แชร์ประสบการณ์ทำ Live สองทุ่ม ยันสิบโมงเช้า ครบรอบ 50 ปี Apollo เบื้องหลัง วิธีคิด อุปกรณ์

นอกจาก RAiNMAKER แล้วอีกหนึ่งบทบาทของผู้เขียนก็คือการเป็นบรรณาธิการบริหารของเว็บอวกาศชื่อ Spaceth.co ซึ่งโจทย์ของเดือนนี้ก็คือ เป็นเดือนครบรอบ 50 ปี การลงจอดดวงจันทร์ของโครงการ Apollo 11 ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีคอนเทนต์อะไรที่พิเศษกว่าบทความหรือภาพชุด หลังจากที่คุยกันในทีมก็ปรากฏว่าลงความเห็นกันว่าจะทำคอนเทนต์ Live แบบ 12 ชั่วโมง ตั้งแต่ตอนที่ยาน Apollo ลงจอดบนดวงจันทร์จนถึงตอนที่นักบินอวกาศ Niel Armstrong ลงมาเหยียบดวงจันทร์ตามเวลาจริง ๆ ของภารกิจเมื่อ 50 ปีก่อน ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายมาก ทั้งเรื่องการจัดการและเทคนิค

วันนี้ผู้เขียนจึงอยากมาแชร์ประสบการณ์การจัด Live โดยที่ ไม่มีสถานที่ ไม่มีออฟฟิศ ไม่มีกล้อง DSLR และมีแค่ MacBook 3 เครื่อง iPad อีก 2 ตัว บวกกับทีมงานอีกแค่ 6 ชีวิต และเวลาที่จำกัดต้อง Sync เวลากับเวลาการลงจอดจริง ๆ เหมือน 50 ปีก่อนว่ามีเบื้องหลังการทำงาน แบ่งทีม และจัดการกับ Social กันอย่างไร

ยาวเกิน คนไม่ดูแน่ เลยหั่น Live ออกเป็น 3 ช่วง

สำหรับการออกแบบการ Live ดังกล่าว เนื่องจากทีมงานได้มาคุยกันหลังจากที่เลือกวิธีการทำคอนเทนต์ว่าถ้าจะ Live ยาว 12 ชั่วโมง+ ไปเลยนั้นน่าจะยาก และการลงจอดบนดวงจันทร์เป็นช่วงตี 2 ของเช้าวันที่ 21 กรกฎาคม และการเดินบนดวงจันทร์เกิดขึ้นในเช้าวันรุ่งขึ้นตอน 9 โมง เป็นช่วงเวลาวันอาทิตย์ด้วย คนไม่ตื่นมาดูอยู่แล้ว ดังนั้นกลยุทธ์ที่ทีมงานเลือกใช้คือ แบ่ง Live ออกเป็น 3 ช่วง

  • ช่วงแรก Live ในช่วง 2 ทุ่มของคืนวันที่ 20 กรกฎาคม เนื่องจากเป็นเวลาที่โอกาสคนเข้ามาได้ดู Live สูงที่สุด (คืนวันเสาร์)
  • ช่วงที่สอง Live ในช่วงตี 2 ของเช้าวันที่ 21 กรกฎาคม เนื่องจากเป็นช่วงที่ยานลงจอดบนดวงจันทร์
  • ช่วงที่สาม Live ในช่วง 9 โมงเช้าของวันที่ 21 กรกฎาคม เนื่องจากเป็นช่วงสำคัญคือการเดินบนดวงจันทร์

ที่มาของแนวคิดดังกล่าวคือการคิดว่า เราจะลากคนดูให้อยู่กับเราตั้งแต่ 2 ทุ่ม ไปจนถึงตี 2 จน Live จบ ซึ่งเราจะแบ่งการ Live ออกเป็นช่วงละ 1 ชั่วโมง 30 นาที แต่ตอน 2 ทุ่มของคืนวันที่ 20 นั้นยังไม่มีเหตุการณ์สำคัญ เราจึงเลือกใช้ช่วงนี้ในการจัด Live แบบพูดคุยโดยรวมของภารกิจ ตอบคำถาม Q&A ต่าง ๆ เริ่มต้นปูทาง จากนั้นหยอดให้คนดูรู้ว่าคืนนี้ตี 2 จะมีการ Live

