คุยกับแอดมินเพจ “เซมากูแดก” คนญี่ปุ่นใช้ Social Media อย่างไรบ้าง

พฤติกรรมการใช้ Social Media ของแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก ทางผู้เขียนเองมีโอกาสได้พูดคุยกับคนไทยท่านหนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศญี่ปุ่นในเรื่องของการใช้ Social ที่ไม่เหมือนกับบ้านเราและค่อนข้างน่าสนใจจึงนำมาแชร์กันครับ

คุณเจษ แอดมินเพจรีวิวอาหารญี่ปุ่น เซมากูแดก ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารและวัฒนธรรมญี่ปุ่น และผู้จัดงานเทศกาลเนื้อ EAT MEATS FEST

เป็นคนไทยที่ไปอยู่ญี่ปุ่นมาเกือบ 10  ปี ตั้งแต่ตอนเรียนมัธยมปลาย มหาวิทยาลัยและยาวไปจนถึงตอนทำงาน โดยเลือกที่จะไปอยู่ด้วยตัวเองเนื่องจากชอบวัฒนธรรมการเป็นอยู่และอาหารญี่ปุ่น ปัจจุบันก็ยังคงบินไปญี่ปุ่นบ่อยครั้ง เพื่อดูงานและเทรนด์ของอาหารเป็นประจำเกือบทุกเดือน

 

ยุคเริ่มต้นการใช้งานอินเตอร์ในการติดต่อสื่อสาร

ประเทศญี่ปุ่นมีการใช้โทรศัพท์มือถือมานานแล้ว โดยในปี 2001 คุณเจษได้มีโอกาสไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนนั้น เป็นปีที่ญี่ปุ่นเริ่มมีสัญญาน 3G ใช้เป็นประเทศแรกในโลก โดยบริษัท NTT docomo

ทั้งยังเป็นยุคแรกที่ญี่ปุ่นสามารถดู TV ผ่านมือถือและเข้าเวปต่างๆได้เหมือนคอมพิวเตอร์ (ยุคก่อนหน้านั้นยังเข้าใช้บริการต่างๆ ได้แบบจำกัดมากในระบบ i mode เท่านั้น) ทำให้พวก Blog ต่างๆเข้าสุ่ยุครุ่งเรือง และทำให้ชีวิตของคนญี่ปุ่นกับโลกอินเตอร์เน็ตเปลี่ยนไปอย่างมาก

แต่ช่วงนั้นยังมีกฏห้ามนักเรียนแลกเปลี่ยนใช้โทรศัพท์มือถือ (แต่เด็กนักเรียนญี่ปุ่นทั่วไปมีใช้กันหมด) ช่องทางหลักที่ใช้ติดต่อกับทางบ้านที่ไทยจึงเป็น Hotmail และ MSN

 

เมื่อเข้าช่วงปี 2004 (อยู่มหาวิทยาลัย) Blog เป็นที่นิยมอย่างมาก ตอนนั้นเพื่อนคนญี่ปุ่นรอบตัวจะใช้บริการ Mixi กับ Ameba กันเป็นส่วนใหญ่ ส่วนใหญ่ออนไลน์ในลักษณะ anonymous เขียนเรื่องราวตัวเองโดยไม่ระบุตัวตน ถ้าเทียบในช่วงเวลาเดียวกันตอนนั้นก็ประมาณยุค hi5 ของเมืองไทยนั่นเอง

ซึ่งช่วงนั้นก็มีอะไรที่คล้ายกันอย่างเช่นการเขียน HTML และ JavaScript สำหรับเพิ่มลูกเล่นให้หน้า Blog ของตัวเองมีความฟรุ้งฟริ้ง

 

Social Media ที่คนญี่ปุ่นใช้ในปัจจุบัน

1. Twitter

ปัจจุบัน Twitter เป็น Social Media หลักของคนญี่ปุ่น ทั้งผู้ใช้ทั่วไป ผู้มีชื่อเสียง สื่อ ดาราและแบรนด์ต่างๆ ก็จะใช้ Twitter ในการสื่อสารเป็นหลัก คล้ายกับบ้านเราที่ใช้ Facebook ในการสื่อสาร รวมไปถึงการทำการตลาด พวกแคมเปญต่างๆ ก็เป็นไปในรูปแบบที่สามารถกด Follow Account ของแบรนด์ เพื่อลงทะเบียน และกด Retweet ลุ้นรับของรางวัลต่างๆ

2. Facebook

Facebook สำหรับคนญี่ปุ่นจะโพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับการทำงาน เช่น วันนี้ผมได้มาร่วมประชุมกับบริษัทนี้, ผมมารับรางวัลงานนี้ หรือผมกำลังเริ่มธุรกิจใหม่ตัวนี้ หรือเหตุการณ์สำคัญๆในชีวิต เช่น แต่งงาน ฯลฯ

