เมื่อวานนี้ (2 ส.ค. 64) เมื่อเวลา 10.00 น.ตัวแทนสื่อและนักกฎหมาย 12 องค์กร ได้รวมตัวกันเพื่อยื่นฟ้องพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผอ.ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เพื่อให้ศาลแพ่งมีคำสั่งเพิกถอนข้อกำหนด ที่ให้อำนาจกสทช.หยุดการสื่อสารออนไลน์กับผู้ที่โพสต์ข้อความอันทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว
ซึ่งข้อกำหนดคุมสื่อดังกล่าวนับเป็นการออกคำสั่งโดยใช้อำนาจเกินความจำเป็น และขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เนื่องจากข้อกำหนดมีความหมายที่กว้างและค่อนข้างกำกวม รวมถึงอาจตีความได้ว่าถึงแม้จะนำเสนอข้อเท็จจริงก็อาจจะมีความผิดตามข้อกำหนดดังกล่าวได้ จึงนับเป็นการขัดทั้งต่อหลักความเป็นจริง และขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ในกรณียังแสดงให้เห็นอีกว่าสื่อมวลชนกำลังถูกริดรอนเสรีภาพในการนำเสนอข่าว ซึ่งเป็นเสรีภาพที่ถูกกำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 34, 35, 26 ทำให้สื่อไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ คือ ไม่สามารถนำเสนอข้อเท็จจริงได้อย่างเที่ยงตรง
รวมถึงการมอบอำนาจให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีสิทธิในการตรวจสอบข้อมูลผู้กระทำผิด และมีอำนาจในการระงับการให้บริการอินเทอต์เน็ต ซึ่งขัดต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 ที่ไม่ได้ให้อำนาจนายกฯ ในการสั่งระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ต
ตัวแทนจากนักกฎหมายและสื่อจึงรวมตัวกัน เพื่อร้องขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อคุ้มครอง โดยมีทนายความภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และตัวแทนสื่อ ดังนี้ นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน, น.ส.ฐปณีย์ เอียดศรีไชย The Reporters,Voice, The Standard, The Momentum, THE MATTER, ประชาไท, Dem All, The People, way magazine และ PLUS SEVEN
เมื่อศาลแพ่งรับฟ้อง พร้อมมีคำสั่งให้ไต่สวนฉุกเฉินและหากศาลมีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราวนั่นก็หมายความว่าข้อกำหนดดังกล่าวอาจจะยังไม่สามารถใช้บังคับได้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โดยภายหลังยื่นฟ้อง ศาลได้รับคำฟ้องไว้ในสารบบเป็นคดีหมายเลขดำ พ.3618/2564 เพื่อนัดชี้สองสถานต่อ ส่วนคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราว ขณะนี้ยังไม่มีการเเจ้งคำสั่งลงมา
ซึ่งศาลก็ได้รับฟ้อง และรับคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินไว้พิจารณา รวมถึงได้ไต่สวนพยาน โจทก์ทั้งหมด 5 คน ประกอบไปด้วย ตัวแทนฝั่งผู้ฟ้อง 2 คน และพยานผู้เชี่ยวชาญ 3 คน หลังจบกระบวนการไต่สวน ศาลได้นัดฟังคำสั่งอีกครั้งในวันที่ 6 ส.ค. 64
นอกจากนี้ ทางด้าน คุณชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม MDES ยืนยันว่าข้อกำหนดดังกล่าว ไม่ได้มีเจตนาที่จะควบคุมการนำเสนอข่าวของสื่อและประชาชน แต่มีเจตนาเพื่อจะดำเนินการกับคนที่ทำตัวเสมือนเป็นสื่อมวลชน หรือเป็นสื่อเทียมไร้สังกัด และไม่มีองค์กรตรวจสอบกำกับหน้าที่ที่ชัดเจน
ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนและทุกภาคส่วนเข้าใจในแนวทางของรัฐบาล จึงมีแผนจะเชิญผู้บริหารองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนมาหารือในโอกาสที่เหมาะสมต่อไป
ที่มา: Thairath, เรื่องเล่าเช้านี้