ข่าวด่วนในยุค TV กับ Social Network เมื่อ Breaking News เปลี่ยนไป

เราอยู่ในโลกที่แสนจะวุ่นวายและมีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เหตุการณ์ที่ว่านั้นอาจจะเป็นเหตุการณ์ที่บอกเล่าได้เพียงประโยคสั้น ๆ แต่ก็ทำให้โลกทั้งใบแทบจะหยุดหมุน ไม่ว่าจะเป็นเหตุ การเสียชีวิตของเจ้าหญิงไดอานา การณ์วินาศกรรม 9/11 หรือการเสียชีวิตของนักร้องไมเคิล แจคสัน การสังหารโอซาม่า บินลาเดน

หรือเหตุการณ์บางส่วนที่อาจจะทำให้คนในกลุ่ม Culture ใจ Culture หนึ่งต้องตกใจ เช่น การเสียชีวิตของฮิเดะ วง X Japan หรือ Chester Bennington หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์ล่าสุดที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศต้องเศร้าโศกเสียใจ คือการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9

เราเรียกเหตุการเช่นนี้ว่า Flashnews ซึ่งในยุคของ Media หรือสื่อได้สร้างสิ่งที่ทำให้เกิด Flashnews หรือ Breaking news ขึ้นมา เดือนกันยายนปี 1922 BBC ได้กลายเป็นสื่อเจ้าแรกที่ได้ทำการถ่ายทอดสัญญาณสดไปยังทีวีเครื่องรับ อย่างไรก็ตามผู้คนส่วนมากยังคงใช้งานวิทยุอยู่เป็นหลักจนถึงสงครามโลกครั้งที่สอง

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองการประกาศเสียงตามสายหรือวิทยุจึงกลายเป็นการใช้สื่อเพื่อทำ Live Broadcast แรก ๆ ในการแจ้งเตือนข่าวสาร เหตุการณ์ที่ถูกประกาศผ่านทางวิทยุที่ดัง ๆ ก็เช่น การประกาศการถูกโจมตีที่เพิร์ลฮาเบอร์ของ NBC News หรือการประกาศชัยชนะต่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ของสหภาพโซเวียต

ภาพถ่ายครอบครัวหนึ่งในปี 1938 ที่กำลังรอฟังข่าวจากวิทยุ ที่มา – Popperfoto/Getty Images

กว่าเทคโนโลยี TV จะกลายมาเป็นที่นิยมก็เป็นช่วงหลังสงครามโลกไปแล้ว ในปี 1960 แทบจะ 3 ใน 4 ของครอบครัวอเมริกันเป็นเจ้าของ TV และด้วยเทรนการมาของ TV นี้ก็ทำให้อเมริกากลายเป็นผู้ทรงอำนาจด้านสื่อเลยทีเดียว โดยเฉพาะในยุคที่สื่อเริ่มเข้ามามีบทบาทในการสร้างภาพจำอย่างมากอย่างสงครามเย็น

พูดได้อย่างเต็มปากว่าแม้ BBC จะเป็นเจ้าแรกที่ทำการถ่ายทอดสัญญาณ TV ได้สำเร็จ แต่กลายเป็นอเมริกาที่มีบทบาทในการทำให้ TV กลายเป็นที่นิยม และ TV ก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของอเมริกา ที่ถูกส่งต่อไปทั่วโลก

Breaking News ทำไมต้อง Break ?

เราจะชินกันกับคำว่า Breaking News ซึ่งหลายคนอาจจะเดาความหมายไม่ออกว่าทำไมต้อง Break แล้วมัน Break อะไร สำหรับคำว่า Breaking News นั้นหมายถึงการ Break เข้ามาในช่วงโปรแกรมปกติ ซึ่งต่างประเทศจะใช้คำว่า Interrupted หรือถูกรบกวน เราจะได้ยินนักข่าวพูดบ่อย ๆ ว่า “หลังจากนี้ขอเชิญรับชมรายการตามปกติ” หลังจบรายงานข่าว

เมื่อ Social เข้ามาข่าวก็ไวขึ้น

ถ้าจะถามว่าเมื่อไหร่ที่ Social ก้าวเข้ามามีบทบาทในการรายงานข่าวด่วนอาจจะตอบยาก เนื่องจากการเข้ามาของ Social นั้นเป็นการค่อย ๆ แทรกซึมเข้ามาในชีวิตประจำวันมากกว่าการเข้ามาเป็นอันดับหนึ่งเลย ดังนั้นทุกวันนี้เรากำลังอยู่ในโลกหลายจอ ไม่ว่าจะเป็นจอโทรศัพท์ ขอคอมพิวเตอร์ หรือจอ TV (แม้บางคนจะเลิกดูทีวีแล้วก็ตาม) ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะทำให้เราเห็นภาพก็คือการลองนึกถึงตัวอย่าง

