ถอดรหัสทำคอนเทนต์จาก 3 YouTuber ไทยมีแววไปไกลสู่สายตาชาวโลก

💥กระแสของสื่อบันเทิงเกาหลีใต้นั้นบูมไปทั่วโลกจนทำให้คนรู้จักประเทศเกาหลี อยากฟังเพลง อยากดูซีรีส์ อยากกิน อยากใช้สินค้าและอยากไปเที่ยวประเทศเกาหลีมากขึ้น แล้วคุณเคยจินตนาการภาพของ Soft Power ไทยที่ไปไกลระดับโลกบ้างไหม?

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัจจัยสำคัญที่นำเกาหลีใต้ไปสู่ความสำเร็จคือ ‘การสนับสนุนจากภาครัฐ’ อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น การสนับสนุนด้านเงินทุน การส่งเสริมการฉายคอนเทนต์ รวมถึงการศึกษาตลาดในต่างประเทศ

นอกจากนี้ทางภาครัฐยังคำนึงถึงการผลิตคอนเทนต์ที่ควรมีการแปลภาษาให้สามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้ง่ายขึ้น ซึ่งก็ทำให้เกิดคำถามว่าแล้วประเทศไทยมีการสนับสนุนจากภาครัฐเพียงพอแล้วหรือยัง?

แต่ใช่ว่าไทยจะไม่มีการส่งออกสื่อบันเทิงที่โด่งดังแบบเกาหลี ตัวอย่างหนึ่งของการส่งออกสื่อสร้างสรรค์ของไทยไปไกลระดับโลกของไทย คือ การเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ซีรีส์วายลำดับต้น ๆ ของโลก ที่ได้รับความนิยมสูงอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมามีซีรีส์วายไทยหลายเรื่องถูกพูดถึงในโลกออนไลน์สูงเป็นอันดับ 1 ในแพลตฟอร์ม Twitter

ทั้งในภูมิภาคเอเชียและระดับโลก ซึ่งมันสะท้อนว่าไทยมีความสามารถในการแข่งขันและมีความพร้อมด้านทักษะบุคลากรในการผลิตคอนเทนต์ให้เป็นที่นิยมในต่างประเทศได้

บทความนี้จึงอยากจะนำเสนออีกมุมหนึ่งของการทำคอนเทนต์ที่ไม่ใช่เพลง ซีรีส์ หรือภาพยนตร์ แต่คือการเป็น YouTuber ที่สามารถสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่เรียกได้ว่า ‘ต่างชาติดูได้ คนไทยดูดี’ ที่มัดรวมเอา 3 ช่องที่มีจุดเด่นในการทำคอนเทนต์ต่างกัน

แต่ข้อดีเหล่านั้นสามารถส่งเสริมได้ทั้งแง่ของการทำคลิปให้เข้าถึงชาวต่างชาติกับแง่ของการรวมพลังที่อาจนำไปสู่การเป็น “สมาคมครีเอเตอร์ไทย” ในอนาคตตามเป้าหมายของซีรีส์คอนเทนต์ #Saveครีเอเตอร์Zone นั่นเอง!

💃🏻 ไม่รอช้ามาดูกันเลยดีกว่าว่า 3 YouTuber ที่ว่านั้นมีใครบ้าง

“I Roam Alone” 

เปิดมากับ YouTuber ผู้สาวขาลุยที่เดินทางผ่านมามากกว่าร้อยประเทศทั่วโลก “คุณมิ้นท์ –  มณฑล กสานติกุล” หรือ “มิ้นท์ I Roam Alone” เจ้าของช่อง I Roam Alone ใน YouTube ที่มีผู้ติดตามกว่า 3 ล้านคน และใน Facebook Page ที่ก็มีผู้ติดตามถึง 6 ล้านคน! ผู้สร้างจุดแข็งจากความเชื่อ ‘เป็นผู้หญิงก็เที่ยวคนเดียวได้’ 💁🏻‍♀️

