จะเกิดอะไรขึ้น?! ถ้าภาครัฐไทยผลักดันกลุ่มอาชีพมาแรงแห่งยุคอย่าง “Content Creator” ให้เป็น “เสือตัวที่ 5” ผู้นำวงการ Creator Economy แห่งภูมิภาคเอเชีย!
💙 เป็นไปได้ไหมถ้าเราจะมี “สมาคมครีเอเตอร์ไทย” ?! หากคุณสงสัยทำไมวงการคอนเทนต์ยังไม่มีสมาคมเสียที รอติดตามซีรีส์คอนเทนต์สุดพิเศษที่จะมาเจาะลึกวงการครีเอเตอร์โดยเฉพาะ ได้ที่เพจ RAiNMaker พร้อมติดแฮชแท็ก #Saveครีเอเตอร์Zone ได้เลย!
“ไทยจะกลายเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย” คือ วาทกรรมที่เราได้ยินมาตลอด 30 ปี ว่าจะเร่งผลักดันให้เศรษฐกิจประเทศเราเติบโต เพื่อก้าวเป็นผู้นำเศรษฐกิจระดับภูมิภาคร่วมกับประเทศเสือใหญ่อีก 4 ประเทศอย่าง ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง และเกาหลีใต้
ซึ่งตอนนี้ประเทศเสือใหญ่ทั้ง 4 เติบโตมาก จนกลายเป็นที่จดจำในฐานะผู้นำเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ อย่าง
- 🇹🇼 ไต้หวัน : Technology Hub ของโลก
- 🇸🇬 สิงคโปร์ : ศูนย์กลางธุรกิจไมซ์ (MICE) Meetings, Incentives, Conventions, และ Exhibitions
- 🇭🇰 ฮ่องกง : ศูนย์กลางทางการเงินโลก
- 🇰🇷 เกาหลีใต้ : อุตสาหกรรมบันเทิง เช่น K-POP และ K-Series ที่ได้รับความยอมรับจากทั่วโลก
แต่จากปี 1992 มาจนถึงปี 2023 นี้ ประเทศไทยของเรายังถูกจัดอยู่ในกลุ่ม ‘ลูกเสือเศรษฐกิจ’ (Tiger Cub Economies) ซึ่งล้วนประกอบไปด้วยประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งสิ้น แล้วทำไมไทยเรายังเป็นได้แค่ลูกเสือล่ะ? เกิดอะไรขึ้นกับเรากันนะ?
ไทยกับนโยบายเศรษฐกิจสื่อสร้างสรรค์
หากพูดถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ คงเป็นการหาวิธีให้นักลงทุนสนใจประเทศเรา โดยการส่งเสริมกิจการด้วยเทคโนโลยีทันสมัย รวมถึงธุรกิจให้บริการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน จึงพบว่ามีการผลักดันสายอาชีพยอดฮิตอย่าง นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร นักพัฒนาซอฟต์แวร์ และธุรกิจสตาร์ทอัปรุ่นใหม่
ในช่วงการฟื้นฟูประเทศหลังการแพร่ระบาด Covid-19 อุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจไทย ซึ่งนอกจากจะเป็นสายอาชีพครีเอทีฟ อย่าง ภาพยนตร์ แฟชัน โฆษณา และดนตรีแล้ว ยังมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นตัวแทน Soft Power ไทย เช่น ศิลปะหัตถกรรมไทย สถาปัตยกรรม และการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่เป็นจุดแข็งของประเทศเรา
เป็นเพราะเราเข้าใจว่า Soft Power จำกัดอยู่แค่วัฒนธรรมไทย จึงทำให้รัฐบาลมุ่งผลักดันนโยบาย Creative Economy “แบบไทย ๆ“ แต่ใครจะรู้ว่าในเวลาต่อมามันอาจจะทำให้อุตสาหกรรมอาชีพอื่น ๆ ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเสียแทน
คอนเทนต์ครีเอเตอร์ คลื่นลูกใหม่ของวงการสื่อสร้างสรรค์
ที่น่าสังเกต คือ “สื่อใหม่” อาทิ เว็บไซต์ บล็อก และแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ เติบโตอย่างก้าวกระโดด ทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่มาแรงอย่าง Creator Economy ที่มีคนสร้างคอนเทนต์ หรือ “คอนเทนต์ครีเอเตอร์” เกิดขึ้นมากมาย ดังวลีที่ว่า “ใคร ๆ ก็เป็นครีเอเตอร์ได้”
ยกตัวอย่างเช่น YouTuber TikToker คนทำเพจ Facebook และนักวาดสติกเกอร์ LINE ที่หลายคนสร้างชื่อเสียงโด่งดังระดับโลกจนสร้างรายได้มหาศาลอีกด้วย!
