ท่ามกลางข้อกังขามากมายในการรายงาน ผลเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ตั้งแต่ช่วงเวลาปิดหีบ 17.00 น. ประชาชนชาวไทยเฝ้ารอผลด้วยการติดตามทางโทรทัศน์บ้าง ทางโซเชียลมีเดียบ้าง ซึ่งข้อมูลข่าวสารที่ดูเหมือนจะไม่ได้ราบรื่นนัก มีเบื้องหลังคนทำงานที่แสนทรหดถึกทนมาแชร์ให้ทุกคนได้อ่านกัน โดย RAiNMaker ได้มีโอกาสพูดคุยกับ แทน ชวิศ หินเงิน โปรแกรมเมอร์มือทองผู้เป็นหัวหอกของโปรเจ็ครายงานผลการเลือกตั้งปี 2562 นี้
เมื่อปลายปีที่แล้วแทนและตัวแทนกลุ่มสื่อร่วมมือกับกกต. เพื่อหารือเรื่องการรายงานผลเลือกตั้ง 2562 ร่วมกับ DGA สํานักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล โดยกระบวนการที่ตกลงกันได้นั้นคือระบบ api เป็นระบบที่อนุญาตให้สื่อกว่า 30 องค์กรสามารถดึงข้อมูลการนับคะแนนเลือกตั้งจากกกต.แบบ Real Time ซึ่งฝั่ง DGA จะมีตัวระบบ Rapid Report แอปพลิเคชั่นเพื่อรายงานผลแบบ Internal ที่เจ้าหน้าที่หน่วยเลือกตั้งใช้ส่งข้อมูลมาที่กกต.กลาง
หลังจากการหารือนั้นสรุปได้ว่าการที่สื่อทั้งหมด 30 เจ้าจะเข้าไปดึงข้อมูลมาพร้อมๆกันอาจจะเกิดปัญหาได้ ทางทีม (ซึ่งเรียกว่า Dttpool) นำโดยดร.ธนา ทุมมานนท์ เสนอวิธีสร้างระบบกลางของสื่อเพื่อเป็นต้นทางดึงข้อมูลมาเพียง 1 ชุด ให้ทุกสื่อดึงข้อมูลมาประมวลผลและนำไปรายงานผล ซึ่งสำนักข่าวทั้งสื่อทีวี สื่อออนไลน์ได้สนใจที่จะนำไปนำเสนอข่าว และไม่เพียงเพื่อความสะดวกวิธีนี้จะไม่มีผลกระทบทำให้เซิร์ฟเวอร์ของกกต.ล่มอีกด้วย โดยระบบนี้เอกชนเป็นคนลงขันกันเองใช้งบที่ทางสื่อสมาชิกหารเฉลี่ยกัน (ไม่ได้มีการใช้งบของรัฐแต่อย่างใด)
โดยคะแนนที่จะรวบรวมและส่งมาจะมีตัวเลข 6 ชุดด้วยกัน ได้แก่ 1) ผู้มีสิทธิ์ 2) ผู้มาใช้สิทธิ 3) บัตรดีที่ใช้นับคะแนนให้แต่ละพรรค 4)จำนวนบัตรเสีย 5)จำนวนโนโหวต 6)จำนวนผู้มาใช้สิทธิแยกชายหญิง นอกจากข้อมูลที่จะส่งมาหลังจากปิดหีบ ก็จะมีข้อมูลผู้สมัครทั้งสส.เขตและปาร์ตี้ลิสที่มาจากกกต. รวมไปถึงรูปภาพผู้สมัครอีกด้วย
