Interview

Avatar

miss arisa December 15, 2018

Uncensored Interview : คุยกับทีมงาน Echo วิดีโอครีเอเตอร์ใจกล้า ถกทุกประเด็นปัญหาสังคม

ถ้าคุณเลื่อนฟีดไปแล้วเจอวิดีโอที่บอกเล่าปัญหาสังคมเครียดๆ แต่ดูแล้วสนุกและได้คิดต่อ ขอให้สันนิฐานไว้เลยว่าเป็นผลงานของพวกเขาแน่ๆ Echo ; Fooking Friend วิดีโอครีเอเตอร์ที่มาแรง แหวกแนวกว่าใคร

เราจึงอยากรู้ว่าพวกเขามีแนวคิดอะไรในการทำงาน และเราก็เชื่อว่าผู้ชมเองก็อยากรู้ว่าหน้าตาพวกเขาจะเป็นอย่างไร (เผื่อมีคนอยากสร้างอนุสาวรีย์ให้) เราจึงบุกไปถึงออฟฟิศของพวกเขา เพื่อพูดคุยกับ 3 หัวเรือหลักของ Echo แชมป์ ฤทธิกร มหาคชาภรณ์ , บ๊อบ นันทพล อาชวาคม และ ธันว์ ธนชัย วรอาจ

RAINMAKER : ก่อนจะมาทำเพจ Echo แต่ละคนทำอะไรกันมาก่อน มารวมตัวกันได้ยังไง

แชมป์ : ก็ทำงานอยู่สายข้อมูลสายข่าวนะครับผม ก็อยู่กับสถานีโทรทัศน์หลายที่ แล้วก็เคยเขียนหนังสือพิมพ์นิดหน่อย อะไรอย่างนี้นะครับ แล้วก็อยู่กับสายคอนเทนต์มานะครับ ก็เลยวันนึงเรารู้สึกว่าเราอยากเล่าเรื่องด้วยวิดีโอ เอาคอนเทนต์เนี่ยมาแปรสภาพให้กลายเป็นภาพเคลื่อนไหวสนุกๆ มันๆ แบบว่าเดี๋ยวนี้วัยรุ่นเขาชอบดูอะไรเร็วๆ กันใช่ไหม เราก็เลยคิดที่จะรวมตัวกันแล้วก็ทำออกมาเป็น Echo ขึ้นมาครับ

RAINMAKER : มีการคุยกันมานานมั้ย หรือว่าคิดได้แล้วก็ทำเลย

แชมป์ : จริงๆ เตรียมตัวกันนานนะ เตรียมตัวกันเกือบปี เราก็ซุ่มกันเกือบปี ความจริงตอนแรกเราก็ออกแบบทำ research กัน หา reference แล้วก็ดูตลาดดูอะไรอย่างนี้ด้วยนะครับ รวมๆ แล้วก็ใช้เวลาเนี่ย ผมว่าน่าจะมีเกือบปีก่อนที่จะออกมาเห็นเป็นชิ้นงานอย่างที่เราโพสต์ลงในเพจ ใน YouTube กันทุกวันนี้ มันก็ผ่านการวิจัยผ่านการลองผิดลองถูกทำ AB Test มาเป็นเวลาพอสมควรเหมือนกันครับ

RAINMAKER : โดยพื้นฐานเป็นคนทำสื่ออยู่แล้ว ทำไมถึงเลือกออกมาเปิดเพจ Echo แสดงว่าสื่อเก่ามีข้อจำกัดในการสื่อสารบางอย่างหรือเปล่า

แชมป์ : จะว่าสื่อเก่ามันมีข้อจำกัดไหม ผมคิดว่าพฤติกรรมคนเขาเปลี่ยนไปมากกว่านะครับ ก็คือถามว่าคนชอบพูดว่าทีวีตายแล้วๆ อะไรอย่างนี้ ผมไม่คิดว่าจริงนะ ทีวีเขาก็ยังอยู่แหละ เพียงแต่ว่าเขาก็เปลี่ยนสถานภาพในการอยู่ว่าเขาอยู่ยังไงมากกว่า แล้วสื่อใหม่ที่มันเกิดขึ้นเนี่ยมันก็โตเร็วไง มันก็เป็นช่องทาง ผมคิดว่าเป็นทางเลือกให้คนดู คือเราก็เลือกที่จะจับกลุ่มคนดูอีกกลุ่มหนึ่งที่เกิดขึ้นมาใหม่เท่านั้นเอง

