จากเมื่อวันที่ 2 ส.ค. ที่ผ่านมา ตัวแทนสื่อและนักกฎหมาย 12 องค์กร ได้รวมตัวกันเพื่อยื่นฟ้องพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ศาลแพ่งมีคำสั่งเพิกถอนข้อกำหนดตาม พรก.ฉุกเฉินมาตรา 9
และได้มีการนัดฟังคำสั่งอีกครั้งในวันนี้ (วันที่ 6 ส.ค.) เวลา 13.30 น. ศาลแพ่งได้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้นายกฯ ถอนคำสั่งการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ข้อกำหนดที่ 29 ที่มีการมอบอำนาจให้กสทช.หยุดการสื่อสารออนไลน์กับผู้ที่โพสต์ข้อความอันทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว
ซึ่งศาลได้พิจารณาและไต่สวนพยานหลักฐานแล้วมีคำสั่งว่า ข้อกำหนดฯ ข้อ 1 ที่ห้ามเผยแพร่ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว มิได้จำกัดเฉพาะข้อความอันเป็นเท็จดังเหตุผลและความจำเป็นตามที่ระบุไว้ในการออกข้อกำหนดดังกล่าว
จึงนับเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพสื่อและประชาชนตามที่บัญญัติไว้บนรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ระบุว่าไว้ว่าต้องมีการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นไปอย่างมีเหตุผลถูกต้องตามข้อเท็จจริงตามกรอบที่รัฐธรรมนูญ
อีกทั้งข้อกำหนดดังกล่าวไม่ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์หรือแนวทางในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่อย่างชัดเจน ว่าจะไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่สื่อทั้ง 12 องค์กรหรือประชาชนเกินกว่าเหตุ ตามมาตรา 9 วรรคสองแห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2558
ส่วนข้อกำหนดฯ ข้อ 2 ที่นายกฯ มอบให้อำนาจกสทช.ในการระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ ไอพี (IP address) ที่มีการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารในอินเทอร์เน็ตที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดฯ ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 จึงเป็นข้อกำหนดขัดต่อกฎหมาย
เนื่องจากอินเทอร์เน็ตมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทุกคนต้องรับข้อมูลข่าวสารผ่านอินเทอร์เน็ต การออกข้อกำหนดดังกล่าวจึงอาจเป็นการปิดกั้นการสื่อสารและการให้ข้อมูลอย่างสุจริตได้ ซึ่งหากข้อกำหนดดังกล่าวมีผลบังคับใช้ต่อไป อาจทำให้เกิดความเสียหายเกินสมควรและอาจยากต่อการแก้ไขในอนาคตได้
สำหรับกรณีมีเหตุจำเป็นที่เห็นสมควรและยุติธรรม ก็สามารถในการนำวิธีชั่วคราวก่อนพิพากษามาใช้เพื่อเป็นการระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดทั้งสองข้อดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 254(2) มาตรา 255(2) (ง) ประกอบมาตรา 267 วรรคหนึ่งและการระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดดังกล่าว ที่ไม่น่าเป็นอุปสรรคแก่การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐหรือแก่ประโยชน์สาธารณะ
เพราะยังมีมาตรการทางกฎหมายอีกหลายฉบับในการดำเนินการเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้
จึงมีคำสั่งห้ามจำเลยดำเนินการบังคับใช้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2558 (ฉบับที่ 29) เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
ที่มา: มติชน