iCreator Meetup ครั้งที่ 2 งานอีเวนท์ของ RAiNMaker ที่จัดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ชาว Thai Content Creator ได้มีโอกาสมาพบปะพูดคุยกัน ซึ่งในครั้งนี้เราจะมาคุยกันเกี่ยวกับการทำ Podcast ในหลายแง่มุม ทั้งการเริ่มต้นทำ การเตรียมตัว แนวคิด ไปจนถึงวิธีการหารายได้เพื่อให้ทำเป็นอาชีพอย่างยั่งยืน
ในงานครั้งนี้เราก็ได้สปีคเกอร์ 4 ท่านที่มีประสบการณ์ในการทำ Podcast อย่างคุณไอแอนและคุณแซม จาก Gettalks คุณโจ้ นทธัญ จาก Moonshot PR Agency และคุณบิ๊กบุญ จาก The Standard Podcast มาร่วมพูดคุยและตอบคำถามต่างๆ
ภาพรวมวงการ Podcast ในปี 2019
ในส่วนนี้เป็นเนื้อหาจากคุณปิ๊ก และคุณเติ้ล ทีมงานนักเขียนหลักของ RAiNMaker ที่ได้สรุปภาพรวมที่เกิดขึ้นในวงการ Podcast ของโลกเอาไว้ดังนี้
ในส่วนนี้คือตัวเลขประมาณการรายได้ของเม็ดเงินที่ใช้ในการซื้อโฆษณาบน Podcast ตั้งแต่ปี 2017 ที่ตอนนั้นประมาณการเอาไว้ในช่วงต้นปีว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนประมาณ 200 ล้าน แต่รายงานสิ้นปีสรุปได้ว่ามีการลงโฆษณาทั้งปีกว่า 300 ล้านเหรียญ
พร้อมทั้งยังมีการคาดการณ์อัตราการเติบโตเอาไว้ถึงปี 2020 ว่าจะมีการเติบโตประมาณ 111% ซึ่งถ้าเป็นไปตามนั้น จะมีเม็ดเงินโฆษณาหมุนเวียนในวงการมากกว่า 650 ล้านเหรียญ
รูปแบบการโฆษณาบน Podcast ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการพูดถึงสินค้าหรือบริการโดยตรง คล้ายกับรายการวิทยุที่ผู้ประกาศพูดถึงผู้สนับสนุนนั่นเอง
ภาพด้านบนเป็นสถิติที่พูดถึงพฤติกรรมของผู้ฟัง Podcast ในอเมริกา โดยสามอันดับแรกมักจะฟังขณะอยู่ที่บ้าน, บนรถ และในขณะที่เดินตามลำดับ แต่สำหรับบ้านเราที่ไม่ได้เป็นเมืองสำหรับเดิน เพราะอากาศไม่เอื้ออำนวย ก็จะสลับอันดับมาเป็นการฟังในขณะออกกำลังกายหรือขณะเดินทางซะมากกว่า
ส่วนถัดมาจะเป็นการพูดถึงความเคลื่อนไหวในวงการ Podcast ของบ้านเรา เริ่มต้นจาก Platform ที่ใช้ฟังและสร้างคอนเทนต์ Podcast ซึ่งโดยมากแล้ว Podcaster จะนำไฟล์เสียงที่อัดไว้ไปฝากอยู่บน Soundcloud จากนั้น Apple Podcast ก็จะดูด Feed จาก Soundcloud ไปปล่อยอีกทีหนึ่ง
แต่ตัว Platform เองก็ยังมีบริการเจ้าใหม่ๆ เข้ามาพร้อมฟีเจอร์ที่น่าใช้อีกหลายตัว อย่าง Anchor ที่ใช้อัดเสียง, ตัดเสียง, ใส่ jingle, อัปโหลด ได้แบบจบในตัวเดียว
Podcast เจ้าดังๆ บ้านเราในตอนนี้เริ่มมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เท่าที่เรารวบรวมมาได้ก็มีมากกว่า 60 ช่อง และบางช่องก็ยังมีรายการแยกลงไปอีก อย่างเช่น Gettalks ก็จะมียูธูป, เสา เสา เสา เป็นต้น ซึ่งรวมทั้งหมดก็น่าจะเกือบ 100 ช่องเลยทีเดียว