RAINMAKER : ทำไมถึงเลือกวางคาแรคเตอร์ของเพจให้เป็น fucking page

ธันว์ : ก็จริงๆ แล้วพอเรารู้ว่าเราจะเล่นพื้นที่บนอินเตอร์เน็ตใช่ไหมครับ ถ้าเราสังเกตมันสักหน่อย เวลาเราใช้พื้นที่อินเตอร์เน็ต การที่มันจะเกิดการแลกเปลี่ยนกันระหว่างความคิดของแต่ละคนที่จะรู้จักหรือไม่รู้จักกันก็ตาม ภาษาที่เราใช้เนี่ย พอเราไม่รู้จักกันเราจะวางตัวให้คนเป็นระดับเดียวกับเรา ไม่ได้แปลว่าทุกคนระดับเดียวกันบนโลกอินเตอร์เน็ตนะครับ แต่ว่าเวลาเราสื่อสารออกไปในฐานะคนทำและคนดูด้วยเนี่ย ไอ้ความเป็นเพื่อนเนี่ยมันทำงานที่สุด ทำงานเพื่อให้รู้สึกสบายใจที่จะแลกเปลี่ยนกัน

 

เขาเรียกว่า friend-to-friend psychology จิตวิทยาแบบเพื่อน

 

เช่น ผมเคยดูงานตัวนี้มาแล้วมีคนนึงมา comment ผมแม่งไม่รู้จักเขาเลยนะว่าเขา comment เรื่องนี้เพราะอะไร ไอ้ความที่เราไม่รู้จักกันเราเลยประเมินว่าเขาเท่าเรา ในทางกลับกันถ้าเราจะผลิตเนื้อหาออกไป ถ้าเราประเมินว่าเราเท่ากันในฐานะอะไรก็แล้วแต่ มันจะทำให้คุยกันง่ายขึ้น และภาษาที่มันคุยกันง่ายที่สุดเลยบนโลกอินเตอร์เน็ตคือภาษาเพื่อน เพราะกูไม่แคร์หรอกว่ามึงเป็นใคร มึงเป็นเพื่อนกูบนอินเตอร์เน็ตแล้วกัน

บ๊อบ : คือมันมีหลักการรองรับใช่ไหมไอ้อย่างนี้

ธันว์ : เขาเรียกว่า friend-to-friend psychology จิตวิทยาแบบเพื่อน

แชมป์ : อย่างพี่บ๊อบเนี่ย จริงๆ แก่กว่าผม แต่เวลาคุยกัน (หัวเราะ) สมมติเพิ่งไปตัดแว่นมาใหม่วันนี้วันแรก เจอหน้าผมก็เรียกเลย ไอ้แว่น (หัวเราะ) อะไรอย่างนี้ แต่มันก็คือประมาณว่ามันเป็นการสร้างความสนิทสนมกัน มันละลายพฤติกรรมได้เร็วแล้วผมว่ามัน touch คน มันไปถึงใจคนได้เร็วกว่า มันก็เป็นหลักการที่เราไป research กันมาเนอะ เราเชื่อมั่นในหลักการ friend-to-friend psychology นะครับ ก็คือจิตวิทยาแบบเพื่อน 

ธันว์ : อีกนิดนึง มันยังไม่ตอบเรื่อง fucking friends ใช่ปะ วิธีคิดมันมาจาก…ใช้คำหยาบได้ปะ fucking friends ที่เราเลือกใช้หรือ fooking friends ที่เราเลือกใช้มันก็คือ “เพื่อนเหี้ย” ในภาษาไทย ในชีวิตเรามันจะมีเพื่อนกลุ่มนึงที่เราเรียกว่ามันเป็นเพื่อนเหี้ยๆ ไม่ได้หมายความว่ามันเป็นเพื่อนที่ไม่ดีนะ แต่ว่ามันทำตัวผิดแผกไปจากขนบปกตินิดหน่อย แต่ว่ามันจะนำพาเรื่องที่ตื่นตาตื่นใจ นำพาเรื่องที่สนุก

หรือว่าถ้าเราอยากด่ามันถ้ามันทำไม่ถูกอะ เราด่าเพื่อนเหี้ยได้เต็มปากเต็มคำกว่าด่าเพื่อนที่ดี แปลว่าเราจะมีโอกาสคุยกันได้อย่างไม่ต้องระมัดระวังมากขึ้น ไม่ต้องกลัวว่ามึงจะโกรธกูไหม ไม่ต้องกลัวว่าสิ่งที่มึงพูดหรือกูคิดมันแตกต่างกันแค่ไหนแต่มันพร้อมจะพูดกันเลย เพราะเราเป็นทั้งเพื่อนแล้วก็มีความเหี้ยระดับหนึ่งใส่กันอยู่ มันเลยกลายเป็นสโลแกน มันเรียกว่าสโลแกนเปล่าวะ ชื่อเต็มของเราใช่ปะ Echo from your fucking friends แปลว่าเสียงสะท้อนจากเพื่อนเชี่ยๆ

