สรุปเทรนด์ภาพยนตร์โลก OSCARS ครั้งที่ 95 ปี 2023

หลังจากงานประกาศรางวัลภาพยนตร์สากลระดับโลกอย่าง Oscars ครั้งที่ 95 ปี 2023 ได้ประกาศไป ทาง RAiNMaker จึงอยากขอแสดงความยินดีกับผู้ชนะทุกราวัล ทั้งในฐานะผู้สร้าง ผู้อยู่ทั้งเบื้องหน้า และเบื้องหลังทุกคนที่ตั้งใจสร้างสรรค์ผลงานดี ๆ สู่สังคมนี้ แต่คงไม่มีอะไรจะสำคัญไปกว่าการถอดบทเรียน และเทรนด์ต่าง ๆ ที่ได้จากงานนี้ ซึ่งเราสรุปมาให้แล้วว่าครีเอเตอร์ แบรนด์ และเอเจนซีจะนำไปประยุกต์กับการสรรสร้างคอนเทนต์ หรือแคมเปญอย่างไรได้บ้าง

ในยุคที่ผู้คนเริ่มให้ความสำคัญกับความเท่าเทียม และความหลากหลายทางเชื้อชาติ ก็เริ่มมีพื้นที่ให้หลาย ๆ ผลงานถูกมองเห็นมากขึ้น โดยเริ่มจากภาพยนตร์เรื่อง Parasite ของบงจุนโฮ ผู้กำกับชาวเกาหลีใต้ ได้สร้างจุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์กลายเป็นภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม พร้อม 4 รางวัลใหญ่บนเวทีออสการ์ในปี 2020

ซึ่งทำให้งานประกาศรางวัลต่าง ๆ ที่ไม่ได้มีแค่ออสการ์ หรือการสร้างสรรค์ผลงานในโลกบันเทิง และโลกสตรีมมิงมีความเปิดกว้าง และตระหนักถึงความหลากหลาย (Diversity) มากขึ้น และในปี 2023 ก็เช่นกัน แต่จะมีเทรนด์อะไรน่าจับตามองจากงานออสการ์ครั้งนี้บ้าง ตามไปดูกันเลย!

Multiverse World

เทรนด์โลกมัลติเวิร์ส

ปี 2022 มาจนถึงปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นปีแห่ง Metaverse จริง ๆ เพราะตั้งแต่ Facebook เปลี่ยนชื่อมาเป็น Meta และมีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์อย่างค่าย Marvel เรื่อง “Doctor Strange in the Multiverse of Madness” กับ “Everything Everywhere All at Once” หรือซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์สจากค่าย A24 เล่าเรื่องอิงเกี่ยวกับโลกคู่ขนาน และการทะลุมิติจักรวาล เพียงแต่มีการเล่า และประเด็นไอเดียที่ต่างกัน

แต่อย่างไรก็ตามเพราะความแปลกใหม่ และวิธีการเล่าที่หลุดโลกทำให้หนังจากค่าย A24 คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปครอง เพราะ Everything Everywhere All at Once แสดงให้เห็นแล้วว่า โลกมัลติเวิร์สไม่จำเป็นต้องมีลูกเล่นแค่การท่องเวลาต่างโลกเพียงอย่างเดียว

แต่ยังสามารถใส่ความเป็นมนุษย์ให้ผู้ชมเข้าถึงได้ด้วย แม้จะต้องอาศัยการตีความในการวิเคราะห์เพิ่มเติมก็ตาม แต่เรื่องความรัก ความมีเมตตา และความเข้าใจในขาว – ดำ และดำ – ขาว เป็น 3 องค์ประกอบที่ผสมกันอย่างลงตัวเป็นอย่างมากกับเรื่องนี้ จึงทำให้ได้ 7 รางวัลจากการเข้าชิง 11 สาขาไปครอง

Diversity & Equality

เทรนด์ความหลากหลายทางเชื้อชาติ และวัฒนธรรม

ในปี 2020 แม้จะมีจุดเริ่มต้นจากหนังภาษาต่างประเทศเรื่องแรกอย่าง Parasite ที่ได้รับรางวัล แต่ในปีนี้มีนักแสดง และนักแสดงสมทบจากฝั่งเอเชียได้รางวัลการแสดงไปครองด้วย

นั่นก็คือ Michelle Yeoh ผู้หญิงเอเชียคนแรกที่ชนะรางวัลออสการ์สาขานักแสดงหญิงยอดเยี่ยมกับบทบาทตัวละคร “Evelyn” และ Ke Huy Quan ผู้ชนะสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมกับบทบาทตัวละคร “Waymond Wang” จากภาพยนตร์เรื่อง Everything Everywhere All at Once

