SEO (Search Engine Optimization) เป็นส่วนสำคัญที่ทุกเว็บไซต์ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับต้นๆ หลายคนมองว่าในส่วนนี้เป็นหน้าที่ของผู้พัฒนาเว็บไซต์ที่ต้องเขียนโค้ดให้มีมาตรฐานตามเอกสารของ Google
แต่นอกจากโค้ดหลังบ้านแล้ว สิ่งหนึ่งที่มีผลตามมาหลังจากมีเว็บไซต์ที่ดีนั่นคือบทความระดับคุณภาพ ซึ่งความคุณภาพนี่แหละที่เป็นสมมบัติที่จะใช้ได้อีกยาว
ดังนั้นหน้าที่ที่จะทำให้เว็บไซต์กลายเป็นเว็บที่มีคุณภาพ มี keyword หลายตัวติดอยู่บนหน้าแรกของ Google จึงเป็นหน้าที่ของนักเขียนส่วนหนึ่งที่ต้องทำให้ถูกต้อง ตรงนี้สำหรับนักเขียนเองก็มีเรื่องที่ต้องคำนึงถึงขณะทำบทความเช่นกัน ลองมาดูกันครับ
Focus Keyword ที่ต้องการ
การวาง Keyword นั้นต้องใช้ศิลปะของคนทำคอนเทนต์ในการวางลงไปในจุดต่างๆ ที่มีการกระจายอย่างเหมาะสม และยังต้องอ่านได้อย่างลื่นไหลด้วย
อันดับแรกให้เราหา Keyword ที่เราต้องการสำหรับบทความนั้นขึ้นมาหนึ่งคำ โดยที่เราจะนำ Keyword ตัวนี้ไปวางในบทความให้ถูกที่และเหมาะสมที่สุด โดยเจ้า Keyword นั้น ต้องไปอยู่ใน Heading 1, Heading 2 และ 3 (ถ้ามี), URL Slug, ชื่อรูปภาพ และในเนื้อหา
โดยจำนวนของ Keyword สำหรับการวางในเนื้อหานั้นขึ้นอยู่กับความยาวของเนื้อหาเป็นปัจจัยหลัก ไม่ควรวางมากเกินไป เพราะ Google จะมองว่าเรากำลัง Spam Keyword ซึ่งจะส่งผลไม่ดีกับคะแนน SEO ทั้งเว็บไซต์
ชื่อบทความ (Heading 1)
อยากให้นักเขียนใช้เวลากับตรงนี้ให้นานในการสร้างประโยคที่เป็นชื่อบทความให้มีความไพเราะพร้อมกับช่วยในเรื่องของ SEO โดยบังคับเลยว่าต้องมี Keyword ที่เราต้องการอยู่ในนี้หนึ่งคำในส่วนนี้จะมีผลมากๆ กับบทความ และพยายามนำคำนั้นมาอยู่ด้านหน้าสุดของประโยคให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ความยาวที่เหมาะสมก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ แต่เนื่องจากไม่ได้มีเอกสารจาก Google ระบุตายตัวว่า alphabet ภาษาไทยนั้นเหมาะสมที่กี่ตัวอักษร แนะนำให้สังเกตจากตอนที่เราค้นหาใน Google เอาว่าเป็นความยาวที่ไม่มากเกินไปจนถูก Google ตัดคำจึงจะเหมาะสม
สุดท้ายให้จำไว้ว่า ใน 1 URL เราจะมี Heading 1 ( tag <H1> ) ได้แค่เพียงชุดเดียวเท่านั้น
หัวข้อย่อย (Heading 2)
สำหรับ Heading 2 นั้น ส่วนมากวัตถุประสงค์ในการใช้เรามักจะทำเป็นหัวข้อย่อยรองลงมาจากชื่อบทความ อาจจะเป็นบทความ Listing ต่างๆ ให้ใช้ Heading 2 ไปเลย และถ้ามีโอกาสเหมาะสม ก็ให้นำ Keyword ไปใส่ไว้ในนั้นด้วย
URL Slug
เว็บไซต์ที่คุณเขียนอาจจะตั้งค่า URL แตกต่างกัน บางเว็บไซต์จะมีวันที่ขึ้นก่อน ตามด้วย Slug บางเว็บไซต์มี Slug ล้วนๆ หรือบางเว็บไซต์จะใช้รหัสเป็น URL ในส่วนนี้คุณควบคุมไม่ได้ (หรือถ้าอยากเปลี่ยน format ก็ลองสะกิด Webmaster ดู แต่ตรงนี้ค่อนข้างเป็นเรื่องใหญ่นะ)