แล้วก็มีคำถามตามมาว่าคุณอยากเป็น Echo เหรอ คุณอยากเป็นเสียงสะท้อนเหรอ คุณอยากสร้างเสียงสะท้อนเหรอ จริงๆ แล้วเปล่า เราแค่กระตุ้นให้มันเกิดเสียงสะท้อนเนอะ ไอ้ Echo ที่เราอยากให้มันเกิดขึ้นไม่ใช่เราไปเห็นอย่างอื่นแล้วสะท้อนออกไป แต่เราอยากเอาเรื่องนี้มาเล่าในฐานะเพื่อน แล้วคุณในฐานะเพื่อนเหมือนกันช่วยสะท้อนกันเองหน่อย

RAINMAKER : คลิปแรกที่ปล่อยออกมาเป็นเรื่องของยา ตอนนั้นกลัวมั้ยว่าจะทำให้เพจติดภาพลักษณ์ว่าเราจะนำเสนอเรื่องวิชาการอย่างเดียว

แชมป์ : ติดฮะ (หัวเราะ) คนหลังไมค์มาเต็มเลย พี่คะ ทำไงดีคะหนูลืมทานยาคุมค่ะ ทำไงดีคะหนูรอบเดือนมาไม่ปกติ อีกคนนึงก็ พี่ครับ ผมเอายาคุมมาสระผมแล้วผมไม่เห็นยาวเร็วขึ้นเลย หลังไมค์เข้ามาใน inbox เราเต็มไปหมดเลย เราก็ต้องมานั่งไล่แก้ตัวไปว่า เฮ้ย พี่ไม่ใช่เพจเภสัชฯ นะครับน้อง เดี๋ยวรบกวนปรึกษาทางเภสัชฯ โดยตรงเลยดีกว่านะครับจะได้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง เราเป็นเพจที่เรานำข้อมูลน่าสนใจสนุกๆ เรื่องราวในสังคมมายำ มาขยี้ แล้วก็เล่าให้ฟังเฉยๆ ซึ่งพอคลิปแรกออกไปเราปล่อยเรื่องยา คนก็ถามเรื่องยาเข้ามาเต็มเลย พอคลิปที่ 2 เราปล่อยเรื่องอะไรพี่บ๊อบ

บ๊อบ : คลิปที่ 2 เรื่องอะไรนะ

แชมป์ : เรื่องแต่งหน้า

บ๊อบ : เอ้อ ใช่ ก็กลายเป็นบล็อกแต่งหน้าไปเลย

แชมป์ : เราก็กลายเป็นบิวตี้บล็อกไปอีก

บ๊อบ : แล้วที่หนักเลยคือมันมีคอนเทนต์หนึ่งเป็นเรื่องคาเฟ่ความตาย เราก็กลายเป็นเพจร้านอาหารไปเลย คนก็เข้ามาถามร้านอยู่ตรงไหนคะ คือมันไม่เกี่ยวว่าเราจะลงคอนเทนต์ยา เป็นคอนเทนต์แรกหรือเปล่า ไม่ว่าเราโพสต์อะไรคนบางกลุ่มเขาก็จะไม่ได้ดูที่ตัวเพจ เขาดูที่ตัวคอนเทนต์แล้วเขาก็หลังไมค์มาถามเลย

RAINMAKER : มีวิธีการตั้งโจทย์ในการเลือกแต่ละเรื่องมานำเสนอในแต่ละสัปดาห์อย่างไร

แชมป์ : จริงๆ สืบเนื่องจากเมื่อกี๊ที่ไม่ว่าเราจะลงคอนเทนต์อะไรไปก็ตาม คนก็จะเข้าใจไปว่าเราเป็นเพจนั้นๆ ไปเนี่ย เราก็ใช้เวลาตั้งตัว เราก็ใช้เวลาจูนความเข้าใจกับ audience ของเรากันสักพักหนึ่งนะ กว่าเขาจะรู้ว่า อ๋อโอเค ไอ้เพจบ้านี่มันไม่ได้ทำเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ คือมันก็ออกแนวมั่วซั่วตั้วเหลงไปบ้างเหมือนกันนะความจริง

