Metaverse

Avatar

giestarks June 8, 2023

ส่องความต่างของ Metaverse และ Multiverse อย่าจำสลับกันนะ!

เมตาเวิร์สกับมัลติเวิร์สนั้น หากมองเผิน ๆ อาจเป็นคำศัพท์สองคำที่สุดแสนจะคล้ายกันเหลือเกิน จนบางทีหลายคนถึงกับจำสลับว่า มัลติเวิร์สคือเมตาเวิร์ส และเมตาเวิร์สคือมัลติเวิร์ส แต่สรุปแล้วทั้งสองแนวคิดแตกต่างกันอย่างไรนะ?

กลับมาอีกแล้วกับภาพยนตร์แฟนตาซี-ไซไฟ สายมัลติเวิร์สอย่าง แอนิเมชัน ‘Spider-Man: Across the Spider-Verse’ (2023) ที่กำลังเป็นที่พูดถึงในตอนนี้ กับการดำเนินเส้นเรื่องที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใคร! 

ในแต่ละยุคสมัย เราจะเห็น‘เทรนด์’ของการสร้างภาพยนตร์ในแต่ละช่วงที่ต่างกัน อย่างในช่วงหลายปีให้หลังมานี้เราก็มักจะได้เห็นภาพยนตร์แฟนตาซี ไซไฟ หลายต่อหลายเรื่องได้หยิบจับคอนเซปต์ของพหุภพ หรือ มัลติเวิร์ส (Multiverse) มาใช้เป็นวิธีเล่าเรื่องหลัก ไม่ว่าจะเรื่อง Doctor Strange จากค่าย Marvel หรือ Everything Everywhere All At Once ที่โดนใจคอหนังไปทั่วโลกจนคว้ารางวัลออสการ์มาได้ถึง 7 สาขา!

ย้อนกลับไปก่อนหน้าที่หลายค่ายจะหยิบยกคอนเซปต์ Multiverse มาใช้ไม่หยุดเหมือนในยุคนี้นั้น จะพบได้ว่าภาพยนตร์สายแฟนตาซี-ไซไฟที่ฮอตฮิตติดกระแสก็มักจะเอาคอนเซปต์ ‘เมตาเวิร์ส’ (Metaverse) มาใช้เล่าเรื่องเช่นเดียวกัน

ดังนั้น เรามาลองส่องดูกันว่า Metaverse และ Multiverse จะเหมือนหรือต่างกันสักแค่ไหน!

Metaverse คืออะไร?

Metaverse เป็นพื้นที่เสมือนจริงที่ผู้คนสามารถโต้ตอบกับวัตถุดิจิทัลได้พร้อม ๆ ไปกับการใช้ชีวิตในโลกเชิงกายภาพ หรือโลกความเป็นจริงที่เราอยู่ โดย Metaverse เป็นเครือข่ายที่กว้างภายใต้โลก 3 มิติ และมีการจำลองตามเวลาจริง ผู้ใช้งานทุกคนสามารถใช้ได้พร้อมกันโดยไม่มีการจำกัดจำนวนผู้ใช้ แต่ในการเข้าสู่โลกเสมือนนี้ได้ผู้คนก็ต้องสร้างอวตารดิจิทัลของตนเสียก่อน

Metaverse จึงเป็นโลกที่เสมือนจริงซึ่งเราสามารถสร้างและสำรวจร่วมกับคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ทางกายภาพเดียวกันกับเรา และจะเป็นพื้นที่เสมือนจริงที่ผู้ใช้สามารถทำทุกอย่าง เช่น ไปเดินเล่น ฟังเพลง เล่นวิดีโอเกม เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ NFT และอื่นๆ ตามความสนใจได้เลย!

ท่องพื้นที่โลกเสมือนไปกับอุปกรณ์คู่ใจ

แน่นอนว่าถ้าพูดถึง Metaverse ก็คงต้องนึกถึงการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ เพื่อเข้าไปดื่มด่ำในพื้นที่เสมือนนี้ อย่างในภาพยนตร์ Ready Player One (2018) เราก็จะได้เห็นตัวละครต่าง ๆ สวมอุปกรณ์แว่น VR เพื่อสัมผัสโลกเสมือนจริง เข้าไปเล่นเกมและมีส่วนร่วมกับผู้คนในโลก Metaverse ไปพร้อม ๆ กันการใช้ชีวิตในโลกปกติของเขา

