เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการบังคับใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือกฎหมาย PDPA (Personal Data Protection Act.) อย่างเป็นทางการ เพื่อให้ความคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของบุคคลในการแก้ไข เข้าถึง รวมถึงแจ้งลบข้อมูลได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนควรตระหนักถึงสิทธิส่วนบุคคล โดยเฉพาะกับสื่อมวลชน แต่จะมีข้อปฏิบัติอะไรบ้าง ทาง RAiNMaker สรุปมาให้แล้ว!
สื่อ และครีเอเตอร์ / อินฟลูเอนเซอร์
สำหรับสื่อมวลชน การเผยแพร่ข่าวจะได้รับการยกเว้น เพราะการรายงานข่าวถือเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน แต่การเก็บข้อมูล หรือการเผยแพร่ข่าวออกไปนั้นต้องอยู่ในจริยธรรม และจรรยาบรรณของการประกอบวิชาชีพ โดยยังคงต้องรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้รับมา หรือมีการถ่ายตอนขออนุญาตเมื่อต้องสัมภาษณ์แหล่งข่าว แต่ในส่วนของการบริหารธุรกิจ เช่น การมีระบบสมาชิก หรือมีการจัดอีเวนต์ ที่มีเรื่องหารายได้เข้ามาเกี่ยวข้องจะไม่ได้รับข้อยกเว้นในกฎหมายนี้
ส่วนครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ หากมีการนำภาพหรือคลิปไปใช้ในเชิงพาณิชย์ที่เป็นการหารายได้เข้าตัวเอง ต้องระวังการนำภาพ หรือคลิปที่ติดคนอื่นไปใช้ โดยเราแนะนำว่าให้ถ่ายติดคนอื่นน้อยที่สุด หรือหากถ่ายติดมาแล้ว ก็ควรรรักษาสิทธิส่วนบุคคล และความปลอดภัย โดยการเซ็นเซอร์หน้า พร้อมสอบถามความยินยอมก่อนถ่ายทุกครั้ง ซึ่งหากถูกขอให้ลบข้อมูล ภาพ หรือคลิปในภายหลังต้องลบทันที
การถ่ายรูปหรือคลิปเพื่อประโยชน์ส่วนตัว
การถ่ายรูป หรือคลิปเพื่อลงโซเชียลมีเดียส่วนตัว หรือแชร์กันแค่ในหมู่เพื่อน และครอบครัวนั้นสามารถทำได้ หากสิ่งที่ถ่ายไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการค้าเชิงพาณิชย์เพื่อแสวงหาผลกำไร ไม่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หรือสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น
เพราะฉะนั้นถ้ามีภาพหรือคลิปที่ถ่ายติดผู้อื่นมาไม่ต้องทำการเบลอ หรือเซ็นเซอร์ภาพ ยกเว้นคนที่อยู่ในภาพพบเห็นและรู้สึกไม่สบายใจ สามารถติดต่อขอให้ลบในภายหลังได้
การถ่ายรูปหรือคลิปในที่สาธารณะ
การโพสต์รูปหรือคลิป เช่น ภาพรีวิว รวมถึงการไลฟ์ในที่สาธารณะ และมีใบหน้าของคนอื่นลงโซเชียลมีเดียนั้นไม่ถือเป็นความผิด เพราะเป็นการใช้เพื่อลงในสื่อโซเชียลมีเดียส่วนตัวเท่านั้น
แต่หากเป็นการถ่ายที่ใช้ในเชิงพาณิชย์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากคนในภาพจะถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมาย PDPA
การถ่ายภาพในงานเฟสติวัลหรือคอนเสิร์ต
สำหรับงานเฟสติวัล หรือคอนเสิร์ตที่มีการถ่ายภาพข่าว ภาพการจัดแสดง และภาพนิทรรศการ หากเป็นการทำตามจริยธรรมสื่ออย่างมีจรรยาบรรณ ไม่ได้ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ไม่ผิดกฎหมาย PDPA
นอกจากนี้หากเป็นการจัดอีเวนต์เล็ก ๆ ควรแจ้งให้ทราบถึงวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนตั้งแต่แรกว่าจะมีการถ่ายภาพ พร้อมแจ้งให้ทราบว่าจะนำไปใช้อย่างไร รวมถึงขอความยินยอมจากผู้เข้าร่วมงานอีเวนต์ด้วย
แต่ถ้าเป็นงานอีเวนต์ใหญ่นั้น จะเป็นที่รู้กันดีว่าจะมีการถ่ายภาพ และโพสต์ลงโซเชียล ก็ควรมีการแจ้งให้ทราบตามกรณีไป
ยกตัวอย่างเช่น การถ่ายรูปในงานคอนเสิร์ต หรือในงานวิ่งมาราธอน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก จึงเป็นสถานที่ที่ทุกคนรู้อยู่แล้วว่ามีโอกาสที่รูปจะถูกถ่ายติดไปในภาพของคนอื่นได้ ทั้งนี้ การขอความยินยอมก็อาจต้องพิจารณาเป็นกรณีไป เป็นต้น
ภาพจากตากล้องที่นำไปลงเพจ
หลายคนอาจเกิดข้อสงสัยว่า ‘หากช่างถ่ายภาพที่มีช่องทางโซเชียลมีเดียไว้แชร์ผลงานจะสามารถลงภาพคนที่ถูกถ่ายได้หรือไม่?’
