ในวันที่ YouTube และ Netflix กลายเป็นช่องทางเสพคอนเทนต์ที่แซงหน้า TV และสื่อแบบดั้งเดิมสำหรับกลุ่มเป้าหมายบางกลุ่ม ก็เหมือนกับเป็นวันเฉลิมฉลองครั้งยิ่งใหญ่ในฐานะผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง (Disruptor) ให้กับวงการสื่อ และเกิดเป็นคำว่า New Media ขึ้นมา ทำให้มูลค่าของคอนเทนต์บน YouTube, Facebook, Instagram และสื่อออนไลน์บนเว็บไซต์ มีมูลค่าสูงลิบไม่แพ้สื่อดั้งเดิมหรือ Traditional Media
ก่อนหน้านี้ เราเคยนำเรื่องราวการปรับตัวของสื่อดั้งเดิมที่ใช้ทรัพยากร “เงิน” ในยุคหลัง Distruption มาลงทุนในสื่อใหม่ (อ่าน – เลิกผลิตเองแล้วมาเป็นนักลงทุน ช่องทางรอดของสื่อดั้งเดิมในยุคสื่อใหม่ ) แต่จริง ๆ แล้วก็มีอีกหนึ่งวิธีคิดนึงที่เราสามารถวิเคราะห์ออกมาได้จากการสังเกต เช่น จากกรณีการปิดตัวในฐานทีวีดิจิทัลของ Voice TV และหันมาทำ Cable และออนไลน์เต็มตัว และทุกวันนี้ Voice TV มีผลการตอบรับคอนเทนต์ที่ดีมาก รวมไปถึงการทำ คอนเทนต์วิดีโอออนไลน์ ที่ก้าวข้ามจากการทำข่าวทีวีแบบเดิม ๆ จนมีผู้ชมมหาศาล ทำให้ชีวิตหลังยุค Distruption ของสื่อ Traditional Media นั้นอาจจะไม่ใช่เส้นทางเดียวสู่ Graveyard แต่มีทางเลือกอื่น ๆ มากมายที่จะกลับมารุ่งเรืองอีกครั้งแบบไม่ยากมากนัก
กรณีศึกษาของสื่อต่างประเทศ สู่เมืองไทย
จริง ๆ แล้ว ถ้าเราไปดูอย่างกรณีของ BBC, The New York Times ซึ่งปรับตัวในช่วง Transition (ที่ต่างประเทศผ่านมานานพอสมควร) หันมาทำคอนเทนต์ออนไลน์กันตั้งแต่ช่วงยุค 2000 ในขณะที่ก็ปรับปรุงการทำข่าวตามลักษณะของการเสพคอนเทนต์ที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ แม้กระทั่งสื่อที่เหมือนจะมาจากออนไลน์ล้วน ๆ อย่าง Wired, Bloomberg, Business Insider กลับมีพื้นฐานมาจากสื่อสุดดั้งเดิมอย่าง Magazine ทั้งนั้น ซึ่งพวกนี้ก็ติดกลุ่มสื่อออนไลน์ยอดนิยมในช่วงนี้ไม่ได้หายไปไหน แถมบางเจ้าก็ทำได้ดีมาก ๆ อย่าง Forbes ประกาศทำกำไรได้สูงสุดในรอบทศวรรษ แต่ก็จะมีสื่อบางเจ้าที่มาแบบออนไลน์ล้วน ๆ เช่นสื่อในตระกูล Vox Media (ก่อตั้งในปี 2005) เช่น The Verge, Eater หรืออีกเจ้าที่น่าจับตามองก็คือ The Next Web ของเนเธอร์แลนด์ ที่ก็มาจุดกำเนิดเป็นออนไลน์โดยสายเลือด
สิ่งที่ดูเหมือนจะตามหลังที่สุดสำหรับกรณีของต่างประเทศก็น่าจะเป็นช่องทีวีสหรัฐฯ (พวกหนังสือพิมพ์, Magazine พวกนี้ Shift มาทำออนไลน์ไว) เช่น ABC, Fox, CNBC ซึ่งในไทยก็คล้าย ๆ กัน แต่เรามองว่าในไทยฐานของหนังสือพิมพ์, Magazine ยังไม่เชี่ยวออนไลน์ ทำให้ ทั้งช่องทีวีในไทย, Magazine, หนังสือพิมพ์ หันมาทำออนไลน์จากการเข้ามาของ Platform เช่น Facebook, Twitter กันในช่วงหลังปี 2011 เป็นต้นไป หลังจากนั้นออนไลน์โดยสายเลือดในไทยก็เริ่มทยอยเกิดขึ้นมา โดยเฉพาะตระกูล The และ .co ทั้งหลาย The MATTER ก่อตั้งในปี 2016, The Momentum 2016, The Standard 2017, The Cloud 2017 และยังมี The ทั้งหลายตามมาอีก และช่วงหลัง ๆ เราก็ได้เห็นทั้ง TV และหนังสือพิมพ์ หันมาทำคอนเทนต์ที่เป็นออนไลน์ “โดยวิธีคิดมากขึ้น” เช่น ข่าวสด เปลี่ยนวิธีคิดทำวิดีโอ รายได้จากวิดีโอเพิ่มขึ้น 19 เท่า หรืออย่างกรณีของ Voice TV ด้านบน