มากกว่าการโพสต์เรื่องกินชาบู หรือโพสต์รูปสถานที่ท่องเที่ยว เรื่องบันเทิงจะไปอยู่บน Twitter หรือ Instagram มากกว่า แต่สำหรับคนญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ หรือมีเพื่อนต่างชาติมากก็จะนิยมใช้ Facebook เช่นกัน

3. Instagram

ในส่วนของ Instagram นี่ไม่พูดถึงไม่ได้ เพราะเหมือนเป็นการเปลี่ยนยุคสมัยการใช้ Social Media ของคนญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว เวลาเราไปญี่ปุ่นแล้วมีโอกาสไปกินของอร่อยๆร่วมโต๊ะกับคนญี่ปุ่น เราก็จะอยากถ่ายรูปลง Social ตามประสาคนไทย แต่พอเราหยิบกล้องขึ้นมาจะถ่าย ผู้ร่วมโต๊ะท่านอื่นที่เป็นคนญี่ปุ่น โดยเฉพาะการร่วมโต๊ะกับผู้ใหญ่คนญี่ปุ่น จะมองว่าเราเสียมารยาททันที คนอื่นจะเริ่มทานแล้ว มาถ่ายรูปอะไรตอนนี้

แต่มาตอนนี้ มีการใช้คำว่า “インスタ映え in-su-ta-ba-e (อ่านว่า อินสึตะบาเอะ)”

มาจากคำว่า Instagram + Mibaeru (ที่แปลว่า การทำให้ดูดี) ออกมาเป็นคำใหม่ยอดฮิตของคนญี่ปุ่น แปลว่าการทำให้ดูดีบน Instagram” ซึ่งปัจจุบันนี้หากไปร่วมรับประทานอาหารกับคนญี่ปุ่น กลับกลายเป็นว่าทุกคนหยิบมือถือขึ้นมาถ่ายภาพอาหารก่อนที่จะรับประทานเพื่อที่จะนำไปลง Instagram เหมือนบ้านเราแล้ว

ตอนนี้ Instagram ก็กลายเป็น Social Network หลักที่กำลังจะขึ้นมาเทียบกับ Twitter แล้ว

4. YouTube

อีกหนึ่ง Platform ที่นิยมใช้คือ YouTube เวลาผมคุยกับคนญี่ปุ่น หลายๆคนไม่คุ้นกับคำว่า Blogger หรือ Influencer ด้วยซ้ำ แต่ถ้าพูดคำว่า YouTuber จะอ๋อทันที เพราะสื่อค่อนข้างพูดถึงมาก เนื่องจากมี Youtuber หลายคน เช่นคุณ Hikakin ทำรายได้มหาศาลจาก YouTube ทำให้เกิดกระแสความอยากเป็น YouTuber ในหมู่วัยรุ่นญี่ปุ่น คล้ายกับบ้านเราที่เด็กยุคใหม่อยากเป็น Blogger นั่นเอง

ความน่าสนใจอย่างหนึ่งคือ Influencer บน YouTube ไม่ได้จำกัดเพียงแค่คนเท่านั้น แต่ในยุคนี้ยังมี Virtual YouTuber ซึ่งเป็น 2D Avatar ที่กำลังเป็นเทรนด์ อย่าง Kizuna Ai ที่เบื้องหลังคือเทคโนโลยี Motion Capture ที่เมื่อเราขยับหรือพูดแล้วตัวละคนเสมือนจะทำตาม คล้ายกับ Animoji บน iPhone นั่นเอง สมกับความเป็นญี่ปุ่นสุดๆ

 

Chat Platform ที่คนญี่ปุ่นใช้

ในส่วนนี้เหมือนบ้านเราคือใช้ LINE ในการสื่อสาร ทั้งการคุยกับเพื่อนและคุยเรื่องงาน เจอหน้ากันก็ขอแลก LINE ID แต่ก็มีบางแห่งที่ใช้ Platform Chat สำหรับการทำงานโดยเฉพาะ (อย่าง Chatwork) ซึ่งก็ยังใช้ไม่ได้ทั่วถึงทุกระดับ

เหมือนบ้านเราที่อาจจะมีใช้ Slack หรือ Telegram ในการสื่อสารเกี่ยวกับเรื่องงานบ้าง แต่ถ้าเอาง่ายสุดที่ทุกคนใช้ก็ยังเป็น LINE อยู่ดี

 

ระดับความติด Smart Phone ของคนญี่ปุ่น

โดยเบื้องต้นแล้วคนญี่ปุ่นมักจะติดการอ่านหนังสือ ถ้าเราเดินทางโดยขนส่งสาธารณที่บ้านเค้ามักจะเห็นว่าคนญี่ปุ่นจะมีหนังสือเล่มเล็กๆ หรือหนังสือพิมพ์ติดไปอ่านด้วยตลอด เมื่อมีสมาร์ทโฟนเข้ามา คนที่ติดหนักๆ เค้าก็ไปติดสมาร์ทโฟนแทน มีตั้งแต่เล่น Social ไปจนถึงเกมมือถือ