รูปแบบการจัดรายการในบ้านเรา ส่วนใหญ่จะเป็นการสนทนานั่งคุยกันในรายการ รองลงมาก็เป็นการสัมภาษณ์, การจัดรายการเดี่ยว และการบรรยายที่นำเสียงจากเวทีบรรยายมาลงใน Podcast
เส้นทางสู่การเป็น Podcaster โดย Gettalks
Gettalks เป็นช่อง Podcast ที่มีรายการลูกหลายช่อง โดยเน้นการทำเป็นงานอดิเรก เป็นการรวมกันของกลุ่มเพื่อนๆ มานั่งคุยกันสนุกๆ
ความตั้งใจแรกของ Gettalks คือเป็นรายการ Podcast ที่รวมตัวกลุ่มเพื่อนที่ชอบเล่ามานั่งคุยกับ เป็นรายการที่ล้อกับ TED talks มีชื่อว่า เท็จ Talks เล่าเรื่องเท็จๆ แต่ด้วยชื่อรายการนั้นทำให้ยากในการติดต่อขอสัมภาษณ์กับผู้ใหญ่ จึงเปลี่ยนเป็น Gettalks แทน
เครื่องอัด Podcast อายุ 8 ปี ที่ใช้จัดรายการสมัยแรกๆของยูธูป
‘ความง่าย’ เป็น culture ของช่องในรายการนี้ ในการคุยกันง่ายๆ ใช้อุปกรณ์ที่พอใช้ได้ นั่งคุยกับกลุ่มเพื่อนสนิท กินข้าวไปจัดรายการไปก็ยังมี จึงออกมาเป็นรายการที่เหมือนมีเพื่อนมานั่งเล่าเรื่องสนุกๆ ให้เพื่อนอีกคนหนึ่งฟังบนโต๊ะอาหาร
สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรายการมักจะ ‘อย่างนี้ก็ได้เหรอวะ’ แต่ด้วยความง่าย ไม่คิดเยอะ ทำให้ทำลายกำแพงของพฤติกรรมผลัดวันประกันพรุ่งที่หลายคนอยากจัด Podcast แต่ยังไม่ได้เริ่มสักที และด้วยความต่อเนื่องของการจัดรายการ จนตอนนี้ Gettalks มีฐานแฟนคลับที่เหนียวแน่นแข็งแรงมาก
คุณแอนกล่าวว่า เราเปรียบเสมือนวงดนตรีอินดี้ ที่มีฐานผู้ฟังที่เหนียวแน่นระดับหนึ่ง เน้นความง่าย คุยง่ายๆ โปรดักชั่นง่ายๆ ซึ่งเราก็ได้คงมาตรฐานความง่ายๆ นี้เอาไว้ เพื่อคงเอกลักษณ์ความเป็นพวกเรา
ซึ่งงาน Podcast เองก็มีหลายสเกล ตั้งแต่ใช้โทรศัพท์บันทึกเสียงง่ายๆ แบบที่ Gettalks ทำเป็นงานอดิเรก ไปจนถึงห้องอัดเสียงพร้อมกับไมค์สุดหรู ทำ jingle ต้นรายการ ที่ทุกอย่างมีการลงทุนอย่างจริงจังเพราะทำเป็นธุรกิจ
บางรายการในเครือ Gettalks ก็จะเป็นความรู้ในวงการที่เราทำงานมาเล่าให้คนที่อยู่นอกวงการฟัง เช่น รายการ เสา เสา เสา เป็นรายการที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับการทำบ้าน โดยใช้พื้นฐานความรู้จากการทำงานด้านสถาปนิก
เสา เสา เสา มี role model เป็นรายการ WitCast รายการวิทยาศาสตร์ที่เล่าโดยนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ เมื่อคนฟังที่อาจจะไม่ได้สนใจหรือไม่ชอบวิทยาศาสตร์ แต่ถ้านักสื่อสารทำหน้าที่ได้ดี การเล่าก็จะสนุกและเข้าถึงคนนอกวงการได้มากขึ้น
ถึงแม้ว่าช่องของ Gettalks จะทำเป็นงานอดริเรก แต่ก็ยังมีผู้สนับสนุนหลายรายการ โมเดลการหารายได้ของ Podcast ค่อนข้างหลากหลาย
คุณแซมยกตัวอย่างรายการ สัพเพHEYไรว้าาา ที่ผู้จัดรายการมีผู้ติดตามจำนวนมากบน twitter ก็จะทำรายการที่เล่าถึงสินค้าของลูกค้าที่มาจ้าง พร้อมกับติด hashtag ที่เกี่ยวกับสินค้าให้ตอนปล่อยรายการ หรือยูธูปเองก็คยมี platform มาสนับสนุนรายการ โดยให้ Live ลง platform ของลูกค้า เป็นต้น
