TikTok ถือเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดเสรีทางความคิดสร้างสรรค์ จึงทำให้มีข้อมูลมากมายถูกโพสต์และแชร์ต่อ เป้าหมายหลักของ TikTok จึงเน้นไปที่การสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ การสร้างแพลตฟอร์มให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย และเน้นย้ำความถูกต้องของเนื้อหา ผ่านการนำเสนอเครื่องมือที่คัดกรอง รวมถึงตรวจสอบข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง พร้อมการเตรียมการสำหรับแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ โดยการร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบข้อมูล และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ Community Guidelines ให้กับผู้ใช้งาน
การสร้างความปลอดภัยผ่านระบบการจัดการเนื้อหา (Content Moderation)
TikTok มีการใช้ทั้งเทคโนโลยี (Machine Learning) โดยใช้กฎกลาง หรือ Community Guidelines เหมือนกันทั่วโลก เพื่อคัดกรองคอนเทนต์ รวมถึงยังมีทีมปฏิบัติงาน (Human Moderation) เพื่อคอยตรวจสอบเนื้อหาบนแพลตฟอร์มตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะมีการตรวจสอบโดยปรับให้เข้ากับบริบทของคอนเทนต์ในแต่ละพื้นที่
นอกจากนี้ ยังมีการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานสามารถกดรายงานเนื้อหาที่ละเมิดกฎชุมชน เพื่อส่งให้ทีมปฏิบัติงานตรวจสอบได้อีกด้วย
เครื่องมือด้านความปลอดภัย เพื่อการเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง
TikTok ได้มีเครื่องมือที่เตรียมพร้อมรองรับความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูลสำหรับผู้ใช้อยู่แล้ว ด้วย 3 เครื่องมือหลัก ดังนี้
Information Hub
Hub ที่รวมข้อมูลข่าวสารจากองค์กรที่เป็นทางการ และได้รับการยืนยันแล้วว่าเป็นข้อมูลจริง เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และเป็นประโยชน์แก่สังคม
Information Tag
แท็กข้อมูล เพื่ออ้างอิงแหล่งข้อมูลที่เป็นทางการ เช่น ช่วงโควิดที่มีแท็กข้อมูลจาก WHO เพื่อให้ผู้ใช้เข้าถึงข้อมูลที่เป็นจริงง่ายขึ้น
Live Banner
จะปรากฏอยู่บนวิดีโอ หรือไลฟ์สตรีมมิงที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่เป็นทางการได้
นโยบายด้านความปลอดภัยบน TikTok ในช่วงการเลือกตั้ง 2566
สำหรับการเลือกตั้งในประเทศไทยที่ใกล้จะถึง TikTok เองก็ได้เตรียมพร้อมจากนโยบายที่มีอยู่ พร้อมเพิ่มเครื่องมือ และฟีเจอร์ใหม่ที่จะเข้ามาช่วยการจัดการความปลอดภัย และความถูกต้องของข้อมูลที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง บนแพลตฟอร์มมากขึ้น
เพิ่ม Election Tags, Election Centre และ Election Centre
ช่วงใกล้การเลือกตั้งจะมี Election Tags ที่จะเป็นเหมือนป้ายกำกับ และเชื่อมไปสู่ Election Centre ศูนย์ข้อมูลการเลือกตั้ง โดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง และถูกกฎหมาย ซึ่งเอาข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งจะนำมาจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นหลัก เพื่อเป็นบริการการประกาศเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ (Public Service Announcement)
หากผู้ใช้งานเห็นว่าเนื้อหาดังกล่าวละเมิดหลักเกณฑ์สำหรับชุมชนหรือเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ผู้ใช้งานสามารถใช้ปุ่ม Election Report Button หรือปุ่มรายงานเนื้อหาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง
เพิ่ม GPPPA ดูแลแอคเคานต์นักการเมืองโดยเฉพาะ
GPPPA (Government, Politician, and Political Party Account) ครอบคลุมแอคเคานต์ ตั้งแต่รัฐบาล นักการเมือง พรรคการเมือง ผู้ลงสมัครนักการเมือง ไปจนถึงโฆษกพรรคการเมือง โดยจะมีการดูแลเป็นพิเศษ รวมถึงมีการใช้นโยบายจำนวนหนึ่งในการจำกัดการใช้ฟีเจอร์บางอย่าง
แต่ภาพรวมการใช้งานอย่างการอัปโหลดวิดีโอจะยังคงใช้กฎ Community Guidelines เหมือนกับผู้ใช้ทั่วไป เพียงแต่เหล่าแอคเคานต์นักการเมืองจะมีข้อยกเว้น ดังนี้
ข้อจำกัดของแอคเคานต์ GPPPA
- โปรแกรมจูงใจ และสร้างรายได้
- การโฆษณา
- การระดมทุนรณรงค์หาเสียง (เลือกตั้ง)
- ข้อจำกัดการใช้งานเพลงใน Commercial Music Library (CML)
- การให้และรับของขวัญขณะไลฟ์
- การร่วมงานกับกับครีเอเตอร์
นอกจากนี้ ผู้ใช้ทั่วไปที่ถ่ายคอนเทนต์เกี่ยวกับการเมืองและยิงโฆษณาก็ไม่ได้เช่นกัน ต้องเป็นคอนเทนต์ที่มาจากความคิดเห็นของตัวเอง ไม่มุ่งเน้นโฆษณา หรือปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชัง ที่สำคัญต้องไม่ขัดต่อ Community Guidelines
ทำแคมเปญร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบข้อมูล
TikTok ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบข้อมูลเป็นอย่างมาก เพื่อให้ผู้ใช้งานได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง จึงร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศในการตรวจสอบข้อมูล ไม่ว่าจะเป็น สำนักข่าวต่างประเทศ Agence France-Presse (AFP) และหน่วยงานอย่าง Lead Stories รวมถึงการทำแคมเปญร่วมกับ COFACT ในการสร้างศูนย์รวมข้อมูลการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ภายใต้แคมเปญ #พื้นที่ปลอดภัยในการไถฟีด
การจัดการแอคเคานต์ป่วน
เดิมที TikTok มีนโยบายที่รัดกุมในระดับหนึ่งอยู่แล้ว ทั้งการลบแอคเคานต์ที่ไม่แอ็กทีฟ หรือแอ็กเคานต์ที่ลงข่าวสารซ้ำ ๆ แต่ยิ่งถึงช่วงเลือกตั้งที่จะมีเสียงบนโซเชียลมากมายหลายรูปแบบ เพื่อการเลือกตั้งครั้งนี้ TikTok ก็เตรียมพร้อม และยืนยันว่าหากเจอแอคเคานต์ที่มุ่งร้าย หรือทำผิดกฎชุมชนก็จะดำเนินการทันที
สื่อลงข่าวการเมืองได้ปกติ หากไม่ขัด Community Guidelines
สำหรับสื่อมวลชนที่กังวลว่า ช่วงเลือกตั้งจะสามารถโพสต์ข่าวสารเกี่ยวกับการเมืองบน TikTok ได้มากน้อยแค่ไหน ก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะหากเป็นการรายงานข่าวที่ให้ข้อมูลข่าวสาร ในแบบที่ไม่ขัดกับกฎชุมชน สื่อก็สามารถรายงานข่าวการเมืองได้ปกติเหมือนเดิม
และนี่ก็เป็นการเตรียมตัวของ TikTok ที่มีการเตรียมพร้อมจากเครื่องมือและฟีเจอร์ที่มีอยู่ รวมถึงเพิ่มบางฟีเจอร์เข้ามาใหม่ เพื่อการดูแลความปลอดภัย และความถูกต้องของข้อมูลบนแพลตฟอร์มได้รัดกุมขึ้นในช่วงการเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงนี้ ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีในการที่แพลตฟอร์มขึ้นมาให้ความสำคัญกับเรื่องความถูกต้องของข้อมูล และความปลอดภัยบนแพลตฟอร์มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นช่วงเลือกตั้ง หรือช่วงเวลาปกติก็ตาม
สามารถศึกษากฎชุมชน (Community Guidelines) เพิ่มเติมได้ที่ https://www.tiktok.com/community-guidelines?lang=th