THACCA SPLASH ถือว่าเป็นงานมหกรรมรวม Soft Power ไทย พร้อมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ทั้งในประเทศและทั่วโลก โดยภายในงานมีทั้งเวทีสัมมนาที่เชิญผู้เชี่ยวชาญในแต่ละอุตสาหกรรม Soft Power ขึ้นมาให้ความรู้ และแชร์ประสบการณ์ถึงภาพรวมในวงการ และโซนจัดแสดงงานที่แบ่งออกเป็น 11 หมวด ตามอุตสาหกรรม Soft Power ที่รัฐบาลผลักดัน
ซึ่งเขาก็จัดออกมาได้ยิ่งใหญ่ราวกับยก Art Exibition มาไว้ในงานกันเลยทีเดียว นอกจากนี้ ยังมีโซนสำหรับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อื่น ๆ จากต่างประเทศ เช่น เกาหลี และญี่ปุ่น เพื่อเป็นแนวทางให้กับคนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยได้ไปเรียนรู้ และลองสัมผัสประสบการณ์อีกด้วย
ในฐานะผู้เข้าร่วมงาน ทีมงาน RAiNMaker จึงถอดรหัส 5 สิ่งที่แสดงให้เห็นแนวทางของรัฐบาลในการผลักดัน Soft Power ไทย ผ่านการจัดงาน THACCA SPLASH ในครั้งนี้
สร้างจุดเริ่มต้นของการผลักดัน Soft Power ในอนาคต
การจัดงาน THACCA SPLASH ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะทำให้คนทั้งไทยและต่างประเทศตระหนักถึงการสนับสนุน และผลักดัน Soft Power ไทยมากขึ้น ผ่านการปูพื้นฐานภาพรวมของ Soft Power ให้คนคุ้นเคย รวมถึงการจัดงานออกมาในรูปแบบ Exhibition ทำให้คนได้รับประสบการณ์ที่ดีกว่า เพราะนอกจากความรู้แล้ว ยังได้ความสุนทรีย์ในการเสพผลงานสร้างสรรค์อีกด้วย
สร้างการรับรู้ในภาพกว้างของ Soft Power ไทยแบบครบวงจรทั้ง 11 หมวด
เมื่อถามว่า Soft Power ไทยมีอะไรบ้าง หลายคนคงตอบ มวยไทย, กางเกงช้าง, ข้าวเหนียวมะม่วง หรืออาหารไทย แต่ตามความเป็นจริงแล้วยังมีอีกหลายอย่างในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่สามารถผลักดันจนเป็น Soft Power ได้
งานนี้ THACCA จึงจัดการแสดงผลงานเป็นโซนต่าง ๆ ตามแต่ละอุตสาหกรรมที่รัฐบาลมุ่งผลักดันทั้ง 11 หมวด ซึ่งแต่ละโซนก็จัดตกแต่งไปตามธีม เช่น โซนงานเขียนจัดเป็นธีมหนังสือ, โซน Art ที่นำหนึ่งในงานศิลปะอย่าง Art Toy มาแสดง ที่มี Art Toy ฝีมือคนไทยอย่าง Crybaby มาจัดแสดงด้วย
โดยภายในงานจัดโซนรวมทั้งหมด 11 โซน เพื่อให้คนได้เดินชมภาพรวมขอแต่ละอุตสาหกรรม และมีการประกาศนโยบายที่จะพัฒนาทักษะด้านศิลปะของบุคลากรในอุตสาหกรรมให้ดียิ่งขึ้นในแต่ละด้าน ดังนี้
-
Music
-
Book
-
Arts
-
Festival
-
Sports
-
Food
-
Travel
-
Film, Drama, Series, Documentary, Animation
-
Game
-
Fashion
-
Design
สร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนพัฒนาทักษะ ทั้ง Soft Skills และการ Re-skills
เป้าหมายสำคัญของการจัดงาน คือ ‘สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้’ เพื่อให้คนไทยมีอาชีพและชีวิตที่ดีขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยก้าวหน้าไปอีกขั้น ซึ่งการจัดแสดงงานแบบนี้จะทำให้เราได้เห็นภาพรวมของแต่ละอุตสาหกรรมชัดเจนขึ้น รวมถึงจุดประกายแรงบันดาลใจให้คนอยากพัฒนาผลงานของตัวเอง เพื่อผลักดัน Soft Power ไทย
นอกจากนี้ ยังถือเป็นโอกาสสำหรับคนที่มีความสนใจในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือต่อยอดจนสามารถหาอาชีพจาก Soft Skills ที่มีสู่ Soft Power ได้
สร้างเวทีแชร์ความรู้ประสบการณ์จากวิทยากรคนไทย-ต่างชาติในแต่ละวงการ
เชิญตัวจริงในแต่ละวงการมาแชร์ความรู้ และประสบการณ์ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของตัวเอง เพื่อพัฒนา Pain Point และผลักดันให้เกิด Soft Power ที่แข็งแรงขึ้นจนยกระดับเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งวิทยากรแต่ละท่านต้องบอกเลยว่าระดับท็อปที่ไม่ได้หาเจอง่าย ๆ นี่จึงถือเป็นโอกาสที่ดีที่ได้รับฟังแนวคิดของทุกท่านในงานเดียว
สร้างพื้นที่ทั้งคนสร้างและคนสนับสนุน พื้นที่เปิดรับฟังความคิดเห็น
การนำผลงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มาจัดแสดงในงาน นอกจากเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึง และแลกเปลี่ยน Soft Power แล้ว ก็ยังถือเป็นโอกาสที่ให้ผู้สร้างสรรค์ได้โชว์ผลงาน และศักยภาพอีกด้วย
รวมถึงอีกหนึ่งไฮไลต์ของงานคือ ทุกโซนที่จัดแสดงจะมีจุดให้ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นต่อ Soft Power ในแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นแหล่งข้อมูลฟีดแบ็กชั้นดี ที่จะช่วยให้รัฐบาลนำไปต่อยอดพัฒนาแก้ไขให้ประเทศเดินไปในทางที่ดีขึ้นบนพื้นฐานความต้องการที่แท้จริงของประชาชนนั่นเอง
โดยรวมทีมงานคิดว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการผลักดันอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และ Soft Power อย่างน้อยก็มีคนจำนวนหนึ่งที่หันมาสนใจ เห็นความสำคัญ และร่วมกันซัพพอร์ต Soft Power ไทยมากขึ้น ส่วนทิศทางต่อไปจะเป็นอย่างไร ก็คงขึ้นอยู่กับการต่อยอดของรัฐบาลว่าจะดำเนินการอย่างไรให้ Soft Power ไทยทรงพลังได้มากกว่านี้