ในยุคปัจจุบันที่คนหันมาบริโภคคอนเทนต์จากทางออนไลน์เป็นหลัก ทำให้หลาย ๆ แพลตฟอร์มต่างก็ต้องพยายามงัดทุกกลเม็ดวิธีมาสนับสนุนเหล่าครีเอเตอร์ให้เกิดรายได้ที่มั่นคง เพื่อให้ครีเอเตอร์ยังคงอยากปักหลักผลิตคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มเหล่านั้นต่อไป
นั่นทำให้เหล่าครีเอเตอร์หรือคนที่กำลังจะเริ่มทำคอนเทนต์ คงเกิดความสงสัยว่าท่ามกลางเครื่องมือสร้างเงินมากมาย แพลตฟอร์มไหนกันแน่ที่เหมาะสมกับเรา วันนี้ทาง RAiNMaker ได้สรุปรวมทุกข้อมูลสำคัญ และหาคำตอบมาให้แล้ว!
| TikTok Creator Next
เริ่มกันที่แพลตฟอร์มคลิปสั้นมาแรงอย่าง ‘TikToK’ ที่มีโปรแกรมสนับสนุนนักทำคอนเทนต์ในชื่อ “Creator Next” ให้ผู้ที่เข้าร่วมได้รับสิทธิ์เข้าถึงฟีเจอร์และเครื่องมือสร้างรายได้ในหลากหลายวิธี เพื่อหวังเพิ่มการเติบโตของชุมชนอย่างยั่งยืน
ข้อจำกัดการเข้าร่วม
สำหรับคนที่ต้องการเริ่มต้นหาเงินจาก TikToK Creator Next จะต้องผ่านคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
- มีอายุขั้นต่ำ 18 ปี
- มีผู้ติดตามขั้นต่ำตามกำหนด (ในประเทศไทยคือ 10,000 คน)
- มียอดผู้ชมคลิปอย่างน้อย 1,000 ครั้ง ภายใน 30 วัน
- โพสอย่างน้อย 3 โพสต์ ภายใน 30 วัน
- ไม่ละเมิดกฎของชุมชน
การเปิดให้บริการในไทย
TikToK Creator Next เปิดตัวและใช้งานได้ในไทยแล้วเพียงบางส่วน นั่นคือ ฟีเจอร์ Creator Marketplace, ของขวัญสำหรับครีเอเตอร์ และของขวัญสำหรับ Live ยกเว้นฟีเจอร์ TikTok Creator Fund กับ Tips จะมีให้งานในบางประเทศเท่านั้น
เครื่องมือสร้างเงิน
Creator Marketplace คือ เป็นพื้นที่ให้แบรนด์ที่ต้องการโปรโมตสินค้า สามารถเข้ามาเลือกหาครีเอเตอร์ที่เหมาะสมและติดต่อได้โดยตรงจากที่นี่ โดยฝั่งครีเอเตอร์จะได้รับค่าคอมมิชชันเป็นสิ่งตอบแทน
หมายเหตุ : ครีเอเตอร์ที่เข้าร่วมจะต้องมีผู้ติดตามอย่างน้อย 5,000 คน
ของขวัญสำหรับวิดีโอ คือ ช่องทางให้ครีเอเตอร์สามารถรับของขวัญดิจิทัลจากแฟน ๆ โดยผู้ใช้งานสามารถเติมเงินจริงเพื่อซื้อของขวัญ และทำการกดส่งให้กับเหล่าครีเอเตอร์ ครีเอเตอร์ก็สามารถแปลงของขวัญเหล่านั้นเป็นเงินจริง ๆ ได้
หมายเหตุ : ครีเอเตอร์ที่เข้าร่วมจะต้องมีผู้ติดตามอย่างน้อย 100,000 คน
ของขวัญ LIVE คือ เป็นของขวัญดิจิทัลที่ใช้ส่งระหว่างการ LIVE โดยผู้ใช้งานสามารถซื้อของขวัญและส่งให้ครีเอเตอร์ขณะ LIVE ให้แสดงป๊อปอัปบนหน้าจอ ครีเอเตอร์ก็สามารถรวบรวมของขวัญเหล่านี้ไปแปลงเป็นเงินจริงได้
TikToK Creator Fund (ไม่มีในไทย) คือ กองทุนที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนเงินให้แก่ครีเอเตอร์โดยเฉพาะ โดย TiKToK จะแบ่งเงินจำนวน 200 ล้านดอลล่าห์สหรัฐในทุก ๆ ปี เพื่อนำไปแบ่งสรรปันส่วนให้กับครีเอเตอร์