มาถึงช่วงหลังปิดหีบ 17.00 น. จากคำบอกเล่าของแทน และจากที่ RAiNMaker ได้ติดตามสถานการณ์จากหลายๆช่องทาง เมื่อหน่วยเลือกตั้งเริ่มทำการนับคะแนนนั้น ยังไม่สามารถเริ่มอัพเดตข้อมูลให้กับทางสื่อกลางได้ทันที ทำให้การเริ่มประกาศคะแนนบนสื่อเลื่อนออกไปเป็น 18.00 น. สื่อกระแสหลักอย่าง 3 5 7 9 Thai PBS ใช้โพลจากสำนักต่างๆ อย่าง Bangkok Poll , Super Poll และนักวิเคราะห์ ส่วนฝั่งออนไลน์นั้นมีเว็บไซต์ https://vote62.com โดย a day , Momentum, iLaw และ Opendream ที่นำระบบ Crowdsourcing มาใช้ให้คนทางบ้านถ่ายรูปและช่วยกันกรอกผลคะแนนเข้ามา ซึ่งเป็นของมูลเพียงบางส่วนของประเทศเท่านั้น
เมื่อถึงเวลา 18.00 น. ผลคะแนนเริ่มมีการส่งเข้ามา ทุกสื่อเริ่มทยอยทำกราฟิกแสดงผล และเว็บไซต์ต่างๆเริ่มอัพเดตคะแนนเข้าไปในแต่ละเขตและประมวลผลคะแนนออกมาเป็นจำนวนสส.ปาร์ตี้ลิสต์ ตามสูตรที่กกต.เคยให้ไว้ ช่วงการนับข้อมูลถึง 38% ถ้าใครที่ติดตามอยู่จะเห็นว่าผลคะแนนวิ่งขึ้นชาลง เนื่องจากมีการสะดุดในการส่งต่อข้อมูล แต่ทางสื่อส่วนกลางเองนอกจากระบบที่เซ็ตไว้ดึงข้อมูลจากกกต.แล้ว ยังมีการส่งคนไปกรอกที่หน้ากกต.กลาง พอถึงช่วง 60 % ระบบเริ่มกลับมาใช้งานได้ คะแนนจึงไหลเข้าแต่ละพรรคในจำนวนมาก ทำให้เห็นถึงลำดับพรรคที่ได้คะแนนมากน้อยอย่างชัดเจน
ในตอนแรกที่คาดการณ์กันว่าการนับคะแนนน่าจะจบลงภายใน 21.00 น. แต่เมื่อไม่เป็นเช่นนั้น เวลาประมาณ 21.15 น. กกต.ออกมาแถลงยุติการรายงานผลและแจ้งกับสื่อมวลชนว่าจะแถลงผลการเลือกตั้งในวันรุ่งขึ้น ซึ่ง ณ ขณะนั้นคะแนนที่ได้มาประมาณ 90% ทำให้มีการเก็งสูตรรัฐบาล สื่อต่างๆวิเคราะห์ข้อมูลเท่าที่มีไปเรื่อยๆ ยังพอมีผลคะแนนไหลมาอีกเล็กน้อยจนนิ่งสนิทที่ 93% ตอน 23.45 น.
นี่ก็เป็นเส้นทางการรายงานผลคะแนนที่อาจจะไม่ค่อยราบรื่นนัก แต่ทุกสื่อก็ทุ่มเททำงานกันอย่างเต็มที่ กราฟิก และหน้าตาของเว็บไซต์เองก็มีการเตรียมการมายาวนานหลายเดือน นักข่าวของแต่ละสำนัก ต้องประจำการอยู่ทั้งหน้าหน่วยเลือกตั้งใหญ่ๆ สำนักงานกกต. ที่ทำการพรรค และอีกหลายชีวิตที่เตรียมประมวลผลข้อมูลเพื่อรออัพโหลดขึ้นสู่โซเชียลมีเดีย การทำงานในครั้งนี้นอกจากพลังอึดยังไม่พอ ต้องอาศัยใจ มันสมอง และความสามัคคีทั้งนอกและในสำนักข่าวของตนเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง :
24 มี.ค.นี้ กับข้อพึงระวังในรายงานข่าวเลือกตั้งของสื่อมวลชน