หลายคนที่กำลังเริ่มทำเว็บไซต์อาจจะเคยหรือได้ลองใช้ Facebook Instant Article กันมาบ้างแล้ว ถึงแม้หลายคนจะพรีเซนต์ถึงข้อดีของการใช้งานไว้มากมาย แต่จริง ๆ แล้วเจ้าฟีเจอร์นี้ก็มีความวุ่นวายไม่น้อยเลยเช่นกัน
ซึ่งก่อนที่จะปันใจให้กับเขา อยากให้ลองมาดูข้อดีและข้อเสียของ FBIA จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่ได้ใช้งานมาตั้งแต่เริ่มปล่อยฟีเจอร์นี้ เพื่อใช้ในการตัดสินใจกันครับ
(ในบทความนี้เราจะใช้ตัวย่อ FBIA แทน ผู้เขียนไม่ได้ขี้เกียจ แต่เพื่อประหยัดหมึกในการพิมพ์)
รู้จัก Facebook Instant Article
Facebook Instant Article หรือที่หลายคนมักจะเรียกสั้น ๆ ว่า FBIA เป็นฟีเจอร์บนแอปฯ เฟซบุ๊ก ที่ทำให้ผู้ใช้เข้าไปอ่านบทความที่ต้องการผ่านโทรศัพท์มือถือได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับเว็บไซต์และแฟนเพจที่ใช้งาน FBIA เราจะเห็นไอคอนรูปสายฟ้าเล็ก ๆ อยู่ใกล้กับหัวข้อของบทความแบบภาพด้านบนนั่นเอง เมื่อเรากดคลิกเข้าไปที่ลิงค์ของ FBIA เราจะเข้าถึงบทความได้เร็วมาก
(สำหรับการติดตั้ง FBIA บนเว็บไซต์นั้นเราอาจจะทำขึ้นมาอีกหนึ่งบทความ เนื่องจากเนื้อหาเยอะเกินไป)
ข้อดีของการใช้งาน Facebook Instant Article
1. ผู้ใช้เข้าถึงบทความได้อย่างรวดเร็ว
จุดประสงค์ของการที่ FBIA เกิดมา คือตอบสนองการใช้งานของผู้ใช้ให้ได้เข้าเว็บไซต์ที่คลิกจากเฟซบุ๊กได้รวดเร็วมากขึ้น เรียกว่าบทความที่เราคลิกแทบจะปรากฏขึ้นมาทันที เร็วกว่ากดเข้าเว็บไซต์ทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งที่มาของความเร็วนั้นมาจากสองประการดังนี้
- เรายังอยู่บนแอปฯ เฟซบุ๊ก เทียบกับเว็บไซต์ทั่วไปเราจะต้องสลับเข้าไปบนเว็บเบราซ์เซอร์ อย่าง Google Chrome หรือ Safari ซึ่งตรงนี้มันมีการหน่วงเวลาเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับความเร็วของเครื่อง
- เฟซบุ๊กทำแคชเอาไว้ให้แล้ว เบื้องหลังของ FBIA คือชุดของโค้ดและไฟล์มีเดียที่ทางเฟซบุ๊กเค้าเก็บเอาไว้แล้ว เวลาเราเข้าไปที่บทความบน FBIA ระบบไม่ได้ประมวลผล แต่นำสิ่งที่เก็บเอาไว้แล้วมาแสดงผลในทันที (ซึ่งเว็บไซต์ก็ทำแบบนี้ได้นะ)
แต่ถ้าเรามั่นใจว่าเว็บไซต์เราถูกตั้งค่ามาอย่างดี โหลดเร็วสุด ๆ ความต่างก็จะมีแค่เวลาดีเลย์ในการสลับเปลี่ยนแอปฯ เท่านั้น
2. สามารถใส่ลูกเล่นได้หลากหลาย
FBIA สามารถใส่การแสดงผลที่หลากหลายรูปแบบและทำให้บทความน่าสนใจยิ่งขึ้น แน่นอนว่าการแสดงผลรูปแบบดังกล่าวก็ออกแบบมาเพื่อให้ชมบนโทรศัพท์มือถือได้อย่างสวยงาม ลองดูตัวอย่างจากด้านล่างได้เลย
อย่างไรแล้วการแสดงผลเหล่านี้จะต้องมีสกิลการเขียนโค้ดเล็กน้อย เนื่องจากไม่สามารถใส่ลูกเล่นได้เองบน CMS อย่างเวิร์ดเพรส ทั้งหมดนี้ต้องเข้าไปใส่โค้ดในหลังบ้านของแฟนเพจเอาเองจ้า
สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : https://developers.facebook.com
3. ประหยัด Bandwidth โคตร ๆ