แต่นอกจากนั้นแล้ว พวกเราก็สามารถใช้เทคโนโลยี AR คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์สมาร์ทโฟน วิดีโอเกมคอนโทรลเพื่อเดินทางสอดส่องในโลก Metaverse ได้เช่นกัน แต่อย่าลืมว่าผู้ใช้ก็จะต้องสร้างอวตารเสมือนจริงตามที่พวกเขาได้คิดและจินตนาการเพื่อเป็นการแทนตัวเราจากโลกแห่งความเป็นจริงด้วยล่ะ

ท่องจักรวาลคู่ขนานไปกับ ‘Multiverse’

คงไม่ต้องอธิบาย Multiverse อะไรมากมาย หากคุณเป็นคอหนังแฟนตาซี Marvel หรือหนอนหนังสือวิทยาศาสตร์ แต่ดูดี ๆ แล้วมันอาจจะลึกซึ้งยิ่งกว่าที่คุณเคยดูในหนังก็ได้นะ

แนวคิด Multiverse เป็นสมมติฐานที่ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับเอกภพ โดยคำศัพท์ถูกประกอบขึ้นมาจากสองคำ คือ Multiple Universes ซึ่งหมายถึง ทฤษฎีที่ชี้ถึงการมีอยู่ของกลุ่มก้อนเอกภพอันมากมายมหาศาล โดยการมีอยู่ของแต่ละเอกภพนั้นไม่มีการเชื่อมต่อเกี่ยวข้องกัน กล่าวอีกนัยหนึ่ง Multiverse จึงเป็นการดำรงอยู่อย่างอิสระของเอกภพอันมากมายมหาศาลที่ไม่เกี่ยวข้องกัน

ถ้าให้สรุปโดยง่าย ๆ กว่านั้น Multiverse พยายามจะอธิบายว่า ภายในสิ่งที่เราเรียกว่า ‘โลก’ หรือเวลา และห้วงอวกาศของเรา ยังคงมีจักรวาลอื่นที่มีประสบการณ์แตกต่างจากของเรา ซึ่งดำรงอยู่คู่ขนานไปกับจักรวาลของเรานั่นเอง

เธอคนนั้นคือฉันอีกคน

แต่ Multiverse ยังคงเป็นแนวคิดทางทฤษฎีหรือสมมติฐานที่ไม่มีหลักฐานสรุปว่ามีจริงหรือไม่ เราจึงรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่นามธรรมและจับต้องไม่ได้

ความท้าทายในการศึกษามัลติเวิร์สจึงเป็นการตั้งคำถามเชิงปรัชญาและวิทยาศาสตร์ที่เรายังตามหาคำตอบกันอยู่ ยกตัวอย่างเช่น หากตัวตนของเรามีอีกหลายตัวตนในจักรวาลต่าง ๆ นั่นจะมีผลกระทบอะไรกับตัวตนของเราไหม? 

เพราะอาจเป็นไปได้ว่าตัวเราในอีกจักรวาลหนึ่ง เป็นแค่ตัวแสดงที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรา ไม่ได้มีอุปนิสัย หรืออัตลักษณ์ใด ๆ ที่เชื่อมโยงกับเรา อาจมีเพียงแค่มีหน้าตาที่เหมือนกับเราก็ได้ แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วเราจะนับว่าคน ๆ คืออีกหนึ่งตัวตนของเราหรือไม่นะ?

เปรียบเทียบกันชัด ๆ Metaverse VS Multiverse

ปัจจุบัน Metaverse ได้รับการขนานนามว่าใช้งานได้เหมือน หรืออาจดีกว่าอินเทอร์เน็ตเสียอีก จึงทำให้ผู้คนเริ่มสนใจใคร่รู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับพื้นที่เสมือนนี้ แล้วอะไรคือเอกลักษณ์ที่ทำให้ Metaverse ไม่เหมือนใคร?

