ในปีนี้แทบจะเรียกว่าเป็นปีทองของคอนเทนต์ไทยเลยก็ว่าได้ เพราะนอกจากคอนเทนต์ซีรีส์ Streaming บน Netflix แล้ว โลกของภาพยนตร์ไทยก็ได้ไปเยือนเวทีโลกมากขึ้นเช่นกัน ซึ่ง RAiNMaker’s Content of the Year 2024 ในหมวด Movie ที่คัดสรรมาแชร์กันวันนี้ นอกจากคุณภาพเกินกว่าจะเป็นเพียงแค่ภาพยนตร์แล้ว ยังสามารถสร้างแรงกระเพื่อมสู่ไวรัลในโซเชียลมีเดียให้เกิด ‘Social Talk’ ได้มาตลอดจนตอนนี้ด้วย
หากในปีที่แล้วเราได้รู้จักกับ ‘ธี่หยด’ ภาพยนตร์จากเรื่องเล่าในพันทิปสู่ The Ghost Radio มาเป็นเรื่องราวบนจอภาพยนตร์ที่ทำให้ทุกคนหลอนโสตประสาทไปกับเสียงของผีชุดดำ หรือจะเป็น ‘สัปเหร่อ’ ที่สร้างปรากฏการณ์ให้ไทบ้านเดอะซีรีส์เป็นที่รู้จักมากขึ้น จนกลายเป็นหนังไทยที่ทำรายได้สูงสุดในรอบ 10 ปี
แต่ปรากฏการณ์หนังไทยไม่ได้หยุดสร้างประวัติศาสตร์เพียงเท่านี้ เพราะ ‘หลานม่า’ นับเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ไปไกลยันเวทีออสการ์ จนเข้ารอบ 1 ใน 15 เรื่องสุดท้ายที่จะเข้าไปสู่ Finalist 5 เรื่องเพื่อลุ้นเป็นผู้ชนะในสาขาภายนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม
ซึ่งในปีนี้ก็ไม่ได้มีแค่หลานม่าเท่านั้นที่ได้เฉิดฉาย แต่จะมีภาพยนตร์ไทยเรื่องไหนน่าจดจำส่งท้ายปีบ้าง RAiNMaker สรุปมาให้ที่นี่แล้ว!
หลานม่า (How to Make Millions Before Grandma Dies) | GDH
- ผู้กำกับ: พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์
- นักแสดง: พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล, อุษา เสมคำ, สฤญรัตน์ โทมัส, สัญญา คุณากร, พงศธร จงวิลาส, ต้นตะวัน ตันติเวชกุล
หากพูดถึงครอบครัวเอของคนเอเชีย ก็คงเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาใช้ในภาพยนตร์หลายเรื่องแล้วไม่ว่าจะในไทย หรือต่างประเทศ ทั้งการอยู่ร่วมกัน การให้คุณค่ากับลูกชายมากกว่าลูกสาว หรือการถูกเลี้ยงมาเพื่อตอนโตจะได้เลี้ยงดูครอบครัวในวัยชราก็ตาม
แต่ไม่ใช่กับภาพยนตร์เรื่อง ‘หลานม่า’ ที่สอดแทรกประเด็นมากมายผ่านสายตา ความรู้สึก และบรรทัดฐานของสังคมที่สืบทอดทำต่อกันมานาน และหลังดูจบก็ทำให้คนดูรู้สึกอยากกลับไปหาคนที่บ้าน หรือไม่ก็คิดถึงคนรักที่จากไปแล้วโดยอัติโนมัติ
และดำเนินเรื่องทั้งหมดผ่านตัวละครอย่าง ‘เอ็ม’ ที่หวังจะทำตัวเป็นหลานชายสุดที่รักของอาม่า และหวังมรดกในบั้นปลายชีวิต แต่ระหว่างทางที่เอ็มตัดสินใจไม่ทำงานประจำ และมาดูแลทำให้อาม่าไว้ใจ ก็พบกับปัญหาที่ทุกครอบครัวต้องเจอกันในยุคนี้ และได้เข้าใจว่าการใช้ชีวิตมันมีอะไรมากกว่าแค่เรื่องเงิน
โดยภาพยนตร์เรื่องหลานม่าที่เน้นเรื่องครอบครัวเอเชีย แต่กลับได้ใจคนดูทั่วโลกที่ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉาย พร้อมประสบความสำเร็จทั้งคำวิจารณ์ และรายได้ในต่างประเทศ สร้างประวัติศาสตร์ในการได้รับเลือกเป็นตัวแทนภาพยนตร์ไทยเข้าชิงรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 97 พร้อมเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่เข้ารอบ 15 เรื่องสุดท้ายสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม (Best International Film) ของเวทีออสการ์ด้วย
สามารถรับชมตัวอย่างได้ที่นี่: https://www.youtube.com/watch?v=0fksoEJvdLE
ธี่หยด 2 (Death Whisperer 2) | M Studio
- ผู้กำกับ: ทวีวัฒน์ วันทา
- นักแสดง: ณเดชน์ คูกิมิยะ, เดนิส เจลีลชา คัปปุน, กาจบัณฑิต ใจดี, พีระกฤตย์ พชรบุณยเกียรติ, ณัฐชา นีน่า, เจสซิกา พาโดวัน, พีรวิชญ์ อรรถชิตสถาพร, อริศรา วงษ์ชาลี, ปรเมศร์ น้อยอ่ำ
