ครีเอเตอร์สายแอนิเมชันหนึ่งในไม่กี่คนในไทย ที่สู้ทำช่องแม้กระบวนการทำงานจะค่อนข้างหนัก และใช้ต้นทุนไม่น้อย เมื่อเทียบกับครีเอเตอร์สายอื่น ๆ
แต่ไม่ว่าจะหายไปนานเท่าไหร่ เมื่อปล่อยคลิปใหม่ทีไรคนดูก็พุ่งแตะหลักล้านแทบทุกคลิป จนเป็นกระแสไวรัล เช่น ‘รามเกียรติ์ตอนนนทกโดนแกล้ง’ จนล่าสุดตัวละครถูกนำมาต่อยอดเป็นฟิกเกอร์ขาย
และด้วยความเป็นการ์ตูนแอนิเมชันเสียดสีสังคม ที่หวังให้ความบันเทิงคนด้วยแนวคิดใหม่ ๆ จึงทำให้ช่อง PASULOL โดดเด่นและครองใจคนดูไปได้ไม่ยาก
ความยากในการทำช่อง
ด้วยความเป็นสายแอนิเมชันที่ขั้นตอนการผลิตเยอะ จึงอาจไม่ได้เห็นบ่อยบน YouTube เท่าสายอื่นเท่าไหร่ เพราะใช้ทั้งเวลาและต้นทุนมากมายกว่าจะออกมาเป็นแอนิเมชันหนึ่งเรื่อง
สำหรับช่อง PASULOL เองก็ใช้เวลาปั้นช่องมานานเหมือนกันกว่าจะมาถึงจุดนี้ แต่ด้วยจุดแข็งในการใช้ไอเดียที่แตกต่าง ที่สะท้อนภาพสังคมพร้อมแฝงข้อคิดให้คนดูแบบตลกร้าย จึงทำให้คนชอบและแชร์ต่อกันในวงกว้าง จนตอบโจทย์เป้าที่พสุตั้งไว้ว่า
“ไอเดียมาจากการอยากเสียดสีสังคมที่อยากให้คนรู้สึกหลังดูว่า สิ่งนี้มันเลวมากจนต้องแชร์ไปให้เพื่อนดู”
ต่อยอดกระแสสู่ไอเดียสุดบรรเจิด
แทนที่จะโฟกัสว่าต้องทำยังไงคนดูถึงเพิ่มขึ้น พสุยึดไอเดียกับวิธีการเล่าเรื่องเป็นหลัก เพราะเขามองว่านั่นคือสิ่งที่จะถ่ายทอดความเป็นตัวตนออกมาได้ การมีไอเดียที่ดีมันจะเป็นแกนที่จะคงอยู่ตลอดไป และเป็นคุณค่าหลักของช่องที่ต้องรักษาไว้
ส่วนกระแส พสุมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืนเท่าไหร่เมื่อเทียบกับไอเดีย เพราะเมื่อเวลาผ่านไปคนก็อาจหลงลืม หรือคนยุคใหม่ ๆ ที่ย้อนกลับมาดูก็อาจตามไม่ทันแล้ว จึงต่างจากไอเดียที่บรรเจิดที่มันคงอยู่ตลอดไปไม่ว่าจะผ่านไปนานเท่าไหร่
ช่อง PASULOL จึงให้ความสำคัญในเรื่องของการต่อยอดไอเดียจากกระแสที่เข้าถึงคนที่มากกว่าและช่วยกระตุ้นให้คนเข้ามาดูมากกว่า
ให้คนดูมากกว่าความสนุก
แทนที่จะให้แต่ความสนุก พสุให้ความสำคัญกับแนวคิดที่คนดูจะได้รับ เรื่องเล่าส่วนมากของพสุเลยอิงจากสัจธรรมความจริงของชีวิตที่หลายคนเข้าถึงได้
“เวลาคนเราเจอปัญหาอะไรสักอย่าง มันไม่ได้มีทางแก้เดียวที่ถูกต้องที่สุด แต่ขึ้นอยู่กับการจัดการปัญหาและการรับผลกรรมจากการกระทำของคน ๆ นึงต่างหาก”
