลย
ในขณะเดียวกันแนวโน้มการนำ Metaverse เข้าไปอยู่ในแผนการตลาดในปี 2022 พบว่า 58% ของนักการตลาดมีแนวโน้มที่จะนำไปปรับใช้กับกลยุทธ์การตลาดมากถึงมากที่สุด 42% มีแนวโน้มที่จะนำไปปรับใช้กับกลยุทธ์การตลาดน้อยถึงปานกลาง และ 1% ไม่มีความสนใจจะนำไปใช้ในกลยุทธ์การตลาด
ถ้าดูจากสถิติจะพบว่าคนส่วนมากก็รู้เรื่อง Metaverse แต่เพียงแค่อาจจะไม่ได้เข้าใจถึงรายละเอียด และการนำมาใช้ต่อยอดกับกลยุทธ์ของตัวเองอย่างถ่องแท้ แต่ก็นับสัญญาณที่ดีที่คนกว่าครึ่งคิดว่าสิ่งนี้จะนำผลด้านบวกมาให้ในการตลาด
ถึงแม้ว่าอาจจะเป็นเรื่องที่ดูไกลตัว แต่ในขณะเดียวกันมันก็ได้เข้ามาแล้ว เพราะฉะนั้นหนทางที่จะทำให้แบรนด์และนักการตลาดได้เปรียบคือ การเริ่มเรียนรู้ ทดลอง และลงมือทำก่อน เพื่อที่จะได้มีโอกาสในการเติบโต และมีความพร้อมเข้าสู่โลก Metaverse ได้ดีเมื่อมันเข้ามาอย่างเต็มตัวในอนาคต
วันนี้ RAiNMaker เลยรวมไอเดียเบื้องต้นในการนำเทคโนโลยีในโลก Metaverse ทั้ง NFT, Virtual Reality (VR), Augmented (AR) และ NFT มาฝากสำหรับทั้งแบรนด์ นักการตลาด หรือครีเอเตอร์ที่มีความสนใจด้านนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการนำไปปรับใช้กับกลยุทธ์เตรียมพร้อมรับโลก Metaverse อย่างเฉิดฉายกัน!
สร้าง Virtual Worlds เป็นตัวแทนแบรนด์
ใครที่อยากเปิดประสบการณ์แสนยิ่งใหญ่ ก็สามารถคอลแล็บกับบริษัทที่จัดทำด้าน Metaverse เพื่อสร้างโลกเสมือนของอาณาจักรแบรนด์ตัวเองขึ้นมาได้ สิ่งนี้ถือว่าเป็นกิมมิกให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามามีส่วนร่วม พร้อมรับประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้อีกด้วย ซึ่งอาจนำไปสู่การเพิ่มยอดขายได้เช่นกัน
ซึ่ง Virtual Worlds ในที่นี้ อาจเริ่มจากการทำออกมาในรูปแบบของเว็บไซต์ที่จำลองสถานที่ง่าย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างหน้าร้าน แกลเลอรีศิลปะ หรือจะอัปเกรดขึ้นมาหน่อยเป็นการสร้างโลกเสมือนที่ต้องเข้าชมผ่านอุปกรณ์แว่น VR ไปจนถึงสร้างเป็นแพลตฟอร์มเกมบน Virtual Space ก็ได้เช่นกัน
จัดอีเวนต์แบบ Metaverse
ในปัจจุบันการจัดอีเวนต์ใหญ่ที่รวมคนเยอะ ๆ ยังคงเป็นเรื่องยาก ตัวเลือกการจัดอีเวนต์ในรูปแบบ Virtual Event ก็เป็นทางออกที่ดีไม่น้อย อาจจะเป็นการจัดอีเวนต์บนแพลตฟอร์ม Metaverse ที่สามารถสร้างโลกเสมือน ตัวละครอวาตาร์ ให้ทุกคนได้พบปะกันผ่านออนไลน์
หรือจะมาในรูปแบบของเกม การแข่งขันกีฬา และงานนิทรรศการศิลปะก็ได้เช่นกัน อย่างในช่วงที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายแบบตอนนี้แล้ว จะจัดทำเป็นบูธที่มีการเตรียมอุปกรณ์ให้เข้าไปรับประสบการณ์ผ่าน VR หรือ AR ก็เป็นความคิดที่ดีไม่น้อย
อีกหนทางหากไม่สะดวกจัดเองโดยตรง การรับหน้าที่เป็นสปอนเซอร์ให้กับอีเวนต์ที่มีการจัดงานเกี่ยวกับ Metaverse ไม่ว่าจะสายเกม หรือเทศกาลดนตรี ก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะเพิ่มภาพลักษณ์ที่ดีทางด้านเทคโนโลยีให้กับแบรนด์ รวมถึงได้เป็นการเรียนรู้วิธีการจัดอีเวนต์แบบผสมผสานโลก Metaverse ไปในตัว
เพิ่มเทคโนโลยี VR/AR ในคอนเทนต์
ไม่ว่าจะทำคอนเทนต์อยู่บนออฟไลน์ หรือออนไลน์ ก็สามารถผสมผสานเทคโนโลยีเข้าไปได้ อย่างการนำประสบการณ์จากเทคโนโลยี VR และ AR เข้ามาใช้ เช่น หนังสือที่ให้แสกนเพื่อเข้าไปสู่โลกเสมือนจริงได้ หรือการนำผลงานไปทำเป็นผลงาน NFT เป็นต้น
นอกจากนี้อาจมองหาแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับการเปิดรับประสบการณ์ด้าน Metaverse มาใช้เป็นช่องทางในการทำคอนเทนต์มากขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้คนได้มีส่วนร่วม และรู้จักกับมันมากขึ้นนั่นเอง