ในบทความของ AdWeek ได้ลองตั้งคำถามให้ผู้อ่านลองคิดว่าตอนเหตุการณ์วินาศกรรม 9/11 ตอนนั้นเราได้ข่าวจากไหน หลายคนอาจจะได้ดูเหตุการณ์สด ๆ ผ่านทาง TV หรือได้รับโทรศัพท์จากครอบครัวและเพื่อนให้เปิด TV ดู AdWeek ได้ลองยกอีกหนึ่งเหตุการณ์คือเหตุการณ์การสั่งหารโอซามา บินลาเดน ในอีก 10 ปีให้หลังในยุคที่มี Social Media ว่าตอนนั้นเราได้ข่าวยังไง หลายคนอาจจะบอกว่าผ่านทาง Twitter, Facebook

การเกิดข่าวที่แตกต่างกันระหว่าง TV กับ Social

การเกิดข่าวนั้นไม่ได้หมายถึงแค่ว่าเป็นข่าวบนเว็บไซต์ เป็นบทความ หรือเป็นรายงาน แต่ Social นั้นถูกนำมาใช้ในการรายงานสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้านับเช่นนี้คนแรกของโลกที่รายงานข่าวการสังหารโอซามา บินลาเดน ไม่ใช่ CNN ไม่ใช่ BBC แต่เป็นคุณ Sohaib Athar หนุ่มธรรมดา ๆ ที่ทวีตบน Twitter บอกว่าได้ยินเสียงเฮลิคอปเตอร์และเสียงปืน ณ ตอนนั้นคุณ Athar ไม่รู้เลยว่าเข้าเป็นสื่อเจ้าแรกที่รายงานเหตุการณ์สำคัญระดับโลก เป็นไปไม่ได้เลยที่ TV จะรายงานข่าวในระดับวินาทีได้เช่นนั้น ดังนั้นคำพูดที่ว่าทุกคนกลายเป็นสื่อในยุคของ Social Media นั้นคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าจริง

 


เราอาจจะต้องแยกระหว่างคนที่รับรู้เหตุการณ์คนแรกกับคนที่รายงานเรื่องนั้นคนแรก แน่นอนว่าคนที่รับรู้เรื่องราวต่าง ๆ นั้นก็คือคนที่อยู่ ณ ตรงนั้นอยู่แล้ว แต่ถ้าเมื่อ 11 ปีก่อนคนที่รายงานข่าว 9/11 คนแรกอาจจะเป็นชาวนิวยอร์คที่ต่างอัพโหลดรูปของเครื่องบินที่กำลังบินต่ำลงมาเรื่อย ๆ ก่อนที่จะชนตึกก็ได้ แต่ในยุคทีวี กว่าจะมีการแทรกรายงานด่วนเข้ามาในทีวี เครื่องบินก็ชนตึกไปแล้วหลายนาที

หรือเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ก็มาจากเรื่องราว ณ ตอนนั้นที่ถูกอัพโหลดขึ้นมาบน Social เช่น นั่นก็เพราะว่าโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตมีอยู่ทุกที่ ไม่ต้องรอให้สำนักข่าวไปถึง

นั่นทำให้การรายงานข่าวบนโลก Social เป็นไปในลักษณะของเรื่องที่จะค่อย ๆ มาปะติดปะต่อเรื่อย ๆ ทำให้ในยุคนี้เวลามีข่าวอะไร เรามักจะเห็นมีการเขียนว่า Developing Story หรือ เรื่องราวกำลังพัฒนา โดยเฉพาะบนเว็บข่าวออนไลน์ ที่ Publisher ก็ต่างต้องมาแข่งกันเป็นเจ้าแรกในการเขียนข่าวนั้น เช่น เหตุการณ์ระเบิดในบอสตันมาราทอน, การก่อการร้ายในเมืองนีซ หรือข่าวไอทีอย่างแอปเปิลเปิดตัวไอโฟนรุ่นใหม่