นี่คือสิ่งที่พสุบอกกับเราถึงแนวทางในการสร้างสรรค์เรื่องเล่าแต่ละเรื่อง เพื่อสะท้อนข้อคิดออกให้กับคนดู
ทำไมต้องตัวละครจากวรรณคดี
เป็นความชอบของพสุตั้งแต่วัยเรียนจากการที่ได้มีโอกาสทำกิจกรรมเกี่ยวกับการทำละคร และด้วยความที่ทั้งเนื้อเรื่อง รวมถึงคาแรกเตอร์ของวรรณคดีค่อนข้างชัดเจนที่เรียกว่าคนไทยเกือบทุกคนต้องผ่านตา จึงมีไอเดียอยากต่อยอดจากสู่แอนิเมชันในแบบของตัวเอง
การทำงานร่วมกับแบรนด์
ครีเอเตอร์หลายคนอาจเริ่มด้วยการขอให้แบรนด์เข้าใจครีเอเตอร์ก่อน แต่พสุเริ่มแนะนำด้วยการที่ฝั่งครีเอเตอร์ต้องเข้าใจจุดประสงค์ของแบรนด์ โดยให้เหตุผลว่าถ้าครีเอเตอร์รับงานโดยที่ไม่รู้จักแบรนด์ ก็อาจส่งผลเสียต่อช่องในอนาคตได้
จากนั้นในส่วนของขอบเขตงาน ต้องทำข้อตกลงให้ชัดเจนว่าครีเอเตอร์ควรได้มีโอกาสสร้างสรรค์ผลงานตามสไตล์ของตัวเองอย่างแท้จริง เหตุผลเพราะคนดูเป็นของตน และไม่มีใครรู้จักพฤติกรรมคนดูมากไปกว่าเจ้าของช่องอีกแล้ว เพราะฉะนั้นเพื่อให้ผลออกมาดี แบรนด์และครีเอเตอร์จึงต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน
คอนเทนต์และคนดูที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา
ตอนแรกพสุเริ่มทำช่องเพราะความสนุกและความชอบของตัวเองในช่วงเวลานั้น ซึ่งหากย้อนไปดูตอนนี้เขาเองก็อาจไม่สนุกกับคอนเทนต์เหล่านั้นแล้วก็ได้ พสุให้เหตุผลว่าคนเรามีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ส่งผลให้รูปแบบการทำคอนเทนต์เองก็เปลี่ยนไปเช่นกัน
ส่วนตัวพสุคิดว่าตัวคอนเทนต์จะเป็นสิ่งที่สร้างคอมมูนิตี้และกำหนดทิศทางขึ้นมาเอง แม้ครีเอเตอร์จะไม่สามารถควบคุมใครให้เข้ามาดูคอนเทนต์ได้ แต่อย่างน้อยก็สามารถคัดเลือกได้ว่าจะให้คนประเภทไหนเข้ามาดูคอนเทนต์ของเราผ่านสิ่งที่ถ่ายทอดออกมา ที่จะเป็นตัวกำหนดรูปร่างคอมมูนิตี้ จึงสรุปได้ว่าถ้าเราเปลี่ยน คอนเทนต์เปลี่ยน คนดูก็อาจจะเปลี่ยนตามไปด้วย
อย่างที่ช่อง PASULOL ในตอนนี้ที่สร้างคอมมูนิตี้ด้วยการแชร์ประสบการณ์ร่วมแบบเปิดอกกับคนดู ผ่านเรื่องราวนอกเหนือจากคอนเทนต์หลัก เพื่อให้คนดูสบายใจในการมีปฏิสัมพันธ์ และกล้าที่จะเปิดอกกับครีเอเตอร์มากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ คอมมูนิตี้ก็จะมีการสื่อสาร และเกิดการแชร์ประสบการณ์กันอย่างเหนียวแน่นมากยิ่งขึ้นไปอีก