ระดับความติดนั้นไม่ต่างจากบ้านเรามากนัก เคยมีเคสที่คนติดมือถือหนักๆ เดินเล่นมือถือจนตกไปชานชาลารถไฟก็มีมาแล้ว (บ้านเค้าไม่มีที่กั้นนะ) ก็จะมีป้ายรณรงค์ตามทางเดินว่างดเล่นมือถือไม่ต่างจากประเทศไทย

 

บริษัท Docomo ที่ทำธุรกิจด้านการสื่อสาร (ประมาณสามคลื่นยักษ์ใหญ่บ้านเรา) เค้าทำคลิปวิดีโอตัวหนึ่งออกมา เป็นการ simulation การเดินข้ามแยก Shibuya ของคนจำนวน 1,500 คน โดยทุกคนก้มหน้าดูมือถือแล้วผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร

ผลที่ได้หลังจากรันโปรแกรม ปรากฎว่า มีการชนเกิดขึ้น 400 ครั้ง, ล้ม 100 กว่าราย, ทำโทรศัพท์หล่น 21 ราย และมีคนข้ามถนนได้สำเร็จ 500 คน จากทั้งหมด 1,500 คน เป็นวิดีโอที่ผู้คนให้ความสนใจกันเป็นจำนวนมาก เรียกว่าความติดมือถือก็เป็นปัญหาสังคมในบ้านเค้าเช่นกัน

 

เมื่อคนญี่ปุ่นมาทำธุรกิจที่ประเทศไทย ต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง?

Agency ที่ญี่ปุ่นเองก็ให้ความสำคัญกับสื่อออนไลน์มาหลายปีแล้ว แนวทางโดยรวมจะคล้ายกับบ้านเราในตอนนี้ คือจะเป็น Traditional Media + Online Media ภาพรวมเดียวกันไม่ได้แยกกันขาด

คุณ เจษฎาพงษ์ ยกตัวอย่างด้วยธุรกิจร้านอาหารที่คนญี่ปุ่นมาเปิดในบ้านเรา ซึ่งมีจำนวนเยอะมากๆ แต่หลายร้านจำเป็นต้องปิดตัวกลับบ้านไป เพราะไม่สามารถเข้าถึงคนไทยได้ อาจจะไม่ใช่แค่เรื่องรสชาติ ราคา หรือการบริการ แต่เป็นเพราะร้านไม่ได้รู้จักไปถึงคนไทยและวัฒนธรรมการกินของคนไทย

 

ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราอาจจะต้องมาคุยกันในเรื่องของ location เป็นเรื่องใหญ่ แต่ตอนนี้ไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว ยุคนี้ขอให้คนรู้จักต่อให้อยู่ในซอกหลืบขนาดไหนก็ตามไปต่อคิวได้ บางครั้งยังสามารถใช้คำว่า “ร้านลับ” เป็นการโปรโมทได้ด้วยซ้ำไป

ส่วนมากแล้วร้านที่มาเปิดในบ้านเราจะเริ่มจากทำให้ลูกค้าคนญี่ปุ่นที่อยู่ในเมืองไทยรู้จักก่อนเป็นอันดับแรก ด้วยการลงสื่อของญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นพวก Free Magazine ซะส่วนใหญ่ แต่ลูกค้าคนญี่ปุ่นอย่างเดียวอาจจะยังไม่สามารถอยู่ได้อย่างเย็นใจนัก เพราะสัดส่วนคนญี่ปุ่นถือว่าน้อยมากถ้าเทียบกับคนไทย

 

หลายครั้งเกิดความน่าเสียดายขึ้นอย่างเช่นการจ้างผู้จัดการร้านที่เป็นคนไทยเข้ามาคนหนึ่ง ความคาดหวังของร้านคือการให้ดูครอบคลุมไปถึง Social Media ของร้าน ซึ่งส่วนมากผู้จัดการเองก็ไม่ได้ถนัดด้านงานออนไลน์ จีงทำไปให้แค่มี ไม่ได้ส่งร้านไปยังกลุ่มเป้าหมายได้ตามต้องการ

ดังนั้นสิ่งที่เค้าต้องทำคือศึกษาไลฟ์สไตล์และเทรนด์ของคนไทยที่เปลี่ยนไปเร็วม๊ากกกกกก เรียกว่าเป็น culture shock เพราะเทรนด์ของคนญี่ปุ่นเมื่อเกิดขึ้นจะใช้หากินอยู่ได้ไปอีก 2-3 ปี แล้วค่อยวางแผนกันใหม่ ของบ้านเรานี่ 2-3 เดือนก็ต้องมาทบทวนแล้วว่าเทรนด์ต่อไปจะเป็นอย่างไร


เรียบเรียงโดย
ทีมงาน RAiNMaker

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save