สำหรับท่านที่ทำคอนเทนต์ลงบนแพลตฟอร์มต่างๆ นานวันเข้าก็จะมีผู้ติดตามจำนวนหนึ่ง ซึ่งมักจะมาพร้อมกับคำถามของเอเจนซี่ที่ทัก Inbox ของคุณมาว่า “สวัสดีค่ะ รบกวนขอ Rate Card ของเพจหน่อยค่ะ”
Rate Card คืออะไร?
Rate Card คือเอกสารที่มีราคาและคำอธิบายสำหรับตัวเลือกการลงโฆษณารูปแบบต่างๆ ผ่านทางสื่อ หรือกล่าวอย่างง่ายๆ คือ ค่าโฆษณาที่คุณตั้งขึ้นมานั่นเอง
โดยทั่วไปแล้วเมื่อแบรนด์หรือเอเจนซี่ต้องการมาลงโฆษณากับสื่อของคุณ เค้าก็จะหาช่องทางในการติดต่อเพื่อที่จะได้ทราบราคาการลงโฆษณา เพื่อไปทำแผนการตลาดต่อไป (ซึ่งเค้าก็อาจจะจ้างหรือไม่จ้างคุณก็ได้นะ)
เมื่อมีใครสักคนทักมาขอ Rate Card กับสื่อของคุณ ก็ควรจะเตรียมพร้อมส่งให้กับเค้า หากคุณต้องการรายได้จากการโฆษณาในรูปแบบต่างๆ
สิ่งที่ควรมีใน Rate Card
ต่อไปนี้คือข้อมูลเบื้องต้นที่ควรมีใน Rate Card เพื่อสื่อสารให้ผู้ที่ต้องการลงโฆษณาเข้าใจให้มากที่สุด
ลิสต์รายการรูปแบบการลงโฆษณาทั้งหมด พร้อมราคาแต่ละรายการ : เป็นส่วนสำคัญที่สุดของเอกสาร ที่จะทำให้ลูกค้าทราบว่าสื่อของเรามีการขายโฆษณาในรูปแบบไหนบ้าง พร้อมกับราคาที่เราพึงพอใจกับงานแต่ละรูปแบบ
ตัวเลขสถิติทั่วไปของการโพสต์แบบ Organic : ตัวเลข average ของการโพสต์แบบ organic สำหรับให้ลูกค้าทราบสิ่งที่จะได้ คล้ายกับเป็นการการันตี
ตัวอย่างคอนเทนต์สไตล์เรา : ตัวอย่างคอนเทนต์ในรูปแบบที่เราทำหรือเราถนัดให้ลูกค้าทราบ เพื่อที่จะคาดหวังในสิ่งที่เราเป็นหรือสิ่งที่เราทำให้ได้
ตัวอย่างของโพสต์ยอดนิยม : ตัวอย่างโพสต์ที่ได้รับการตอบรับที่ดีบนสื่อของเรา เป็นการแสดงตัวเลขสวยๆ ของโพสต์ที่จะทำให้ลูกค้าตัดสินใจได้ง่ายยิ่งขึ้น
Demographic เบื้องต้นของผู้ติดตาม : โดยทั่วไปแล้วทางเอเจนซี่มักจะแพลนกลุ่มเป้าหมายในการทำแคมเปญต่างๆ ให้เหมาะสมกับสินค้าหรือบริการของลูกค้า ข้อมูลตรงนี้จะทำให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่าสื่อของเรามีผู้ติดตามเป็นใคร ตรงกับที่แบรนด์ต้องการหรือไม่
ความสำเร็จจาก SEO : หากคุณมีเว็บไซต์ ตรงนี้คือความได้เปรียบอย่างมาก แนะนำให้ capture keywords ที่ติดอันดับหน้าแรกบน Google เพื่อให้ลูกค้าได้เห็นมูลค่าของงานมากยิ่งขึ้น
เงื่อนไขในการรับงาน : สิ่งที่เราทำให้ได้/ไม่ได้ เช่น การพูดถึงข้อดีข้อเสียของสินค้า, การไม่โพสต์แบรนด์แอลกอฮอล์, การไม่พูดถึงการเมือง เป็นต้น
ลูกค้าที่เคยทำงานด้วย : ส่วนของโลโก้ลูกค้าที่เราเคยร่วมงานด้วย โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ เพื่อเป็นการการันตีถึงความเป็นมืออาชีพของเราเองที่เคยผ่านงานกับแบรนด์ต่างๆ มาก่อน
