สรุป 6 ประเด็นน่าสนใจจากงาน ‘DAAT DAY 2021’ ที่แบรนด์, นักการตลาด, นักโฆษณาควรรู้!

สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ Digital Advertising Association (Thailand) (DAAT) ชวนเหล่านักการตลาด นักโฆษณา และคนทำคอนเทนต์มาร่วมหาความรู้เอาตัวรอดในยุคโควิดกับงาน DAAT DAY 2021 ที่จัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 4 ก.ย.

ปีนี้มาในธีม “Winning Tomorrow Together” ที่สนับสนุนให้คนทำงานร่วมกันในรูปแบบ New Normal เพื่อผ่านพ้นและชนะวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

ซึ่งงานวันนี้ก็ได้จัดกันแบบจุใจ ได้รับความรู้ดี ๆ จากผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ถึง 12 หัวข้อ ด้วยกัน วันนี้ RAiNMaker เลยสรุปบางประเด็นที่น่าสนใจภายในงานมาฝากกันค่ะ จะมีประเด็นอะไรบ้าง ไปดูกันเลย!

Food Delivery Insight During COVID-19

ภาพรวมของวงการ Food Delivery ในช่วงครึ่งปีแรกที่มีการเติบโตขึ้นกว่า 100% และนับเป็นอุตสาหกรรมที่โชคดีในช่วงโควิดแบบนี้ เนื่องจากคนอยู่บ้านและไม่สามารถออกไปกินข้าวข้างนอกได้นั่นเอง

พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปแล้ว อาจไม่หวนคืน

จากการสังเกตพฤติกรรมของผู้บริโภคพบว่าถึงแม้คนจะอยู่บ้าน แต่ก็ยังคงมีวัฒนธรรมการสั่งอาหารเพื่อเฉลิมฉลองในวันเทศกาลหรือวันพิเศษ อย่างเช่น เทศกาลวันแม่ เป็นต้น

คุณยอดกล่าวว่าอีคอมเมิร์ซเป็นสิ่งที่เปลี่ยนพฤติกรรมคน และเมื่อพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงแล้วก็ยากที่จะกลับไปเป็นแบบเดิมได้ ยิ่งโควิดเข้ามาช่วยเร่งให้พฤติกรรมของผู้บริโภคให้เปลี่ยนเร็วขึ้น การที่บริการเดลิเวอรีเข้ามาช่วยเพิ่มความสะดวกและประหยัดเวลา ทำให้คนชินกับความสะดวกสบายและยากที่จะกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมแม้โควิดจะหมดไปก็ตาม

ร้านอาหารที่คนส่วนใหญ่เลือกสั่ง

ในแง่ของร้านอาหาร แน่นอนว่าทุกร้านต้องปรับตัวใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น และควรออกเมนูที่เหมาะกับเดลิเวอรีมากขึ้น ส่วนมากอาหารประเภทจานเดียวจะมีคนสั่งมากกว่าอาหารประเภท Fine Dining หรือบุฟเฟ่ต์

คุณยอดได้เผย Top 5 ประเภทร้านอาหารที่ได้รับความนิยม ซึ่งอันดับหนึ่งคือ ร้านกาแฟ ตามมาด้วยร้านอาหารจานเดียว ร้านอาหารตามสั่ง ร้านก๋วยเตี๋ยว และร้านอาหารไทย

ศึกแห่ง Food Delivery จะไปจบลงที่ไหน

เป็นหนึ่งในตลาดที่โตเร็ว และมีการแข่งขันสูงสุด แต่ในอนาคตอาจมีคนออกจากตลาดไปบ้าง และเหลืออยู่ไม่กี่รายในระยะยาว เมื่อการแข่งขันน้อยลง ผลประโยชน์ก็จะเพิ่มมากขึ้น แต่ที่สำคัญคือเราต้องรู้จุดแข็งตัวเอง และรู้จักคู่แข่ง

คำแนะนำสำหรับร้านอาหารที่กำลังปรับตัว

ตอนนี้ร้านเปิดใหม่ก็เยอะ เพราะการขายออนไลน์ลดกระบวนการขั้นตอนลง คู่แข่งเลยเยอะ สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงคือ

  • ศึกษาตลาด และทำให้แตกต่าง
  • ศึกษาคู่แข่ง
  • ทำโปรโมชัน เพิ่มแรงดึงดูดให้ร้าน
  • ใช้การโฆษณาเพื่อเพิ่มยอดขาย
  • คุณภาพและความคุ้มค่าของอาหาร