จากรายงานของ Policy Circle แสดงให้เห็นว่า Creator Economy มีสัดส่วนระหว่าง 2% ถึง 7% ของ GDP แต่ละประเทศทั่วโลก หรือราว 6.1% ของ GDP รวมทั้งหมดของโลก หมายความว่า Creator Economy กำลังก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในภาคเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างเต็มตัวแล้ว
เพราะว่าพฤติกรรมผู้บริโภคในตอนนี้ให้ความสนใจต่อสินค้าและคอนเทนต์ที่มีเอกลักษณ์ ทำให้แบรนด์และธุรกิจต่าง ๆ เริ่มหันมาลงทุนกับการทำคอนเทนต์เพื่อการตลาดโดยเฉพาะดิจิทัลคอนเทนต์มากขึ้น และแน่นอนว่าคนที่แบรนด์ต้องเลือกมองหาก็คือ คอนเทนต์ครีเอเตอร์!
กระนั้น แม้ว่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ จะถูกเรียกว่าเป็นคลื่นลูกใหม่ของอุตสาหกรรม Creative Economy แต่ถ้าให้มองเส้นทางอาชีพนี้ในอนาคตกลับมีข้อกังวลอย่างหนักว่าเสี่ยงตกงานสูงเสียอย่างนั้น
มีรายงานคาดการณ์ว่าแรงงานสร้างสรรค์ (ซึ่งครีเอเตอร์ก็เป็นหนึ่งในนั้น) มีแนวโน้มลดลง จากที่ในปี 2021 มีอยู่ประมาณ 9.3 แสนคน เพราะว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตช้า มีคนตกงานมากขึ้น และกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
อีกทั้งยังมีเสียงจากแรงงานสร้างสรรค์และครีเอเตอร์หลายคนว่า เป็นเพราะตลาดครีเอเตอร์ไม่มีการตั้งราคากลางที่ชัดเจน ครีเอเตอร์ที่เป็นฟรีแลนซ์ไม่ได้มีรายได้ประจำ หรือบางคนมีพรสวรรค์ในการสร้างสรรค์คอนเทนต์แปลกใหม่แต่ขาดเงินทุนซัพพอร์ตด้านอุปกรณ์ จนต้องบอกลาอาชีพนี้ไปทำอย่างอื่นแทน
How To เป็นเสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย
คงจะดีถ้าไทยเราผลักดัน Creator Economy ให้เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศจนก้าวเป็นเสือตัวที่ 5 แห่งเอเชียโดยให้ครีเอเตอร์เหมือนเหมือนดั่งสัญลักษณ์ของประเทศไทย เนื่องจากความคิดสร้างสรรค์คือหนึ่งในเอกลักษณ์ของครีเอเตอร์ไทยอยู่แล้ว
หากแต่ถ้าต้องการให้วงการครีเอเตอร์เติบโตมาเป็นเสือใหญ่ได้เราต้องมี “ระบบ” ที่สนับสนุนความสามารถของพวกเขามากขึ้น ฉะนั้น เราลองมาดูกันดีกว่าว่ารัฐต้องทำอะไรจึงจะสามารถผลักดันครีเอเตอร์ให้เป็นเสือใหญ่ได้บ้าง!
