Twitter เผยไกด์ไลน์ #RealTalk ด้วยประเด็น ‘สิ่งที่ผู้บริโภคคาดหวังจากแบรนด์บน Twitter’ เพื่อให้แบรนด์สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลการสำรวจเชิงลึกตรงนี้ไปปรับและประยุกต์ใช้บนแพลตฟอร์มได้ง่ายขึ้น โดยเริ่มมาจากการค่อย ๆ เพิ่มขึ้นของเทรนด์และความคาดหวังของผู้ใช้ภายในแอป
คู่มือจาก #RealTalk ที่ทาง Twitter ใช้วิเคราะห์เกี่ยวกับแบรนด์และผู้บริโภคนี้ จะทำให้เห็นมุมมองใหม่ ๆ มากขึ้นว่าแบรนด์ควรใช้เสียงของผู้บริโภคมาประยุกต์กับกลยุทธ์ทางการตลาดอย่างไร ยิ่งกับความคาดหวังของผู้บริโภคแล้วหากแบรนด์รู้และเข้าไปเติมเต็มส่วนนี้ได้ การตอบสนองนี้ก็ยิ่งจะทำให้ผู้บริโภคอยากเป็นส่วนหนึ่งกับแบรนด์มากขึ้นไปด้วย
เพราะ Twitter เป็นอีกแพลตฟอร์มที่แบรนด์เริ่มเข้ามาสร้างคอมมูนิตี้ โดยใช้กลยุทธ์ทางการตลาดจากแฮชแท็กหรือการริวิวมากมาย แต่นั่นเป็นสิ่งที่แบรนด์ส่วนใหญ่คิดและทำกันตลอดมา ทาง RAiNMaker เลยอยากมาแชร์ 5 สิ่งที่ผู้บริโภคคาดหวังจากแบรนด์บน Twitter กัน เพราะแบรนด์จะได้เข้าใจผู้บริโภคมากขึ้นนั่นเอง!
ACTIVE
เพราะ Twitter คือแพลตฟอร์มที่ทำให้ผู้คนในแอปเชื่อมต่อถึงกันแบบเรียลไทม์ในทุก ๆ วัน ดังนั้นการที่แบรนด์พร้อมจะแอคทีฟหรืออัปเดตคอนเทนต์เช่นเดียวกันกับกลุ่มเป้าหมายก็ยิ่งเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างการรับรู้ว่าแบรนด์ของคุณพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งกับโลกโซเชียลแห่งนี้
ซึ่งแบรนด์ยิ่งแอคทีฟมากขึ้นเท่าไหร่ กลุ่มเป้าหมายก็ยิ่งอยากมีส่วนร่วมกับบทสนทนาของแบรนด์มากยิ่งขึ้นเท่านั้น ไม่เพียงแต่ด้านการขายหรือลงคอนเทนต์สดใหม่ แต่แบรนด์ต้องรู้และเข้าใจด้วยว่า ณ เวลาขณะนั้นกลุ่มเป้าหมายกำลังสนใจอะไร หรือมีเหตุการณ์อะไรใหม่ ๆ ที่ลงสนามไปเล่นด้วยได้หรือไม่ด้วย จึงทำให้ ‘Brand Twitter’ กลายเป็นส่วนที่ดีที่สุดบนแอปพลิเคชัน Twitter ไปแล้วตอนนี้
PAY ATTENTION
จากการแอคทีฟตลอดเวลาของกลุ่มคนใน Twitter ทุก ๆ ความเคลื่อนไหวของแบรนด์ พวกเขาจะรับรู้ได้หมดว่ามีอะไรใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปบ้าง รวมถึงการแชร์ต่อก็รวดเร็วและแพร่หลายมากด้วย เพราะผู้คนมักจะจับตามองและให้ความสนใจสังคมใน Twitter เสมอ หรือจะสรุปได้ว่าคนกลุ่มนี้ “หูไวตาไว” ไปจนถึงเสิร์ช หรือตรวจสอบเปรียบเทียบข้อมูลง่ายก็ไม่ผิดนะ ฉะนั้นแบรนด์จึงต้องสื่อสารกับพวกเขาบน Twitter อย่างจริงใจ และตรงไปตรงมา จึงจะสามารถมัดใจชาวทวิตเตี้ยนได้นั่นเอง
และหากมีกระแสหรือเหตุการณ์สำคัญอะไรที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องปกติมากที่สังคมใน Twitter จะมีการติดแฮชแท็กและขึ้นเทรนด์ของประเทศไทย เพื่อบ่งบอกให้รู้ว่าพวกเขากำลังจับตามองกับเหตุการณ์อะไรอยู่ ซึ่งก็เป็นดาบสองคมเช่นกัน เพราะทุก ๆ แบรนด์ที่เฝ้ามองเทรนด์บน Twitter ต่างก็รอเข้ามาเล่นกับเหตุการณ์นั้น ๆ ด้วยเพื่อที่จะทำให้แบรนด์ของตัวเองกลมกลืนไปกับกลุ่มเป้าหมายใน Twitter อย่างแนบเนียน