เงื่อนไขในการ Boost Post : โดยทั่วไปแล้วเอเจนซี่จะมีตัวเลข KPI ที่ยืนยันให้กับแบรนด์ในการลงโฆษณา หลายครั้งจึงต้องมีการตั้งงบสำหรับ Boost Post เพิ่มเติมเพื่อให้ได้ตามเป้าหมาย การที่เอเจนซี่จะเข้ามา Boost Post ได้ตอนนี้มีอยู่สองวิธี คือการเข้ามาเป็น advertiser ของเพจ ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กันมากในตอนนี้ และการทำ Branded Content แท็กเพจแบรนด์เพื่อให้เข้ามา Boost Post ได้ (อ่านเพิ่ม รู้จักกับ Facebook Branded Content) การให้ลูกค้าเข้ามาที่หลังบ้านอาจมีการคิดค่าใช้จ่าย เพื่อที่จะไม่ใช่ให้ใครก็ได้เข้ามา เพราะจะเห็นข้อมูลตัวเลขบนเพจของเราทั้งหมด อาจจะคิดเป็นสัดส่วน
ตัวช่วยสำหรับความกังวลเรื่องการออกแบบ
สำหรับการทำงานด้วยตัวคนเดียวและไม่ได้มีความสามารถทางด้านกราฟิกในการทำเอกสารให้สวยงาม แนะนำให้ลองใช้เครื่องมือการทำเอกสารออนไลน์ที่มีดีไซน์เทมเพลตเบื้องต้นให้เราเลือกใช้แบบสำเร็จรูป จากนั้นค่อยมาปรับให้เข้ากับ CI ของสื่อเราก็ได้
แต่แนะนำว่าให้เราทำข้อมูลให้ครบถ้วนก่อน คิดเสมอว่าการสื่อสารให้ลูกค้าเข้าใจเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด
เครื่องมือที่เป็นตัวช่วยได้แก่ Canva, Adobe Spark, DesignLab Photo Editor อ่านเพิ่มได้จากบทความเพื่อนบ้านของเรา : 9 APPLICATION ทำกราฟิกบนมือถือได้อย่างง่ายและฟรี (ผู้เขียนแนะนำ Canva ครับ แจ่มมาก)
ตั้งราคาอย่างไรดี?
แน่นอนสำหรับหลายท่านที่ทำคอนเทนต์เล่นๆ เป็นงานอดิเรกหลังเลิกงาน ไม่ได้ตั้งใจสร้างขึ้นมาเพื่อหารายได้ มักจะเขินอายในการตั้งราคาเพื่อรับงาน คิดออกมาก็กลัวจะถูกเกินไปจนไม่คุ้มเหนื่อย คิดแพงก็กลัวว่าเค้าจะไม่จ้างอีก อันนี้ก็ถือว่าเป็นปัญหาระดับหนึ่ง เพราะในแต่ละวงการไม่ได้มีค่าโฆษณากลางให้เปรียบเทียบ หรือมีการตั้งราคาที่เป็นมาตรฐานทั่วไป
เรามีคำแนะนำเบื้องต้นดังนี้
- ถามคนใกล้ตัวในแวดวงเดียวกัน หากคุณมีเพื่อนในวงการเดียวกัน เช่น คุณเป็น food blogger แล้วคุณมีเพื่อนสายนี้ แนะนำให้ลองขอ Rate Card จากเพื่อนผู้นั้น เพื่อเป็นแนวทางในการคิดราคาของคุณเอง แต่ต้องเป็นเพื่อนที่สนิทสนมกันแล้ว เพราะเรื่องนี้จะมีเรื่องเงินมาเกี่ยวข้อง บางครั้ง blogger ไม่ค่อยชอบให้คนอื่นรู้ราคาตัวเอง
- คิดราคาจากค่า production + ค่าโฆษณา การทำโฆษณาโดยผ่านคอนเทนต์ให้ลองคิดค่าโฆษณาเป็นการทำคอนเทนต์ เพราะเราจะหาราคาตลาดได้ค่อนข้างง่าย หรือบางคนอาจทำสิ่งนั้นเป็นอาชีพอยู่แล้ว เช่น ราคาการวาดภาพ 10 ใบ, การถ่ายคลิปวิดีโอ 3 นาที, การเขียนบทความบนเว็บไซต์ 1 บทความ แล้วเพิ่มค่าโฆษณาที่คิดว่าเหมาะสมสำหรับสิ่งที่แบรนด์จะได้รับ
