Twitter Blue เปรียบเสมือนอีกโลกหนึ่งที่มีความพรีเมียมกว่ามาก หากเทียบกับ Twitter เวอร์ชันดาวน์โหลดฟรีที่ใช้กันอยู่ตอนนี้ สำหรับใครที่กำลังสงสัยว่าต้องมีไหม หรือมันมีข้อดี ข้อเสียอย่างไร วันนี้ RAiNMaker เทียบมาให้ดูชัด ๆ เลย!
ในยุคที่โซเชียลมีเดียต่างแข่งขันกันที่เครื่องมือ การสร้างรายได้ให้ครีเอเตอร์ หรือฟีเจอร์ และฟังก์ชันพิเศษเพื่อดึงดูดผู้ใช้งานเพิ่ม Twitter ฉบับ Elon Musk ก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่เพิ่มการสมัครบริการ Twitter Blue เข้ามา
แต่บางครั้งความพรีเมียมนี้ก็อาจไม่ได้เหมาะกับทุกคน เพราะบางคนต้องการเพียงแค่พื้นที่ตามข่าวสารเรียลไทม์ ต้องการสร้างคอมมูนิตี้จากการเป็นไวรัลด้วยแฮชแท็ก ทวีตแล้วแก้ไขโพสต์ได้ หรือแค่ต้องการเห็นโลโก้ Twitter เป็นสีชมพูก็ตาม
และเพราะทุกคนล้วนมีเหตุผลในการใช้งานต่างกัน ไม่ว่าคุณจะเป็นแค่คนติดทวีต ครีเอเตอร์ แบรนด์ หรือเอเจนซี มาเช็กกันว่า Twitter Blue ใช่สำหรับเราหรือเปล่า!?
ค่าบริการ Twitter Blue
เมื่อเป็นบริการที่มีเครื่องมือ และฟีเจอร์ต่าง ๆ เพิ่มมาเป็นพิเศษจาก Twitter แบบปกติ ก็ต้องมีการจ่ายค่าสมาชิกรายเดือนเพื่อซื้อประสบการณ์การใช้งานที่เอ็กซ์คลูซีฟขึ้นเป็นธรรมดา โดยราคาแพ็กเกจทั้งแบบรายเดือน และรายปีของ Twitter Blue บนแต่ละระบบปฏิบัติการคิดเป็นดังนี้
ราคาแพ็กเกจ (รายเดือน/บาท)
- iOS: 380 บาท
- Android: 380 บาท
- Website: 275 บาท
ราคาแพ็กเกจ (รายปี/บาท)
- iOS: 4,000 บาท
- Android: 4,000 บาท
- Website: 2,900 บาท
เครื่องหมาย Verified
ทุกแอคเคาท์ที่สมัคร Twitter Blue จะได้เครื่องหมายติ๊กถูก โดยจะมีการแยกสีตามประเภทบัญชี
- สีฟ้า: โปรไฟล์คนที่สมัครสมาชิก Twitter Blue, บุคคลที่มีชื่อเสียง
- สีทอง: โปรไฟล์บริษัท และองค์กร
- สีเทา: โปรไฟล์นักการเมือง หรือคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง
การอัปโหลดวิดีโอ
จาก Twitter แบบธรรมดาที่อัปโหลดคลิปได้นานสุด 2 นาที Twitter Blue ก็อัปเกรดให้สามารถอัปคลิปยาวจุใจ 1 ชั่วโมงเต็ม แบบไม่ต้องกดไปดูต่อที่แพลตฟอร์มอื่นยังได้ หมดปัญหาเรื่องการอัปโหลดคลิปได้ไม่ครบ ค้างคาใจทั้งคนโพสต์ และคนดู
แต่ในส่วนนี้ Twitter อาจต้องคุมเข้มเป็นพิเศษในเรื่องของการ Monitor วิดีโอที่ผิดลิขสิทธิ์ เนื่องจากเคยมีประเด็นที่คนนำภาพยนตร์มาอัปโหลดบนแพลตฟอร์มตั้งแต่ต้นจนจบมาแล้ว
ขนาดอัปโหลดวิดีโอ