จากเรื่องเล่าสยองขวัญในกระทู้ Pantip มาสู่เรื่องราวบทใหม่บนจอภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดตัวละครอย่าง ‘ยักษ์’, ‘แย้ม’ หรือว่า ‘ผีชุดดำ’ ให้เป็นไอคอนิกของเรื่อง ‘ธี่หยด’ ที่ทำให้ใครหลาย ๆ คนจำได้ และกลับมาในภาค 2 พร้อมกับความแค้นที่มีต่อสั่งสมมาของยักษ์จากภาคแรกที่ห่างกันแค่ 1 ปีเท่านั้น
แม้จะเป็นภาพยนตร์ที่ดูเอามันส์ แต่มันก็มันส์ถึงใจ และครองใจผู้ชมที่อยากเปิดประสบการณ์ได้ดูคนลุย ๆ สู้กับผีเพื่อครอบครัว และยกระดับความเก๋าด้วยวิชาสายเวทย์ขึ้นไปอีกในภาค 2 ทำรอบฉายในโรงภาพยนตร์ IMAX ถึงกับเต็มทุกที่นั่งแม้จะมีรอบตี 2-3 ก็ตาม
และไม่นานมานี้ธี่หยด 2 ก็ได้กวาดรายได้ทั่วประเทศ ทะลุ 700 ล้าน ขึ้นแท่นหนังไทยทำรายได้เร็วที่สุดภายใน 19 วันเลยทีเดียว แถมยังมีกระแสที่จะไปถึงภาคต่ออย่าง ‘เสือสมิงเขากวาง’ ด้วย
เรียกได้ว่าเป็นหนังผีไทยที่ไม่ได้มีดีแค่ผี แต่ฉากแอ็กชัน หรือแม้กระทั่งฉากที่ทำให้ตลกก็มาถูกจังหวะไปหมด ทำเอากระแสภาพยนตร์นี้ถูกนำไปเล่นเป็นมีมกับแบรนด์หลายแบรนด์เลยทีเดียว
สามารถรับชมตัวอย่างได้ที่นี่: https://www.youtube.com/watch?v=Dn6soMQJy9U
วิมานหนาม (The Paradise of Thorns) | GDH & JAI STUDIO
- ผู้กำกับ: นฤเบศ กูโน (บอส กูโน)
- นักแสดง: วรกมล ชาเตอร์, อิงฟ้า วราหะ, พงศกร เมตตาริกานนท์, สีดา พัวพิมล, หฤษฎ์ บัวย้อย
ในยุคที่ประเทศไทยมีกฏหมายสมรสเท่าเทียม และยอมรับความรักของคนทุกเพศ โดยที่ไม่ว่าเพศไหนก็สามารถแต่งงานกันได้เป็นเรื่องน่ายินดี แต่กลับกันชื่อกฏหมายที่มีคำว่า ‘เท่าเทียม’ ก็ยังไม่สามารถทำหน้าที่ได้เท่าเทียมมากพอ เมื่อความเท่าเทียมที่ควรจะได้รับต้องถูกขโมยไป เพราะกฏหมายไม่มีผลย้อนหลัง
ภาพยนตร์เรื่องวิมานหนามไม่ได้มีดีแค่หนามทุเรียนที่ขว้างใสกันในตัวอย่าง แต่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ยังถูกสร้างมาจากแรงบันดาลใจในความไม่เท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียนสมรส ทรัพย์สินของคนตาย มรดกของครอบครัว คนชายขอบ ชายเป็นใหญ่ หรือการเป็นผู้หญิงที่ต้องดิ้นรนให้ตัวเองเท่าเทียมอยู่ตลอดเวลาก็ตาม
ทุกบทบาทในภาพยนตร์เรื่องนี้จะพาคนดูไปสำรวจถึงความไม่เท่าเทียมหลายอย่าง ในแบบที่คนดูต่างประเทศก็สามารถทำความเข้าใจได้ จนวิมานหนามได้ไปฉายไกลถึงแคนาดา เพราะได้รับการคัดเลือกไปที่ ‘เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ Toronto International Film Festival: TIFF 2024’
นับเป็นภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยการนำเสนอถึงความขัดแย้ง ท่ามกลางโลกที่พยายามจะทำให้ทุกอย่างเท่าเทียมกันได้เป็นอย่างดี
สามารถรับชมตัวอย่างได้ที่นี่: https://www.youtube.com/watch?v=Ebpd_mVTsqk
บทสรุปของหมวด Movie ทั้ง 3 เรื่องที่ RAiNMaker ยกให้เป็น RAiNMaker’s Content of the Year 2024 นั้นไม่ได้มีแค่เรื่องที่ทำให้สังคมในประเทศ หรือคนต่างชาติพูดถึงเท่านั้น เพราะยังมีภาพยนตร์ไทย และภาพยนตร์ต่างประเทศที่สร้างไวรัลได้ดีไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็น
- หอแต๋วแตก แหกสัปะหยด (วันกะเทยผ่านศึก สุขุมวิท 11)
- Deadpool & Wolverine
- Godzilla x Kong: The New Empire
- DUNE: Part Two
- Furiosa: A Mad Max Saga
โดยเรื่องที่ยกตัวอย่างมาก็มีหลากหลายรสชาติ หรือเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ได้ใจผู้ชมทั้งไทย และทั่วโลกไปเหมือนกัน ซึ่งเป็นปีที่ภาพยนตร์ไทยกลับมาท็อปฟอร์มจนสามารถไปเยือนเวทีโลกได้มากขึ้น จึงอาจเป็นสัญญาณว่าในอนาคตเราจะได้เห็นภาพยนตร์คุณภาพที่เป็นผลงานจากคนไทยอีกเยอะแน่นอน
#RAiNMakerContentoftheYear2024