ทุกวันนี้วัฒนธรรมอีสานค่อนข้างมาแรง หมอลำก็เป็นหนึ่งในนั้น นี่เลยเป็นโอกาสในการเผยแพร่วัฒนธรรม แต่ทำในรูปแบบ หมอลำ + Metaverse
มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยทีมวิจัยโครงการวิจัยหมอลำกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์: วิถีการแปรเปลี่ยนนวัตกรรมและการประกอบการทางวัฒนธรรมในสังคมเสมือน โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย ละนวัตกรรม ร่วมกับทีมนักพัฒนา Metaverse จาก Khon Kaen InfiniteLand เปิดตัวนวัตกรรมดิจิทัลจากทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่โลกเสมือน “หมอลำเมตาเวิร์ส” (Molam Metaverse) ซึ่งเป็นพื้นที่เรียนรู้ใหม่ที่ทุกคนสามารถท่องโลกหมอลำผ่านพื้นที่โลกเสมือนจักรวาลนฤมิตร
โดยเป้าหมายของโปรเจกต์นี้คือการ เปิดพื้นที่ให้ให้คนทั้งที่รู้จักและไม่รู้จักหมอลำสามารถเข้าถึงเข้าถึงหมอลำได้ง่ายขึ้นผ่านช่องทางการเรียนรู้รูปแบบใหม่ในยุคดิจิทัลโดยใช้กลไกและหลักคิดของ Metaverse โดยผู้ใช้สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้จากทุนทางวัฒนธรรมด้านหมอลำได้ทุกที่ทุกเวลาและเสมือนจริง และมากไปกว่านั้น หมอลำเมตาเวิร์สยังเอื้อแก่ธุรกิจที่อยู่ภายใต้คลัสเตอร์หมอลำที่จะมาเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มแผนที่วัฒนธรรม (Cultural Map) ที่เป็นเครือข่ายห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่เกี่ยวโยงกับการประกอบการธุรกิจที่อยู่ภายใต้คลัสเตอร์หมอลำซึ่งจะช่วยส่งเสริมและเพิ่มการรับรู้ไม่ใช่เฉพาะหมอลำเท่านั้น แต่เป็นการเพิ่มพื้นที่เข้าถึงการประกอบการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ด้วย
ซึ่งใน Metaverse นี้จะสามารถแบ่งได้เป็น 2 โซน
โซนที่ 1 : เปิดโลกหมอลำ เป็นพื้นที่โถงกลางให้คนได้เห็นภาพบรรยากาศหน้าเวทีหมอลำ มีอวาร์ตาร์ออกลีลาท่าเต้นอยู่หน้าเวทีการแสดงหมอลำ ซึ่งทุกคนสามารถเข้าไปร่วมจอยโยกย้ายส่ายสะโพกกันหน้าฮ่านได้
โซนที่ 2 : หมอลำ Gallery พื้นที่ในการแสดงนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับหมอลำ โดยแบ่งเป็นหมอลำ 4 ยุค ได้แก่ ยุคจุดกำเนิดของหมอลำหมู่ที่พัฒนามาจากหมอลำพื้น, ยุคพัฒนาจากหมอลำพื้นสู่หมอลำหมู่, ยุคที่พัฒนาสู่คอนเสิร์ตหมอลำเรื่องต่อกลอน และยุคหมอลำ Avatar
ผู้สนใจท่องโลกหมอลำเมตาเวิร์สสามารถเข้าชมได้ผ่าน 2 ช่องทาง คือ
1) ผ่าน Web browser ที่ Link: MoLam Metaverse | Spatial
2) ผ่านแอปพลิเคชัน Spatial และใช้คำค้นว่า “Mo Lam” หรือ สแกน QR Code
โปรเจกต์ Molam Metaverse นี้ก็แสดงให้เห็นว่ายังมีคนรุ่นใหม่บางส่วนที่ยังให้ความสนใจกับวัฒนธรรมพื้นบ้านดั้งเดิมของไทยอยู่และการที่พวกเขานำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆมาประยุกต์เข้ากับสิ่งเก่าที่เรามีก็อาจจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงบางอย่างในสังคมก็ได้ และไม่ใช่แค่เพียงในประเทศไทยแต่ชาวต่างชาติก็สามารถมีส่วนร่วมกับโลกเสมือนจริงนี้ได้ ซึ่งมันก็ถือว่าเป็น Soft Power ไทยแท้อย่างหนึ่งที่ควรค่าแก่การรักษาไว้ และไม่แน่ว่าในอนาคต วัฒนธรรมไทยอื่นๆก็อาจจะมีช่องทางให้ได้เฉิดฉายในระดับโลกก็เป็นได้
ที่มา: เว็บไซต์มหาวิทยาลัยขอนแก่น