ดูผลและสถิติการค้นหากรณีถ้ำหลวง ผ่าน Google Trend บอกอะไรเรา

ในที่สุด วิกฤติ 13 ชีวิตในถ้ำหลวงก็ผ่านไปได้ด้วยดีและสถานการก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อในที่สุดทีมกู้ภัยนานาชาติก็เดินทางเข้าถึงตัวน้อง ๆ ได้และกำลังเตรียมวางแผนที่จะพาน้อง ๆ ออกมา แน่นอนว่าเรื่องนี้แทบจะเป็นข่าวหลักในประเทศที่ทุกคนต้องติดตาม รวมไปถึงในต่างประเทศก็ได้มีความสนใจมายังข่าวนี้จากทั่วโลก

คงไม่ต้องให้บอกว่ากระแสนี้โด่งดังแค่ไหน ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ทีมงาน RAiNMAKER เคยแนะนำเครื่องมือชื่อ Google Trend ที่คอยดูผลการค้นหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ในครั้งนี้เราจะลองนำ Google Trend มาย้อนดูกรณี 13 ชีวิตในถ้ำหลวงนี้ว่า Google Trend จะบอกอะไรเราได้บ้าง

ส่องพฤติกรรมการ Search กรณีถ้ำหลวงจาก Google Trend

แน่นอนว่ากระแสนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันแรกที่มีข่าว ว่ากลุ่มเด็ก ๆ หายตัวเข้าไปในถ้ำ และกระแสก็แรงขึ้นมาเรื่อย ๆ จนมาพุ่งสูงสุดในวันที่ 26 สำหรับ Keyword ที่คนไทยสนใจค้นหาก็เช่น

  • ถ้ำนางนอน
  • เด็กติดถ้ำ
  • เด็กติดถ้ำ 13 คน ล่าสุด
  • ถ้ำ เชียงราย

หลังจากนั้นการค้นหาก็ตกลงเรื่อย ๆ และกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งในวันที่ 2 ซึ่งเป็นวันที่มีข่าวว่าทีมกู้ภัยได้เจอกับน้อง ๆ แล้ว

อีกหนึงสิ่งที่น่าสนใจก็คือจาก Heatmap ของ Google Trend บอกว่าจังหวัดเชียงรายมียอดการค้นหาในกรณีนี้สูงมาก และการค้นหาในภาคเหนือก็มีมากกว่าในภาคกลางด้วย

คนไทยค้นหาข่าวถ้ำหลวงช่วงบ่าย

ข้อมูลจาก Google Trend ทำให้เราพบ Pattern อะไรบางอย่างจากพฤติกรรมการค้นหา นั่นก็คือ คนไทยนิยม Search หาข่าวในช่วงบ่าย คือหลังจากบ่ายโมงเป็นต้นไป จนไปถึงประมาณบ่าย 3 โมง เป็นช่วยที่มียอดการค้นหา active มากที่สุด

ข้อมูลนี้จะตรงกับประสบการณ์จริงของผู้เขียน ซึ่งก็ได้เขียนบทความเกี่ยวกับการกู้ภัยในถ้ำจาก Analytic ก็จะพบว่า มียอดการอ่านสูงในช่วงบ่าย ประมาณบ่าย 1 ถึงบ่าย 3 เช่นเดียวกัน

ตรงนี้อาจจะเดาได้ว่าช่วงบ่าย เป็นช่วงหลังจากพักกลางวันและกำลังเตรียมตัวเริ่มต้นที่จะทำงานต่อ จึงทำการอัพเดทข่าวสารต่าง ๆ บนโลกออนไลน์

กรณีถ้ำหลวงในสายตาต่างประเทศ

อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ ต่างประเทศให้ความสนใจในการค้นหากรณีถ้ำหลวงมากขนาดไหน เราได้ลองนึกข่าว 3 ข่าวสำคัญที่ดูเหมือนว่าต่างชาติจะให้ความสนใจ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาก็จะเป็นเรื่องของ รัฐประหาร, การสวรรคตของในหลวง ร.9 และ กรณีเด็กติดถ้ำนี้