เพียงแต่ว่าสรุปแล้วเนี่ยพอเราใช้เวลาตั้งตัวได้ระยะนึงคนก็เริ่มเข้าใจไปเองแหละ เราก็เชื่อมั่นในคอนเทนต์ของเรานั่นแหละว่า เออ เดี๋ยวสุดท้ายคนจะเก็ตว่าเรากำลังต้องการเอาเรื่องที่สนุกๆ มาเล่าให้ฟังกันอยู่

บ๊อบ : คือมันเหมือนกับเวลาเราคิดคอนเทนต์มันก็เหมือนกับเป็นเรื่องที่เราสนใจก่อน แล้วเราคุยกันในทีมกันแล้ว อย่างที่บอกว่ามันเป็น friend-to-friend psychology เป็นเพื่อนต่อเพื่อน ถ้าเราเล่าให้เพื่อนฟังแล้วเพื่อนในทีมเราสนใจ มันก็มีความเป็นไปได้ที่คอนเทนต์นี้จะนำไปสู่สาธารณะแล้วคนอื่นจะสนใจเหมือนกับเราด้วยก็ได้ อะไรอย่างนี้

แชมป์ : ก็มีหลายๆ เรื่องนะที่พอเราเล่าให้ฟัง บอก เฮ้ย ธันว์ ไปเจอเรื่องนี้มา เจ๋งมาก ธันว์หน้าเหยมาเลย เราก็ต้องเออเฮ้ยโอเคเรื่องนี้คงไม่ใช่แล้ว เราก็จะรู้ว่าโอเคไม่ใช่แล้ว เราก็เปลี่ยนไป ประมาณนี้

 

‘สนใจ’ ที่ว่านี่หมายถึง ‘สนใจ’ มากพอที่จะคุยกันต่อด้วยนะ

 

ธันว์ : มันไม่ใช่แค่ว่าเรื่องนี้น่าสนใจแต่ว่าปลายทางเราก็อยากชวนคนอื่นมาคุยเรื่องนี้แหละ ถ้าเรื่องนี้มันน่าสนใจพอที่จะคุยกันต่อได้ หรือขยับไปที่ประเด็นอื่นๆ ที่มันอยู่รอบๆ ได้

บ๊อบ : สร้างบทสนทนาได้

ธันว์ : ก็จะหยิบมันมาใช้เป็นพิเศษ

แชมป์ : หรือเรียกง่ายๆ ว่าถ้าเราหาระบบนิเวศของคอนเทนต์นั้นเจออะเนอะ ถ้าเราเจอระบบนิเวศมันเราก็เชื่อมั่นว่าเรื่องนั้นมันเล่าต่อได้ แต่จริงๆ ผมก็จะเชื่ออยู่อีกอย่างนึงนะ ผมก็จะเชื่อว่าคนเราเนี่ยมันชอบฟังเรื่องอยู่ 2 อย่าง 2 ประเภท ประเภทแรกคือเรื่องที่มันฟังแล้วมันรู้สึกดี ประเภทที่สองคือเรื่องที่มันฟังแล้วมันรู้สึกไม่ดี เช่นเรื่องที่ฟังแล้วรู้สึกดีเรื่องอะไรบ้างก็ หมาน่ารัก แมวซนจัง

บ๊อบ : คุณลุงคนนี้ช่วยโบกรถฟรีๆ

แชมป์ : มีน้ำใจงดงามอะไรพวกนี้ คือดูแล้วมันก็ beautiful อ่านเรื่องพวกนี้ดูแล้วมัน beautiful แต่ไอ้เรื่องที่ดูแล้วมันเหยๆ ดูแล้วมันอี๋ๆ แหวะๆ คนก็ชอบดูนะ เช่นเรื่องบีบสิว อะไรอย่างนี้ คนก็ชอบดู คนก็ชอบเสพเหมือนกันเพราะฉะนั้นเนี่ยผมเลยแบ่ง category เวลาเราคิดคอนเทนต์กันเนี่ย เราก็จะพยายามดูว่ามันเข้าข่าย มัน meet criteria ตรงนี้ไหมว่าเป็นเรื่องที่คนดูแล้วเขารู้สึกว่าชอบ ดีไป แต่ถ้าเขาดูแล้วเขารู้สึกเขาไม่สบายใจ เขาไม่สบายใจแล้วเขาดูต่อหรือเปล่า ถ้ามันเข้าข่าย criteria ตรงนี้ได้เนี่ยผมว่ามันก็เป็นเรื่องที่คุ้มค่าที่เราจะเล่า