ถ้ากองทัพทรัพยากรจากฝั่ง TV มาเสริมออนไลน์เต็มรูปแบบจะเกิดอะไรขึ้น
ในกรณีการ Transition จาก Traditional Media ในสหรัฐฯ อย่างการที่ Wired, Bloomberg, Business Insider หันมาทำคอนเทนต์ออนไลน์เข้าถึงคนกลุ่มใหญ่ โดยเฉพาะบทความบนเว็บไซต์ ระบบ Subscription และวิดีโอความรู้, วิเคราะห์, รายงาน ดูเพลิน ๆ บน YouTube ก็ทำให้เกิดข้อสงสัยที่ว่า สิ่งที่จะเป็นตัวคัดสรรสื่อ Traditional Media ก็คือ ความสามารถในการ Shift มาเป็นออนไลน์เช่นกัน
ในไทยก็มีเคสแนว ๆ Wired, Bloomberg, Business Insider ให้ศึกษาอยู่ เช่น บันลือ ที่ปัจจุบันเป็นเจ้าของ The MATTER หรือ เครือ A Day ที่ตอนนี้ก็ยังมีคอนเทนต์ออนไลน์แบบ Native และยังคงทำรายได้ให้กับบริษัทที่เดิมเป็น Traditional Media อยู่ ในขณะที่ก็มีสื่อในแนวคล้าย ๆ กันต้องปิดตัวไป เช่น CLEO, คู่สร้าง คู่สม, I LIKE, ดิฉัน ซึ่ง “ไม่ได้เปิดประตูออนไลน์ไว้” ก็เลยไม่ได้เป็นผู้ที่อยู่รอด
กรณีคล้าย ๆ กันอาจจะเกิดขึ้นกับ TV ในไทยด้วยเช่นกัน เราคงไม่ปฏิเสธว่า คงต้องมี TV บางเจ้าที่จะต้องหายไป ในขณะเดียวกัน เราไม่ควรยึดติดแค่กับ Platform แต่มองไปยัง Value จริง ๆ ของตัวคอนเทนต์ ทำไม TV จะทำออนไลน์ไม่ได้ และพวกเขาก็น่าจะทำได้ดีด้วย ในแง่ของ Production, อุปกรณ์, คอนเนกชัน ต่าง ๆ และการที่ช่อง TV จะหันมาเป็นคู่แข่งกับออนไลน์นั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นยากเลย
กรณีของ CNBC สื่อสหรัฐฯ ที่นอกจากตอนนี้จะทำช่อง TV แม้จะช้าหน่อยแต่ตอนนี้ CNBC หันมาทำคลิปความรู้บน YouTube เป็นซีรีส์ มีผู้ติดตาม 1.53 ล้านคน
คอนเทนต์พวกนี้ ไม่ใช่การเอา TV หรือข่าวมา Rerun แต่เป็นการทำคอนเทนต์ใหม่ทั้งหมดด้วยวิธีการแบบการทำออนไลน์เลย แบบเดียวกับที่ The Verge หรือ VOX ทำ ทำให้ตอนนี้ CNBC กลายเป็นคู่แข่งของ The Verge, VOX หรือ Business Insider สำหรับคลิปความรู้บน YouTube ไปซะแล้ว
ลองสมมติว่า ถ้ามี TV ซักเจ้า หันมาจริงจังกับการทำคอนเทนต์ออนไลน์เต็มรูปแบบ ด้วยวิธีการคิดแบบเดียวกับ Online Native แต่มีทรัพยากรที่มากกว่า พวกนี้ก็จะกลายมาเป็นคู่แข่งของ Online Native ในไทยได้เช่นกัน
ดังนั้น สถานการหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรก็น่าจับตามองมาก ๆ เพราะแน่นอนว่าเราจะได้เห็นสื่อ Traditonal อีกหลายเจ้าปิดตัวกัน ให้เหล่าคนทำออนไลน์ได้ชื้นใจอีกซักพัก แต่อย่าลืมว่าจากกรณีของต่างประเทศหรือในไทยเองก็ตาม ผู้ที่อยู่รอดคือผู้ที่แข็งแกร่งและมีอะไรมากกว่าแค่แนวคิดแบบ Traditonal และสุดท้าย พวกนี่ก็จะกลับมาทวงบัลลังก์คืนในไม่ช้าก็เป็นได้
เราบอกแล้วว่า Traditional Media หรือ New Media มันไม่ใช่ Platform แต่คือวิธีคิดนะจ้ะ
เรียบเรียงโดย ทีมงาน RAiNMAKER