ซึ่งแสดงให้เห็นว่างานประกาศรางวัลนั้นมีความเปลี่ยนแปลงไปมาก ตามมุมมองที่เปลี่ยนไปของคนในสังคมที่มีความตระหนักถึงความหลากหลายมากขึ้น โดยไม่นำความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมมาเป็นเกณฑ์ตัดสินอีกต่อไป แต่ทุกคนในอุตสาหกรรมนี้มีสิทธิ์ได้รับรางวัลตอบแทนความพยายาม และความตั้งใจของพวกเขากลับไป

Bollywood Culture

เทรนด์วัฒนธรรมบอลลีวู้ด

อย่างที่รู้กันดีว่าโลกบอลลีวู้ด หรืออุตสาหกรรมภาพยนตร์อินเดียนั้นเฟื่องฟูมานานแล้ว ซึ่วได้รับความนิยมทั่วโลกเช่นกันไม่ว่าจะเป็นทั้งในด้านวัฒนธรรม แฟชัน ดนตรีและการเต้นก็ตาม ในปัจจุบันก็เริ่มมีภาพยนตร์สะท้อนสังคมมากขึ้นด้วย

ซึ่งในงานออสการ์ครั้งนี้ เพลง “NAATU NAATU” จากภาพยนตร์เรื่อง “RRR” ของอินเดียได้ไปโชว์บนเวทีออสการ์ พร้อมได้รับการยืนปรบมือแสดงความยินดี (Standing Ovation) จากผู้ชมในฮอลหลังการแสดงจบ และคว้ารางวัลสาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปครอง จากการประกาศเชิญรางวัลโดยนักแสดงอินเดียหญิงชื่อดังอย่าง Deepika Padukone ในฐานะเพลงแรกจากภาพยนตร์อินเดียที่ชนะรางวัลในสาขานี้

นอกจากนี้สารคดีอินเดียอย่าง “The Elephant Whisperers” ยังเป็นสารคดีอินเดียเรื่องแรกที่ชนะออสการ์สาขานี้ด้วย โดยแกนหลักของเรื่องแสดงให้เห็นถึงชนพื้นเมืองในอินเดียที่เลี้ยงดูลูกช้างกำพร้า และทำให้ผู้ชมตระหนักถึงความสำคัญของการอยู่ร่วมกับธรรมชาติให้กลมกลืน และรักษาความยั่งยืนได้

เช่นเดียวกันกับภาพยนตร์เรื่อง RRR ที่มีการเผยแพร่วัฒนธรรมเต้นรำเท้าไฟสุดตระการตา เป็นการประกาศศักดาวงการบันเทิงแห่งโลกภารตะให้เป็นที่ยอมรับสากลอย่างแท้จริง โดยไม่ต้องไหลไปตามกระแส Pop Culture ที่แมสอยู่แล้วเพียงอย่างเดียว

Positivity & Empathy

เทรนด์คิดบวก และเข้าใจโลก

แม้การสร้างคอนเทนต์ให้คิดบวก เข้าใจผู้คน และเข้าใจโลกอาจฟังดูเป็นเรื่องง่าย แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ทำแล้วจะสร้างอิมแพคให้กับโลก และสังคมได้อย่างแท้จริง แต่ค่ายหนังเล็ก ๆ อย่าง A24 ถือว่าน่าจับตามองไม่น้อยในวงการนี้ หลังภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่อง “Everything Everywhere All at Once”  และ “The Whale” ได้สร้างคุณค่า และเติมพลังบวก ชวนให้สังคมคิดทบทวนกันมากขึ้นในแง่มุมที่ต่างกัน

เริ่มจาก Everything Everywhere All at Once ที่มีแกนหลักของเรื่องนำเสนอถึงการมองโลกในแง่บวก และความมีเมตตาที่เราได้จากตัวละคร Waymond Wang สามีของ Evelyn ในเรื่อง ซึ่งมันทำให้เธอเปลี่ยนมุมมอง และเข้าใจตัวตนที่เป็นอยู่ในทุก ๆ จักรวาลมัลติเวิร์ส

และ The Whale ที่นำเสนอเรื่องราว Dark Fantasy แต่มีความเป็นมนุษย์ทั้งการสะเทือนอารมณ์อย่างเข้มข้น กับปัญหาความสัมพันธ์ และการใช้เวลาช่วงสุดท้ายของชีวิตที่อยากให้คยที่รักมีความสุข และรู้จักมองเห็นคุณค่าในตัวเอง ซึ่งการแสดงครั้งนี้ยังทำให้การกลับคืนวงการแสดงในรอบ 20 ปีของ Brendan Fraser คว้ารางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมกับบทบาทตัวละคร “Charlie” ที่ต้องแต่งเป็นชายร่างใหญ่หนักเกือบ 300 โลด้วย