Automate the marketing automation

รู้ใจผู้บริโภคด้วย First Party Data

Marketing Automation เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นตัวช่วยธุรกิจ ที่จะเข้ามาช่วยในการเก็บข้อมูลที่มีปริมาณเยอะ และมีการเคลื่อนไหวเร็ว ปัจจุบัน First Party Data นับเป็นข้อมูลที่เปรียบเหมือนคลังทรัพย์สินของแบรนด์และนักการตลาดควรมี เนื่องจากเป็นข้อมูลที่เก็บเองโดยตรงจากผู้บริโภค ทำให้เข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคมากขึ้นไม่ว่าจะเวลาที่ผู้บริโภคค้นหาสินค้า เข้าไปดูรายละเอียด หรือกดสินค้าใส่ตะกร้าได้

ช่วยการคัดกรองการเข้าถึง และช่วยวิเคราะห์ว่าเป็น Hot Lead ลูกค้าที่มีความต้องการชัดเจน พร้อมซื้อสินค้า หรือ Cold Lead ลูกค้าที่ยังไม่ค่อยรู้จักแบรนด์ และยังไม่พร้อมซื้อ เพื่อจะได้เลือกใช้ข้อมูลได้อย่างเหมาะสม ในการส่งสารตรงถึงผู้บริโภคได้ถูกบริบทและถูกเวลา สามารถใช้ได้กับทั้งธุรกิจแบบ B2B และ B2C ซึ่งเหมาะกับการนำมาใช้กับอีคอมเมิร์ซค่อนข้างมาก

ก้าวแรกยากเสมอ แต่ลงสนามก่อนมีชัยไปกว่าครึ่ง

การนำ Marketing Automation มาใช้มันมีทั้งความยากและง่าย แต่ความได้เปรียบคือ คนที่เริ่มก่อน เจอปัญหาก่อน ก็จะสามารถแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ก่อน ความยากง่ายจริง ๆ ขึ้นกับปริมาณข้อมูลมากกว่า แต่ผลลัพธ์ที่ได้คุ้มค่าเพราะสามารถนำข้อมูลไปใช้พัฒนาเพื่อพัฒนา User Experience ให้ดีขึ้น อนาคตการใช้งาน Cookie บนเบราว์เซอร์จะน้อยลง และการใช้ Automation จะเป็นทางออก ที่ช่วยลดต้นทุน มีความยืดหยุ่นมากกว่า

ในการเปลี่ยนแปลงครั้งแรกจะยากที่สุด แต่ให้เริ่มจากให้นักการตลาดวางแผนกลยุทธ์การตลาด และใช้หลักคิดตามกลยุทธ์นั้นมามาทำเป็น Automate การเก็บข้อมูลจาก Third Party มาจากการดึงคนจากข้างนอกเข้ามาในเว็บ เมื่อเข้ามาแล้วผู้บริโภคอาจซื้อก็จริง แต่เราจะรู้จักลูกค้าได้อย่างไร ดึงดูดให้เขากลับมาซื้อซ้ำอย่างไร นี่จึงเป็นสาเหตุที่ควรเก็บข้อมูล First Data และนำมาทำ Marketing Automation ของตัวเอง เพื่อให้เราเข้าใจผู้บริโภคเอง โดยที่ไม่ต้องไปใช้ข้อมูลจากแหล่งอื่น ทำให้การทำการตลาดมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเป็นการขึ้นตรงกับลูกค้า ได้รู้จักลูกค้าเองผ่านข้อมูลที่เก็บเอง

แท้จริงแล้ว Marketing Automation ทำเพื่อผู้บริโภคมากกว่าแบรนด์

นอกจากเอาเครื่องมือมาใช้ ก็ต้องวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้กลยุทธ์เติบโตอย่างยั่งยืน อย่างที่บอกว่าก้าวแรกมักยากเสมอแต่นักการตลาดควรโน้มน้าวผู้บริหารให้หันมาลองใช้ Marketing Automation เพราะในอนาคตทุกธุรกิจและแบรนด์จำเป็นต้องเรียนรู้และเข้าใจผู้บริโภคด้วยตัวเอง ผ่านการเก็บข้อมูลด้วยตัวเอง และวางกลยุทธ์วิเคราะห์ โดยนำเครื่องมือและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงานให้ดีที่สุด แล้วผลลัพธ์ที่ได้คือความพึงพอใจของผู้บริโภคที่ทำให้เราสามารถตอบสนองสิ่งที่เขาต้องการได้อย่างตรงจุดที่สุด เพราะฉะนั้นแท้จริงแล้ว “Marketing Automation ไม่ได้ทำเพื่อเรา แต่ทำเพื่อผู้บริโภค”