Developing Story เป็นอะไรที่เป็นไปได้ยากในการรายงานข่าวในยุคหนังสือพิมพ์ และค่อย ๆ มาเริ่มมีในการรายงานข่าวสดบน TV เนื่องจากช่องสามารถรายงานเหตุการณ์สด ๆ ณ ตอนนั้นได้ว่ามีรายงานล่าสุดอะไรเข้ามาบ้าง แต่ก็ไม่ได้ถี่เท่าบน Social Media เนื่องจากการางานงานข่าวบน TV จะต้องมีขั้นตอนต่าง ๆ ที่เยอะกว่า

อย่างไรก็ตามเราจะพบถึงการใช้คำที่หลีกเลี่ยงการยืนยัน ยกตัวอย่างในกรณี 9/11 เราจะพบว่านักข่าวส่วนมากจะใช้คำว่า “Possibly plane crash ..”, “Report says a plane crash ..”, “Unconfirmed report that the plane crashed ..”

แต่นั่นก็ทำให้ข่าวปลอมกลายเป็นปัญหา

สองปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปัจจุบันข่าวลวงหรือข่าวปลอมกำลังระบาดอย่างหนักในยุคนี้ก็คือ ใครก็สามารถสร้างเรื่องราวบนโลกอินเทอร์เน็ตได้ อีกประการหนึ่งก็คือ โลกโซเชียลนั้นมีความไวมาก

MIT’s Laboratory for Social Machines เคยเผยผลการวิจัยจากการเก็บข้อมูลในช่วงปี 2006 – 2017 ที่ผ่านมานี้ว่า Twitter นั้นเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์คที่แพร่กระจายข่าวปลอมได้อย่างรวดเร็วที่สุด ทาง MIT ได้ใช้เครื่องมือจาก 6 หน่วยงานด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวบนโลกออนไลน์ ซึ่งดักข้อความทวีตกว่า  4.5 ล้านทวีต  ใน 126,000 หัวข้อที่แตกต่างกัน ข่าวปลอมนั้นเข้าถึงคนจำนวนประมาณ 1,500 คน ภายในเวลาเร็วกว่าถึง 6 เท่าของข่าวจริง

โดยเฉพาะข่าวที่เป็นข่าวด่วนนั้นมักจะถูกรีทวีตไวกว่ามาก เนื่องจาก Twitter เป็นโซเชียลที่มีความ realtime สูง และผู้ใช้สามารถส่งต่อข้อความนั้นด้วยปุ่มเพียงปุ่มเดียว

ปัจจุบันหลาย Social พยายามแก้ปัญหานี้ด้วยวิธีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพิ่มข้อมูลของ Publisher เพื่อให้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือได้ ซึ่งวิธีการนี้ก็ต้องอาศัยตัวผู้ใช้งานเองที่จะเป็นคนตัดสินถึงความน่าเชื่อถือ

และบางครั้งแม้กระทั่งสื่อจริง ๆ ก็อาจผิดพลาดได้เนื่องจากต้องการครอบพื้นที่ข่าวนั้นบนโลกอินเทอร์เน็ตให้ได้ก่อนรายอื่น ดังนั้นการรายงานข่าวด่วน ข่าวร้อน จึงกระทำอย่างเร่งรีบ ทำให้รายงานผิดพลาด หรือตกเนื้อหาบางส่วนที่สำคัญไป ในส่วนนี้ในฐานะ Publisher ก็ต้องให้ความสำคัญกับการตรวจสอบให้ชัดเจนด้วย

ปรากฏการณ์ข่าวด่วนในไทย

สำหรับเรื่องราวของข่าวด่วนข่าวร้อนในประเทศไทยนั้น แน่นอนว่าในช่วงแรกก็ยังคงพึ่งพาทีวีเป็นช่องทางหลักอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์อย่างพฤษภาทมิฬในปี 2535 จนถึง เหตุการณ์คลื่นยักษ์ในปี 2547 แม้ว่าในช่วงนั้นประเทศไทยจะมีเว็บไซต์อย่าง Pantip, Sanook และเว็บสัญชาติไทยอื่น ๆ เกิดขึ้นแล้วก็ตาม แต่ก็ยังเข้าถึงจากกลุ่มคนเฉพาะส่วนและในตอนนั้นยังไม่มี Smart Phone ทำให้เป็นไปได้ยากที่คนคนหนึ่งจะเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอยู่ตลอดเวลา