แม้ 2 เรื่องนี้จะมีการนำเสนอ และมู้ดโทนของการเล่าเรื่องที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่กลับส่งผลให้คนดูได้วิเคราะห์ และทบทวนกับชีวิตมากขึ้น

Streaming Media

เทรนด์สื่อสตรีมมิง

หนังสงครามอย่างเรื่อง “All Quiet on the Western Front” จากเยอรมนีที่แม้จะฉายรอบพรีเมียร์แค่ในงาน Toronto International Film Festival ไป และลงจอสตรีมมิงบน Netflix เท่านั้น แต่ก็ได้รับผลการตอบรับดีจนคว้ารางวัล Best International Feature Film, Best Cinematography, Best Production Design และ Best Original Score ไปครอง

แสดงให้เห็นว่าภาพยนตร์บนสตรีมมิงก็สร้างคุณภาพ และประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ชมได้เช่นกัน เพราะเวทีประกาศรางวัลภาพยนตร์ก็เปิดโอกาสให้ภาพยนตร์ หรือสารคดีบนสตรีมมิงได้รับโอกาสในการเข้าชิง เช่นเดียวกับสารคดีเรื่อง The Elephant Whisperers ของอินเดีย

ซึ่งนี่อาจจะจุดประกายแรงบันดาลใจให้นักสร้าง และนักแสดงในอุตสาหกรรมสตรีมมิงมีโอกาสได้เฉิดฉายและรับรางวัลเช่นกัน ฉะนั้นผลงานบนสตรีมมิงไม่ได้แปลว่าต้องมีคุณภาพด้อยกว่าภาพยนตร์ที่เข้าฉายในโรง กลับกันยังเป็นอีกช่องทางรอให้คนรุ่นใหม่ ๆ ได้สร้างผลงานมีคุณภาพมาลงจอกันมากขึ้นด้วย

Powerful Message

เทรนด์พลังของการสื่อสาร

แต่ก่อนความเชื่อที่ว่าลงทุนเยอะ งบเยอะ จะสามารถสร้างสรรค์งานได้มากกว่า และมีคุณภาพที่สุด แต่ในตอนนี้การลงทุนเยอะไม่ได้การันตีความสำเร็จแบบนั้นอีกต่อไปแล้ว เพราะค่ายหนังเล็ก ๆ อย่าง A24 กำลังมาแรงไม่น้อย ด้วยผลงานคุณภาพมากไอเดีย ที่ไม่ได้เน้นแค่ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เพียงอย่างเดียว

เพราะทั้ง Everything Everywhere All at Once ที่ใช้ทุนสร้างเพียง 25 ล้านดอลล์ แต่ทำรายได้ไป 73 ล้าน และ The Whale ที่ใช้ทุนสร้าง 3 ล้านดอลลาร์ โลเคชันเดียวกับนักแสดง 6 คน แต่ทำรายได้ไปถึง 36 ล้านดอลลาร์ เรียกได้ว่าทั้ง 2 เรื่องได้รับผลตอบรับเกินทุนสร้างไปแล้ว

เพราะค่านิยม และพฤติกรรมของคนดูเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ เปลี่ยนไป เนื่องจากให้คุณค่ากับบางอย่างที่มีความ Niche มากขึ้นในทุก ๆ อุตสาหกรรมนั่นเอง

Grand Opening

เทรนด์โชว์ของใหม่เรียก Social Voice

ในงานอสสการ์นอกจากจะเป็นงานประกาศรางวัลแล้ว ยังเป็นพื้นที่ของโฆษณา และการฉายตัวอย่างใหม่ ๆ ด้วย ซึ่งทาง Disney ก็ได้ปล่อยตัวอย่างเต็มใหม่ของภาพยนตร์ Live Action “The Little Mermaid” ที่ได้ “Halle Bailey” มารับบทเจ้าหญิงแอเรียลตัวละครโปรดในวัยเด็กของใครหลาย ๆ คน

ซึ่งหลังจากปล่อยตัวอย่างใหม่ออกมาก็สร้างกระแส และยอดเอ็นเกจเมนต์ของ Social Voice อย่างล้นหลาม ทั้งในแง่ของภาพ และเรื่องราวที่จะได้เห็นกัน ชวนให้เกิด Nostalgia แต่ไม่ว่าเสียงในโลกโซเชียลจะเอนเอียงไปทางไหน Disney ก็นับว่าประสบความสำเร็จที่สร้างพื้นที่ให้ผู้คนสนใจได้

Copyright © 2025 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save