อาชีพนักท่องเที่ยว ได้งานแถมได้เที่ยว คุยเบื้องหลังที่คนทำคอนเทนต์ต้องรู้ กับ วรรณสิงห์, เอ๋ออ้อย พิชญ, ตุ๊กตา พนิดา

Travel Blogger เป็นอาชีพในฝันของหลายคน ไปเที่ยวก็สนุกแล้ว ยังสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ก่อนจะวางแพลนออกทริป มาทำรู้จักเบื้องหลังของอาชีพนี้กันดีกว่า ไปกับนักทำคอนเทนต์ท่องเที่ยว 3 สาย สารคดี, ขายรูป, ไกด์บุ๊ค

ขอบคุณงาน Curious Meetup อาชีพนักท่องเที่ยว จัดโดย G Village โดยมีแขกรับเชิญทั้ง 3 ท่านมาให้ความรู้ Wannasingh Prasertkul (วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล), Travel Planet Xperiences (เอ๋อ้อย วิชญ) และ เที่ยวรอบลูก (ตุ๊กตา พนิดา) ซึ่งทีมงาน Rainmaker ไปนั่งสูบความรู้มาสรุปให้อ่านกันเล้ยยยย


 

เริ่มต้นมาได้ยังไง? มองเห็นโอกาสอะไร?

สิงห์ – Wannasingh Prasertkul (วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล)

เจ้าของรายการ เถื่อน Travel คนทำสารคดีฉายเดี่ยวสายดิบ

ทำงานทีวีเป็น 10 ปี TPBS, GMM25 โดย 4 ปีหลังมานี้ มีรายได้จากการทำเพจ เห็นวงการสื่อเปลี่ยนไปเยอะ การเล่าเรื่องก็เปลี่ยนตามไปด้วย ไม่ว่าแพลตฟอร์มใดจะเกิดขึ้นหรือดับลง เขามองตัวเองเป็น คนทำคอนเทนต์ เสมอ

เริ่มต้นสถานีโทรทัศน์เขามองหาคนหนุ่ม ไม่นับถือศาสนา ตอนนั้นตัวตัวเองยังห้าว ๆ ชอบตั้งคำถาม เลยได้มาทำรายการพื้นที่ชีวิต ได้สัมภาษณ์คนเยอะ มีเรื่องเซฟเก็บไว้ในหัวเยอะ ก็ได้ไปพูด ไปเขียนหนังสือเถื่อน ยังคิดว่าเรื่องราวมันมีอยู่ทั่วโลก เพียงแต่เล่าเรื่องผ่านการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ จึงสนใจทำสารคดีของตัวเองคือ เถื่อน Travel

เอ๋อ้อย – Travel Planet Xperiences

ช่างภาพ Stock Photo ขายรูปได้หลักล้านบาท

เริ่มต้นเป็น I.T. Consult เกือบ 10 ปี ไม่เคยจับกล้องมาก่อน ในยุคเปลี่ยนกล้องฟิล์ม-กล้องดิจิทัล ซื้อกล้องตัวแรก ในปีแรกเดินทาง 40 ทริปทั่วไทย

สมัยก่อนสิงบอร์ด Picpro.com รูปประกวดติด Picpro Ranking วันหนึ่งเห็นช่องแชท แอดมินบอกว่า รู้หรือไม่ เราสามารถขายรูปได้ด้วยนะ จึงเข้าสู่วงการ Stock Photo โชคดีที่ทำงานแบบ Project Base เลยมีเวลาว่างมาถ่ายรูปขาย

ตุ๊กตา พนิดา – เที่ยวรอบลูก, Guggig Guide

Guggig Guide ไกด์บุ๊คตีพิมพ์ในหลายประเทศ และเพจ เที่ยวรอบลูก

เป็นนักเดินเล่น เล่าเรื่องกุ๊กกิ๊กของเรา เล็ก ๆ น้อย ๆ รายละเอียดที่แพลนไม่ได้ของเมืองนั้น ทำงานหนังสิ่งพิมพ์ Polkadot, A Day, Hamburger ตอนนั้นอายุ 24 เป็นบ.ก. งาน Routine มันเหนื่อยมาก เลยลาออกไปเที่ยว ที่แรกไป Seoul ตอนนั้นยังไม่ฮิต แถมไปคนเดียวด้วย


วิธีเลือกประเทศเที่ยว และสไตล์งานที่บ่งบอกความเป็นตัวเอง

อ่านหนังสือเราแล้วเหมือนจูงมือมาเที่ยวด้วยกัน

ตุ๊กตา Guide Book : เราจะเลือกประเทศที่คนนิยมไปกัน และเราอยากไป ตอนไปเที่ยว เวลาเจอเรื่องดีดี เราจะสะกิดเพื่อนให้มากรี๊ดกร๊าดด้วยกัน แต่เพราะเราเลือกที่จะไปคนเดียว เมื่อเจอเรื่องกรี๊ดกร๊าด เราก็จะโน๊ตไว้ ก็เลยเก็บมาเขียนเป็นหนังสือเพื่อถ่ายทอดสู่คนอ่าน

มองให้ออกว่าใครคือลูกค้า? ลูกค้าต้องการอะไร?