อุปสรรค์ก็คือตอนเช้าเก้าโมงของวันที่ 21 เป็นเช้าวันอาทิตย์ แต่ก็แก้ด้วยการย้ายเอา Hilight คือการพูดคุยกับผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติมาอยู่ก่อนวินาทีสำคัญคือการก้าวลงบนดวงจันทร์​ ซึ่งทำให้ Live ดูมีอะไร

อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงแผนที่ออกแบบไว้เท่านั้น และก็ไม่ชัวร์ว่าสุดท้ายแล้วกลยุทธ์ที่ออกแบบไว้จะเวิร์คหรือเปล่า หลังจากที่ลงโปรโมตการ Live ในเพจเพียงแค่ 1 วันก่อน Live จริงก็พบว่า คนแชร์ไม่เยอะเท่ากับรอบก่อน ๆ ยิ่งสร้างความกังวลให้กับทีมงานว่าคนจะสนใจหัวข้อที่สำคัญจริง แต่ต้อง Nerd มาก ๆ ถึงจะมาอินและอยากดูแบบสด ๆ ตามเวลาจริง (ครั้งก่อน ๆ เวลาประกาศว่าจะ Live คนจะกดไลค์หลักหมื่น แต่ครั้งนี้มีแค่ 400 กว่า ๆ เท่านั้น)

โจทย์ยาก ไม่มีสถานที่ อุปกรณ์ไม่พร้อม

ความยากอย่างหนึ่งก็คือ ไม่มีสถานที่ เนื่องจากทีมของเราเป็นทีมนักเรียน นักศึกษากัน การเช่าออฟฟิศเพื่อทำงานจึงไม่คุ้มเพราะเวลาในออฟฟิศน้อยแน่ ๆ ปกติเวลาที่เราเลือกทำงานกันคือเวลากลางวัน การเช่า Studio หรือ Co-Working Space สามารถทำได้ไม่ยาก แต่ในกรณีนี้ ข้ามคืน บางคนตอนเช้าต้องรีบไปงานต่อ บางคนกลับมาจากงานหรือเรียนตอนเย็น ดังนั้นคงไม่มีตัวเลือกอะไรที่เหมาะไปกว่าการ เช่าโรงแรม เพราะมีสถานที่ให้อาบน้ำและนอนพักผ่อนระหว่างขั้น Live แต่ละช่วง

แต่โรงแรมก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากทีมงานร่วมชะตากรรมมีทั้งหมด 6 ชีวิต และโรงแรมส่วนมากก็จะมีห้องที่พักได้อย่างมากก็ 2-3 คน และขนาดไม่ใหญ่พอที่จะนำคนอัดเข้าไปได้ จึงต้องเลือก scope ให้เหลือแค่โรงแรมที่มีห้องใหญ่ หรือห้อง Duplex ที่มี 2 ชั้น ซึ่งนอนได้ประมาณ 4 คน จากนั้นเช่าห้องขนาดธรรมดาอีก 1 ห้อง เพื่อให้ครบกับจำนวนคนที่เข้าพักไม่ให้ผิดกฎกติกามรรยาทของการพักโรงแรม

ความโชคดีก็คือทีมงานเจอโรงแรมที่มีจอทีวีฝังหนัง + โต๊ะกระจก ที่ให้ความรู้สึกเหมือนห้องสตูดิโอข่าว จึงเลือกสถานที่นี้เป็นฉากในการถ่ายทอดสดครั้งนี้ได้อย่างไม่ยาก จะสังเกตว่าเมื่อนำของตกแต่งมาางบนโต๊ะแล้วคล้ายกับรายการข่าวตอนเช้าเลย (บนโต๊ะประกอบไปด้วยโมเดลจรวด และหนังสือพิมพ์ The New York Times ฉบับ 21 กรกฎาคม 1969)

iPhone เป็นกล้อง Mac เป็นตัวคุมสัญญาณ ไมค์สายและ โปรแกรม OBS

สำหรับโปรแกรมที่ใช้ในการ Live ก็คือโปรแกรม OBS ซึ่งในบทความนี้เราจะไม่ลงลึกไปถึงการใช้งาน แต่ต้องบอกว่าหลายคนอาจจะไม่รู้ว่าเราสามารถใช้กล้องของ iPhone นั้นเป็นกล้องในการทำ Live ได้ด้วย โดยลงแอพที่ชื่อว่า OBS Camera ซึ่งราคาจริง ๆ ก็นับว่าแพงพอสมควร ประมาณ 500 บาท แต่ถ้าใครที่ต้องทำ Live บ่อย ซื้อเอาไว้ก็คุ้มมาก เพราะจะได้คุณภาพกล้องการ Live ที่ชัดโดยที่ไม่ต้องใช้กล้อง DSLR (ไม่มีขาตั้งไม่เป็นไร ใช้ยางมัดผมในการมัด iPhone ไว้กับขาตั้งได้)