นอกจากจะอัปโหลดวิดีโอได้ยาวถึง 1 ชั่วโมงแล้ว ยังสามารถอัปโหลดไฟล์ได้ใหญ่ถึง 2GB ในขณะที่ขนาดไฟล์ธรรมดาอยู่ที่ 512MB เท่านั้น รวมถึงความละเอียดของการอัปโหลดวิดีโอของผู้ใช้ Twitter Blue ยังสูงสุดถึง 1080p อีกด้วย
ธีมและไอคอน
สามารถเลือก Customize ได้ทั้งไอคอนต่าง ๆ ที่แสดงบนหน้าโปรไฟล์ และหน้าไทม์ไลน์ รวมถึงธีมแอปที่สามารถเลือกสีเองได้หลากหลายสี จากปกติที่เลือกได้แค่สี ขาว (Light) และ ดำ (Dark) เท่านั้น
จำนวนตัวอักษร
หลายคนคงเคยเห็นผ่านตากับบางทวีตที่ยาวจนต้องกด See more นั่นเป็นเพราะว่า Twitter Blue ให้ผู้ใช้ได้ทวีตด้วยข้อความที่ยาวกว่าถึง 4,000 ตัวอักษร จากปกติจำกัดแค่ 280 ตัวอักษรเท่านั้น เหมาะสำหรับสายเล่าเรื่อง ที่ไม่ต้องมานั่งตัดตัวอักษรเล่าเป็น Thread หลายทวีตอีกแล้ว
การบุ๊กมาร์ก
สามารถสร้างคอลเล็กชันแยกทวีตที่กดบุ๊กมาร์กเองได้ เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหา และจัดการคอลเล็กชันมากขึ้น โดยเฉพาะกับคนที่เป็นสายชอบเซฟทวีตเก็บไว้เยอะ ๆ
การแก้ไขทวีต
ถ้าใช้ Twitter แบบปกติก็จะไม่สามารถแก้ไขทวีตที่โพสต์ไปแล้วได้ แต่สำหรับ Twitter Blue สามารถแก้ไขทวีตได้สูงสุด 5 ครั้ง ภายใน 30 นาที รวมถึงยังสามารถเพิ่มแท็ก หรือจัดเรียงลำดับภาพและวิดีโอในทวีตที่โพสต์ไปแล้วได้อีกด้วย
การมองเห็นโฆษณา
ใครที่เล่น Twitter เป็นประจำ จะรู้เลยว่ามีโฆษณาแทรกค่อนข้างเยอะ จนบางครั้งคงทำให้หงุดหงิดใจกันบ้าง แต่ปัญหานี้จะหมดไปหากสมัคร Twitter Blue เพราะจะลดการแสดงโฆษณาบนหน้าไทม์ไลน์ลงถึง 50% หรือครึ่งหนึ่งจากปกตินั่นเอง เพื่อยกระดับประสบการณ์การใช้งานมากขึ้น
สำหรับ Twitter แบบปกติก็จะมีเครื่องมือ และฟีเจอร์ที่แตกต่างจาก Twitter Blue ค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็น
- ค่าบริการ: โหลดใช้งานฟรี
- เครื่องหมาย Verified: Popular Public Figure / Official Business
- การอัปโหลดวิดีโอ: สูงสุด 2 นาที
- ขนาดอัปโหลดวิดีโอ: 512MB
- ธีมแอป: Light / Dark
- จำนวนตัวอักษร: 280 ตัวอักษร
- การบุ๊กมาร์ก: คอลเล็กชันรวมกัน
- การแก้ไขทวีต: ทำไม่ได้
- การมองเห็นโฆษณา:100%
ข้อดีของ Twitter Blue
ตั้งแต่ Elon Musk เข้ามาเป็นซีอีโอของ Twitter ก็อยากจะทำให้แอปนี้มีความพิเศษมากขึ้น แต่ต้องสมัคร และเสียค่าบริการเพื่อให้ได้สิทธิพิเศษนั้น ๆ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าแต่ละฟีเจอร์ที่มีใน Twitter Blue นั้น เอื้อต่อทั้งครีเอเตอร์ แบรนด์ และเอเจนซีในการทำการตลาด และสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายของตัวเองมาก แต่จะมีอะไรข้อดีอะไรบ้าง ตามไปดูกัน!