เส้นทางการมาเป็นอินฟลูเอนเซอร์สายท่องเที่ยวหญิงเดี่ยวนั้นไม่ธรรมดาเพราะคุณมิ้นท์เชื่อมาแต่เริ่มว่าตนเองต้องการทำให้ความหลงใหลในการท่องเที่ยวกลายเป็นงานที่สามารถสร้างรายได้ และจุดแข็งของคุณมิ้นท์คือ เธอเป็นคนกล้าเสี่ยงพร้อมลุย พร้อมเรียนรู้อยู่เสมอ และที่สำคัญเลยคือ ไม่กลัวความผิดหวังและการเปลี่ยนแปลง สิ่งเหล่านี้ทำให้เธอกลายมาเป็น “มิ้นท์ I Roam Alone“ ดังเช่นทุกวันนี้

ซึ่งแน่นอนว่าการที่ช่องสามารถเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ได้ เป็นเพราะเธอให้ความสำคัญกับ ‘คอนเทนต์’ มาก โดยยึดหลักว่าในการท่องเที่ยวแต่ละครั้ง ต้องสื่อสาร Key Message บางอย่างออกไปให้คนดู

อย่างคลิปที่ไปเที่ยวบังกลาเทศที่มีประเด็นอ่อนไหวเรื่องการค้าประเวณีและเรื่องการข้ามเพศ คุณมิ้นท์ก็พยายามเสนอความเป็นจริงออกมาให้ไม่กระทบกับช่องว่างทางวัฒนธรรม และทำให้คนดูเกิดการเรียนรู้และตั้งคำถามบางอย่าง พูดง่าย ๆ ว่าคอนเทนต์ของเธอจะไม่ได้เป็นเพียงการพาเที่ยวแบบบันเทิง แต่ต้องเที่ยวให้ได้เรื่อง (ประเด็น) ด้วย!

คอมเมนต์ใต้คลิปจากคลิปบังกลาเทศ https://youtu.be/rZBjKmLB1XA

คอนเทนต์หลักของช่อง I Roam Alone ก็คือการท่องเที่ยวทั้งในต่างประเทศและในไทยที่ถ้ามองโดยภาพรวมแล้วเหมือนว่าจะเอนไปทางต่างประเทศมากกว่า แต่หลังจากวิกฤตโควิด-19 ก็ทำให้คุณมิ้นท์ได้กลับมาเที่ยวในประเทศมากขึ้น ซึ่งเธอก็ยัง Core Concept หลักเอาไว้คือ ‘ไปรู้ ไปเห็น ไปกิน’ 

ในจุดนี้เองก็เป็นจุดที่น่าสนใจว่าคอนเทนต์แบบนี้จะสามารถเป็น Soft Power ที่มาช่วยโปรโมตพื้นที่ในประเทศไทยให้ชาวโลกได้เห็น จากการที่แอบเข้าไปส่องคอมเมนต์ใต้คลิปเที่ยวไทยของคุณมินท์มา ก็พบว่าในหลายคลิปมีชาวต่างชาติมาคอมเมนต์ชื่นชมว่าเธอทำคลิปได้น่าติดตามและสนุกมาก

โดยจากที่เล่ามาทั้งหมด ทำให้สามารถดึงจุดเด่นที่น่าจะเป็นแนวทางให้เหล่าครีเอเตอร์สายเที่ยวได้นำไปปรับใช้กับช่องของตนเพื่อเพิ่มยอด Engagement จากทั้งคนไทยกันเองและชาวต่างชาติ

ดังนี้

  • เจาะจุดเด่น เน้นความเป็นเรา 

ที่บอกว่าใช้ความเป็นเราใส่เข้าไปนั้น ไม่ได้หมายความว่าสามารถพูดอะไรหรือแสดงความคิดเห็นอย่างไรก็ได้ แต่หมายถึงการใส่ประสบการณ์และการมีอารมณ์ร่วมของเราแทรกไปในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เจออย่างจริงใจ อีกทั้งหาจุดขายของช่อง เหมือนที่คุณมิ้นท์เน้นจุดขายว่า ‘ฉันจะไม่ไปที่ ๆ สบาย’ พร้อมทั้งนำเสนอข้อเท็จจริงที่เป็นจุดเด่นของสถานที่ต่าง ๆ เพื่อทำให้การเล่าเรื่องของเราดูน่าเชื่อถือและมีอะไรมากขึ้นกว่าการที่แค่ไปเที่ยวเฉย ๆ 