1.นโยบาย Creative Economy: เพิ่มการรับรู้ตัวตนคนเป็นครีเอเตอร์
อย่างที่กล่าวไปว่านโยบาย Creative Economy เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่มุ่งเน้นพัฒนาในสายอาชีพสร้างสรรค์ต่าง ๆ ทว่า ข้อสังเกตที่พบกลับไม่มีอุตสาหกรรมใดที่เจาะจงถึงคนทำคอนเทนต์แยกออกมาเลย ทั้ง ๆ ที่ตอนนี้เรามีตัวเลขที่แน่ชัดแล้วว่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ทำเงินในตลาดได้สูงมาก
หรืออาจเป็นเพราะว่าคนไม่ค่อยรับรู้กันว่า ครีเอเตอร์ก็สามารถแยกออกมาเป็นหมวดอาชีพหนึ่งเพิ่มเติมจากอาชีพสายครีเอทีฟได้?
หากมีการผลักดันให้สังคมรับรู้ถึงความสามารถของครีเอเตอร์มากกว่านี้ จะเป็นไปได้ไหมว่ารัฐจะหันมาทำนโยบายเพื่อครีเอเตอร์ เหมือนกับที่นักวาดรูป คนทำหนัง คอลัมนิสต์กำลังเรียกร้อง เพราะถ้ารัฐหันมา ไม่ว่าจะปัญหาความเหลื่อมล้ำของครีเอเตอร์ที่ไม่มีเงินลงทุน ไร้ประกันสังคม หรือแม้แต่ปัญหาลิขสิทธิ์คอนเทนต์ก็จะหมดห่วงไปได้
เป็นเรื่องที่น่ายินดีหากเรามีนโยบาย Creative Economy ที่เจาะถึงปัญหาพร้อมหนทางแก้ไขที่ตอบโจทย์พวกเขา ซึ่งสักวันหนึ่งอาจทำให้วงการครีเอเตอร์ไทยเติบโตจนก้าวเป็นผู้นำวงการครีเอเตอร์ของเอเชียก็เป็นได้!
2.นโยบาย Knowledge Economy: มี Ecosystem บ่มเพาะความสามารถ
เศรษฐกิจบนฐานความรู้เป็นนโยบายแบบใหม่ ที่คาดว่าจะช่วยให้เราก้าวออกจากระบบเศรษฐกิจแบบเดิม ๆ ผ่านการสร้างสรรค์ จัดหาและเผยแพร่คอนเทนต์ที่มอบความรู้พร้อมความสนุก และสามารถต่อยอดเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นใหม่ หรืออาจถูกแชร์เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก จนเกิดเป็นรายได้มหาศาล
ซึ่งในยุคที่กระแสครีเอเตอร์กำลังมาแรงทั่วโลก พวกเขาก็เป็นหนึ่งในอาชีพที่สามารถถ่ายทอดความรู้และความคิดสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดีไม่ต่างจากอาชีพไหน ๆ แถมยังเข้าถึงได้ง่ายด้วย
การพัฒนาเศรษฐกิจเช่นนี้จำเป็นต้องมีแรงงานที่มีความรู้และความสามารถ แต่ปัญหาคือตอนนี้เรายังไม่มีระบบที่เอื้อให้ครีเอเตอร์แสดงความสามารถและความสร้างสรรค์ออกมาได้อย่างเต็มที่จนเป็นที่นิยมได้เหมือนต่างชาติ
ดังนั้น เพื่อให้สถานภาพทางเศรษฐกิจไทยขยับจาก “ลูกเสือ” เป็น “เสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย” การผลักดันสายอาชีพคอนเทนต์ครีเอเตอร์ พร้อมสร้างแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ให้พวกเขา ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะครีเอเตอร์อาจเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจไทยได้มหาศาล แบบที่ใครก็ต้องคาดไม่ถึงอย่างแน่นอน!
#Saveครีเอเตอร์Zone
อ้างอิง: Learnworlds, NXPO, Investerest, Isranews, Prachachat, Thepolicycircle