อย่างที่บอกไว้ในข้อแรกว่าเฟซบุ๊กนำข้อความและมีเดียต่าง ๆ มาทำแคชเก็บเอาไว้ และเมื่อผู้ใช้คลิกลิงค์ของ FBIA เราจะยังอยู่บนแอปฯ ของเฟซบุ๊ก ไม่ได้ไปแตะต้องกับเว็บจริงแต่อย่างใด ทำให้เว็บไซต์เราไม่เสีย Bandwidth และต่อให้เว็บเราล่มอยู่ก็สามารถแสดงผลบน FBIA ได้ตามปกติ
ข้อเสียของการใช้งาน Facebook Instant Article
1. ผู้ใช้จำไม่ได้ว่าเมื่อกี้เข้าเว็บไซต์อะไร
เนื่องจากบน FBIA นั้น ไม่ได้ให้เจ้าของเว็บไซต์ปรับแต่งดีไซน์ได้มากนัก พื้นฐานจะอยู่ในกรอบของ FBIA ดังนั้นหน้าตาเว็บไซต์ที่เราเห็นจะคล้ายกันไปหมด คอนเท้นบน FBIA จะไม่ได้มีเอกลักษณ์มากนักถ้าเทียบกับโมบายเว็บที่สามารถใส่เอกลักษณ์ของหน้าเว็บได้มากกว่า
สิ่งนี้เองทำให้ผู้ใช้เข้าไปอ่านคอนเท้นแล้วออกมา กลับจำไม่ได้ว่าคอนเท้นที่อ่านเมื่อสักครู่เป็นเว็บอะไร เพราะโครงจะคล้ายกันไปหมด โดยเฉพาะเว็บแนวคลิกเบทที่นิยมใช้ FBIA เพราะเน้นทราฟฟิกให้คนคลิกเข้าเว็บ
2. แสดงโฆษณาไม่เป็นระเบียบ
ทราบไหมครับ ว่าบน FBIA ก็สามารถแปะโค้ดเพื่อแสดงโฆษณาได้เช่นกันเหมือนกับเว็บไซต์ทั่วไปนั่นแหละครับ แต่การแสดงโฆษณาบน FBIA เค้าจะสุ่มโฆษณามาแปะระหว่างคอนเท้นเป็นช่วง ๆ เราไม่สามารถกำหนดตำแหน่งเองได้แบบที่บนเว็บไซต์ทำได้
ซึ่งการอ่านคอนเท้นโดยที่มีโฆษณาคั่นและหน้าตาไม่เป็นระเบียบนั้น ทำให้เสียอารมณ์ในการอ่านไปไม่น้อยเลยเช่นกัน โดยเฉพาะการแสดงผลโฆษณาที่เป็นวิดีโอที่เล่นอัตโนมัติ นอกจากน่ารำคาญแล้วยังเปลือง 4G ไปอี๊กกกกก
3. ผู้เขียนบทความต้องใช้งานอย่างถูกต้อง
อีกหนึ่งปัญหาจุกจิกกวนใจสำหรับเว็บไซต์ที่มีผู้เขียนหลายคน ยกตัวอย่างเว็บข่าวที่ทำด้วยเวิร์ดเพรส เจ้าตัว FBIA นั้นจะนำโค้ดจากบทความของเราไปแปลงเป็นภาษาสำหรับแสดงผลอีกทีหนึ่ง
แต่การเขียนบทความบนเวิร์ดเพรสนั้นอาจจะมีการผิดพลาดที่ทำให้โค้ดจากบทความของเราไม่เป็นมาตรฐาน เช่น การใส่ Heading 2 ครอบรูปภาพ ในส่วนนี้เจ้า FBIA จะไม่สามารถดึงมาแสดงผลได้ ก็จะกลายเป็นบทความที่ไม่มีภาพแสดงบน FBIA ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งสำหรับเว็บไซต์ที่ใช้เวิร์ดเพรส
รวมไปถึงการฝังลิงค์ภายนอกต่าง ๆ อย่าง วิดีโอจากยูทูป, เฟซบุ๊กโพสต์ หรือแผนที่จากกูเกิล ถ้าทำผิดก็จะไม่แสงขึ้นมาเช่นกัน ดังนั้นผู้เขียนทุกคนต้องใช้งานในส่วนนี้ให้ถูกต้องด้วย
4. เมื่อแก้ไขบทความต้องทำซ้ำอีกครั้ง
ถ้าใครใช้ FBIA บนระบบเวิร์ดเพรสสามารถข้ามข้อนี้ไปได้ เพราะเมื่อเราอัปเดทบทความ โค้ดของ FBIA ก็จะอัปเดทตามให้อัตโนมัติ แต่ถ้าเราเขียนสดเอง ไม่ได้มีระบบอัตโนมัติแบบอย่างที่ CMS ทำได้ ทุกครั้งที่เราเขียนบทความใหม่หรือบทความมีการอัปเดทเราต้องไปอัปเดทที่หลังบ้านเฟซบุ๊กอีกครั้งด้วย ซึ่งทำให้งานเบิ้ลไปอีกด้วย
สุดท้ายแล้วการตัดสินใจเลือกใช้งานก็ขึ้นอยู่กับความตอบโจทย์ของเว็บไซต์ และยอมรับถึงข้อเสียต่าง ๆ ได้ (เหมือนเลือกแฟนเลย)
ถึงอย่างไรแล้วก็สามารถทดลองใช้งานกันก่อนก็พอได้ เพราะ FBIA เป็นฟีเจอร์ที่เราสามารถจะเปิด/ปิดใช้งานตอนไหนเมื่อไหร่ก็ได้ โดยที่ไม่มีผลกระทบกับคอนเท้นบนเว็บหลัก ถ้าชอบก็ไปต่อ ถ้าใช้แล้วติดขัดก็ลองตัดสินใจดูอีกที ติดขัดอะไรก็หลังไมค์มาคุยกันได้เลย