  • ชุมชนโลกเสมือนจริง

โลกของ Metaverse ถูกควบคุมโดยผู้ใช้งานและผู้สร้าง สิ่งนี้ได้สร้างความรู้สึกเป็นชุมชน ซึ่งมีการร่วมมือและปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในโลกเสมือน จึงทำให้เราและผู้สร้างสามารถเรียนรู้จากกันและกัน เพื่อร่วมมือกันสร้างคุณค่าภายใน Metaverse 

เราจึงสามารถแสดงตัวตนของเราได้อย่างอิสระและตรงไปตรงมาใน Metaverse เหมือนได้ใช้ชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริง พร้อม ๆ กับการสำรวจตัวตนและความสนใจของผู้คนในชุมชนโลกเสมือนจริงได้ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎของ Metaverse นะ

  • เทคโนโลยีแห่งโลกอนาคต

ปัจจุบันบริษัทต่าง ๆ ก็มีการพัฒนาโลก Metaverse และอุปกรณ์ใช้งานตามกระแสเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่พัฒนาในทุก ๆ วัน เพราะการขยายตัวของสังคมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจึงจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

อุปกรณ์เสริมเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดในการนำพาผู้คนเข้าสู่โลกแห่งความเหมือนจริง เพื่อสัมผัสประสบการณ์ Metaverse ได้อย่างสมจริง โดยเราสามารถสำรวจโลกเสมือนจริงด้วยอุปกรณ์ Input เช่น แป้นพิมพ์ เมาส์ และตัวควบคุมการเคลื่อนไหว และฮาร์ดแวร์เอาต์พุต เช่น จอภาพ ลำโพง และหูฟัง หรือเทคโนโลยีล้ำยุคอย่าง VR และ AR โดยที่อุปกรณ์เหล่านี้จะส่งผลต่อวิธีที่คุณโต้ตอบ รับรู้ และสำรวจพื้นที่ได้อย่างสมจริงยิ่งขึ้น

ดังนั้น Metaverse จึงเป็นตัวแทนของความความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่นำไปสู่โลกแห่งอนาคตที่เราฝันถึงได้

  • ใช้รูปอวตารแทนตัวตนเรา

การใช้ Avatar หรือรูปภาพตัวแทนของผู้คนที่แตกต่างกันในรูปลักษณ์ พฤติกรรม และเอกลักษณ์อื่น ๆ เป็นคุณลักษณะที่สำคัญของ Metaverse เราสามารถแสดงตัวตนของเราในรูปแบบที่ดูเป็นไปได้ยากในโลกแห่งความเป็นจริง เช่น การเปลี่ยนเพศ สีผิว หรือลักษณะใบหน้า

Avatar ยังช่วยให้ผู้ใช้สามารถมีส่วนร่วมกับ Avatar ของผู้ใช้รายอื่นและโลกเสมือนจริงได้อย่างสมจริงและมีส่วนร่วมมากขึ้นผ่านท่าทาง การแสดงออกทางสีหน้า เสียง และการสัมผัส สิ่งนี้สามารถนำไปสู่ความสัมพันธ์ร่วมกับคนในสังคมที่น่าพอใจยิ่งขึ้น 

แล้ว Multiverse ล่ะ?

แม้ว่าเราจะไม่รู้ว่าชีวิตจริงเรามี Multiverse คู่ขนานไปกับจักรวาลของเรา หรือมีตัวเราอีกคนในพหุภพอื่นหรือไม่ก็ตาม แต่นี่คือคุณสมบัติของ Multiverse ที่ต่างจาก Metaverse อย่างสิ้นเชิง

  • มิติที่ไม่มีใครค้นพบ

ถ้ามี Multiverse อยู่ ก็คงจะอยู่นอกเหนือการเข้าถึงและการสังเกตของเรา เพราะในตอนนี้เรายังไม่มีเทคโนโลยีที่สามารถเดินทางไปหรือสื่อสารกับจักรวาลอื่นหรือยืนยันการมีอยู่ของจักรวาลคู่ขนานของเราได้

แต่ในขณะนี้เราสามารถเข้าถึงและใช้งาน Metaverse ได้แล้ว! เราสามารถเข้าและออกจาก Metaverse ได้ตามต้องการ โต้ตอบกับผู้ใช้รายอื่น และสร้างประสบการณ์ของเราเองภายในนั้นได้เลยในขณะนี้

  • จักรวาลที่เหนือความคาดหมาย

Multiverse ได้อธิบายไว้ว่าบางจักรวาลอาจคล้ายกับของเรามาก เช่นเดียวกันก็อาจแตกต่างแบบไร้ขอบเขตและไม่มีที่สิ้นสุดเลย มิติอื่นอาจมีกฎทางฟิสิกส์หรือมิติของอวกาศและเวลาที่แตกต่างไปจากเรา ตัวอย่างเช่น อาจมีเอกภพที่ไร้แรงโน้มถ่วงหรือเวลาที่ไหลย้อนกลับ 