ในช่วงนั้นจะมีบริการบริการหนึ่งที่ฮิตพอสมควรคือการรายงานข่าวผ่าน SMS ข่าวต่าง ๆ ทั้งด่วนและไม่ด่วนจะถูกส่งมารายงานเพื่อแจ้งเตือนผู้ใช้ ทำให้พฤติกรรมการเสพข่าวแบบ Real time เป็นไปได้มากขึ้น

รัฐประหาร 2549 เป็นอีกหนึ่งในเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงข่าวด่วนในยุคที่ไม่มีโซเชียลได้อย่างเห็นภาพที่สุด เหตุการณ์ทีวีตัดภาพไปช่วงกลางดึกทิ้งให้คนหลายคนนอนหลับไปพร้อมกับความสงสัยว่าวันพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น และจะเห็นข่าวอะไรปรากฏบนจอทีวีที่กลายเป็นหน้าจอเล่นเพลงเฉลิมพระเกียรติ หรือหน้าหนังสือพิมพ์ของวันถัดไป

Social Network เริ่มเป็นที่สนใจของสังคมมากขึ้นในช่วงปี 2552 ที่เกิดวิกฤตทางการเมือง เริ่มมีการเคลื่อนไหวกันผ่าน Social Network เช่นของอดีตนายกทักษิณ ซึ่งในตอนนั้น Social Network ก็ยังไม่เป็นที่นิยมอยู่ดี และ TV ก็ยังต้องรายงานข่าวว่าคุณทักษิณทวีตอะไรบ้าง

ในขณะที่โซเชียลตอนนั้นถูกมองว่าเป็นโลกอินเทอร์เน็ตสำหรับวัยรุ่น นักข่าวหลายท่านก็เริ่มหันมาใช้ Twitter เป็นอีกหนึ่งช่องทางมากขึ้น และจากนั้น Twitter ก็เริ่มเป็นที่นิยมขึ้นมา Nation TV เลือกแสดงข้อมูลจาก Twitter บ่อย เช่นในรายการคมชัดลึกยุคคุณจอมขวัญ สร้างปรากฎการณ์ดึงข้อความคนที่ติด #kcltv นับว่าเป็นช่องแรก ๆ ที่ดึงบทสนทนาจาก Social มาใช้

หลังจากนั้นพัฒนาการของคนใช้ Social ก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ จนเริ่มกลายเป็นแหล่งข่าวสารที่สำคัญโดยเฉพาะวิกฤติทางการเมืองซึ่งประกอบไปด้วยการชุมนุมสำคัญ ๆ รวมถึงเหตุการณ์ที่ราชประสงค์ ทำให้คนหลายคนเริ่มหันมาติดตามข่าวผ่าน Facebook หรือ Twitter กันมากขึ้น

หลังจากนั้นเหตุการณ์ที่ Social ได้แสดงพลังในการรายงานข่าวอย่างแท้จริงเลยก็คือช่วงน้ำท่วมในปี 2554 ซึ่งในตอนนั้นโทรศัพท์มือถือได้เข้ามามีบทบาทอย่างมาก รวมถึงหลายค่ายมือถือก็มีการแจกเน็ตแจกนาทีสำหรับใช้งาน ในขณะเดียวกันเราก็จะเริ่มเห็นพลังด้านลบของข่าวโซเชียลในด้านข่าวลวง ข่าวปั่นที่ทำให้คนตื่นตระหนกเช่นกัน

หลังจากปี 2554 อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญก็คือเหตุการณ์การประท้วงที่เริ่มต้นตั้งแต่ 2555 ลากยาวมาจนถึงรัฐประหารในปี 2557 ซึ่งคนไทย ณ ตอนนั้นส่วนมากเริ่มคุ้นชินกับ Social แล้วเช่นกัน และจนถึงปัจจุบันโซเชียลก็ยังคงมีบทบาทในการแสดงออกและรายงานข่าวทางการเมืองเสมอมา เนื่องจากไม่สามารถถูกทหารบุกสถานีได้เหมือนกับช่องโทรทัศน์ (หลังรัฐประหาร TBPS เคยพยายามออกข่าวออนไลน์แต่สุดท้ายก็โดนทหารปิดสถานี)


จะเห็นได้ว่าสิ่งหนึ่งที่ปรากฏให้เห็น ก็เหมือนที่บอกไปตอนแรกว่าจะมี Developing Story หรือ กำลังอัพเดทข้อมูล ปรากฏให้เราเห็นเนื่องจาก Publisher ต้องการความรวดเร็ว และหัวข้อหลักขึ้นก่อน ส่วนรายละเอียดข่าวสามารถเพิ่มทีหลังได้