การทดลองสินค้าผ่านเทคโนโลยี VR/AR
นอกจากจะตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่ไม่สะดวกไปเลือกซื้อสินค้าที่หน้าร้านแล้ว ยังเป็นการมอบประสบการณ์ และเพิ่มการมีส่วนร่วมให้กับกลุ่มเป้าหมายอีกด้วย ซึ่งสินค้าที่ให้ทดลองไม่จำเป็นต้องเป็นประเภทเสื้อผ้า หรือเครื่องสำอางก็ได้
นอกเหนือจากนี้ยังรวมไปถึงการสร้างบูธไว้ให้ทดลองสินค้าหน้าร้านเช่นกัน ซึ่งในอนาคตอาจมีการต่อยอดจากแค่การทดลองสินค้าไปจนถึงขั้นตอนการจ่ายเงิน ที่อาจมีลูกเล่นการจ่ายด้วยสกุลเงินดิจิทัลอย่างเงินคริปโตให้เห็นมากขึ้นก็เป็นได้
ร่วมงานกับครีเอเตอร์หรืออินฟลูเอนเซอร์ในโลก Metaverse
ในที่นี้หมายถึงทั้งคนจริง ๆ และ Virtual Influencer เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมอง และประสบการณ์ทำงาน สำหรับแบรนด์ที่อยากจะตีตลาดกลุ่มเป้าหมายที่มีความสนใจด้านนี้ การร่วมงานกับอินฟลูเอนเซอร์ที่มีการก้าวเข้าไปในโลก Metaverse แล้ว ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
เพราะเหล่าครีเอเตอร์ และอินฟลูเอนเซอร์จะมอบมุมมองใหม่ ๆ ที่พวกเขาได้เข้าไปสัมผัสจริง ๆ มาใช้ต่อยอดในการทำแคมเปญร่วมกับแบรนด์ได้เป็นอย่างดีนั่นเอง
สำหรับ Virtual Influencer ก็นับเป็นอีกหนึ่งกิมมิกเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มาช่วยลบข้อจำกัดบางส่วนในสิ่งที่อินฟลูเอนเซอร์ตัวจริงอาจจะทำไม่ได้ แต่เป้าหมายหลัก ๆ คงจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงการนำเทคโนโลยีมาต่อยอดในแคมเปญเสียมากกว่า
สร้างของที่ระลึกเป็นเหรียญ Token
อย่างล่าสุดที่ BNK48, บี้ เดอะ สกา และครีเอเตอร์คนอื่น ๆ ก็มี Fans Token เรียกว่าเป็นโอกาสที่ดีในการให้แฟนคลับได้เป็นเจ้าของ Assets ที่ระลึกสุดเอ็กซ์คลูซีฟ เรียกว่าเป็นเพิ่มการมีส่วนร่วมระหว่างศิลปิน ครีเอเตอร์ และแฟนคลับในโลกดิจิทัลที่ดีเลยทีเดียว
นอกจากนี้ยังสามารถนำไปต่อยอดใช้กับกิจกรรมในแคมเปญอื่น ๆ ได้ เพียงแค่สะสม Fans Token ในระบบ ซึ่งเป็นการเพิ่มการมีส่วนร่วมให้กับทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของวงการบล็อกเชนได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเพียงนักลงทุน หรือนักเทรดเท่านั้น
ยิ่งถ้าเหรียญมีจำนวนจำกัดแล้วล่ะก็จะยิ่งทำให้คุณค่าและมูลค่าเพิ่มมากขึ้น จนทั้งนักสะสมและกลุ่มเป้าหมายต้องให้ความสนใจไม่น้อยแน่นอน!
เดินสายสร้างผลงาน NFT
สร้างผลงาน NFT ประจำแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นภาพ วิดีโอ หรือเสียง เป็นต้น ที่นอกจากจะเป็นการโปรโมตแล้ว ยังเป็นการสร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าให้กับผลงาน รวมถึงในตลาด NFT อาจทำให้ได้กลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ ที่มีความ Worldwide มากขึ้น เนื่องจากจะมีทั้งนักสะสม และนักลงทุนอยู่ในตลาดด้วยนั่นเอง
แถมผลงาน NFT จะยังคงอยู่ตลอดไปอีกด้วย งานนี้นอกจากจะทำให้ภาพลักษณ์แบรนด์ดูดีขึ้น ตรงที่แสดงถึงความตามทันเทคโนโลยี ยังแสดงให้เห็นถึงความสร้างสรรค์ และความชาญฉลาดในการสร้างคุณค่าให้กับแบรนด์อีกด้วย
เสริมสร้างความรู้ทางเทคโนโลยีในองค์กรด้วย Metaverse
ก่อนจะถ่ายทอดประสบการณด้าน Metaverse ออกไปถึงกลุ่มเป้าหมายให้มีประสิทธิภาพ แน่นอนว่าคนในองค์กรที่เป็นผู้ถ่ายทอดออกไปจะต้องมีความเข้าใจ และได้สัมผัสประสบการณ์เหล่านั้นโดยตรง เพื่อสามารถนำไปพัฒนาต่อยอด และถ่ายทอดให้กลุ่มเป้าหมายได้อย่างสร้างสรรค์มากขึ้นนั่นเอง
ที่มา: UNSUPERVISED