หลังจากที่ได้ลองดูจากกราฟ จะเห็นว่ากรณีเด็กติดถ้ำ มีผลการค้นหาสูงเทียบเท่ากับกรณีการเกิดรัฐประหารในปี 2014 เลยทีเดียว และมากพอ ๆ กับข่าวงานถวายพระเพลิงพระบรมศพของในหลวงรัชกาลที่ 9 แต่ก็ยังไม่เป็นกระแสโลกสูงเท่ากรณีการสวรรคตเมื่อปี 2016

การค้นหาค่อย ๆ สูงขึ้นและพีคสุดในวันที่มีข่าวว่าเจอ

ในขณะที่ผลการค้นหาของคนไทยจะเห็นว่าข่าวพีคสุดคือช่วงที่หาย แต่สำหรับในต่างประเทศ มีผลการค้นหาพีคที่สุดในวันที่มีข่าวว่าพบกับเด็ก ๆ แล้ว

ซึ่งอันนี้น่าจะพอเดาได้ว่าในต่างประเทศ ไม่ได้ตามข่าวนี้มาตั้งแต่แรก พอมีข่าวว่าพบแล้วจึงย้อนกลับไปค้นหาว่า สรุปเหตุการณ์ต่าง ๆ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร เราก็จะเจอการค้นหาแนว ๆ

  • How did soccer team get in cave
  • How did boys get in cave
  • How did the soccer team get stuck

ซึ่งเป็นการตั้งคำถามและหาข้อมูลต่อเหตุการณ์ดังกล่าวย้อนหลังไปว่า ทำไมข่าวนี้ถึงได้เป็นกระแสใหญ่โตระดับประเทศ

สรุปพฤติกรรม และเราควรจะเรียนรู้อะไรจากกรณีถ้ำหลวง

จากการได้ลองเล่น Google Analytic เราก็จะเห็นพฤติกรรมการค้นหาข่าวของคนไทยที่จะเกิดขึ้นในช่วงบ่ายเป็นหลัก รวมถึงวันที่พีคสุดคือวันที่เกิดกระแสโด่งดังว่าเด็ก ๆ หายไป แต่ในวันที่เจอกลายเป็นว่าเราสามารถตามข่าวได้จาก Social Media ต่าง ๆ รวมถึง TV แล้วทำให้การค้นหา Drop ลงไป

ในขณะที่ต่างประเทศ เราจะพบว่ามียอดการค้นหาสูงสุดในวันที่เจอ ซึ่งส่วนมากจะเป็นการย้อนกลับไปดูสรุปเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

จริง ๆ แล้วในกรณีถ้ำหลวงนี้ก็นับว่าเป็น case-study ที่น่าสนใจที่เราจะมาลองวิเคราะห์ตั้งแต่พฤติกรรมการใช้งานโซเชียล, การติดตามข่าว, การรายงานข่าวของสื่อ ซึ่งผู้เขียนได้เคยเขียนบทความเรื่อง ข่าวด่วนในยุคของ Social Media ว่าแตกต่างจากยุค TV อย่างไร

จากบทความดังกล่าวจะสรุปความได้ว่า เรื่องราวในโซเชียลความเป็น Developing Story มันเยอะขึ้น แต่นั่นก็ทำให้ข่าวปลอมระบาดหนัก ด้วย Social Network ที่ทำให้ Tweet หรือ Status มันไปไวกว่าข่าวจากสำนักข่าว สุดท้ายสำนักข่าวต้องมาเล่นข่าวตามกระแส Social ทำให้พอผิด มันก็ผิดกันไปหมด

ดังนั้นทั้งคนทำคอนเทนต์, สำนักข่าว, แหล่งข่าวเอง ควรมีความรอบคอบในกรณีวิกฤติมากกว่านี้ เพราะเราก็ไม่รู้ว่าในครั้งหน้าจะมีอะไรเกิดขึ้นอีก ถ้าเรายังใช้วิธีการเดิม ๆ กันเราอาจจะต้องมาเสียใจภายหลังก็ได้

 

เรียบเรียงโดย ทีมงาน RAiNMAKER

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save