สรุปประเด็นจาก iCreator Clubhouse : เจาะลึกอาณาจักร Beartai จากโลกออฟไลน์สู่ออนไลน์

สรุปประเด็นจาก iCreator Clubhouse เมื่อวันอังคารที่ 23 มีนาคม 2021 กับ คุณหนุ่ย พงศ์สุข กับการ ‘เจาะลึกอาณาจักร Beartai จากโลกออฟไลน์สู่ออนไลน์’ ที่จะมาเปิดเผยเส้นทางสู่ความสำเร็จ กว่าจะเป็นแบไต๋ในทุกวันนี้ต้องผ่านอะไรมาบ้าง? รวมถึงบอกเคล็ดลับเกี่ยวกับการทำงานในฐานะที่อยู่มาตั้งแต่ยุครายการทีวี ทีวีดิจิทัล จนย้ายมาสู่แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นอาณาจักรแบไต๋ที่แตกแขนงออกไปหลากหลายแบบทุกวันนี้

โดยวันนี้นอกจากคุณหนุ่ยแล้ว เรายังได้ คุณป๊อป-ณัฐวุฒิ แสงชูวงษ์ CCO Chief Content Officer ของแบไต๋มาร่วมพูดคุยประเด็นนี้กันด้วย จะมีอะไรบ้าง RAiNMaker ได้สรุปมาให้ทุกคนเรียบร้อยแล้วค่ะ ไปดูกันเลย!