ในบางมิติอาจมีผลลัพธ์ของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ต่างไปจากเรา ตัวอย่างเช่น อาจมีจักรวาลที่ไดโนเสาร์ไม่สูญพันธุ์ อย่างในภาพยนตร์ ‘Doctor Strange in the Multiverse of Madness’ จะเห็นคุณหมอ Strange ออกจากโลก Earth 616 ซึ่งคล้ายกับโลกของเรา และไปเยี่ยมชมจักรวาลอื่น รวมถึงจักรวาลที่เต็มไปด้วยไดโนเสาร์

ทว่า Metaverse นั้นมีความจำกัดในด้านทรัพยากรและขีดความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีของมนุษย์ ในตอนนี้ขณะที่เราใช้งาน Metaverse นั้นเราสามารถเข้าถึง Metaverse ได้เพียงแค่เซิร์ฟเดียวเท่านั้น เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่สามารถเข้าถึงได้ รวมถึงเนื้อหาและคุณสมบัติของโลก Metaverse เท่าที่ผู้สร้างโลก Metaverse และ ผู้ใช้งานจะสร้างนวัตกรรมขึ้นมาได้

  • มีตัวเราในอีกเวอร์ชันหนึ่ง

Multiverse อยู่ภายใต้ความไม่แน่นอนของจักรวาล เราไม่สามารถรู้ได้ว่ามีจักรวาลประเภทใดอยู่หรือมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นในมิตินั้นบ้าง นั่นแปลว่า ตัวตนของเราในอีกมิติหนึ่งอาจไม่มีความเชื่อมโยงกับเราเลยก็ได้!

หากเปรียบเทียบกับ Metaverse ซึ่งเป็นการลองเข้าไปสัมผัสโลกแห่งความเหมือนจริงผ่านเทคโนโลยี เราก็ต้องมีการสร้างคาแรคเตอร์ Avatar เพื่อเป็นตัวแทนของเราเสียก่อน แม้อาจไม่ได้มีรูปลักษณ์ที่ตรงตามเรา 100% แต่นั่นก็เป็นตัวแทนตัวตนของเราจริง ๆ ซึ่งสามารถจับต้องได้ในความเป็นจริง ไม่เหมือนกับตัวเราใน Multiverse ซึ่งสุดแสนจะนามธรรม และยังจับต้องไม่ได้นั่นเอง

แตกต่างกันสิ้นเชิง

โดยสรุปแล้ว Meataverse ก็เหมือนเป็นพื้นที่ดิจิทัลโลกเสมือนจริงที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ไปพร้อม ๆ กันกับโลกแห่งความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ กล่าวโดยสรุป คือมีอยู่จริงในตัวเรา เพราะเราสามารถสัมผัสโลกเสมือนนี้ได้ผ่านเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ช่วยเราเข้าถึงได้นั่นเอง

แต่ว่าในทางกลับกัน มัลติเวิร์สเป็นเพียงแนวคิดเชิงนามธรรมที่กำลังรอคอยการค้นพบอยู่ แม้ว่าเราจะไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่บ่งชี้ว่า Multiverse นั้นมีอยู่จริงหรือไม่ แต่เราก็ได้มีความพยายามจินตนาการหาทางพิสูจน์อยู่เสมอ เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่มีมนุษย์คนใดเข้าถึงโลกความเป็นจริงอื่นใดใน Multiverse ได้เสียที ยกเว้นก็แต่นาย Peter Parker กับคุณหมอ Stephen Strange ล่ะนะ

หากคุณเป็นคนใฝ่ฝันจะใช้ชีวิตในโลกเสมือนจริงผ่าน VR และ AR คุณจะเพลิดเพลินไปกับการสำรวจโลก Metaverse ผ่านเทคโนโลยีเหล่านี้ แต่ถ้าคุณเป็นแฟนหนัง Marvel หรือเป็นนักคิดจินตนาการที่อยากรู้อยากเห็น คุณสามารถมองมาที่ทฤษฎี Multiverse ได้ แต่ไม่ว่าคุณจะสนใจอะไร ทั้งสองแนวคิดสามารถขยายขอบเขตของความก้าวหน้าโลกเทคโนโลยีได้ทั้งคู่เช่นเดียวกัน!

ที่มา:

Leewayhertz

Makeuseof

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save