แม้งาน “บางกอกไพรด์ 2023” ซึ่งถือเป็นการเฉลิมฉลอง Pride Month ปีที่ 2 ของไทย ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2566 จะจบลงไปแล้ว แต่ก็เป็นอีกปีที่ถูกพูดถึงบนโลกโซเชียลเป็นอย่างมาก ทาง บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงได้รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเครื่องมือ Social Listening อย่าง ZOCIAL EYE มาแชร์กัน!
โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 1 – 11 มิถุนายน 2566 พบว่า มีการพูดถึงเกี่ยวกับการเฉลิมฉลองและความหลากหลายบนโซเชียลมีมากกว่า 38,547 ข้อความ และเพียงไม่กี่วันก็มีจำนวนเอ็นเกจเมนต์มากถึง 26,993,306 เอ็นเกจเมนต์ ที่ถือว่าได้รับความสนใจและถูกพูดถึงมากยิ่งขึ้นบนโซเชียลมีเดียตามลำดับ คือ
- Facebook (39%)
- Twitter (35%)
- Instagram (19%)
- อื่น ๆ (7%)
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการโพสต์รูปภาพงานเดินขบวนพาเหรดผ่านแฮชแท็ก #BangkokPride2023 และ #บางกอกไพรด์2023 ทั้งจากเหล่าคนดัง ดารา นักร้อง นักแสดงต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีกระแสของการพูดถึง #สมรสเท่าเทียม ที่ถูกพูดถึงตั้งแต่ปีที่ผ่านมา
และเพราะการผลักดันของผู้ว่ากรุงเทพฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และเหล่านักการเมือง มาร่วมเดินขบวนพาเหรดและมีการพูดถึงเรื่องนี้อีกครั้ง ยิ่งทำให้มีกระแสการพูดถึงในวงกว้างมากขึ้น สร้างการรับรู้และความเข้าใจในเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้นด้วย พร้อมประเด็นที่น่าสนใจในบางกอกไพรด์ คือ
รังสรรค์ชุดอย่างสร้างสรรค์
แน่นอนว่าสิ่งที่ทำให้งานบางกอกไพรด์มีสีสันที่สุด ก็คือการรังสรรค์ชุดต่าง ๆ ในการมาร่วมเดินขบวนพาเหรด รวมไปถึงคำพูด หรือคำคมต่าง ๆ ที่แสดงถึงพลังแห่งความหลากหลาย
อย่างเสื้อของพิธา ที่ใส่มาร่วมเดินขบวน และกลายเป็นไวรัลในโซเซียล เพราะมีการแคปนำมาโพสต์ถึงความสวยงามของเสื้อที่ไม่จำกัดเพศของคนใส่ หรืออีกหนึ่งคนอย่างช่อ พรรณิการ์ อดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ ก็รังสรรค์มาในชุด ‘Amy Winehouse’ นักร้องดังระดับตำนาน จนคนบนโซเชียลต่างก็แห่ชื่นชมในความปังครั้งนี้ด้วย
แต่นอกจากชุดที่สวยงามแล้ว ยังมีสัตว์เลี้ยงอย่าง ‘หญิงโม’ น้องหมาชิวาว่าสายแฟ ที่เกิดไวรัลเพราะศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย อุ้มน้องถ่ายรูปแล้วน้องทำตาหวานใส่ จนเกิดไวรัลบนโซเชียลอย่างรวดเร็ว สะท้อนให้เห็นถึงความเปิดกว้างที่ไม่ใช่เฉพาะแค่กับมนุษย์ แต่ยังเปิดกว้างไปถึงสัตว์เลี้ยงตัวน้อย ๆ ที่ร่วมโลกกับเราเช่นกัน
การกลับมาอีกครั้งของความหวัง ‘สมรสเท่าเทียม’
แม้สภาจะรับเรื่องหลักการสมรสเท่าเทียมในวาระหนึ่งไปแล้วเมื่อ 15 มิถุนายน 2565 นับตั้งแต่นั้นมาประชาชนก็มีการจับตามองมาโดยตลอด แต่ด้วยสถานการณ์ทางการเมือง และความซับซ้อนในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่นำมาสู่สถานการณ์สภาล่มบ่อยครั้ง ส่งผลให้ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม รวมถึงร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตอาจไม่ถูกพิจารณาจบครบทุกกระบวนการได้ภายใต้สภาชุดนี้ และต้องตกไป
แต่อย่างไรก็ตามในปีนี้สมรสเท่าเทียมกลับมามีความหวังอีกครั้ง จากการเลือกตั้งครั้งใหม่ และเปลี่ยนชุดสภาใหม่ บวกกับการยื่นยันจากเสียงของพรรคที่มีเสียงข้างมากจากประชาชนว่าจะผลักดันสมรสเท่าเทียมแน่นอน ยิ่งตอกย้ำความสำเร็จของการเรียกร้องความเท่าเทียมที่แท้จริงได้มากขึ้น
‘Pride Month’ คือการเข้าใจความหลากหลาย ไม่ใช่รีแบรนด์สีรุ้ง
เมื่อถึงเดือนมิถุนายนของทุกปี แบรนด์ และองค์กรต่าง ๆ ก็เริ่มเปลี่ยนโปรไฟล์เป็นสีรุ้งกัน รวมถึงทำกลยุทธ์การตลาดด้วยสีรุ้งเพื่อต้อนรับเทศกาล Pride Month
แต่ประเด็นนี้กลับถูกตั้งคำถามในโลกโซเชียล ว่าหากไม่ได้มีการสร้างความตระหนัก และความสำคัญของ Pride Month การตลาด แะลโปรไฟล์ที่เปลี่ยนเหมือนกัน ก็อาจเป็นเพียงแค่ ‘Rainbow Washing’ ได้
ที่มา: ประชาสัมพันธ์ WISESIGHT