EVOLVE THEIR TONE WITH TIME
การลงคอนเทนต์แบรนด์ต้องรู้จักเรื่อง “จังหวะและเวลา” เป็นสำคัญเพื่อให้เกิดไวรัลในโลกโซเชียล เพราะหากมีแบรนด์ไหนเริ่มลงไปเล่นกับกระแสแล้ว ผู้คนบนโลกโซเชียลโดยเฉพาะกับชาวทวิตเตี้ยนก็ยิ่งมีความคาดหวังว่าแบรนด์ที่ตัวเองติดตามจะลงคอนเทนต์แบบเรียลไทม์เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมนั่นเอง
DO AND DON’T
ในช่วงที่โลกของเราเปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่แบรนด์ควรคำนึงเวลาลงคอนเทนต์บน Twitter มีอยู่ 3 ระดับด้วยกันคือควรลง (Shoulda), น่าจะลง (Coulda…), และไม่ควรไม่ลง (Don’t) โดยในยุคสมัยนี้ไม่มีใครสนใจเรื่องของธุรกิจหรือผลประโยชน์ที่จะได้รับจากคอนเทนต์ แต่ผู้คนสนใจเรื่องของสถานการณ์ในปัจจุบันแบบเรียลไทม์, มีมหรือวัฒนธรรมบนโลกออนไลน์และเทศกาลวันหยุดต่าง ๆ มากกว่า แต่การจะรู้ว่าควรลงอะไรหรือไม่ควรลงอะไร แบรนด์ต้องเข้าใจว่ากลุ่มเป้าหมายของตัวเองคาดหวังอะไรอยู่เสียก่อน
KNOW WHO YOU ARE
ยิ่งแสดงตัวตนหรือเอกลักษณ์ของแบรนด์บนโลก Twitter ได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้แบรนด์เป็นที่จดจำมากขึ้นเท่านั้น เพราะชาวทวิตเตี้ยนจะรับรู้ว่าแบรนด์แต่ละแบรนด์มีโทนแบบไหน หรืออยากสื่อสารอย่างไรกับพวกเขา ซึ่งแบรนด์สามารถเริ่มคิดตั้งต้นได้จากวัตถุประสงค์ของตัวเองว่าสร้างขึ้นมาเพื่ออะไร แล้วค่อยบอกออกไปให้พวกเขารู้เพื่อให้นิยามของแบรนด์ถูกจดจำได้ด้วย
ฉะนั้นสิ่งที่ผู้บริโภคคาดหวังจากแบรนด์บน Twitter จึงไม่ได้มีแค่การสื่อสารที่ทำให้ใกล้ชิดมากขึ้นเท่านั้น แต่แบรนด์ต้องรู้ด้วยว่าสื่อสารออกไปเพื่ออะไร และให้ใครรับรู้บ้าง เพราะแต่ละทวีตที่ลงไปก็ไม่ต่างจากการแสดงตัวตนของแบรนด์ให้ผู้คนรับรู้มากขึ้น
เนื่องจาก Twitter เป็นแพลตฟอร์มที่แตกต่างจาก Facebook และ Instagram เพราะผู้คนจะชอบการสื่อสารด้วยความจริงใจและทันกระแสสังคม ดังนั้นการที่แบรนด์จะมีคอนเทนต์ จึงต้องคิดแพลนระยะยาวเพื่อรักษาฐานกลุ่มเป้าหมายต่อไป รวมถึงทำให้ตกกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ ได้ด้วย
เพราะการรีทวิตนั้นจะทำให้แบรนด์แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว และนำไปสู่การมียอดผู้ติดตามจนเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น หรือแม้บางแบรนด์ยอดผู้ติดตามจะน้อยก็ยังทำให้ได้รู้ว่ามีคนพร้อมจะซัพพอร์ตแบรนด์ของคุณจริง ๆ ด้วยเช่นกัน เพียงแค่รักษาการเชื่อมต่อระหว่างแบรนด์และกลุ่มเป้าหมายไว้ตลอดเวลาก็พอ
ที่มาและเครดิตภาพ: Social Media Today