ทุกคนคงจะคุ้นชินกับเสน่ห์ของ Twitter กันดี ว่าเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่สั้น กระชับ และสามารถทวีตได้ตลอดทั้งวันเพื่ออัปเดตเรียลไทม์ แต่ดูเหมือนเสน่ห์เหล่านั้นจะเริ่มเลือนลางไป จาก 140 ตัวอักษร สู่ 280 ตัวอักษร และกำลังจะมาถึงยุค 4,000 ตัวอักษรกันแล้ว
แม้ Tweet จะมาจากเสียงนกร้อง หรือเจ้านก “แลร์รี” (Larry) ที่ใช้เวลาเปล่งเสียงออกมาสั้น ๆ แสดงถึงเอกลักษณ์ของความเป็น Twitter ก็ตาม
แต่ดูเหมือนว่าจากแพลตฟอร์มที่เน้นให้ผู้คนสื่อสารกันด้วย 140 ตัวอักษรกำลังจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ตั้งแต่ปี 2017 ที่ 280 ตัวอักษร ไปสู่หลักพันตัวอักษรกันแล้ว ซึ่งหลายคนมองว่าเริ่มจะเหมือน Facebook เข้าไปทุกที
โดย Elon Musk ได้ตอบกลับข้อความบน Twitter ของ Allan Obare ที่ถามถึงความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงให้ชาวทวิตเตี้ยนโพสต์ยาว ๆ ได้ ด้วยคำตอบว่า “Yes” ซึ่งหมายถึงเขากำลังพัฒนาให้มันเกิดขึ้นอยู่จริง ๆ
Elon is it true that Twitter is set to increase the characters from 280 to 4000?
Kindly @elonmusk
— Allan Obare (@AllanObare4) December 11, 2022
และหากมันเกิดขึ้นจริงในสักวัน อาจทำให้ Twitter กลายเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลเดียวที่ยังคงเหลือความเป็นโซเชียลอยู่ก็ได้
เพราะแพลตฟอร์มอื่น ๆ อย่าง Facebook, Instagram, YouTube ต่างก็พากันมุ่งไปทางคอนเทนต์วิดีโอสั้นกันหมด จนยอดเอ็นเกจเมนต์โพสต์ปกติที่เป็นบทความแทบจะไม่ถูกแนะนำขึ้นหน้าฟีด หรือโดนลดยอด Reach ไปเลยก็ว่าได้
เพราะเหตุผลนี้ เลยอาจทำให้ผู้คนโหยหาการโพสต์บนฟีดโซเชียลแบบเดิมมากขึ้น และ Twitter จะกลายมาเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ผู้คนอยากจะโพสต์ระบาย หรือเล่าเรื่องราวต่าง ๆ เป็นบทความมากขึ้นไปด้วย
เพียงแต่ต้องยอมเสี่ยงลดเสน่ห์ความเป็น Twitter ลงไป เพราะ 4,000 ตัวอักษร แทบจะไล่ยาวเป็นเรียงความได้เลย แถมยังอาจทำให้การทวีตลักษณะเป็นเธรดเริ่มหายไปด้วย เพราะโดยปกติการโพสต์เกิน 280 ตัวอักษร จะต้องมีเล่าต่อในเธรดเสมอ
แต่ชาวทวิตเตี้ยนบางกลุ่มก็มองว่าการจำกัดข้อความ เป็นสิ่งที่ทำให้รำคาญใจมาตั้งแต่แรกเริ่ม และรู้สึกว่าการพิมพ์ข้อความภายใน 4,000 ตัวอักษร ให้อิสระมากกว่าด้วย ซึ่งแน่นอนว่าความสั้นกระชับจะไม่มีอีกต่อไป และอาจส่งผลทำให้ผู้คนในแพลตฟอร์มนั้นเบื่อที่จะใช้พลังในการกวาดสายตาอ่านอะไรยาว ๆ ก็เป็นได้
ในฐานะสื่อมีข้อดีที่ทำให้สามารถโพสต์บทความข่าวลักษณะยาว ๆ หรือใส่ข้อมูลได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องเหนื่อยตัดคำให้ครบ 280 ตัวอักษร
แต่ข้อเสียคือ การขาดเสน่ห์ของความกระตุ้นให้อยากรู้ไปอย่างแน่นอน เพราะการมี “See more” หรืออ่านต่อในเธรด ต้องยอมรับว่าเป็นวิธีทำให้ชาวทวิตเตี้ยนอยากติดตามอ่านต่อเอง มากกว่าจะเห็นทั้งหมดภายในทวีตเดียว
หรือแม้ทางแพลตฟอร์มจะเปลี่ยนไป แต่ผู้บริโภคไม่ได้เปลี่ยนตาม และยังคงรักษาวิธีการเดิม ใช้ Twitter ให้เป็น Twitter ก็อาจจะไม่มีผลกระทบกับพฤติกรรมพวกเขาสักเท่าไหร่
สุดท้ายแพลตฟอร์มก็สามารถเปลี่ยนกลับไปกลับมาตามพฤติกรรมผู้บริโภคอยู่ดี เพราะคนที่จะให้คำตอบได้ว่าอะไรจะเวิร์กหรือไม่เวิร์กคือผู้ใช้งาน ไม่ใช่แค่เจ้าของแพลตฟอร์มเพียงฝ่ายเดียว
ที่มา: MacRumors