  • เมื่อก่อนคนยังไม่ค่อยรู้จักคำว่าคอนเทนต์ ยังเป็นยุคแห่งการทำรายการ ที่ต้องมีไตเติล ภาพ และเพลงประกอบรายการ ซึ่งกว่าจะเข้าเนื้อหารายก็กินเวลามาก เอามาใช้กับแพลตฟอร์มออนไลน์ไม่ได้เลย เพราะบนออนไลน์เน้นกระชับ
  • ปีที่แล้วบอกไว้ว่าแบไต๋ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด และบางส่วนกลับดีขึ้นด้วยซ้ำ เพราะเราพยายามปรับตัวจากการตกอยู่ในอเวจีขุมสุดท้ายของวงการสื่อ คือ หนีจากทีวีมาอยู่บนออนไลน์ตั้งแต่ 4 ปีก่อนโควิดแล้ว เลยทำให้การก้าวข้ามเสร็จสิ้นไปก่อนแล้วเลยไม่ได้รับผลกระทบ
  • พอย้ายมาบนออนไลน์ต่อให้ทีมงานเยอะกว่าตอนทำออฟไลน์ก็รู้สึกตัวเบา สามารถแตกไลน์รายการออกไปได้อยู่กว่า เหมือนออกเรือเล็กจากเรือใหญ่
  • สิ่งที่สำคัญคือต้องทำสิ่งที่แตกต่างจากที่ทุกคนคาดหวัง และทำสิ่งที่คนฟังได้ประโยชน์มากที่สุด
  • ต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ตอนนั้นแบไต๋ตัดสินใจทุบบ้านเพื่อปลดภาระ เริ่มจากเลิกเช่าที่ เลิกยึดติดกับวัฒนธรรมเดิมๆ ว่าจะทำรายการก็ต้องมีผังรายการ เตรียมฉาก แต่พอคิดดูดีๆ ว่าบนแพลตฟอร์มออนไลน์มันสามารถทำได้เลยโดยที่ไม่ต้องรอการดำเนินการเหมือนรายการทีวีเลยรีบลุก รีบลองทำ
  • มีคอนเทนต์ไม่เวิร์กเยอะ ทำ EP0 แล้วไม่ทำต่อหลายโปรเจกต์ ก็เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ ลองผิดลองถูกกันไป
  • มีความอยากทำมาก แต่พอมาจากรายการทีวีปกติสู่ทีวีดิจิทัลก็หาสปอนเซอร์ยากมาก ตอนแรกๆ ก็มี พอทำไปเรื่อยๆ รายการเริ่มหลุดจากผัง สปอนเซอร์ก็เริ่มหาย เคยไปถึงขั้นที่เงินบริษัทติดลบเกือบเจ๊งเลยตัดสินใจเอาเงินก้อนสุดท้ายมาลงทุนเปิดสตูดิโอของตัวเอง และเริ่มทำแบไต๋ออนไลน์เพื่อให้โล้ไปกับกระแส
  • ในตลาดก็มีรายการไอทีมาก่อนหน้านี้เยอะแล้ว เราเองก็เห็นมาเยอะพอจนรู้ว่าจะต้องใช้ภาษาโทนไหนถึงจะดึงคนดูได้ แล้วรู้จริตตัวเองว่าต้องทำยังไง เชื่อมั่นในตัวเอง และต้องแต่งจริตให้ไม่เหมือนในทีวี เพราะหลายคนติดกับดักจากทีวีมาทำให้พูดเกริ่นนานมากกว่าจะเข้าเรื่อง ทำให้มันนานเกินกว่าที่คนบนออนไลน์จะรอได้
  • ตอนที่ย้ายมาออนไลน์ช่วงแรก รายการแบไต๋ก็ยาวจนต้องขอกูเกิลในการอัปโหลดคลิปยาว แต่ผลคือมันไม่เหมาะกับออนไลน์ คนมีเวลาเสพสื่อบนออนไลน์น้อยกว่าดูบนทีวี เลยปรับให้จริงขึ้น ลบจริตแบบรายการทีวีออกไป เข้าเรื่องเลยไม่ต้องมีไตเติลรายการ และต้องพูดด้วยความไม่ประดิษฐ์เกินไปแต่คงทักษะการพูด ศาสตร์ในการนำเสนอไว้
  • ในการพูดหรือนำเสนอแน่นอนว่าคอนเทนต์สำคัญ แต่คอนเท็กซ์ (บริบท) สำคัญกว่า อะไรไม่เวิร์กก็เลิก ต้องอยู่บนโลกความเป็นจริงมากขึ้น
  • เดิมทีแบไต๋เป็นแค่เว็บบอร์ดให้แฟนรายการไว้พูดคุยกัน ตอนหลังเห็นว่าทำเว็บด้วย จะได้ทำ SEO ควบคู่ไป คนก็จะหาเราเจอมากขึ้น
  • มองว่าตอนนี้แบไต๋มีความเป็นทั้ง Publisher และ Influencer เพราะในบางแพลตฟอร์มผู้คนเลือกตามคนมากกว่าตามตัวแบรนด์ เช่น บนคลับเฮาส์คนจะตามที่ตัวบุคคลมากกว่า แต่อย่างเฟซบุ๊กคนก็ตามตัวเพจ เป็นต้น
  • แม้ภาพลักษณ์ตัวบุคคลจะโดดเด่น แต่แบไต๋ก็ยังเชื่อในระบบทีม และทีมที่ดีต้องไปด้วยแรงที่เท่ากัน และการที่จะได้ดรีมทีม หรือทีมในฝันต้องใช้เวลา เลยพูดได้ว่าช่วงที่เบ่งบานได้แบบตอนนี้เพราะแบไต๋ได้ดรีมทีม ที่ทุกคนพร้อมเปลี่ยน และไม่มีอีโก้
  • ตอนแรกก็แย่เพราะทำตามฝันมากกว่าทำตามคนอื่น พอมาตอนหลังคนต้องการข้อมูลข่าวสารด้านไอที ต้องการรีวิวเกี่ยวกับไอทีมากขึ้นเลยเข้าทางแบไต๋พอดี
  • ทุกวันนี้การทำโฆษณาไม่ได้ต้องการแทรกเข้าไปในเนื้อหาเหมือนเมื่อก่อนแล้ว แต่ต้องการเป็นคอนเทนต์ ต้องเจาะข้อมูลให้ลึกที่สุด ดึงข้อมูลออกมาให้คนดูพอใจ และต้องลองคิดฝั่งคนดูด้วย
  • ทำ Advertorial ชมได้แต่ต้องติได้ด้วย เมื่อก่อนเอาใจลูกค้า แต่วันนี้ต้องติ 98% ของทุกคนส่วนมากก็ยอมรับการติ เราต้องล้วงข้อมูลให้บาลานซ์มากที่สุด มีการนำบทความที่เขียนมานั่งคุยกัน ถกกันก่อนจะปล่อยฟูลรีวิวสักตัว
  • ก่อนหน้าที่คุณป๊อปจะเข้ามาช่วยดูแลด้านคอนเทนต์ของแบไต๋ ได้บอกว่าเดิมทีแบไต๋ก็ทำออนไลน์มาอยู่แล้วเลยไม่ต้องปรับเปลี่ยนมากนัก และเป็นข้อดีที่เลือกใช้ชื่อแบไต๋ ไม่ใช่ชื่อ แบไต๋ไฮเทค เพราะจะเป็นการจำกัดชื่อว่าเกี่ยวกับดิจิทัลเทคโนโลยี การใช้ชื่อแบไต๋เลยสามารถตีความหมายได้เยอะ ทำให้แบรนด์ติดตลาด คนจำแบไต๋ และหนุ่ยได้ว่าเป็นผู้นำด้านดิจิทัล
  • ตอนนี้แบไต๋แตกแขนงออกมาเป็นไลฟ์สไตล์ ข่าว และเกม ออกมาเป็นเพจลูก ป๊อปได้เข้ามาช่วยเปลี่ยนชื่อให้กระชับ และจัดกลุ่มให้เป็นแฟมิลี่เดียวกัน มีทั้ง beartai BUZZ, beartai BRIEF, beartai FLASH, Thailand Game Show และ Madan.fun ซึ่งดีไซน์ไอคอนเป็นธีมเดียวกัน เป็นแบไต๋เรนเจอร์
  • ปัญหาของแบไต๋ตอนแรก คือ ผลิตคอนเทนต์คุณภาพออกมาแต่ไม่มีการจัดหมวดหมู่คอนเทนต์ ป๊อปเลยเข้ามาจัดการในส่วนนี้
  • ในส่วนของทีมงานตอนนี้มี 55 คน แบ่งเป็นเฮดหลัก คือ หนุ่ยเป็น CEO ป๊อปเป็น CCO แตนเป็น MD และแบ่งทีมย่อยออกเป็นทีมโปรดิวเซอร์ กราฟิก คอนเทนต์ (ซึ่งคอนเทนต์ก็จะแบ่งย่อยตามเพจลงไปอีก) ผลิตวิดีโอ นอกจากนี้ก็มีฟรีแลนซ์นอกเหนือจากนี้รวมประมาณ 100 คน ทำงานออนไลน์ ไม่ต้องเข้าบริษัท ใช้ระบบรับงานปุ๊บได้เงินปั๊บ
  • เทียบก่อนมาออนไลน์ รายได้ติดลบทุกปี เพราะเมื่อก่อนเวลาทำโปรเจกต์ต้องลงแรงลงเงินไปก่อน และไม่มีการจัดการที่ดี และมีวิธีคิดผิดๆ พอตอนหลังได้จัดสรร ได้ MD ที่ดีมาช่วย บวกกับหนุ่ยเอาตัวเองมาเป็นวัตถุดิบให้แบไต๋เอาไปปรุงอีกที เลยเริ่มเกิดโครงสร้างองค์กร การทำงานเป็นบริษัทจริงๆ และแฟร์กับทุกคน ต้องให้ Organization Chart กับทุกคนในบริษัทอย่างชักเจน
  • พลิกฟื้นทีมงานด้วยการให้เงิน Incentive (แรงจูงใจ) ให้ผลตอบแทนตั้งแต่งานที่ 1 จนงานสุดท้ายของไตรมาส เมื่อจบทุกไตรมาสทุกคนก็จะได้เงินตรงนี้ ยกเว้นระดับ C-level เมื่อให้เงินตอบแทนลูกจ้าง เขาก็จะตั้งใจและทำงานจริงจัง และเต็มที่มากขึ้น

