ในช่วงที่สถานการณ์โควิดได้ส่งผลกระทบทั่วโลก การติดต่อสื่อสารแบบเห็นหน้าถูกจำกัดให้ลดลง ส่งผลกับเทรนด์ E-Commerce หรือการซื้อขายออนไลน์อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนแค่พฤติกรรมการซื้อเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อการหาข้อมูล และนั่นแปลว่ากลยุทธทางการตลาดก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย
เพื่อเป็นการเรียนรู้และเตรียมรับมือตั้งแต่เนิ่นๆ เรามาดูกันว่าเทรนด์ E-Commerce ในขณะนี้เป็นอย่างไรบ้าง ข้อมูลนี้รวบรวมโดยทีมงานจาก Grazziti Interactive
การเติบโตของ m-Commerce
m-Commerce หรือ Mobile-Commerce หรือการทำธุรกรรรมผ่านทางโทรศัพท์มือถือ มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างก้ าวกระโดด
- ขั้นตอนของ m-Commerce ได้แก่ การซื้อสินค้าผ่านทางแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ จากนั้นจ่ายเงินผ่านทาง Net Banking จากนั้นก็รอรับของได้เลย (บางกรณีมีการใช้ Location-Based Service หรือการบริการแบบบอกตำแหน่งร่วมด้วย อาทิ Grab Lineman)
- 73 % ของการซื้อขายแบบออนไลน์ (e-Commerce) เกิดขึ้นบนโทรศัพท์มือถือ
- การสร้างประสบการณ์ของผู้ใช้งาน (UX) ให้ง่ายต่อการจ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชันก็เป็นการเพิ่มโอกาสที่ดีอย่างมากสำหรับธุรกิจใหม่ๆ
การซื้อขายสินค้าผ่านโซเชียลมีเดีย
โพสต์และรูปแบบคอนเทนต์เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อมากขึ้น
- 113 ล้านบัญชีผู้ใช้ กดโพสต์เพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์บนอินสตาแกรมในแต่ละเดือน (ต่อเดือนเชียวนะ!)
- ผู้บริโภควัยรุ่น เปิดรับแบรนด์และตัดสินใจซื้อจากหน้าฟีดของพวกเขาโดยตรง แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของอินฟลูเอนเซอร์ และการยิงแอดที่แม่นยำ
ความตระหนักต่อความยั่งยืนก็สำคัญ
ไม่ใช่แค่ว่าสินค้าดีอย่างเดียวแล้วจะซื้อใจผู้บริโภคได้ ต้องเป็นแบรนด์ที่คิดถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมด้วยเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้วัตถุดิบ หรือบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ผ่านกระบวนการสร้างที่ทำลายสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย
- 73% ของผู้บริโภคทั่วโลก เปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
- ผู้บริโภค ยอมจ่ายเงินในราคาที่แพงขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (eco-friendly)
การสั่งซื้อสินค้าด้วยเสียง
แม้ว่าอาจยังไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไหร่นักในบ้านเรา แต่ก็ถือว่ามาแรงในประเทศอื่นๆ เพราะสามารถลดการใช้พลังงานหน้าจอ และลดเวลาในการซื้อได้เร็วกว่าการใช้นิ้วเลื่อนหา
- ผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้าด้วยคำแนะนำจาก AI สุดเท่อย่าง Alexa และ Siri ซึ่งเรียนรู้และเก็บข้อมูลมาจากพฤติกรรมการใช้งานของเรานั่นเอง
- การค้นหาด้วยเสียงใช้เวลาน้อยกว่าการใช้มือและตาในทุกด้าน ตั้งแต่การค้นหา ขั้นตอนการเช็คเอาต์สินค้า ไปจนถึงการให้ฟีดแบค
AI เพื่อประสบการณ์เฉพาะตัว
การใช้ AI เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมการขาย กลายมาเป็นกระแสหลัก ทั้งการเป็นแชทบอทโต้ตอบกับลูกค้า หรือการเก็บดาต้า เพื่อการบริการที่เข้ากับแต่ละคน อย่างการเสนอสินค้าที่เหมาะกับผู้บริโภคมากที่สุด การเสนอผลิตภัณฑ์บนหน้าในเวลาที่เหมาะเจาะ และเลือกใช้คำที่เข้ากับวัยและโดนใจมากที่สุดอีกด้วย
- ผู้บริโภคมีแนวโน้มยินยอมให้เก็บข้อมูลส่วนตัว เพื่อเเลกกับการได้รับผลประโยชน์ และคำแนะนำที่เหมาะกับตนมากที่สุด
- 77% ของผู้บริโภค เลือก แนะนำ และยอมจ่ายมากกว่า ใหเกับแบรนด์ที่เสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ปรับให้เข้ากับแต่ละบุคคล
มีการสนับสนุนร้านค้ารายย่อยมากขึ้น
ผู้บริโภคให้ความสนใจและหันมาเลือกซื้อสินค้าจากร้านค้ารายย่อยมากขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับธุรกิจขนาดเล็ก และความสะดวกในการรับหรือส่งสินค้า
- 56% ของผู้บริโภคซื้อสินค้าจากร้านค้ารายย่อยมากกว่าปีที่แล้ว
- เบื้องหลังในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเหล่านี้คือ ความต้องการซื้อสินค้าที่มีเอกลักษณ์(Unique) และประสบการณ์ในการติดต่อลูกค้าที่มีความใส่ใจเป็นเลิศนั่นเอง
วิธีการจ่ายเงินคือหัวใจ
สินค้าที่ดีอาจเทียบไม่ได้กับการสร้างประสบการณ์ในการซื้อที่ดีให้กับผู้บริโภค หรือแม้แต่กับธุรกิจเอง ขั้นตอนในการจ่ายเงินนั้นมีหลากหลาย แต่สิ่งที่ต้องมีเหมือนกันคือความง่าย และสะดวก ไม่ว่าจะเป็น QR Code กระเป๋าตังแบบออนไลน์ หรือระบบการจ่ายแบบ POS ก็ตาม
- ระบบธนาคารออนไลน์ และประสบการณ์ในการใช้แอปฯ เป็น 1 ใน 3 การตัดสินใจหลักสำหรับการเลือกสมัครธนาคาร
- รูปแบบการ “ซื้อก่อน – จ่ายทีหลัง” เติบโตอย่างรวดเร็วในกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง
ที่มา SocialMediaToday, Grazitti