Tips (ไม่มีในไทย) คือ ในหน้าโปรไฟล์ของครีเอเตอร์จะปรากฎปุ่ม ‘Tips’ ให้แฟน ๆ สามารถกดมอบเงินให้กับครีเอเตอร์ได้ด้วยตนเอง โดยที่ TikToK จะมอบเงินจำนวนนี้ให้กับครีเอเตอร์แบบ 100% ไม่มีการหักส่วนแบ่งใด ๆ ทั้งสิ้น
| YouTube Partner Program
อีกหนึ่งแพลตฟอร์มทำเงินยอดฮิตของเหล่าครีเอเตอร์สายวิดีโอ นั่นก็คือ YouTube โดยโปรแกรมทำเงินนี้มาในชื่อ YouTube Partner Program ที่มีฟีเจอร์สร้างรายได้ต่าง ๆ และการรับเงินส่วนแบ่งจากโฆษณาที่ปรากฎ
ข้อจำกัดการเข้าร่วม
คนที่ต้องการเข้าร่วมโปรแกรมพาร์ทเนอร์จะต้องผ่านกฎพื้นฐานของชุมชน และปฏิบัติตามนโยบายสร้างรายได้ นอกจากนี้ก็ยังต้องผ่านเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งด้านล่างนี้ด้วย
- ผู้ติดตาม 1,000 คน และมีเวลาชมคลิปขั้นต่ำ 4,000 ชั่วโมงใน 12 เดือน
- ผู้ติดตาม 1,000 คน และมียอดคนดู Shorts ขั้นต่ำ 10 ล้านครั้งใน 90 วัน
การเปิดให้บริการในไทย
YouTube Partner Program ได้เปิดให้บริการในประเทศไทยเต็มรูปแบบแล้ว
เครื่องมือสร้างเงิน
โฆษณา คือ ครีเอเตอร์จะได้ส่วนแบ่งจากรายได้ของโฆษณาที่ปรากฎในคลิปในช่วงต้นคลิป ระหว่างคลิป ช่วงท้ายคลิป รวมไปถึงโฆษณาที่ขึ้นมาคั่นระหว่างฟีดคลิป Shorts
การเป็นสมาชิกช่อง คือ ครีเอเตอร์สามารถสร้างเนื้อหาเฉพาะสมาชิก เพื่อดึงดูดให้คนดูจ่ายเงินสมัครสมาชิกช่องแบบรายเดือน เพื่อแลกกับการได้เข้ามารับชมเนื้อหาพิเศษ
YouTube Premium คือ หากสมาชิกของ YouTube Premium เข้ามารับชมคลิปของครีเอเตอร์ ครีเอเตอร์ก็จะได้รับเงินส่วนแบ่งที่สมาชิกนั้นจ่ายให้กับ YouTube Premium ด้วย
Super Chats, Stickers และ Thanks คือ ช่องทางมอบเงินให้ครีเอเตอร์ ซึ่ง Super Chats และ Super Stickers จะใช้ส่งให้เหล่าครีเอเตอร์ขณะ Live ในขณะที่ Super Thanks จะใช้สนับสนุนครีเอเตอร์ในคลิปวิดีโอทั่วไป
| Facebook Partner
เฟซบุ๊กเป็นอีกหนึ่งช่องทางสร้างเงินที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เนื่องจากรองรับครีเตอร์หลากหลายแนว ไม่จำเป็นต้องทำวิดีโอเท่านั้น ซึ่งสิ่งสำคัญที่เหล่าครีเอเตอร์ต้องรู้ มีดังนี้
ข้อจำกัดการเข้าร่วม
เนื่องจากเฟซบุ๊กเปิดให้สร้างรายได้ในหลายวิธี จึงมีความซับซ้อนในส่วนของนโยบายพอสมควร แต่หากจะสรุปโดยพื้นฐาน ครีเอเตอร์จะต้องผ่านกฎทั้ง 3 ด้าน ซึ่งแต่ละด้านจะมีความยิบย่อยในรายละเอียดต่าง ๆ กัน ซึ่งจะสรุปประเด็นสำคัญ คือ
- ด้านมาตรฐานชุมชน : ไม่เผยแพร่เนื้อหาที่ไม่ปลอดภัย อาทิ ความรุนแรง ภาพโป๊เปลือย หรือข้อความแสดงความเกลียดชัง
- ด้านการสร้างรายในฐานะพาร์ทเนอร์ : ครีเอเตอร์จะต้องสร้างเนื้อหาที่เป็นความจริง ไม่ใช่การให้ข้อมูลที่ผิด หรือข่าวปลอม เป็นเนื้อหาที่ครีเอเตอร์มีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้าง รวมถึงครีเอเตอร์จะต้องมีตัวตนจริงและได้รับการยอมรับบน Facebook แล้วอย่างน้อย 30 วัน