ช่วง Q&A

เริ่มเอาไอดอลมาทำคอนเทนต์ได้ยังไง?

  • เริ่มจากตอนแรกอยากทำ IT Unit กับ BNK48 โดยตั้งใจจะปั้นให้เป็นดาราไอที แต่พอทำไป 6-7 ตอน ทางญี่ปุ่นที่เป็นพาร์ตเนอร์ของ BNK48 มองว่าไม่เหมาะสมเลยต้องหยุดไป แต่แบไต๋ไม่อยากล้มเลิก บวกกับบังเอิญเจอผู้จัดการไอดอลวง cmcafe พอดี เลยได้นาวลิ้มมาร่วมงานด้วย

เวลาต้องดีลกับแบรนด์เรื่องสินค้าไอที บางเรื่องเราไม่โอเคกับบรีฟ มีวิธีคุยกับแบรนด์ยังไง?

  • มี 2 ส่วน คือ
  1. ก่อนที่เราจะเป็นที่ยอมรับ มักจะโดนบรีฟหนัก วิธีแก้ก็ต้องพูดคุยต่อรองกันแบบสุภาพ
  2. อยู่ในวงการนี้มานาน และเราจะได้รับอิสระเอง เพราะแบรนด์จะเชื่อในวิสัยทัศน์ของเรา เชื่อว่ามันจะเป็นประโยชน์ ทั้งกับแบรนด์และคนดู ว่าเราเอาข้อมูลมาร่ายให้ได้องค์ความรู้จริงๆ ใช้คำที่ไม่เวอร์เหมือนโฆษณา ซึ่งจุดนี้ก็ต้องนั่งต่อรองในฝั่งคนดูเสมอ ถ้าข้อมูลบางตัวหามุมติไม่ได้ ก็ขอระบุว่าเป็น Advertorial ให้คนรู้ แต่ตัวไหนมีข้อมูลสมดุลก็จะปล่อยเป็นคอนเทนต์ได้ ที่สำคัญคือมี Pre-screen เอางานทุกตัวมาขึ้นจอให้ทุกคนในทีมดูเพื่อวิเคราะห์แก้ไข มีบางงานโพสต์ดึก เพราะถกเถียงกันอยู่ เนื่องจากพยายามรักษาตัวตนของแบไต๋ก่อนจะปล่อยออกไป
  • เพราะตอนนี้ทุกคนอยู่ในยุคที่คอนเทนต์มันโอเวอร์โหลด ต่อให้ทำระบบสมัครสมาชิก ก็ยังคงไม่เวิร์กสำหรับตลาดนี้ โฆษณาเลยสำคัญมาก เป็นยุคที่ต้องบอกว่ามีสปอนเซอร์ ลูกค้าส่วนใหญ่เข้าใจในการคาดหัวว่า Advertorial เพราะคนอ่านพอใจมากกว่าการที่มารู้เองทีหลัง