The mutation of storytelling

Storytelling ที่เป็นมากกว่าการเล่าเรื่อง

Storytelling นับเป็นเรื่องที่มีมานาน และถือเป็นการสร้างประสบการณ์ให้คนดื่มด่ำ พร้อมนำตัวเองเข้าไปในเรื่อง คนที่เล่าควรใช้ Space และ Time ในการเล่าเรื่องออกไปให้ได้ประสิทธิภาพที่สุด

การสร้างคอนเทนต์เพื่อสร้างการสื่อสารจากแบรนด์ไปถึงคน ที่ต้องนำแบรนด์เข้ากับเทรนด์เข้าใจความชอบผู้คน และทำให้คนชอบในสิ่งที่เล่าให้ได้ ซึ่งรูปแบบการทำ Storytelling ไม่มีข้อจำกัด เพียงต้องคำนึงถึงความเป็นหนึ่งเดียวกัน เชื่อมโยงกับแบรนด์ และตอบสนองความสนใจกลุ่มเป้าหมาย มอบประสบการณ์ใหม่ ๆ ผ่านการใช้เครื่องมือ ข้อมูลต่าง ๆ ได้ สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงในการสื่อสารคือ

  • What to say: จะเล่าเรื่องแบรนด์ออกไปอย่างไร
  • How to say: การสร้าง Campaign Journey เพื่อที่จะได้เลือกใช้การสื่อสารในแต่ละขั้นตอนในการทำแคมเปญมีความเชื่อมโยงกันทั้งหมด เป็นความกลมกลืนแต่ไม่จำเจ

การเล่าเรื่องอาจตั้งต้นจากความเข้าใจอินไซต์ ซึ่งปัจจุบันอินไซต์ของกลุ่มเป้าหมายแตกต่างกันออกไปในแต่ละแพลตฟอร์ม ตัวตนของคนเองก็ต่างกันแต่ละแพลตฟอร์ม เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจอินไซต์แต่ละโมเมนต์ เพื่อให้แบรนด์เข้าใจผู้บริโภคได้มากขึ้นไปอีก

เมื่อผู้บริโภคเปลี่ยน การเล่าเรื่องต้องเปลี่ยนตาม

การเล่าเรื่องก็เปลี่ยนไปตามพฤติกรรมของคน โดยเฉพาะช่วงโควิด ทำให้วิธีการสื่อสารหรือการเล่าเรื่องต้องเปลี่ยนตามไปด้วย จากเดิมที่เคยตั้งต้นวิธีการเล่าเรื่องจากช่องทางสื่อ ปัจจุบันต้องตั้งต้นในจุดที่ผู้บริโภคอยู่

เช่น ผู้บริโภคอยู่บนอินสตาแกรมมากขึ้น เราก็ต้องสร้าง Storytelling ผ่านอินสตาแกรมมากขึ้น ใส่ความคิดสร้างสรรค์ที่เหมาะกับแพลตฟอร์มนั้น ๆ

Using Creative Communication to Win the Next Normal World

คำนิยามของโลกใหม่ คือ พฤติกรรมมนุษย์ที่เปลี่ยนไป โดยแบ่งได้เป็น 3 เทรนด์ดังนี้

3 เทรนด์จากการใช้ชีวิตในโลกใหม่

  • ประหยัดเงิน

1 ใน 4 พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือการประหยัดเงิน จากการตกหลุมรักสิ่งหนึ่งผ่านการมองเห็นครั้งแรก แล้วซื้อเลย สู่ยุคที่ต้องค้นหาข้อมูลและคิดไตร่ตรองก่อนใช้จ่ายมากขึ้น

  • การชอปปิง

อัตราการเติบโตของอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว (จากปี 2019-2020) จากผลกระทบมารตรการล็อกดาวน์ ทำให้ต้องชอปปิงผ่านออนไลน์มากขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการชอปปิงค่อนข้างมาก

ปัจจุบันกว่า 40% ของผู้บริโภคไม่ได้เป็น Brand Loyalty แล้ว เมื่อก่อนผู้บริโภคจะมองว่าแบรนด์ที่มีความน่าเชื่อถือ และความไว้ใจ จะแลกมาด้วยราคาที่ยอมจ่ายได้

แต่ปัจจุบันคนคิดว่าความเชื่อของผู้บริโภคไม่ได้อยู่ที่แบรนด์ แต่ย้ายมาอยู่ที่กลุ่มคน ไม่ว่าจะเป็นเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ กลุ่มเพื่อน หรือคอมมูนิตี้ที่ทำให้เราเชื่อ