Podcast สำหรับเอเจนซี่และแบรนด์ – รายได้จาก Podcast
ในส่วนนี้จะเป็นเนื้อหาที่ว่าถึงการทำ Podcast อย่างจริงจังโดยมีเป้าหมาย เป็นหัวข้อการทำ Podcast สำหรับเอเจนซี่และแบรนด์ โดยคุณโจ้ นทธัญ จาก Moonshot และ ช่องทางการหารายได้จาก Podcast โดยคุณบิ๊กบุญ ภูมิชาย จาก The Standard
คุณโจ้เริ่มต้นจากได้เสนอกับทาง Moonshot ที่เป็น Digital PR Agency ว่าการทำ original content สำหรับเอเจนซี่หรือแบรนด์ มันเป็นส่งที่เริ่มจำเป็นมากขึ้น เพราะสิ่งนี้จะทำให้คาแรกเตอร์และแนวทางการทำงานของบริษัทชัดเจนมากขึ้น จึงออกมาเป็นรายการที่ชื่อว่า I’m อิน
ตัวรายการ I’m อิน เป็น podcast ที่เล่าเรื่องระหว่างความสัมพันธ์ของคนกับแบรนด์ โดยมาจากงาน PR ที่เป็นเรื่องของคนกับแบรนด์ที่มีความสัมพันธ์ต่อกัน เรารู้สึกอิน รู้สึกรักในแบรนด์หนึ่งได้ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่น่านำมาเล่าสู่กันฟัง
สำหรับคุณบิ๊กปัจจุบันเป็น Director ดูแลภาพรวมทั้งหมดของ The Standard Podcast ก่อนหน้านี้เป็นนักจัดการรายวิทยุอยู่ 10 ปี และวงการสิ่งพิมพ์อีก 10 ปี
คำนี้ดี คือรายการ Podcast ที่คุณบิ๊กเป็น host อยู่ในเครือของ The Standard ซึ่งคุณบิ๊กเองก็สนุกกับการเรียนรู้ในเรื่องของภาษาอังกฤษ และได้ใช้ในการทำงานประจำอยู่แล้ว พร้อมทั้งชื่นชอบที่จะเล่าเรื่องที่เกี่ยวกับภาษาอังกฤษ จึงมาเป็นรายการคำนี้ดีที่ชวนให้ผู้ชมมาสะสมคำศัพท์เพื่อสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงของภาษา
การใช้ Podcast ในการสื่อสารให้กับแบรนด์
ทางคุณโจ้ได้ให้ความเห็นเอาไว้ว่า Podcast เป็นคอนเทนต์ที่ใกล้ชิดระหว่างคนจัดและคนฟัง ถ้าแบรนด์ที่ต้องการพรีเซนต์บุคลิกของตัวเอง Podcast จะค่อนข้างเหมาะที่จะทำให้รู้ว่าเราเป็นคนแบบไหน
อย่างรายการ I’m อิน ของ Moonshot เอง ก็สื่อสารในสิ่งที่ Moonshot เชื่อ นั่นคือการสร้าง Brand Love เป็นความสัมพันธ์ที่ดีของแบรนด์และลูกค้า ซึ่งแสดงถึงคุณค่าของคนที่ royalty กับแบรนด์ได้เป็นอย่างดี ทำให้ผู้ฟังเข้าใจแนวทางและเป้าหมายการทำงานของ Moonshot และการทำ PR นั่นเอง
วิธีการเริ่มต้นคิดรายการของ The Standard
The Standard Podcast เองที่มีเกือบ 20 รายการในเครือ และเป็นสื่อแรกๆ ที่ให้ความสำคัญกับรายการ Podcast มากๆ ซึ่งทางคุณบิ๊กได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของแต่ละรายการ โดยให้เราลองนึกถึงตัวเองว่าเราอยากได้อะไร คนอยากรู้อะไร เริ่มต้นคิดจากตัวเองว่าถ้าเราได้รู้สิ่งนี้ เราจะทำให้ชีวิตตัวเองดีขึ้น ครึ่งหนึ่งคือ Human Interest และอีกครึ่งหนึ่งคือสิ่งที่เราเองก็สนใจ