- ถามคนที่ต้องการจ้างคุณ อาจมีบางครั้งที่งานจากแบรนด์เป็นงานเฉพาะทางที่นอกเหนือจากประเภทคอนเทนต์จาก Rate Card ที่เราเคยตั้งไว้ ในกรณีนี้คุณต้องคิดราคาขึ้นมาใหม่แบบเฉพาะกิจ คุณสามารถปรึกษาคนที่ต้องการจ้างคุณได้เช่นกัน แต่คุณต้องเก่งเรื่องการต่อรองระดับหนึ่ง
- ต้องเป็นราคาที่คุณพึงพอใจ ข้อนี้สำคัญที่สุด อย่างไรแล้วราคาที่คุณตั้งขึ้นมาต้องไม่ขาดทุน ทั้งในเรื่องของต้นทุนที่เป็น Man Hours ของคุณ, ต้นทุน material และต้นทุนค่าเสียโอกาสอื่นๆ คิดราคาออกมาต้องเป็นราคาที่คุณรู้สึกดีใจที่มีคนมาจ้าง ไม่ใช่ราคาที่ทำให้คุณรู้สึกไม่ดีที่มีงานเข้า
วิธีการส่ง Rate Card ที่เราอยากแนะนำ
โดยทั่วไปแล้ว Rate Card ที่ทำออกมาจะอยู่ในรูปแบบ .pdf เพื่อที่ผู้รับจะสามารถเปิดได้จากทุก platform และหน้าตาจะไม่ผิดเพี้ยนจากไฟล์ต้นฉบับแน่นอน ซึ่งไฟล์ Rate Card มักจะถูกส่งผ่านทาง Message ของ platform ต่างๆ และ attach file ผ่านอีเมล
การส่งไฟล์ .pdf แบบดื้อๆ มันก็สะดวกดี แต่ก็มีข้อเสียอยู่บ้าง เมื่อเวลาผ่านไปลูกค้าจะไม่ทราบการอัปเดตข้อมูลที่สำคัญต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องราคา และทำให้พื้นที่อีเมลเราเต็มอย่างรวดเร็ว ในกรณีที่ไฟล์ Rate Card มีขนาดหลาย MB และต้องส่งหลายครั้ง แนะนำให้ลองทำตามนี้ครับ
แชร์ลิงก์ผ่าน Google Drive
อัปโหลดไฟล์ Rate Card ของเราขึ้น Google Drive หรืออาจใช้บริการ Cloud Service เจ้าไหนก็ได้ ที่มีบริการแชร์ลิงก์ที่ดี ข้อดีของ Google Drive คือระบบจะมีฟีเจอร์ version history หรือการอัปเดตเวอร์ชั่นต่างๆ ของไฟล์ได้
เมื่อมีการอัปเดตข้อมูล เราเพิ่มไฟล์เวอร์ชั่นใหม่ขึ้นไป ลูกค้าจะพบข้อมูลที่อัปเดตทุกครั้งโดยที่ใช้ลิงก์เดิม ทำให้เราไม่ต้องกลัวว่าลูกค้าจะเห็นข้อมูลชุดเก่าหลังจากกดลิงก์
แชร์ลิงก์จากเว็บไซต์ของเรา
ตัวอย่าง : https://www.rainmaker.in.th/{ratecard-file}.pdf
หากใครที่มีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง และต้องการ public ไฟล์ Rate Card สู่สาธารณะชน ประมาณว่า เอาให้ลูกค้า Search Google ก็เจอราคาของเราได้เลย ก็สามารถอัปโหลดไฟล์ .pdf ไว้ที่หลังบ้านได้ หากคุณใช้ WordPress อยู่แล้ว ก็อัปโหลดไฟล์ไว้ที่ Media จากนั้นก็ใช้ลิงก์ดังกล่าวส่งให้ลูกค้าได้
ทำให้ลูกค้าเห็นข้อมูลที่อัปเดตล่าสุดทุกครั้งที่เปิดไฟล์ผ่านหน้าเว็บไซต์ของเรา
แอบบอกว่าในทางปฏิบัติแล้ว แบรนด์หรือเอเจนซี่มักจะแจ้งขอไฟล์ใหม่เป็นระยะ เพื่ออัปเดตราคาในลิสต์ของ influencer แต่การส่งแบบลิงก์ก็ช่วยแก้ปัญหาที่ลูกค้าเปิดอีเมลมาพบข้อมูลเก่าแล้วถูกนำไปใช้ได้ดีครับ