หรือสังเกตง่าย ๆ เวลาจะซื้อของคนมักค้นหารีวิว กลายเป็นเชื่อคนอื่นแทนแบรนด์มากขึ้น และพบตัวเลือกอื่นที่เหมาะสมกับตัวเองมากกว่า

  • เทรนด์ Home Nesting

คนเริ่มคิดว่าการอยู่บ้านดี อยากแต่งบ้าน ทำกิจกรรมอะไรหลายอย่างได้ที่บ้าน เช่น Home Cafe 32% WFH 28% Home Decoration 26% หาการลงทุนแบบใหม่ และเป็นเทรนด์ที่หลายคนยังทำต่อไปอีกยาว ๆ

3 เทคนิคพัฒนา Creative Communication

การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ในวิธีใหม่ ๆ จะสามารถช่วยแก้ปัญหา และทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น โดยมี 3 เทคนิคหลักดังนี้

  • Community

การรวมกลุ่มเป็นชุมชน เริ่มจากคนที่สนใจในสิ่งเดียวกัน คนที่มีความรู้หรือมีชื่อเสียงในด้านนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็น KOL อินฟลูเอนเซอร์ ก็จะมีบทบาทในการโน้มน้าวและเป็นผู้นำที่มีอิทธิพลต่อผู้บริโภค จนเกิดเป็นคอมมูนิตี้ในการสร้างสรรค์การสื่อสารได้ เช่น กลุ่มในเฟซบุ๊ก

จากการรับสารแค่จากทางแบรนด์ ตอนนี้การเปิดรับสารจากกลุ่มหรือคอมมูนิตี้จะมีอิทธิพลในการโน้มน้าวมากขึ้น แบรนด์จึงควรต้องเข้าไปสำรวจตลาดว่าคนพูดถึงอะไรกันอยู่ หรือสร้างกลุ่มขึ้นมาเองเป็นช่องทางในการสร้างคอมมูนิตี้เพื่อการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์

  • Collaborative

การจับมือร่วมงานกับคนอื่นที่มีความสามารถอื่นที่เราไม่มี เพื่อนำมาต่อยอดเป็นสิ่งใหม่ เป็นการช่วยขยายฐานลูกค้าและประหยัดต้นทุนมากขึ้นอีกด้วย จำไว้ว่า 1+1 ไม่เท่ากับ 2 แต่เท่ากับ 3 เพราะเป็นการนำจุดแข็งของเราและของเขามาสร้างสิ่งใหม่นั่นเอง

  • Inclusive

การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง คือ การสื่อสารให้ครอบคลุมไปถึงผู้บริโภคทุกคน ลองโฟกัสกลุ่มคนที่ไม่ได้ทำหรือซื้ออะไรตามเทรนด์ มองมุมกลับและนำเสนอสิ่งที่คนไม่คาดคิดถึงบ้าง

เช่น ในกลุ่มจัดโต๊ะมีแต่คนแชร์โต๊ะที่จัดแล้ว แต่ให้ลองมองอีกกลุ่มถามว่าใครไม่ได้จัดโต๊ะบ้าง เพื่อให้เขามีส่วนร่วม นับเป็นกลยุทธ์ที่ดีในการเก็บไอเดียจากอีกมุม ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าทุกคนสำคัญ

How to overcome data privacy with CRM

Third Party Data อย่างเดียวอาจไม่เวิร์กอีกต่อไป

ตอนนี้กูเกิลและแอปเปิลได้ประกาศว่าจะไม่สามารถใช้ Third Party Cookie ได้ พร้อมมีแจ้งเตือนหากแอปมีการเก็บข้อมูล (App Transparency) จนอาจส่งผลกระทบของการเก็บข้อมูลสำหรับทำธุรกิจ

ในปัจจุบันผู้บริโภคตระหนักถึงความปลอดภัยของการให้ข้อมูลมากขึ้น ผู้ใช้ข้อมูลเองจึงต้องควรระวังในการเก็บและนำข้อมูลไปใช้ ต้องมีความรับผิดชอบและความโปร่งใส

ช่วงหลังมานี้คนยอมให้เก็บข้อมูลประมาณ 15% เท่านั้น และการเก็บข้อมูลจาก Third Party Data ยังเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าและเสียประโยชน์ตรงที่บางครั้งผู้บริโภคก็ไม่เต็มใจที่จะให้ข้อมูลด้วยวิธีนั้น

เมื่อกฎหมายเริ่มแรงขึ้น แบรนด์และนักการตลาดต้องสร้างฐานลูกค้าตัวเองขึ้นมาโดยการเก็บ First Party Data เป็นข้อมูลที่คลีน และถูกกฎหมาย แต่อนาคตควรใช้คู่กันระหว่างข้อมูลที่เอามาจากแหล่งอื่นกับข้อมูลที่เก็บเอง

