สื่อ เป็นช่องทางในการนำเสนอเนื้อหาของสารต่างๆ ที่มีมานานมากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นข่าว, ความบันเทิง รวมไปถึงโฆษณาต่างๆ สื่อเปรียบเสมือนตัวกลางในการสื่อสารระหว่างผู้ส่งสารไปยังผู้รับสารหรือผู้บริโภค
โดยสมัยก่อนสื่อที่มีอิทธิพลและความน่าเชื่อถือ หรือที่เราเรียกว่าสื่อดั้งเดิม เช่น หนังสือพิมพ์,วิทยุ, สื่อโทรทัศน์ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นสื่อในลักษณะการสื่อสารแบบด้านเดียว สื่อถือว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญมากของการสื่อสารหรือประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่างๆ โดยมีบทบาทที่สำคัญคือ แจ้งข่าวสารให้ประชาชนทราบ นำเสนอข้อเท็จจริงต่างๆ
แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปหลายๆ คนคงจะคิดว่าสื่อดั้งเดิมอย่างสื่อ Offline ต้องหายไปแล้วแน่ๆ จนหลายคนถึงกับทิ้งสื่อเก่าแล้วหันไปให้ความสนใจกับสื่อใหม่อย่างสื่อออนไลน์เป็นหลัก
โดยบทบาทของสื่อใหม่ในปัจจุบันสามารถช่วยอำนวยความสะดวกให้เราได้มากกว่าเดิม จากสื่อเก่าที่เป็นการสื่อสารแบบ One Way (การสื่อสารทางเดียว) ในตอนนี้เราสามารถโต้ตอบกันผ่านสื่อได้แล้ว ยกตัวอย่าง เช่น การไลฟ์ เป็นต้น นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนของวงการสื่อไทยเลยก็ว่าได้
เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีแบรนด์ๆ หนึ่งตัดสินใจใช้พื้นที่สื่อเก่าอย่างสื่อสิ่งพิมพ์ในการทำการตลาด ซึ่งพอหลายๆ คนอ่านถึงตรงนี้แล้วก็อาจเกิดความสงสัยกันใช่ไหมว่า ทำไมถึงยังใช้สื่อออฟไลน์ คนจะเห็นเยอะหรอ จะคุ้มกับเงินที่เสียไปหรือไม่ วันนี้จึงมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจจากทาง ‘ไทยรัฐ’ มาฝากกันค่ะ
หากใครมีโอกาสได้เปิดอ่านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าในนั้นมีโฆษณาสินค้าอยู่ตัวหนึ่ง ที่ได้ทำการเหมาพื้นที่โฆษณาบนหนังสือพิมพ์ไปถึง 5 หน้าเต็มๆ ในฉบับเดียวกัน ซึ่งไม่ได้มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อยนัก หลายคนอาจจะคิดว่าทำไมแบรนด์ถึงตัดสินใจลงโฆษณารูปแบบเช่นนี้บนสื่อออฟไลน์
ในมุมมองของทีมงาน RAiNMaker มองว่า สื่อสิ่งพิมพ์ก็ยังคงเป็นสื่อหนึ่งที่ Mass อยู่ในปัจจุบัน ที่ยังสามารถเข้าถึงคนไทยได้ทั้งประเทศ แม้จะมีสื่อออนไลน์เข้ามาแทนที่ก็ตาม เพราะหลักของการโฆษณาจริงๆ แล้วไม่ควรมองช่องทางเป็นที่ตั้งอย่างเดียว
แต่ควรมองที่กลุ่มเป้าหมายของเราด้วยเช่นกัน มองถึงวัตถุประสงค์และวิธีการนำเสนอที่เหมาะสมกับสินค้าหรือกลุ่มเป้าหมายของเราให้มากที่สุด ต้องรู้จักเลือกใช้สื่อมาผสมผสานกันให้เหมาะสมที่สุด
ยกตัวอย่างกรณีของยาสีฟันคอลเกต ที่ตัดสินใจใช้พื้นที่สื่อออฟไลน์ในการโฆษณาสินค้า โดยลักษณะการเล่าเรื่องของแบรนด์จะเป็นการค่อยๆ ร้อยเรียงเรื่องราวของเนื้อหาให้เรารู้สึกอยากเปิดไปอ่านต่อ มีการตั้งคำถามให้ชวนคิดอยู่เรื่อยๆ
โดยแบรนด์ไม่ได้มีการนำเสนอขายสินค้าโดยตรง เพียงแต่มีการใช้โทนสีและคำพูดที่ช่วยตอกย้ำให้ผู้ที่พบเห็นสามารถจดจำได้เพียงเท่านั้น แต่ถึงแม้จะใช้สื่อออฟไลน์ ทางคอลเกตก็ยังคงใส่ความเป็นออนไลน์แฝงลงไปด้วย นั่นก็คือ เราสามารถสแกน QR เพื่อติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมต่อได้นั่นเอง
เพราะฉะนั้นไม่มีคำตอบไหนที่ถูกที่สุด ว่าควรใช้สื่อแบบไหนดีกว่ากัน แต่อยู่ที่วัตถุประสงค์และสิ่งที่เราต้องการมากกว่า หากเรามีการวางแผนที่ดี ไม่ว่าจะเป็นสื่อประเภทไหน ก็สามารถตอบโจทย์เราและสร้างผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพให้กับเราได้อย่างแน่นอน