มีเครื่องหมายยืนยันบัญชีบนโปรไฟล์
เครื่องหมาย Verified เก่าจะถูกแทนที่ด้วยเครื่องหมายยืนยันโปรไฟล์ที่มีการสมัครสมาชิกมาจาก Twitter Blue ซึ่งสามารถเช็กได้ว่าเครื่องหมายมาจากไหน
เพิ่มการมองเห็นได้ทั้งทวีต และเมนชัน
เครื่องหมาย Verified จะช่วยให้โปรไฟล์มีความโดดเด่นเวลาทวีตมากขึ้น และยังมีจำแนกประเภทสีของเครื่องหมายเพื่อความชัดเจนด้วยว่าเราเป็นแอคเคาท์แบบไหน รวมถึงการเมนชันบนทวีตไหน ๆ ข้อความของเราก็จะถูกดันไปอยู่บนสุดด้วย
มีฟีเจอร์ และฟังก์ชันพิเศษเพิ่ม
ฟีเจอร์ และฟังก์ชันพิเศษที่ต่างจาก Twitter ปกติ คือ การแก้ไขข้อความ อัปโหลดวิดีโอได้นานขึ้น เป็นต้น ซึ่งจะเอื้อต่อการใช้งานได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะสำหรับครีเอเตอร์ แบรนด์ หรือเอเจนซีที่มี Twitter เป็นโซเชียลหลัก
ป้องกันการโดนกล่าวหาว่าเป็นบอท
Elon Musk มีความเข้มงวดกับการตรวจสอบความโปร่งใสภายในแอปมาก ฉะนั้นการที่สมัคร Twitter Blue ก็เหมือนกับการยืนยันตัวตน และแอคเคาท์ของเราด้วยว่าไม่ใช่บอท จึงเสี่ยงต่อการถูกแบน หรือบล็อกน้อยลง
ปรับแต่งบัญชี และการใช้งานได้
Twitter Blue มีฟีเจอร์เพิ่มให้เลือกธีม หรือไอคอนโลโก้ Twitter ได้ตามใจชอบ โดยไม่ได้มีแค่ธีมสี Light หรือ Dark ให้เลือกแบบ Twitter ธรรมดา จึงเหมาะสำหรับคนที่ชอบแต่ง หรือปรับการใช้งานเป็นประจำ
สมัครได้ไม่จำกัดจำนวนผู้ติดตาม
การสมัคร Twitter Blue เปรียบเสมือนการทำให้แอคเคาท์มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น จึงไม่มีการกำหนดเงื่อนไขผู้ติดตาม ขอแค่แอคเคาท์ของเราไม่ได้ทำผิดนโยบายของ Twitter หรือไม่ได้มีเจตนาที่ไม่ดีในการสร้างแอคเคาท์มาก็พอ ทุกคนก็สามารถมีเครื่องหมาย Verified ได้
ข้อเสียเปรียบของ Twitter Blue
ต่อให้ Twitter Blue จะเต็มไปด้วยฟีเจอร์ และฟังก์ชันที่น่าสนใจมากมาย และเอื้อต่อการเพิ่มยอดเอ็นเกจเมนต์ หรือการมองเห็นในคอมมูนิตี้ของกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าบางอย่างนั้นทำให้ผู้ใช้อย่างเรา ๆ เร่ิมเสียเปรียบเกินไป แม้จะจ่ายเงินสมัครใช้งานก็ตาม
คอลเล็กชันบุ๊กมาร์กต้องเสียเงินเพิ่ม
การบุ๊กมาร์กทวีตที่น่าสนใจ และอยากเก็บไว้ในคลังของตัวเองเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ผู้ใช้อยากจะจัดเป็นคอลเลกชันให้มีระเบียบโดยการแยกเป็นหมวดหมู่มากขึ้น ซึ่ง Twitter ปกติบุ๊กมาร์กได้ แต่จัดหมวดหมู่ไม่ได้ แต่ Twitter Blue ทำได้ เพียงแค่ต้องเสียค่าสมัครสมาชิก กลับกัน Instagram สามารถเซฟคลังบุ๊กมาร์ก และสร้างโฟลเดอร์เป็นหมวดหมู่ได้ฟรี