เพราะฉะนั้นเลยเป็นช่วงเวลาที่ควรหันมาโฟกัสกับ First Party Data มากขึ้น โดยไม่ต้องเก็บข้อมูลผ่านคนอื่น แต่ในที่นี้ก็อาจจะยังใช้ร่วมกับ Second Party Data และ Third Party Data เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้

เมื่อการเก็บข้อมูลยากขึ้น แบรนด์ นักการตลาด หรือเอเจนซีควรระมัดระวังและมีความรับผิดชอบมากขึ้นตามไปด้วย ข้อแนะนำที่ควรปฏิบัติมีดังนี้

  • ศึกษากฎหมาย และเตรียมการว่าจะหาวิธีมารองรับอย่างไร
  • หาแพลตฟอร์มเพื่ออัปเดตการอนุญาตเข้าถึงข้อมูลแบบเรียลไทม์ จะได้อัปเดตสำหรับคนที่ไม่อนุญาตให้เข้าถึงข้อมูล เพื่อกันการดึงข้อมูลมาใช้โดยที่ระบบยังไม่อัปเดต
  • หาการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพราะระบบที่เชื่อถือได้จะทำให้เราเบางานขึ้น
  • สำหรับข้อมูลควรจะขอเท่าที่ใช้ ใช้เท่าที่ขอ
  • ตระหนักเรื่องความปลอดภัยและความโปร่งใสในการเก็บข้อมูล

ข้อคิดเมื่อเริ่มทำ CRM

นิยามของ CRM เปลี่ยนไป ไม่ได้จำกัดเฉพาะสินค้าประเภท High Value และข้อมูลเองก็ไม่ได้เป็นงาน IT แต่เป็นงานนนักการตลาดที่ต้องถามว่าต้องการข้อมูลอะไร เพื่อเอาไปใช้ทำอะไร ก่อนจะวางกลยุทธ์ออกมา

ต้องทำความเข้าใจว่าการทำ CRM ไม่ใช่การทำ Loyalty Program และการจะทำ CRM ให้สำเร็จต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ เข้าใจผู้บริโภค และรู้วิธีว่าจะต้องทำอย่างไรให้ผู้บริโภครู้สึกว่าการให้ข้อมูลปลอดภัย สิ่งนี้คือหัวใจในการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า

Virtual Meeting vs Business Impact

การจัดอีเวนต์ที่เปลี่ยนไป

หลังโควิดเริ่มมีการจัดอีเวนต์แบบ Hybrid มากขึ้น สะดวกตรงที่ทุกคนที่อาจไม่มีโอกาสมาอีเวนต์จริง ๆ ก็สามารถดูผ่านออนไลน์ได้ รวมถึงข้อดีของอีเวนต์ออนไลน์คือทุนที่ต่ำกว่า เลยเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับอีเวนต์ในตอนนี้ เพราะคนเองก็คุ้นชินกับออนไลน์มากขึ้น จนเป็นข้อกังวลว่าในอนาคตคนจะกลับไปแบบปกติได้เหมือนเดิมมากน้อยเพียงใด

ทริกการทำ Virtual Event ให้ปัง

ไม่มีสูตรสำเร็จ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ และกลุ่มเป้าหมาย หัวใจสำคัญของการจัดงานคือการสร้างอารมณ์ร่วมให้คนดู นอกจาก Content ก็อย่าลืมคิดถึง Context ให้เข้ากันด้วย

ถ้าอยากทำให้อีเวนต์สนุกต้อง Redesign ใหม่ ให้มีทั้งสาระ ข้อมูล และความสนุกรวมอยู่ในนั้น เพื่อเพิ่มประสบการณ์การชมอีเวนต์ใหม่ในแบบออนไลน์ให้กับผู้ชมได้ดีที่สุด

หลังจากนี้เมื่อคนเริ่มชินกันการจัดแบบออนไลน์ คนก็จะเริ่มสร้างสรรค์สิ่งที่มาเติมเต็มให้ออนไลน์มีลูกเล่นมากขึ้น

ในช่วงสิ้นปีนี้ถ้าแบรนด์ เอเจนซี หรือธุรกิจใดก็ตามอยากจัดอีเวนต์ แนะนำให้จัดออนไลน์ ถ้าเรามีความคิดสร้างสรรค์ เข้าใจในบริบท มีการใช้กิมมิกมาช่วยในการจัด ก็จะทำให้อีเวนต์ออนไลน์ไม่แพ้แบบจัดปกติแน่นอน

Copyright © 2025 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save