ถ้าในบทความนั้นคุณสามารถใส่ Slug ได้ด้วยตัวเอง ให้คุณใช้ภาษาอังกฤษในการสร้างประโยค วรรคแบ่งคำด้วยเครื่องหมาย – เช่น seo-checklist-for-editor ด้วยความยาวที่เหมาะสม ถ้าคิดอะไรไม่ออก ก็นำชื่อความมาแปลเป็นภาษาอังกฤษก็ได้
และสำคัญอีกเช่นกัน คุณต้องนำ keyword ไปยัดไว้ใน Slug ด้วย
ขนาดของรูปภาพ
ขนาดของรูปภาพจะมีผลกับความเร็วในการโหลดหน้าค่อนข้างมาก ซึ่งความช้า-เร็วก็จะมีผลกระทบไปยังคะแนนของ SEO อีกเช่นกัน คนทำบทความต้องใส่ใจกับขนาดของรูปภาพด้วย ไม่ควรอย่างมากที่นำภาพจากกล้อง DSLR หรือโทรศัพท์ไปยัดใส่ในบทความโดยไม่ผ่านกระบวนการ เพราะขนาดนั้นอย่างน้อยๆ ก็ 3-4 MB แน่นอน ซึ่งมันใหญ่เกินความจำเป็น
ในส่วนนี้แนะนำให้ดูจาก layout ของหน้าบทความว่ามีพื้นที่ในการแสดงผลสูงสุดเท่าไหร่ (โดยมากความกว้างจะอยู่ที่ 800-1,000 Pixel) ให้เราใช้ภาพไม่เกินความกว้างนั้น และใช้นามสกุลภาพ .jpg ก็เพียงพอแล้วสำหรับเว็บไซต์ ขนาดหนึ่งภาพจะอยู่ที่ไม่เกิน 600kb เท่านั้น
โดยส่วนมาก บก. จะเป็นผู้กำหนดรูปแบบการใช้ภาพอยู่แล้ว ซึ่งก็ควรปฎิบัติตามอย่างเคร่งครัด ใช้เวลากับมันหน่อยเพื่อให้ผลออกมาดีที่สุด
ใส่ Link ให้ถูกต้อง
เมื่อมีการใส่ Link เพื่อเชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์อื่น (Backlink) อาจจะเพื่อให้เครเดิตหรือพูดึงสิ่งที่เกี่ยวข้องก็ตามให้ตรวจสอบว่าเว็บไซต์นั้นมีความน่าเชื่อถือด้วย
การใส่ Link นั้นแนะนำให้ใส่โดย Link Text แทนการแปะ URL เพียวๆ เช่น ไม่ใช่แค่เขียนข่าว Publisher ยุคใหม่ ใช้ความฉลาด สร้างสรรค์ ครองพื้นที่บนสมองของผู้อ่าน ดีกว่า https://www.rainmaker.in.th/being-smart-publisher/ (ส่วนมาก CMS จะมีเครื่องมือช่วยเหลือในส่วนนี้อยู่แล้ว)
รวมไปถึงถ้ามีเว็บไซต์เรามีบทความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่กำลังพูดถึง ก็ให้ทำ Link ไปยังบทความนั้นด้วย (Internal Link) จะได้คะแนนพิศวาสจาก Google เล็กน้อย (ใส่ให้พอสมควรนะ อย่ายัดเยอะมาเกินไป)
สำคัญมากคือให้ระวังเรื่อง Link เสียด้วย เมื่อมี Link เสียบนเว็บจำนวนมากจะทำให้คะแนน SEO เสีย ถ้าเว็บที่รันด้วย CMS อย่าง WordPress ให้หา Plugin ที่ใช้ตรวจสอบ Link เสียเอาไว้ด้วย กดเช็คสัปดาห์ละครั้งกำลังดี
การเว้นวรรคและย่อหน้าให้ถูกจังหวะ
Readability เองก็มีผลกับคะแนน SEO ไม่น้อย นอกจากเว็บเราต้อง Responsive อ่านได้ทุก Device แล้ว บทความของเราก็จำเป็นต้องอ่านง่ายด้วยเช่นกัน
ในขณะที่เราเขียนให้นึกถึงการอ่านจากหน้าจอที่เล็กที่สุดเป็นหลัก ซึ่งก็คือโทรศัพท์มือถือนั่นเอง ถึงแม้ส่วนใหญ่เราจะ Preview กันบน Desktop แต่ก็ให้กด Preview บนโทรศัพท์ของเราด้วย เมื่อทำบ่อยๆ เข้า ก็จะทราบว่า Layout บนเว็บไซต์เราต้องเขียนกี่บรรทัดที่เหมาะสมบนโทรศัพท์
แอบบอกนิดหนึ่งว่าการอ่านย่อหน้านั้น bot ของ google ไม่ได้ฉลาดพอที่จะดูระยะห่างการขึ้นบรรทัดใหม่ แต่จะดูจาก Tag HTML เช่น <p> </p> ตรงนี้คนเขียนบทความอาจจะตรวจสอบด้วยตัวเองยากเล็กน้อยครับ