  • ข้อมูลแน่น แทรกความรู้คู่บันเทิง

จะเห็นได้ว่าเกือบทุกคลิปที่คุณมิ้นท์ลง จะมีการสอดแทรกข้อมูลที่ผ่านการรีเสิร์ชมาอย่างดีเพื่อทำให้ผู้ชมได้รับทั้งความบันเทิงและสาระความรู้ รวมถึงอาจทำให้เกิดการตั้งคำถามกับประเด็นต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์ หรือไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ แบบที่ช่องอื่น ไม่ได้ใส่เอาไว้ลงไป ก็ช่วยทำให้คลิปน่าสนใจขึ้นมาได้

  • ดึงดูดต่างชาติด้วยชื่อคลิปภาษาอังกฤษ

แน่นอนว่าภาษาที่คุณมิ้นท์ใช้ในการสื่อสารในคลิปจะใช้ภาษาไทยเป็นหลัก แต่เมื่อเราต้องการสื่อสารเรื่องราวบางอย่างออกไปในระดับสากลที่ กลุ่มเป้าหมายหลักไม่ใช่แค่คนไทยเพียงอย่างเดียว การตั้งชื่อคลิปเป็นภาษาสากลอย่างภาษาอังกฤษก็เป็นส่วนช่วยให้ชาวต่างชาติที่สนใจในหัวข้อคลิปนั้น ๆ กดเข้ามารับชมได้ แม้ว่าตอนแรกทาง YouTube จะยังไม่มี Auto-translate ให้ผู้ที่ไม่เข้าใจภาษาไทยก็ตาม

แต่ชาวต่างชาติหลายคนก็ยังติดตามคลิปของคุณมิ้นท์ จนถึงตอนนี้ที่มีการแปลภาษาแบบ Auto-translate เกือบร้อยภาษาทั่วโลกในคลิปแล้ว พวกเขาก็ออกมาคอมเมนต์ว่าดีใจที่ตอนนี้เข้าใจเนื้อหาในคลิปเสียที เพราะจะได้อินกับเนื้อหาที่เธอต้องการจะสื่อมากขึ้นไปอีก

“Yakcute” 

หลายคนอาจจะเคยเห็นช่องนี้ผ่าน ๆ จากคอนเทนต์สัมภาษณ์ฝรั่งตามสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง กับสโลแกนช่อง ‘เปิดหู เปิดตา เปิดใจ เพื่อสิ่งที่ดีขึ้น’ ที่มีผู้ติดตามใน YouTube กว่า 242K และใน Facebook Page กว่า 4 หมื่นคน และจุดน่าสนใจคือรายการหลักในช่องจะใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารเกือบ 100% 🗣

โดยคอนเทนต์หลักของช่องนี้คือรายการ “ฝรั่งคิดยังไง” ที่จะเป็นการเดินสัมภาษณ์ชาวต่างชาติในประเด็นต่าง ๆ ที่พวกเขาคิดเห็นเกี่ยวกับประเทศไทยทั้ง สิ่งที่ชอบ-ไม่ชอบ อาหารไทย ราคาสินค้า คนไทย แม้กระทั่งสายไฟฟ้าที่พันกันมากมายจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของกรุงเทพ เป็นต้น และจุดประสงค์หลักของรายการนี้คือ เพื่อให้คนไทยเข้าใจมุมมองของคนนอกที่เข้ามาเยือนบ้านเราดังสโลแกน ‘ฟังเขาให้รู้เรา’ 

จริง ๆ แล้วทางช่อง ‘Yakcute’ มีคอนเทนต์ที่หลากหลายที่ถูกแบ่งออกเป็นหลายรายการในช่อง โดยคอนเซปต์คือจะนำเรื่องที่ Niche หลาย ๆ เรื่องมาทำให้มัน Mass เช่น เรื่อง หวย ในรายการ “หวยเรียลลิตี้” ที่จะมาค้นหาเคล็ดลับพร้อมแชร์ทริกการซื้อหวยให้ถูกหวย! และยังมี รายการ ‘ยักษ์ไทยในต่างแดน รวมคนไทยเก่ง ๆ ในต่างประเทศ’ ที่นำเสนอความเจ๋งของคนไทยที่ทำอาชีพต่าง ๆ ในต่างประเทศ โดยทาง Yakcute ก็จับทางการทำคอนเทนต์แนวนี้มาเรื่อย ๆ

