Case Study

Avatar

zealotzephyr September 22, 2020

The Social Dilemma เมื่อเทคโนโลยี ทำงานกับพฤติกรรมมนุษย์

ถ้าพูดถึงแพลตฟอร์ม Social Media ในด้านกลไกการทำงานของมัน หลายคนอาจจะนึกถึงเรื่องราวทางเทคนิค การเขียนโปรแกรม เทคโนโลยีต่างๆ ที่เก็บรวบรวมข้อมูลของผู้คนเอาไว้ ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ถูกต้อง

แต่แท้จริงแล้วกลไกสำคัญของแพลตฟอร์ม ล้วนขับเคลื่อนกับ “พฤติกรรมมนุษย์” และข้อมูลทางจิตวิทยาต่างๆ แทบทั้งสิ้น และตอนน้ีทุกคนสามารถมาค้นหาคำตอบเรื่องน้ีได้จากภาพยนตร์สารคดี The Social Dilemma

เมื่อแพลตฟอร์มใช้งานได้ฟรี แต่ก็ย่อมมีสิ่งที่ต้องจ่าย

ไม่ว่าจะ Facebook, Twitter, YouTube หรือแพลตฟอร์ม Social Media ใดๆ ก็ถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้ฟรี เพราะเป็นการเน้นยอดการเข้าถึง ซึ่งเราต่างรู้ดีว่าแพลตฟอร์มนั้นส่วนใหญ่แล้วจะหารายได้จากการลงโฆษณาเป็นหลัก

แต่จุดประสงค์และสิ่งที่แพลตฟอร์มนั้นต้องการจริงๆ ไม่ใช่แค่เม็ดเงินที่แบรนด์และผู้ใช้งานนำมาลงโฆษณา แต่เป็นข้อมูลส่วนตัว และพฤติกรรมการใช้งานที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ “เสพติด” และใช้เวลากับแพลตฟอร์มมากขึ้น

The Social Dilemma เป็นภาพยนตร์สารคดีที่มีการสัมภาษณ์และอ้างอิงข้อมูลจากผู้ทำงานจริงที่อยู่ในอุตสาหกรรม Social Media แพลตฟอร์มต่างๆ 

การสร้างความเสพติด ในสิ่งที่อยากรับรู้

แม้อัลกอริทึมในแต่ละแพลตฟอร์มของ Social Media นั้นจะมีความแตกต่างกัน แต่ในผลลัพธ์สุดท้ายก็ล้วนต้องการให้ผู้ใช้งานใช้เวลาอยู่บนนี้มากขึ้น โดยเน้นไปที่การ “แสดงเรื่องราวที่เราสนใจ” ออกมาเรื่อยๆ โดยมี ​AI ที่จะคอยศึกษาตัวเราผ่านพฤติกรรมการใช้งานอยู่ตลอดเวลา และ “ป้อน” สิ่งที่เรามีแนวโน้มจะสนใจให้เรื่อยๆ จนไม่อยากไปไหน

กระบวนการเหล่าน้ียังไปถึงการแนะนำอ้อมๆ ให้เกิดการสร้าง community ที่รวมคนที่สนใจในเรื่องเดียวกันนั้น จนบางครั้งทำให้หลายคนรู้สึกว่าอัลกอริทึมเหล่านี้กำลัง “สร้างความสุดโต่ง” ทางความคิดอย่างไม่ตั้งใจหรือเปล่า?

ปริมาณ สร้างการเปรียบเทียบ

จุดมุ่งหมายหลักๆ ของการใช้งาน Social Media คือ “การอวด” เพราะเป็นพื้นที่ที่เราสามารถแสดงออกและอวดอะไรได้มากมาย แต่กลับกันมันก็ได้ทำให้เกิดการ “เปรียบเทียบ” อยู่ตลอดเวลา และอาจสร้างความทุกข์ให้กับผู้ใช้งานบางกลุ่ม ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้เผยข้อมูลอ้างอิงว่าตั้งแต่ช่วงปี 2013 เป็นต้นไป สถิติการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นก็ได้เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนผู้ใช้งาน Social Media นั่นเอง

เร็วดี หรือเร็วไป

สำหรับหนึ่งในข้อดีของ Social Media ก็คงจะเป็น “ความเร็ว” ที่สามารถส่งต่อและกระจายข่าวสารได้อย่างแพร่หลายมากกว่าสื่อใดๆ จากเครือข่ายของผู้ใช้งานที่เชื่อมต่อกัน แต่ด้วยตัวอัลกอริทึมท่ีว่ามาข้างต้นเอง ก็อาจเป็นดาบสองคม ในกรณีที่เกิดข่าวลวง และข่าวลวงนั้นกระจายไปอย่างรวดเร็ว พร้อมทำให้เกิดความเสียหายไม่น้อย

แต่อย่ากลัว แค่ต้องเข้าใจ

แม้ The Social Dilemma จะค่อนข้างไปในแนวทางที่ “โจมตี” ตัว Social Media ซึ่งว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมนุษย์ในแบบที่เราไม่รู้ตัว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าแพลตฟอร์มต่างๆ จะเป็นภัยต่อเรา เพราะสุดท้ายแล้ว “เครื่องมือ” จะมีผลอย่างไรก็อยู่กับผู้ใช้งาน แต่สิ่งที่เราต้องเข้าใจและมีสติรับมือก็คงจะเป็นเจ้าอัลกอริทึม หรือ “A.I.” ที่ศึกษาและพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา

เพราะความน่ากลัวของ A.I. อาจไม่ใช่การแปลงร่างเป็นหุ่นยนต์เพื่อทำการยิงขีปนาวุธ แต่ A.I. อาจฉลาดขึ้นมากจนใช้ผู้ใช้งานอย่างเราๆ เป็นอาวุธแทนเสียมากว่า และก็เป็นเราที่จะสามารถกำหนดทิศทางเครื่องมือเหล่านี้ไม่ให้หันเข้าหาตัวเองได้ในท้ายที่สุด

รับชม The Social Dilemma ได้ทาง Netflix

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save