เอ๋อ้อย Stock Photo : โฟกัสที่กลุ่มลูกค้าเป็นหลัก ส่วนมากก็จะขายให้คนทำโฆษณา ทัวร์, สารคดี, คนทำคอนเทนต์ จึงเริ่มวางแพลนออกทริป มองหาประเทศ, สถานที่ถ่ายรูป, ตั๋วโปร กำไรจากการขายรูป ก็กลายมาเป็นค่าทริป

รูปในประเทศที่ขายดีสุด ฝรั่งเศส, อเมริกา ไม่มีขาดทุน เพราะรูปมันขายได้เรื่อย ๆ ให้เรียกว่า คืนทุนช้า 555 ก็จะเป็นรูปในประเทศอินโดนีเซีย เพราะคิดว่าภูเขาไฟมันจะฮิต เอาเข้าจริงรูปปูสดจากทริปนั้นขายดีกว่า

คาใจ เพื่อไปสู่ เข้าใจ

สิงห์ Documentary : ตรงข้ามกับทุกคน ผมเลือกประเทศที่คนไปน้อย เพราะผมจะไปแทนคุณ แล้วคุณก็มาดูรายการผม เช่น ประเทศที่มีความขัดแย้ง ทำไมโลกมันเป็นอย่างงี้วะ? เราก็ต้องไปเพื่อเข้าใจ คำตอบที่คาใจ

เอาเรื่องที่ผมอยากรู้เป็นหลัก + ผมรู้ว่าคอนเทนต์แบบไหนที่คนต้องการ + ต้นทุนต่ำเพราะเราไปคนเดียว ผมก็เอาไปเสนอกับ LINE TV แต่กลุ่มเป้าหมายเขาวัยรุ่นมากๆ เลยได้ที่ GMM25 ที่ผู้ชมสามารถรับเรื่องที่ซีเรียสกว่าได้ เราขอราคาต่อเทปเรียกได้ว่าเท่าทุน เพราะถือว่าได้ปล่อยของ


 

วิธีการทำงาน และอินไซท์ตลาด

สิงห์ Documentary : เราออกไปถ่ายคนเดียวเลย เพราะไปคนเดียวมันคล่องตัวกว่า และพื้นที่ที่เราไปมันเสี่ยงอันตราย บางที่เป็น War Zone

ซีซั่นแรกถ่ายเสร็จแล้ว บางเรื่องกลับมาพูดในสตูดิโอมันดูไม่จริง ซีซั่นสองเลยทำการบ้านหนัก ๆ แล้วไปพูดในสถานที่จริงเลย เราศึกษาประวัติศาสตร์, คอร์สออนไลน์ของมหาวิทยาลัยต่างประเทศ, ดูคลิป อ่านหนังสือ รู้เยอะแล้วกลั่นเป็นคำถาม เพื่อเอาไปคุยกับคนท้องถิ่น จะได้เรื่องเล่าที่เรียล และมีคุณค่า

เราจึงต้องพร้อมถ่ายตลอดเวลา GoPro ช่วยได้มาก เพราะถ่ายได้ทันที ไม่ทำให้คนถูกถ่ายรู้สึกประหม่าเท่ากล้องใหญ่ บางทีก็เปิดกล้องรอไว้ แล้วเดินเข้าไปถ่าย เพราะถ้ากดถ่ายหลังเหตุการณ์เกิดขึ้น มันจะดูไม่จริง เช่น เดินเข้าไปทักทาย แล้วโดนจุ๊บแก้ม

ความยากมันก็มี เช่น ทีวี มีเวลาล็อคไว้แล้ว ต้องเติมให้เต็ม นึกไม่ออกให้เข้าส้วม จะได้คอนเทนต์เยอะมาก เพราะแต่ละประเทศก็จะต่างกันไป อย่างกรีนแลนด์ฉี่ออกมาเป็นน้ำแข็ง

เอ๋อ้อย Stock Photo : เมื่อเราทำงานเพื่อตลาด เราก็ต้องดูโฆษณาเยอะ ๆ โบรชัวร์ สารคดีต่าง ๆ เพื่อซึมซับ วางแพลนให้ดี ผมใช้ Street View ของ Google Map เพื่อเลือกมุมถ่าย หาตำแหน่งยืนถ่าย เพื่อให้ได้รูปตามที่ต้องการ

