ถอดทริกการเล่าเรื่องแบบ ‘One For The Road’ ค็อกเทลรสชีวิตที่ทำให้ผู้ชมจดจำไปตลอดกาล

‘One for the Road วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ’ หนังจากค่าย GDH ที่เป็นการร่วมงานของไทย จีนและฮ่องกง กำกับโดย ‘บาส – นัฐวุฒิ พูนพิริยะ’ และอำนวยการสร้างโดย ‘หว่องกาไว’  ซึ่งหลังจากเขาได้กำกับ ‘ฉลาดเกมส์โกง’ ไป ก็ได้กลับมาอีกครั้งกับหนังที่เรียกได้ว่าเล่าเรื่องส่วนตัวที่สุดตั้งแต่เคยทำมา ทั้งบาร์เทนเดอร์ ค็อกเทล และสารที่ส่งให้กับเพื่อนรักที่จากไป องค์ประกอบเหล่านี้กลายมาเป็นรสชาติชีวิตที่ทั้งหวานจนตราตรึง และขมจนทำให้นึกถึงเรื่องราวในอดีต แต่ไม่ว่าผู้ชมจะรู้สึกอย่างไร มันก็กลายเป็นภาพจำที่ใครหลาย ๆ คนคงไม่มีวันลืม ทาง RAiNMaker เลยอยากมาถอดทริกการเรื่องราวเหล่านี้ให้นักการตลาด แบรนด์และครีเอเตอร์นำไปประยุกต์ใช้ในกลยุทธ์การตลาดต่อไป!

Storytelling เป็นกลยุทธ์ที่ถูกนำมาใช้กับการตลาดได้แบบไม่มีวันเบื่อ เพราะการเล่าเรื่องแต่ละแบรนด์มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน แม้อาจจะฟังดูง่ายเพราะมันเป็นการเล่าเรื่องราวให้คนดูรู้สึกอินไปด้วย แต่การที่เรื่องเล่านั้นจะตราตรึงในหัวใจคนดูต่อไป เมื่อได้ฟังเพลงหรือเห็นภาพก็นึกถึงเราทันที นับว่าเป็นอะไรที่ไม่ง่ายเลย

เช่นเดียวกันกับภาพยนตร์เรื่อง One for the Road วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ ที่ชูโรงในเรื่องของเหล่าแฟนเก่า(ส์) กับค็อกเทลรสชาติที่แตกต่างกันไป พร้อมกับการเดินทางของอู๊ด (ไอซ์ซึ – ณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์)  และบอส (ต่อ – ธนภพ ลีรัตนขจร) ตามแบบฉบับ Road Movie เพื่อไปขอบคุณ ขอโทษ และบอกลาครั้งสุดท้ายในชีวิต

สำหรับใครที่ยังไม่ได้ดูเรื่องราวของพวกเขาไม่ต้องห่วง เพราะ RAiNMaker ไม่ได้จะมาสปอยล์เนื้อเรื่องแต่อย่างใด หากแต่มีกลยุทธ์ทางการตลาดที่น่าสนใจในการประยุกต์สำหรับเล่าเรื่องมาฝาก แต่กรณีศึกษา (Case Study) จากภาพยนตร์ ‘One for the Road วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ’ ในฐานะ Storyteller จะมีอะไรบ้าง ตามมาดูกันเลยจ้า!

Shared Experiences

แชร์เรื่องที่ทุกคนมีประสบการณ์ร่วมกัน

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีคำว่า ‘แฟนเก่า’ เปิดประเด็นให้น่าติดตาม เพราะทุกคนล้วนมีแฟนเก่า และแฟนเก่า(ส์) เป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะจบกันด้วยความคิดถึง หรือการไม่อยากพบเจอกันอีกก็ตาม การเลือกประเด็นนี้มาเล่าเรื่องจึงสามารถดึงดูดความสนใจตั้งแต่ตัวอย่างหนังออกมาได้เป็นอย่างดี

และเพราะใช้ประเด็นที่กลุ่มเป้าหมายมีประสบการณ์ร่วมกันมาเล่าเรื่อง คนก็ยิ่งอยากติดตามว่าเรื่องราวจะเป็นอย่างไร และเฝ้ารอคอยว่าจะมีส่วนใดส่วนหนึ่งในเรื่องที่ตรงกับความรู้สึกของพวกเขาแน่นอน

ดังนั้นหากแบรนด์เรียนรู้จนเข้าใจกลุ่มเป้าหมายของตัวเองมากพอ การดึงประสบการณ์ร่วมกันกับกลุ่มเป้าหมายมาใช้ในการเล่าเรื่อง ก็จะสามารถเรียกยอดเอ็นเกจเมนต์ให้กับแบรนด์ได้เป็นอย่างดีแน่นอน