จนในตอนนี้ที่ทางช่องกำลังดันรายการใหม่ Thailand Guide’ ซึ่งเป็นรายการที่มี Target ผู้ชมชาวต่างชาติที่จะมาเยือนประเทศไทย ให้ได้รู้จักการใช้ชีวิตแบบไทยสไตล์มากขึ้น จากเดิมที่ Target หลักของช่องคือคนไทยด้วยกันเอง ซึ่งการปรับเปลี่ยนคอนเทนต์รวมถึงกลุ่มผู้ชมในครั้งนี้ก็เป็นที่มาที่ทางช่องเปลี่ยนชื่อช่องจาก ‘Yakcute TV’ เป็น ‘Yakcute Thailand Guide’ อีกด้วย

เมื่อชื่อรายการคือ Thailand Guide แน่นอนว่าเนื้อหาก็ต้องนำเสนออะไรไทย ๆ แน่นอน ซึ่งการเป็นไทยที่ว่านี้ไม่ใช่ รำไทย วรรณคดีไทย หรือ มวยไทย แต่คือความเป็น Thailad Only ที่อยู่ในชีวิจประจำของเรา ทั้ง อาหารและสถานที่ท่องเที่ยว อย่างคลิปในบางตอนก็เป็นคลิป How-to สั่งอาหารตามสั่งในร้านไท๊ยไทยที่ Local สุด ๆ หรือแม้แต่คลิปแนะนำรถขายผลไม้ตามทาง ให้ฝรั่งรู้ถึงความเป็นไทยจากปากเจ้าของประเทศเอง

จากที่ร่ายมายืดยาว ก็สามารถจับใจความจุดเด่นที่อาจทำให้ช่องนี้ไปสู่สากลได้ และจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้มากขึ้นไปอีกหากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐหรือหส่วยงานที่เกี่ยวข้องมีดังนี้

  • Speak English! ใช้ภาษากลางสื่อสารกับสากล 

แน่นอนว่าหากจะพาช่องไปสู่ระดับสากล ก็ต้องใช้ภาษาที่คนทั่วโลกเข้าใจอย่างภาษาอังกฤษเป็นหลัก ซึ่ง Yakcute สามารถทำมันออกมาได้ดี จากทั้งคอนเทนต์สัมภาษณ์ชาวต่างชาติเกี่ยวกับมุมมองที่มีต่อประเทศไทย รวมถึงคอนเทนต์แนะนำคนต่างประเทศที่มาไทยในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งคอนเทนต์ทั้งสองแบบก็ต่างใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร

ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้ชมที่ไม่ว่าจะมาจากชาติไหนสามารถเข้าใจได้ โดยความเข้าใจนี้จะนำไปสู่การเรียนรู้ จนกระทั่งนำไปทำตาม และสิ่งเหล่านี้แหละที่จะสามารถเป็น Soft Power ได้!  

  • ‘Thailand Only’ Content

แม้ว่าทางช่อง Yakcute จะมีหลายรายการในนั้น แต่ทุกรายการจะเกี่ยวกับอะไรที่เจอได้ในไทยเท่านั้น ซึ่งรายการหลัก 2 รายการ คือ ‘ฝรั่งคิดยังไง’ กับ รายการใหม่ล่าสุดที่ทางช่องกำลังพยายามดันอยู่อย่าง ‘Thailand Guide’ นี้ ก็ต่างนำเสนอมุมมองจากทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ที่ต่างฝ่ายต่างได้ถ่ายทอดเรื่องราวของตัวเองที่ผูกกับความเป็นไทย

เช่น วิธีการสั่งอาหารตามสั่งไทย ของที่ต้องลองใน 7-11 หรือพาเที่ยวจตุจักร เป็นต้น ซึ่งมันก็ไม่ยากที่จะทำให้คนต่างชาติที่ดูรู้จักประเทศเรา และอาจจะนำเรื่องที่ชวนว้าวไปเล่าต่อหรือมาเยือนประเทศไทยในอนาคตก็เป็นได้