มีราคาแพ็กเกจต่างกันตาม iOS, Android และเว็บไซต์
โดยปกติแล้วโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น Meta (Facebook และ Instagram) หรือ YouTube จะมีสิทธิพิเศษ หรือแพ็กเกจค่าสมัครพิเศษสำหรับคนที่อยากสร้างรายได้ และเป็นครีเอเตอร์มากกว่า แต่ Twitter Blue ฉบับ Elon Musk มองในมุมธุรกิจเสียเยอะ จึงมีการแยกเรทราคาออกแม้กระทั่งอุปกรณ์ที่ใช้งาน Twitter ก็มีราคาไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะกับคนที่ใช้สมาร์ตโฟนสมัครจะเสียแพงกว่าค่อนข้างเยอะ
การชำระค่าบริการมีเงื่อนไข
จากที่อุปกรณ์การสมัครบริการ Twitter Blue มีเงื่อนไข และเรทราคาต่างกัน การชำระค่าบริการก็มีตัวเลือกต่างกันไปด้วย ซึ่งใครที่สมัครผ่านบนเว็บไซต์จะจ่ายได้ด้วยบัตรเครดิตเท่านั้น
- เว็บไซต์: Credit Card Only
- iOS: Online Payment, Google Play Card, PayPal
- Android: Credit Card, Online Payment, iTunes card
เปลี่ยนชื่อไม่ได้จนกว่าจะได้รับการยืนยัน
เพราะการสมัคร Twitter Blue มีความเข้มงวด และตรวจสอบเยอะขึ้น แม้แต่การเปลี่ยนชื่อแต่ละครั้งก็ต้องรอการยืนยันจาก Twitter ไม่ว่าแอคเคาท์จะมีชื่อเสียงแค่ไหนก็ตาม ซึ่งระยะเวลาในการรอเปลี่ยนชื่อมีตั้งแต่ 2 วัน ไปจนถึง 1 สัปดาห์เลยทีเดียว
ใครที่ต้องมี Twitter Blue
- ผู้ที่ใช้ Twitter เป็นโซเชียลหลัก
- ผู้ที่มีคอมมูนิตี้ หรือการสื่อสารบน Twitter
- ผู้ที่อยากสร้างคอมมูนิตี้บน Twitter
แน่นอนว่าตั้งแต่ที่ Elon Musk เริ่มบังคับให้ทุกคนหันไปซื้อ Twitter Blue ผู้คนในโซเชียลก็เริ่มเสียงแตกกัน ทำให้บางกลุ่มไม่อยากใช้ Twitter หรือเปลี่ยนไปใช้โซเชียลที่คล้าย Twitter แบบเก่าอย่าง “Bluesky” ที่ก่อตั้งโดย Jack Dorsey อดีตผู้ก่อตั้ง Twitter
กลับกันผู้คนบางกลุ่มก็เลี่ยงไม่ได้ เพราะมีกลุ่มเป้าหมาย และคอมมูนิตี้หลักอยู่ในแอปนี้ ซึ่งทาง RAiNMaker แนะนำให้สมัครไว้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเองในยุคแข่งขันทางโซเชียลมีเดียสูงดีกว่า เนื่องจากการตั้งรากฐานใหม่บนโซเชียลอื่น ๆ ต้องใช้เวลาปั้นพอสมควร แต่ถ้ารู้ทาง Twitter ดีก็มีชัยไปกว่าครึ่ง เพราะโลกของเทรนด์ แฮชแท็ก และเรียลไทม์ของทั่วโลกอยู่ที่นี่
อ้างอิง: NOIKISU BLOG, blusteak