เทคนิคเล็ก ๆ น้อยที่ทีมงานใช้เพื่อให้การ Live ดูมืออาชีพขึ้น เช่น

  • ให้สร้างฉากใน OBS ไว้หลาย ๆ ฉากเป็นมุมกล้องเจาะของแต่ละคน อย่างกรณีนี้ก็คือมีผู้ดำเนินรายการ 2 คน ก็จะทำมุมกล้องเจาะเอาไว้เลย
  • ไมค์ ใช้ไมค์รุ่น Comica CVM-D02 ต่อตรงเข้ากับคอมพิวเตอร์ MacBook
  • สำหรับเสียง เนื่องจากการ Live ครั้งนี้ มีต้องใช้เสียงจริง ๆ แค่ 2 ครั้ง คือตอนเปิดวิดีโอกับตอน FaceTime คุยกับอาจารย์ ทำให้ทีมงานคิดว่า MacBook เปิดเสียงสุดก็ดังพอแล้ว
  • MacBook ที่วางอยู่บนโต๊ะพิธีกร ต่อตรงเข้ากับ HDMI ไปแสดงผลบนหน้าจอด้านหลัง (มีหนึ่งฉากใน OBS ที่ซูมไปที่หน้าจอโดยเฉพาะเวลาที่พิธีกรชี้ไปที่หน้าจอ คนดูจะเห็นด้วยว่าชี้ตรงไหน) ซึ่งเทคนิคคือ พยายามปรับแสงในหน้าจอ TV ให้เห็นชัดที่สุดในกล้อง (ส่วนมากคือการปรับลดแสงไม่ให้แสง over เกินไป)

แบ่งทีม พิธีกร, คนคุม Live และคน Monitor Social (Director)

ในการ Live นั้นแน่นอนว่าต้องมีพิธีกรและคนคุมระบบ Live (โปรแกรม OBS) แต่อย่าลืมว่าทั้งคู่มีภาระงานที่ล้นมือ พิธีกรต้อง Focus อยู่กับการพูดเนื้อหาและคอนเทนต์ที่ตัวเองต้องเล่า ส่วนคนคุม Live ก็ต้อง Switch ภาพและจัดการกับเทคนิคต่าง ๆ ดังนั้น key สำคัญที่เราทำก็คือ ให้มีคน 1 คนเป็น Monitor Social

โดยหน้าที่ของคน Monitor Social นี้ก็จะเหมือนเป็นผู้กำกับของการ Live ครั้งนี้ ซึ่งมีหน้าที่คือ

  • พิมพ์แคปชั่นที่ใช้สำหรับการ Live ส่งให้ คนคุม Live ไปใช้
  • เป็นตัวกลางระหว่างคนดูกับพิธีกร เช่น การอ่านคำถาม, การบอกว่าเสียงดังไป เบาไป ให้พิธีกรทำหรือไม่ทำอะไร (อย่าพยายามให้พิธีกรอ่านคำถามจาก Live แทนเพราะจะทำให้โฟกัสกับหลายอย่างไป สายตาจะวอกแวกไม่ได้โฟกัสกับเนื้อหาที่ตัวเองอยากพูด) Mointor Social จะทำหน้าที่อ่านคำถามและถามกับพิธีกรเองเมื่อโอกาสเหมาะสม โดยห้ามไปขัดในระหว่างที่พิธีกรกำลังพูด 
  • คอย Comment ลงในช่องแชท วิธีการที่เราใช้ก็คือ เวลาพิธีกรพูดเรื่องไหน หรือมีลิ้งค์, เว็บ ภาพ คนคุม Social จะคอยเอาลิ้งค์ไปวางในช่อง Comment เป็นการกระตุ้น Traffic เข้าเว็บหรือให้คนเซฟไว้อ่านทีหลังได้

  • คอยควบคุมการเริ่มต้น จบ Live ดูช่วงพีค ว่าคนดูตอนไหนเยอะสุด ดูตอนไหนน้อยสุด ตรงไหนควรตัดจบ
  • ตอน Live จบคน Monitor Social จะต้องตอบได้ว่า ตอนที่พิธีกรพูดตอนไหนที่คนชอบ ไม่ชอบ ตอนไหนคนดูเยอะสุด สรุปข้อมูลเกี่ยวกับการ Live ครั้งนั้นได้เพื่อปรับปรุงในครั้งต่อไป  