Blend The Sign

มีสัญญะในการเล่าเรื่อง

‘ค็อกเทล’ คือสัญญะของแฟนเก่า(ส์) ภายในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็น Alice’s Dance (อลิซ), Noona’s Tears (หนูนา) หรือว่า After The Rain (รุ้ง) ที่เป็นตัวแทนภาพจำความรักของแฟนเก่า(ส์) แต่ละคนของอู๊ด ซึ่งการสร้างสัญญะในเรื่องตั้งแต่ตัวอย่างที่เปิดมา แล้วเล่นกับการผนวกเข้ากับลักษณะของแฟนเก่า(ส์) เหมือนเป็นการเตรียมพร้อมคนดูเป็นนัยก่อนจะได้รับชมภาพยนต์เต็มในโรง จนบางครั้งคนดูก็จดจำชื่อค็อกเทลได้แม่นกว่าชื่อตัวละครเสียอีก

ทริกนี้ของภาพยนตร์จึงเหมาะให้แบรนด์นำไปประยุกต์ใช้เป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะทำให้จดจำตัวละครในเรื่องเล่าได้แล้ว สินค้าหรืออะไรก็ตามที่แบรนด์อยากจะนำเสนอก็ยิ่งจะทำให้กลุ่มเป้าหมายจดจำยิ่งขึ้นไปอีก เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้มาพร้อมกับค็อกเทลที่มีให้ไปตามรอยกันที่ร้าน ‘OFTR BAR (สุขุมวิท)’ ทำให้ผู้ชมอยากไปลองลิ้มรสความรักเหล่านั้นบ้าง หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นการ PR ไปในตัวก็ไม่ผิด

Memorable by Songs

ใช้เพลงสร้างภาพจำในฉาก

‘เสียงเพลง’ นับว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะขาดไม่ได้เลย เพราะมันเป็นตัวในการเล่า และเชื่อมเรื่องเข้าด้วยกันได้ ไม่ว่าจะเล่าตามสถานการณ์ เล่าแทนอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร หรือเล่าเพื่อตอกย้ำปมในซีนก็ทำได้ ซึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้มีการใช้เพลงที่ทำให้ผู้ชมหวนนึกถึงอดีตมากมายเลยทีเดียว

แต่ไม่ว่าจะเป็นเพลงที่ถูกคัดสรรมาเพื่อเล่าเรื่อง หรือจะเป็นเพลงที่แต่งขึ้นมาใหม่เพื่อจุดประเด็นไคลแม็กซ์ (Climax) ของเรื่องให้ปะทุขึ้นก็ตาม เพลงเป็นสิ่งที่เข้าถึงผู้คนได้ง่ายที่สุด เพราะไม่ต้องใช้คำพูดหรือบทอะไร เพลงก็สามารถเล่าเรื่องได้ครบเช่นกัน เผลอ ๆ อาจจะดึงความเป็นเอกลักษณ์ของเรื่องที่จะเล่าออกมาได้ดีกว่าสคริปต์ที่เขียนขึ้นมาเสียอีก

ซึ่งมีหลายแบรนด์พยายามที่จะเริ่มใช้เพลงมาเป็นจุดขายให้กลุ่มเป้าหมายเกิดภาพจำ โดยเฉพาะกับยุคสมัยนี้ที่คนเริ่มหันไปอินกับยุค 80 – 90 กันมากขึ้น เพลงก็ยิ่งตอบโจทย์ในการเข้าถึง และจดจำง่ายขึ้นไปอีก ขอเพียงแค่แบรนด์เลือกใช้เพลงให้เหมาะสมกับเรื่องที่จะเล่าก็พอแล้ว แต่หากมันยากที่จะเลือกก็ลองเริ่มคิดว่าอยากให้กลุ่มเป้าหมาย หรือคนที่พบเห็นมองแบรนด์ด้วยความรู้สึกแบบไหน ค่อยเลือกใช้เสียงเพลงแบบนั้นมาเล่าเรื่องก็ได้นะ

Inspire Life

สร้างแรงบันดาลใจให้ชีวิต

‘พลังบวก’ หรือ ‘แรงบันดาลใจ’ มักเป็นสิ่งที่สื่อสารแล้วทำให้ผู้คนเกิดความหวัง และหลาย ๆ สื่อ รวมถึงหลาย ๆ แบรนด์ก็เริ่มที่จะเล่าเรื่องเพื่อเป็นความหวังนั้นให้กับผู้คนภายใต้โลกที่พบเจอกับความเปลี่ยนแปลง และไม่แน่นอนอยู่ทุกวัน ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ทำหน้าที่นั้นอยู่เช่นกัน