แนะนำเทคนิคสำหรับคนรุ่นใหม่ด้านการพูด และ Performance

  • ลองเขียนก่อนแล้วค่อยฝึกพูด มันจะคมคายมากขึ้น และลองดูตัวอย่างที่ไม่สมบูรณ์บ้าง เพราะการดูแต่ตัวอย่างที่ดีบางทีอาจทำให้รู้สึกว่าเราไม่รู้ว่าจะทำได้แบบเขายังไง แต่ถ้าดูตัวอย่างที่ไม่สมบูรณ์บ้างในบางครั้ง จะช่วยเตือนตัวเราเวลามองเขาว่า ถ้าเป็นเรา เราจะไม่ทำแบบนั้น
  • จริงๆ ทุกด้านสำคัญต่อการฝึกพูดทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียน หมั่นดูเทปหรือคลิปตัวเองโดยทำใจเป็นกลาง ปราศจากอคติ และคิดเสมอว่าทุกคอมเมนต์มีประโยชน์ นำตรงนี้เป็นกระจกส่องดูตัวเราเพื่อพัฒนา ไม่ใช่ทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว

เวลาประเมินการทำงานของคนในทีม ให้ฟีดแบ็กคนในทีมยังไง?

  • วิจารณ์แบบตรงไปตรงมา แต่อย่าใช้อารมณ์ และต้องไม่หยาบคาย อธิบายด้วยเหตุผล ทางที่ดีควรแนะนำว่าเขาควรทำยังไง และทำให้ทีมเห็นเป็นตัวอย่าง
  • ยึดคติ “สติทำให้เรื่องใหญ่กลายเป็นเรื่องเล็ก แต่อคติทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่

ฝากส่งท้ายถึงเด็กรุ่นใหม่ที่อยากเข้าวงการครีเอเตอร์?

  • เป็นตัวคุณในแบบของคุณ วันนี้หลายคนติดว่ากระแสเป็นเรื่องสำคัญ มันก็ถูก แต่ทุกคนก็จะพุ่งไปเรื่องเดียวกัน สิ่งที่หนุ่ยคิดคือมีวิธีการทำคอนเทนต์ที่จะทำให้อยู่ยาวมากกว่า แทนที่จะทำคอนเทนต์ที่เป็นกระแสอย่างเดียว แต่ทำคอนเทนต์ให้คนรุ่นต่อไปยังเสิร์ชเจอ เป็นเหมือน Siteguide ที่สิ่งที่เคยทำไว้ในอดีตก็จะไม่หายไป เหมือนเป็นการเก็บคอนเทนต์เข้าคลังของโลก ซึ่งมีหลายทางที่สร้างคอนเทนต์ให้แตกต่าง ทำคอนเทนต์ให้ดีโดยไม่ต้องใช้คำหยาบก็ได้ ทำให้เกิดคอนเทนต์คุณภาพที่อยู่กับยุคใหม่ และไปด้วยกันได้

และนี่ก็เป็นเรื่องราวของอาณาจักร Beartai จากคุณหนุ่ย และคุณป๊อป ในวันพฤหัสที่ 25 มีนาคม 2021 เวลา 21.00 – 22.00 น. นี้ เตรียมพบกับคุณเก่ง-สิทธิพงศ์​ ศิริมาศเกษม กับหัวข้อ “เผยเทคนิคการจัด Clubhouse ในแบบ Creative Talk”

อย่าลืมติดตาม iCreator Clubhouse ทุกวันอังคาร และวันพฤหัส เวลา 21.00 – 22.00. น. สัปดาห์หน้าแขกรับเชิญจะเป็นใคร มาคุยในหัวข้ออะไร รอติดตามกันได้นะคะ!

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save