- ด้านการสร้างรายได้จากเนื้อหา : เนื้อหาพวกความรุนแรงจะไม่สามารถสร้างรายได้ได้ รวมไปถึงวิดีโอบางประเภทก็จะถูกละเว้นจากการสร้างได้ เช่น วิดีโอที่มีแต่ภาพนิ่งแช่ไว้ทั้งคลิป วิดีโอที่ถูกตัดต่อแบบวนซ้ำไปมา เป็นต้น
การเปิดให้บริการในไทย
โปรแกรมพาร์ทเนอร์ของ Facebook ได้เปิดให้บริการในประเทศไทยเต็มรูปแบบแล้ว
เครื่องมือสร้างเงิน
โฆษณาในสตรีม คือ ครีเอเตอร์จะได้เงินส่วนแบ่งจากรายได้ของโฆษณาที่ปรากฎคั่นในช่วงต้นคลิป ระหว่างคลิป หรือท้ายคลิป ซึ่งรายได้จะขึ้นอยู่กับจำนวนการรับชมวิดีโอและผู้ลงโฆษณา
- หมายเหตุ : ครีเอเตอร์ที่จะใช้โฆษณาในสตรีม จะต้องมีผู้ติดตาม 10,000 คน
> มีจำนวนนาทีที่รับชมทั้งหมด 600,000 นาที ใน 60 วัน และ เพจมีวิดีโออย่างน้อย 5 รายการ
โปรแกรมสมาชิก คือ การให้ผู้ติดตามหรือผู้ใช้งานทั่วไป สามารถกดสมัครเป็นผู้สนับสนุนและจ่ายเงินแบบรายเดือนให้ครีเอเตอร์ เพื่อแลกกับสิทธิพิเศษต่าง ๆ อาทิ ได้เข้ารับชม LIVE หรือเนื้อหาพิเศษ, การได้รับเครื่องหมายสมาชิก เป็นต้น
- หมายเหตุ : ครีเอเตอร์ที่จะใช้โปรแกรมสมาชิกได้ จะต้องมีผู้ติดตาม 10,000 คน หรือผู้ที่กลับมารับชมอย่างน้อย 250 คน และมีสถิติตรงตามข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้ในช่วง 60 วันที่ผ่านมา
> การมีส่วนร่วมกับโพสต์ 50,000 ครั้ง หรือ การรับชม 180,000 นาที
เนื้อหาที่มีแบรนด์ คือ เป็นพื้นที่พบกันระหว่างครีเอเตอร์และแบรนด์สินค้าต่าง ๆ โดยครีเอเตอร์สามารถสร้างแฟ้มสะสมผลงานแสดงไว้ เพื่อให้แบรนด์ที่สนใจครีเอเตอร์ได้มองเห็น และใช้ช่องทางนี้ในการติดต่อสื่อสารกันโดยตรงผ่านช่องทางเพจ
ดาว คือ เป็นของขวัญดิจิทัลที่ผู้ใช้งานทั่วไปสามารถซื้อ และส่งให้กับเหล่าครีเอเตอร์
- หมายเหตุ : ครีเอเตอร์จะต้องมีผู้ติดตาม 1,000 คน ติดต่อกัน 60 วัน
| Instagram Subscriptions
เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสร้างรายได้ที่ทาง Meta ซุ่มพัฒนามาได้สักพัก ถึงแม้โปรแกรมพาร์ทเนอร์นี้จะยังไม่เปิดให้ฝั่งครีเอเตอร์ในไทยได้ใช้งาน แต่ก็มีประเด็นน่าสนใจและน่าทำความรู้จักกันไว้ก่อน
ข้อจำกัดการเข้าร่วม
สำหรับครีเอเตอร์ที่ต้องการเข้าร่วมโปรแกรมพาร์ทเนอร์เพื่อสร้างรายได้ จะต้องผ่านนโยบาย ดังนี้
- อายุขั้นต่ำ 18 ปี
- ผู้ติดตามขั้นต่ำ 100,000 คน
- ปฏิบัติตามนโยบายด้านเนื้อหา
การเปิดให้บริการในไทย
Instagram Subscriptions เปิดบริการเฉพาะครีเอเตอร์ที่ได้รับเชิญเท่านั้น
เครื่องมือสร้างเงิน
เนื้อหาเฉพาะสมาชิก คือ ครีเอเตอร์จะสามารถกำหนดราคารายเดือน เพื่อให้แฟน ๆ จ่ายเงินสมัครสมาชิก เพื่อแลกกับการรับชมเนื้อหาพิเศษ อาทิ สตอรี่ Live Reels โพสต์ หรือ แชทกลุ่มเฉพาะสมาชิก เป็นต้น
เครื่องหมายสำหรับสมาชิก คือ ผู้ใช้งานที่จ่ายเงินสนับสนุนครีเอเตอร์จะได้รับเครื่องหมายมงกุฎสีม่วง เมื่อแสดงความคิดเห็นบนโพสต์ของครีเอเตอร์ หรือเมื่อส่ง DM ถึงครีเอเตอร์