คำตอบคือ ‘ได้’ หากมีการทำตามฐานการสัญญาล่วงหน้าไว้แล้ว ว่าจะมีการนำภาพไปเผยแพร่ หรือได้รับการยินยอมจากเจ้าของภาพแล้ว
อย่างไรก็ตามเจ้าของภาพมีสิทธิ์ที่จะขอให้ลบภาพเมื่อไหร่ก็ได้ และช่างภาพต้องเคารพสิทธิ์การตัดสินใจนั้นด้วย
การคุ้มครองความเป็นส่วนตัวคนให้สัมภาษณ์
สำหรับการสัมภาษณ์ ไม่ว่าจะเป็นการสัมภาษณ์ในฐานะสื่อ หรือครีเอเตอร์ในการทำคอนเทนต์ก็ตาม ควรมีการรักษาสิทธิส่วนบุคคลผู้ให้สัมภาษณ์ด้วยการเซ็นเซอร์ใบหน้า หรือใส่กราฟิกคาดดำที่ตา
และแม้จะมีการปกปิดเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ให้สัมภาษณ์ แต่ยังมีผู้อื่นที่รับรู้ถึงตัวตนของผู้ให้สัมภาษณ์ นับว่าไม่ผิดกฎหมาย PDPA เพราะไม่นับว่าเป็นคนส่วนมาก แต่มีแค่คนเฉพาะกลุ่มเท่านั้นที่รู้
การเก็บข้อมูล การสมัครสมาชิก
ไม่ว่าจะเป็นสื่อ หรือครีเอเตอร์คงต้องมีการเก็บข้อมูลกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้ลงทะเบียน สมัครเป็นสมาชิก และบริการ หรือเก็บข้อมูลจากการซื้อสินค้าก็ตาม จะต้องมีการจัดทำ ‘Privacy Policy’ หรือ ‘Cookies Policy’ ดังนี้
- หากจะเก็บข้อมูล ต้องมีการแจ้งให้ทราบก่อนว่าจะมีการเก็บข้อมูลอะไรบ้าง เก็บด้วยวิธีการอะไร และนำไปใช้อย่างไรบ้าง พร้อมจัดทำ Privacy Policy ในการ Unsubscribe ได้
- หลังจากกฎหมาย PDPA ถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการแล้ว ทุกองค์กร รวมถึงเพจ และเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่มีการเก็บข้อมูลของกลุ่มเป้าหมาย ต้องมีการแจ้งรายละเอียดของการเก็บข้อมูลทั้งหมดให้ทราบอีกครั้ง
- หากมีกลุ่มเป้าหมายขอให้ลบข้อมูลส่วนตัวหลังการประกาศใช้กฎหมาย PDPA (ก่อนวันที่ 1 มิถุนายน 2565) ผู้ควบคุมข้อมูลต้องลบให้ เนื่องจากเจ้าของข้อมูลไม่ยินยอม และมีสิทธิ์ที่จะแจ้งขอให้ระงับ แก้ไข รวมถึงแจ้งให้ลบได้
ที่มา: Facebook – PDPC Thailand