โปรเซสต่อใน Lightroom หรือ Photoshop กรณีต้องรีทัชเช่น โลโก้บนป้าย, เอาคนออก เวลาส่งขายไม่ได้จำกัดว่าต้องเว็บใดเว็บหนึ่ง แต่ให้เลือกช่วงเวลาที่วางขายด้วย โดยรูปที่ขายดีที่สุดจากทริปฝรั่งเศส ผ่านมา 7-8 ปีแล้วก็ยังทำเงินอยู่ รวม ๆ แล้วก็หลักล้าน

ทำความเข้าใจความต้องการของตลาด

เว็บขายรูป จะหยิบภาพยอดนิยมไว้ข้างบน สมมติเราไปญี่ปุ่นเทศกาลฤดูใบไม้ร่วง กลับมากว่าจะทำภาพเสร็จเลยช่วงไปแล้ว ยังไงก็ขายไม่ดี แต่เราก็ควรอัปโหลดไว้สักหน่อย เพื่ออัพเดทพอร์ท แล้วจึงขายจริงช่วง 3-4 เดือนก่อนเทศกาลในปีหน้า

 

ตุ๊กตา Guide Book : เราเองค่อนข้าง Niche เวลาเห็นงานที่ Inspire เราก็อยากไปนั่งอยู่ตรงนั้นในรูปนี้ อย่าง Pinterest คือชอบมาก ทำงานเหนื่อย ๆ เข้ามาดูแล้วสบายใจ

เราจะชอบไปอยู่ตรงนั้น ไม่ใช่ไปแค่ตรงนั้น ชอบไปอยู่กับผู้คน นั่งร้านกาแฟ เดินเข้าตรอก มีหลงทางบ้าง

อุปสรรคมันก็มีบ้าง เช่น ประเทศแถบเอเชียอัพเดทไว อย่างเกาหลีร้านที่เราชอบปีหน้าอาจไม่อยู่แล้ว แต่ยุโรป 4-5 ปีแล้วไกด์เดิมยังใช้ได้


ชี้ช่องทำเงิน เที่ยว vs อาชีพ

สิงห์ Documentary : ผมมองว่าการทำทีวี เป็นช่องทาง PR สร้าง Value ให้ตัวผมเอง ความเป็น Professional ส่วนรายได้ที่ตามมาอยู่บนออนไลน์ หรืองานโฆษณา

อย่างทีวีมันก็ดี เพราะคนดูเขาพร้อมใช้เวลา 45 นาทีเพื่อดูให้จบ ส่วนออนไลน์ คือต้องสั้น คอนเทนต์เป็นหลัก บางโพสต์ที่เห็นในเพจ ก็เพื่อ Maintain

เอ๋อ้อย Stock Photo :  เพจที่ผมทำไม่ได้ช่วยขายรูป แต่ก็มีสปอนเซอร์มาบ้าง เป็นตั๋วเครื่องบิน ถือว่าช่วยค่าทริปได้ ส่วนตัวชอบธรรมชาติ แต่รูปในเมืองขายดีกว่า ซึ่งถ้าทำตามตลาดมากจนเกินไปเราจะหมดแรง และระวังมีปัญหากับหมอนรองกระดูก

ตุ๊กตา Guide Book : เราทำตามใจเรา เพราะคิดว่าคนอ่านคือคนที่ชอบอะไรเหมือนกับเรา เราทำมานานคนอ่านก็โตขึ้นไปพร้อมกับเรา ตอนนี้มีลูกก็ทำเที่ยวรอบลูก ส่วน Guggig Guide ก็มีลิขสิทธิ์เวอร์ชันไต้หวัน, จีน เข้ามาเรื่อย ๆ และอย่าไปคิดว่ามันเป็นอาชีพ เพราะเราจะกังวลจนเกินไป เช่น อันนี้ถ่ายครบหรือยัง ขาดอะไรไปมั้ย

สิงห์ Documentary : ผมมีความเชื่อว่า คอนเทนต์ที่ฮิตในยุคนี้อยู่ใน 3 อย่าง คือ The Best, The First และ The Different ซึ่งผมก็ไม่ได้ดีที่สุด หรือมาก่อนใคร ผมเลยมองหาความแตกต่างมากกว่า สุดท้าย..พยายามให้เต็มที่ และอย่าคาดหวัง เพราะทั้งหมดไม่ใช่ที่เราคนเดียว

ทีมงาน Rainmaker คิดว่า..

สมัยนี้ใคร ๆ ก็หยิบกล้องขึ้นมา Vlog แปลงร่างเป็น Travel Blogger ง่ายขึ้นเยอะ แต่สุดท้ายสิ่งที่จะทำให้เราเป็นเราได้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าไปเที่ยวที่ไหน แต่มันอยู่ที่ว่าเราจะเล่าเรื่องอะไร สู้สู้จ้า

 

ติดตาม

Facebook : Wannasingh Prasertkul (วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล)

Facebook :Travel Planet Xperiences

Facebook : เที่ยวรอบลูก

Copyright © 2024 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save