จะสังเกตว่าในการ Live ของเรา นอกจาก @Kornkt (กร) และ @Nanucns (นานุ) แล้ว จะมีทีมงานนั่งอยู่ด้านล่างของพิธีกรทั้งสอง ใต้มุมกล้องซึ่งกล้องจะมองไม่เห็นคือ @spxkpm (มาย) ซึ่งจะทำหน้าที่เป็น Social Monitor ในการ Live ครั้งนี้ (เธอเป็น Social Monitor สำหรับการ Live ของ Spaceth มาในเกือบทุก Live) และมี @Nutn0n (นัดนน) กับ @MixNathakorn (มิก)เป็นคนควบคุมระบบ Live

อีกหนึ่งตัวละครก็คือ @giggiggiggiggiggiggiggig (กิ๊ก) เป็น Support ของ @spxkpm ในการช่วยถามคำถาม อย่างไรก็ตาม ทุกคนก็ยังคงเป็นทีมเนื้อหาหมด ดังนั้นเวลามีคำถามอะไรที่ใครถนัด ก็จะวิ่งไปออกหน้ากล้องได้เสมอ

สรุปการ Live ไม่หวือหวา แต่ผลดีกว่าที่คิด คนดูนิ่ง

หลังจากการ Live ทั้ง 3 ช่วงตลอดเวลาเกือบ 15 ชั่วโมงผ่านไป พบว่าช่วงเวลาที่คนดูเยอะที่สุดคือตอน 2 ทุ่มและตอนตี 2 (อาจจะเพราะว่าเป็นวันหยุด) และความน่าทึ่งก็คือ ยอดการดูจะค่อนข้างนิ่งตลอด และมีการเข้ามา Engage กับผู้ Live ค่อนข้างดี มีการถามตอบตลอด ส่วนตอนช่วง 9 โมงเช้าวันถัดไปกลับพบว่าผู้จบเป็นคนละกลุ่มเลย (อาจจะเพราะหลับไปแล้ว ไม่ตื่น) แต่ก็ปูทางเข้าเรื่องได้ด้วยการมีแขกรับเชิญ ซึ่งข้อมูลนี้ก็ได้มาจาก Social Monitor นั่นเอง (เห็นไหมว่าการที่มีคนดูภาพรวมใหญ่ของการ Live จะทำให้เราได้ข้อมูลว่าผลการ Live เป็นอย่างไรบ้าง)

สรุปบทเรียนจากการ Live ในครั้งนี้

เนื่องจากการ Live ครั่งนี้แม่ว่าหัวข้อจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจก็จริง แต่วิธีการคือ Nerd มาก ดังนั้นคาดหวังไว้แล้วว่ากลุ่มคนที่เข้ามาดูจะต้องอินกับ Apollo พอสมควร แต่ก็เป็นไปตามคาดเพราะ Comment นั้นค่อนข้างโฟกัสไปกับเนื้อหา และไม่มีเกรียนเหมือนการ Live หลาย ๆ ครั้งก่อน

  • ควรมีคนที่ควบคุม Monitor Social และดูภาพรวมของการ Live บอกได้ว่าควรจบตรงไหน อ่านคำถามให้พิธีกรฟัง หน้าที่นี้ช่วยให้ทุกคนโฟกัสกับงานของตัวเองได้มากขึ้น เพราะต่อให้เตรียมตัวดีแค่ไหน ก็จะลนอยู่ดี โดยเฉพาะพิธีกร ก็ไม่ได้อยากจะพิมพ์ Caption คนคุม Live ก็มัวแต่ห่วง Live ดังนั้น ถ้ามีคนนึงที่มาจัดการได้ก็จะดีมาก
  • การ Live ที่ดี ไม่ได้แปลว่าต้องมีคนเข้ามาดูเยอะ แต่ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของเราจริง ๆ ที่เราต้องการจะคุยด้วย สุดท้ายผลของมันจะรู้สึกได้ทันทีว่าเราทำสิ่งที่ถูกต้อง
  • ใช้อุปกรณ์ใกล้ตัวให้เป็นประโยชน์สูงสุด ไม่ต้องคิดเยอะ Hack และ DIY เอา (สังเกตในรูปเลยคือโคมไฟที่เอากระดาษ A4 มาเกลี่ยแสง)

สามารถชมการ Live ทั้ง 3 ตอนได้ด้านล่างนี้

Copyright © 2025 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save