อีกหนึ่งกรณีข่าวใหญ่ที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือเหตุการณ์ที่ทำให้คนไทยทุกคนต้องเศร้าโศกก็คือข่าวการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งแน่นอนว่าข่าวสำคัญเช่นนี้นั้นต้องได้รับการประกาศจากสำนักพระราชวังผ่านทาง ทรท. เท่านั้น แต่ สิ่งที่ปรากฏให้เห็นเลยก็คือ ก่อนหน้านั้นเราหลายคนก็ต่างรู้สึกได้กันบน Social แล้วว่ากำลังจะมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้น ตั้งแต่การรายงานเกาะติดถึงพระอาการประชวร นายกประยุทธ์นั่งเฮลิคอปเตอร์กลับกรุงเทพด่วน หรือแม้กระทั่งการรายงานจากคนที่ไปเฝ้าที่โรงพยาบาลศิริราช ก็เผยภาพและคลิปวิดีโอต่าง ๆ ที่ใกล้ชิดกับสถานการออกมาให้เห็น รวมถึงข้อความบนโลกโซเชียลจากผู้ใหญ่ในประเทศ ซึ่งนั่นก็นับว่าเป็นการรายงานข่าวที่มีบทบาทหลักเป็น Social Network เช่นกัน ซึ่งหากใครที่ติดตาม Social เป็นช่องทางหลักก็จะพบว่ามีความเป็น Developing Story สูงมาก คือเรื่องราวต่าง ๆ ค่อย ๆ เกิดขึ้นและมาปะติดปะต่อกัน

สรุปโซเชียล กับข่าวด่วน

ทุกวันนี้เรารับข่าวสารกันวันละหลายข่าวมาก แตกต่างจากเมื่อก่อนที่เราอาจจะอ่านข่าวกันวันละหนึ่งถึงสองครั้ง หรือดูรายการข่าวช่วงเช้า เที่ยง หรือข่าวช่วงเย็น แต่ปัจจุบัน Social Network ทำให้เราสามารถติดตามข่าวต่าง ๆ ได้อย่างตลอดเวลา รวมถึงสามารถเป็นผู้สร้างข่าวและนำขึ้นสู่โลกออนไลน์เองได้ด้วย

ทั้งหมดนี้ทำให้เราพอเดาได้ว่าความสำคัญของ Breaking News จะลดลง และคนจะจำเหตุการณ์ไม่ค่อยได้ว่าตอนนั้นเราทำอะไรอยู่ยกเว้นเราจะสนใจจริง ๆ เช่นศิลปินที่เราชื่นชอบเสียชีวิต หรือเกิดเหตุการณ์ครั้งใหญ่จริง ๆ เมื่อเทียบกับเมื่อก่อนแล้วเราจะเห็นว่าเวลาของเรานั้นสั้นลง เรื่องราวต่าง ๆ ถูกบีบอัดแน่นเข้ามาเพียงแค่ไม่กี่วินาทีที่เราเลื่อน Feed บนจอโทรศัพท์ข้อมูลนับสิบ ๆ อย่างก็แล่นเข้ามาในหัวเราแล้ว ดังนั้นไม่ว่าเราจะเป็นฝั่ง Publisher หรือฝั่งผู้เสพข่าวก็ตามการคิดก่อนจะกระทำการใด ๆ บนโลกออนไลน์นับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดท้ายแล้วเทคโนโลยีไม่สามารถมาควบคุมได้ เนื่องจากเรื่องราวนั้นจะจริงหรือเท็จ ถูกหรือผิด บิดเบือนแค่ไหน ล้วนแต่ถูกบอกเล่าโดยมนุษย์ถูกส่งโดยมนุษย์ และถูกรับโดยมนุษย์เทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้น

 

เพิ่มเติม : มีกระทู้แนะนำน่าสนใจว่าตอน 9/11 คนไทยทำอะไรอยู่ 

 

เรียบเรียงโดย ทีมงาน RAiNMAKER 

ขอบคุณข้อมูลด้านโทรทัศน์จาก ยามเฝ้าจอ

อ้างอิง

The BBC takes to the airwaves

How did World War II affect television 

The Media Was Always Bad at Reporting Breaking News, a Brief History

Breaking news is broken thanks to social media—fix it by changing your habits

Infographic: How Social Media Wins At Breaking News

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save