  • Production แบบเข้าถึงง่าย สบาย สบาย~

โลกหมุนไป กระแสการเสพสื่อก็เปลี่ยนไป สมัยนี้คนส่วนมากจะสนที่ตัวเนื้อหามากกว่าความจริงจังของ Production ซึ่งนั่นก็หมายความว่า คุณไม่จำเป็นต้องถ่ายทำจากกล้องที่ดีที่สุด หามุมถ่ายทำที่เป๊ะหรือใส่เอฟเฟกต์สุดอลังการในคลิป แต่ถ้าเนื้อหาของคุณดีและเข้าใจง่าย คุณก็สามารถทำให้คนติดตามช่องของคุณได้ 

“ยกกำลัง” 

มาแรงแซงทางโค้งกับช่อง YouTube สายเอนเตอร์เทนเมนต์ ‘ยกกำลัง’ ที่มีผู้ติดตามใน YouTube กว่า 7 แสนคน และใน Facebook Page เกือบ 3 แสนคน! ที่ทางช่องเน้นความสนุกแต่ก็แอบแทรกความรู้วัยเรียนเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ผู้ชมได้หวนคิดถึงวันวานในอดีต และการรวมตัวกันของ YouTuber ชื่อดังหลากหลายสาย ไม่ว่าจะสายกิน สายเกม สายเที่ยว สายความรู้ สายดนตรี และสายบิวตี้ เรียกได้ว่าอัดแน่นครบรสมาก ๆ ✨

การรวมตัวกันของ YouTube หลายสายขนาดนี้ก็ทำให้ฐานผู้ติดตามของช่องเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เป็นที่น่าสังเกตว่า หากการรวมตัวกันของครีเอเตอร์สุดปังทำให้เกิดพลังมากมายขนาดนี้เป็นไปได้ไหมว่า ถ้าประเทศไทยของเรามีการรวมตัวของครีเอเตอร์จากทั่วประเทศ หรือ ‘สมาคมครีเอเตอร์ไทย’ เกิดขึ้น มันจะมีอะไรที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้นบ้าง อย่างเช่นคอนเทนต์ของไทยอาจโกอินเตอร์ได้มากขึ้น และทำให้ชาวต่างชาติรู้จักประเทศไทยในมุมมองใหม่ที่ทันสมัยมากกว่าเก่า

และอะไรคือข้อดี ข้อเด่น ที่น่าสนใจของการรวมตัวจากเคสของช่อง ‘ยกกำลัง’ ล่ะ?

  • Creator Community “รวมกันมาก พลังยิ่งมาก” 

ช่องยกกำลังเกิดจากการรวมตัวของ YouTuber 10 ช่องในสายต่าง ๆ ที่ได้เกริ่นไปก่อนหน้านี้ แต่ละช่องมีผู้ติดตามประมาณหนึ่งอยู่แล้ว ทำให้เมื่อรวมตัวกันแล้วยอด Subscription และ Engagement เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะผู้ชมก็ต่างอยากดูครีเอเตอร์คนโปรดของตน

นอกจากนี้ช่องนี้ยังมีแขกรับเชิญคนดังมากมายที่มาทำให้การเล่นเกมสนุกยิ่งขึ้น เช่น พี่โดม-จารุวัฒน์ เจ้าของค่าย LIT Entertainment ที่มาพร้อมกับ เปา วง Bamm, มาเบล วง Pixxie, didixdada และ Proo thunwa เป็นต้น! 

ซึ่งการรวมตัวกันทำให้ช่องมีเอกลักษณ์และเป็นที่นิยม จนสามารถชวนเหล่าผู้มีชื่อเสียงมาได้หลายคนแบบนี้ หรือนี่อาจจะเป็นไอเดียบางอย่างที่นำไปสู่การรวมตัวของครีเอเตอร์ เพื่อทำให้เสียงของคนทำคอนเทนต์ดังขึ้น จนอาชีพนี้มีพลังเท่าเทียมกับอาชีพอื่น ๆ และได้รับการสนับสนุนด้านสวัสดิการจากรัฐ อาทิ เงินทุน อุปกรณ์ ประกันสังคม รวมถึง มาตรฐานราคากลางในการจ้างงานต่าง ๆ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคตได้หรือไม่ ?