ในเรื่องมีอู๊ดเป็นมะเร็ง และมีสิ่งที่อยากทำก่อนตายก็คือการได้บอกขอบคุณ ขอโทษ และบอกลาคนรอบตัวของเขา แต่มันไม่จบเพียงแค่นั้น เพราะระหว่างทางที่ได้เดินทางไปกับบอส ก็ทำให้อู๊ดได้พบความหมายของการมีชีวิตอยู่ในแบบของตัวเองเช่นกัน เพราะไม่ว่าจะเป็นความรัก ความผิดหวัง หรือความฝัน ล้วนเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องพบเจอ และก้าวข้ามผ่านมันไปให้ได้ในวัยที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่

หากพูดถึงการประยุกต์ใช้กับแบรนด์ การเล่าเรื่องที่มีทั้งความหวัง และการให้แรงบันดาลใจอาจไม่ใช่เรื่องยาก แต่การทำให้ความหวัง และการให้แรงบันดาลใจแบบเป็นมนุษย์ที่สุดนั้นยากยิ่งกว่า เพราะผู้คนสมัยนี้รู้ว่าอะไรจริงหรือไม่จริง ทำให้การโฆษณาเพื่อขายฝันนั้นใช้ไม่ได้แล้ว ดังนั้นแม้มันจะเป็นรสหวานของความหวังที่ปนขมหน่อย แต่หากแสดงเรื่องราวเหล่านั้นออกมาอย่างจริงใจกับกลุ่มเป้าหมายได้ แบรนด์ก็จะเป็นที่ยอมรับ และถูกพูดถึงไปอีกนาน

Survey Feelings

พาผู้ชมสำรวจความรู้สึกตัวเอง

‘ตอนจบ’ เป็นสิ่งที่ใครก็อยากรู้ว่ามันจะเป็นอย่างไรต่อ โดยเฉพาะกับเรื่องเล่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวในแง่ของภาพยนตร์ หรือโฆษณาก็ตาม ซึ่งการจบที่ง่าย และนำมาสู่สันติ พลังบวกใด ๆ ก็ตามนั้นไม่ผิดด หากแต่อยากให้ลอง ‘จบแบบทิ้งคำถาม’ กันดู

อย่างภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ใครได้ดูแล้วก็คงจะมีการตั้งคำถามกับตัวเองเป็นแน่ ว่าถ้าเราเป็นหนึ่งในตัวละครในเรื่องจะตัดสินใจอย่างไร และจะใช้ชีวิตสุดท้ายให้คุ้มค่าแบบไหน ซึ่งแต่ละคนก็คงมีเหตุผลแตกต่างกันออกไปหากเป็นเรื่องบั้นปลายของชีวิต และเพราะการจบแบบนี้มันทำให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างภาพยนตร์กับผู้ชมได้ จึงเป็นอีกทริกที่แบรนด์ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้เช่นเดียวกัน

เพราะยิ่งทำให้กลุ่มเป้าหมายกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองได้มากเท่าไร ก็ถือว่าแบรนด์ประสบความสำเร็จในสิ่งที่จะสื่อสารมากยิ่งขึ้นเท่านั้น และการตั้งคำถามนี้อาจจะนำไปสู่ CTA (Call-to-Action) ของแบรนด์ก็เป็นได้ เนื่องจากจะทำให้แบรนด์ของคุณเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่พวกเขาไว้วางใจได้นั่นเอง

จากการถอดทริกของภาพยนตร์ One for the Road วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ ทำให้เห็นว่าโลกของภาพยนตร์กับแบรนด์หรือการตลาดนั้น ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก หากรู้จักพลิกแพลง และนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม และไม่ว่าคุณจะเป็นแบรนด์แบบไหน หรือทำธุรกิจอะไร จงอย่าลืมว่าการเล่าเรื่องเป็นสิ่งสำคัญที่คอยดึงดูดกลุ่มเป้าหมายมาให้เราเสมอ ไม่ใช่เพียงแค่การเล่าเรื่องด้วยภาพหรือคลิปวิดีโอเท่านั้น แต่ตัวอักษร หรือเสียงก็สามารถเล่าเรื่องได้เช่นกัน ขอแค่กล้าที่จะลองอะไรใหม่ ๆ ให้แบรนด์ของคุณได้มีสูตรค็อกเทลในแบบฉบับของตัวเอง และกลายเป็นแก้วที่กลุ่มเป้าหมายจะจดจำไปตลอดเช่นกันในสักวันหนึ่ง

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save