ยกตัวอย่างเช่น คนอยากได้เงิน คนอยากดูแลเงิน คนอยากได้เงินสิบล้าน ก็ออกมาเป็นรายการ The Money Case ที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับเงิน ตั้งแต่การเก็บออม การลงทุน เป็นต้น แต่เหนือสิ่งอื่นใดเราต้องมองตัวเองด้วยว่าเราเป็นใครและอยากให้อะไร เพื่อที่จะได้มีแนวทางการนำเสนอที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด
หลายคนอาจจะพลาดตรงที่คิดถึงแค่สิ่งที่ตัวเองอยากเล่าอย่างเดียว ไม่ได้คิดถึงว่าคนฟังจะเป็นใคร ผู้ฟังเค้าก็อาจจะมาลองๆ ฟังบ้าง แต่เค้าก็อาจจะฟังเราได้ไม่นานแล้วก็ไป
การรับ Advertorial ในรูปแบบ Podcast
เราต้องรู้ตัวก่อนว่า Podcast เหมาะกับการลงโฆษณาแบบไหน เราเก่งอะไร เราเสนออะไรได้ดี สิ่งที่ Podcast จะช่วยให้เกิดขึ้นได้คือความรัก ความสนิทสนมกับบแบรนด์ โดยผ่านคอนเทนต์และผู้ดำเนินรายการ
โดยธรรมชาติแล้ว Podcast จะมีผู้ติดตามที่รู้สึกว่าสิ่งนี้ทำให้ชีวิตเค้าดีขึ้น เค้าต้องฟังทุกตอนของรายการ เค้ารักคอนเทนต์และผู้ดำเนินรายการของช่องนั้นๆ ซึ่งสาวกของช่องนั้นก็จะรู้สึกดีกับผู้สนับสนุนรายการด้วยเช่นกัน เป็นการค่อยๆ สร้างให้เกิด Brand Love ขึ้นมา
แน่นอนว่า Podcast นั้นไม่ได้เหมาะกับทุกแบรนด์ หรือสินค้าทุกประเภท เพราะฉะนั้นเราก็ต้องแมนๆ พอที่จะบอกตอนที่เค้ามาจ้างเราว่า พี่ครับ อันนี้ไม่เหมาะกับ Podcast ครับ
ซึ่งคนฟัง Podcast เองก็ยังนับว่าเป็นกลุ่มที่ niche บางครั้งคนที่ต้องการมาลงโฆษณาก็ยังไม่ได้เข้าใจวัฒนธรรมของ Podcast หรือสิ่งที่ Podcast สื่อสารออกมาได้ดี อะไรที่มีความประดากประเดิดอันนี้ก็ต้องคุยกับลูกค้าให้ดีๆ
แล้วแบบไหนที่เหมาะกับ Podcast?
เมื่อ Podcast มันเป็นสื่อที่ทำให้เราใกล้ชิดกันมากขึ้น ผู้ฟังติดใจรูปแบบรายการ ติดใจผู้ดำเนินรายการ มันมีคาเรกเตอร์บางอย่างในเสียง มันมีอารมณ์ขัน มันมีแพสชั่นที่ออกมาอย่างชัดเจนขณะดำเนินรายการ
พร้อมกันกับถ้าคุณเป็นแบรนด์ที่ต้องการเข้าถึงผู้บริโภค และคุณรู้แล้วว่าคนที่ฟังรายการเป็นคนเดียวกันกับคนที่จะรักแบรนด์คุณ ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจที่จะให้ผู้ดำเนินรายการนำเสนอผ่าน Podcast เป็นการนำแบรนด์เข้าไปอยู่ในใจคนได้ง่ายกว่าสื่อรูปแบบอื่น
หลังจากจบเนื้อหาบนเวทีก็เป็นส่วนของงาน Networking ที่ผู้เข้าร่วมงานก็จะได้พูดคุยทำความรู้จักกับอีกหลายท่านในวงการ โดยหลายคนอาจจะมีการติดตามหรือเคยสนทนาผ่านทาง Social Network มาบ้าง
ซึ่งก็จะได้มาพบปะพูดคุยกับตัวจริงเสียงจริงในงาน ทางด้านสปีคเกอร์เองก็ยังอยู่พูดคุยกับผู้ร่วมงานต่อกันอีกยาวๆ เช่นกัน
สามารถชมเวทีสนทนาฉบับเต็มของ iCreator Meetup ครั้งที่ 2 ได้จากวิดีโอด้านล่าง :