  • บันเทิงย่อยง่ายแถมได้สาระ

คอนเทนต์ที่เป็นเกมเน้นความบันเทิงที่ให้คนดูได้คลายเครียดจากภาระหน้าที่ในแต่ละวัน และยังสามารถ Relate ได้ง่าย ผ่านครีเอเตอร์คนโปรด อย่าง

เกม ‘คำต้องเชื่อม’ ที่เป็นเกมโด่งดังที่สุดของช่องนั้นก็เป็นเกมทดสอบคำศัพท์รอบตัวที่ใช้ความรู้เกี่ยวกับหลักภาษาไทยเป็น หมวดคำนาม คำกริยา และคำวิเศษณ์ เป็นต้น นอกจากนี้เกมนี้ยังวัดความไหวและไหวพริบของผู้เล่นอีกด้วย 

  • เนื้อหาหลากหลายครบเครื่อง

อย่างที่บอกว่าช่องนี้มีครีเอเตอร์หลายสาย จึงทำให้คอนเทนต์เกิดความครีเอทีฟตามไปด้วย แต่ละรายการย่อย อย่างเช่น รายการ ‘1 คำถาม 3 วิ’ มีกิมมิกความสนุกอยู่ที่ตัวคำถามที่เรียบง่ายแต่สามารถนำไปสู่คำตอบสุดแปลกได้และมีความกดดันจากการที่ผู้เล่นแต่ละคนจะต้องตอบคำถามให้ได้ภายใน 3 วินาที

นอกจากนี้ยังมีรายการ ‘Budget Challenge’ ที่ผู้เข้าแข่งขันจะต้องรังสรรค์เมนูตามโจทย์มาให้ได้ภายในงบและเวลาที่กำหนด ซึ่งกิมมิกคือครีเอเตอร์บางคนไม่ได้อยู่เมืองไทย หากได้งบเป็นจำนวนเงินที่น้อยก็ต้องไปต่อสู้กับเรื่องของค่าเงินที่ต่าง แต่ก็ต้องทำภารกิจให้สำเร็จให้จงได้นั่นเอง!

——————————————————————————————————————————

จากตัวอย่าง YouTuber ไทยทั้ง 3 ช่องที่มีจุดเด่นการทำคอนเทนต์แตกต่างกัน ซึ่งเอกลักษณ์เหล่านั้นก็เป็นจุดขายให้แต่ละช่องได้อย่างน่าสนใจ และยังสามารถดึงดูดชาวต่างชาติให้เข้ามาดูได้ เป็นไปได้ว่าสิ่งนี้ก็อาจนำไปสู่การแผ่ขยายของ Soft Power ความเป็นไทยในรูปแบบความบันเทิง หรือเรื่องราวที่ใกล้เคียงชีวิตประจำวันมากกว่าความเป็นไทยเชิงวัฒนธรรมเพียงอย่างเดียว

อย่างที่ช่อง I Roam Alone ตั้งชื่อคลิปเป็นภาษาอังกฤษเพื่อดึงดูดฐานคนดูต่างชาติ หรือจากการที่ช่อง Yakcute ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารคอนเทนต์ผ่านความไทยเป็นหลัก จนถึงการรวมตัวของครีเอเตอร์ชื่อดังหลากหลายสายของช่อง ‘ยกกำลัง’ ก็ทำให้เห็นว่าเมื่อครีเอเตอร์มารวมตัวกันแล้วทำให้ช่องทรงพลัง และสร้างอะไรใหม่ ๆ ที่น่าสนใจให้วงการมากขึ้น

แถมยังอาจเป็น Role Model ของการสร้าง Creator Community ที่สามารถผลักดันให้เกิด ‘สมาคมครีเอเตอร์’ ในอนาคตที่อาจช่วยให้ครีเอเตอร์ตัวเล็ก ๆ สามารถเติบโตได้ในสายงานนี้ จนอาจนำไปสู่การสนับสนุนอย่างเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นจากภาครัฐ ไปจนถึงการทำให้ครีเอเตอร์ไทยเป็นที่รู้จักในระดับสากลนั้นจะไม่เป็นเพียงเรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป ! 

รอติดตามซีรีส์คอนเทนต์สุดพิเศษที่จะมาเจาะลึกวงการครีเอเตอร์โดยเฉพาะ ได้ที่เพจ RAiNMaker พร้อมติดแฮชแท็ก #Saveครีเอเตอร์Zone ได้เลย!

 

อ้างอิง:

https://www.isranews.org/article/isranews-article/112220

https://themomentum.co/atthemoment-mintiroamalone/ 

#Saveครีเอเตอร์Zone

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save