RAINMAKER : การทำสื่อออนไลน์มันต้องแข่งกับกระแส ความรวดของคอนเทนต์ ตรงนี้ Echo จัดระบบการทำงานอย่างไร

ธันว์ : ว้าย

แชมป์ : ว้าย เรานี่ ไวมาก (หัวเราะ)

ธันว์ : เราก็รู้ว่า อย่างแรกคือเราก็ไม่ได้ทำตัวเองให้เป็นสำนักข่าวนะ เราก็เลยไม่จำเป็นต้องตามอะไรให้มันทันท่วงที จริงๆ เราก็ใช้ประเด็นนำเรื่องเล่าเหมือนกัน  ถ้าภาษาผมเนี่ยมันก็จะภาษาบาลีมากๆ เลยนะ มันคือ “อะกาลิโก” นะ บางเนื้อหาบางเรื่องราวเนี่ย

แชมป์ : แปลว่า

ธันว์ : มันไม่ขึ้นอยู่กับเวลา คืออย่างบางเรื่องเนี่ย สมมติแบบ เลวร้ายหน่อยคือพูดเรื่องคนเอากัน มันไม่ได้ยึดอยู่กับเวลาเพราะว่าคนเราจะพูดเรื่องเอากันไปเกี่ยวข้องกับเรื่องใดๆ ก็ได้ในโลกนี้หรือตอนไหนก็ได้ในโลกนี้ ไอ้เรื่องแบบนี้เราก็หยิบมาเล่าเพราะเราคิดว่า ต่อให้เราทำไม่ทันเหตุการณ์ แต่ตัวเนื้อหาเองมันก็ยังทำงานอยู่ไม่ว่าเวลามันจะผ่านไปหลายเดือนแล้วก็ตาม แต่ทั้งนี้เราก็ไม่ได้พยายามจะทันเหตุการณ์อยู่ดี

แชมป์ : เราไม่เคยคิดจะพยายามเลยที่จะทันเหตุการณ์ด้วยซ้ำนะครับ เพราะว่า… เราทำทันสู้คนอื่นเขาไม่ไหว (หัวเราะ) คนเราน้อยครับ คนเราน้อย

RAINMAKER : ถ้าอย่างนั้นก็โฟกัสที่วิธีการเล่ามากกว่าความเร็วในการผลิตงาน

แชมป์ : ถูกต้องๆ สมมติจะพูดเรื่องรถติด เราทำคอนเทนต์รถติดมารอไว้เลยอันนึง ลงเมื่อไหร่ก็ได้ครับ ลงปีหน้ารถก็ยังติดอยู่ดี ลงอีก 4 ปีรถก็ยังติดอยู่ดีเชื่อผมดิ คือมันเล่าเมื่อไหร่ก็ได้ แล้วพอเราทำคอนเทนต์รถติดรอไว้ แล้วเราก็รู้แล้วเรามาทำงานตอนเช้ารู้แล้ววันนี้รถติดแน่นอน เราดูเหตุการณ์ข่าวสารบ้านเมืองวันนี้มีเหตุการณ์ มี event ที่นี่นะ มีห้างนี้เปิดตัวนะ มีอย่างนั้นนะมีอย่างนี้ เรารู้แล้ววันนี้รถติดแน่นอน เราก็ค่อยปล่อยคอนเทนต์รถติดของเราไป คนก็จะบอกว่า

บ๊อบ : ทันเหตุการณ์จังเลย กระแสเร็ว (หัวเราะ) เปล่าจริงๆ ทำไว้นานแล้ว

แชมป์ : หรืออย่างเรื่องการศึกษา การศึกษาไทยเนี่ย อีก 4 ปีค่อยทำผมว่ามันก็ยังห่วยอยู่อย่างนี้แหละ หรือจะให้เราทำเร็วกว่านี้ 2 ปีมันก็ยังห่วยอยู่อย่างนี้แหละ

ธันว์ : ปัญหามันก็ยังมีอยู่ดี

บ๊อบ : ต่อให้บางเรื่องปัญหามันจะคลี่คลายไปแต่ปัญหามันก็มีเสมอ ปัญหามันมีเสมอแหละ

RAINMAKER : การเล่าเรื่องด้วยบทบาทสมมติ (Role Play) ในวิดีโอ อันนี้ได้ไอเดียมาจากไหน

ธันว์ : ตอบในฐานะคนออกแบบ ซึ่งครีเอเตอร์แต่ละคนก็จะมีประเด็นที่อยากเล่าใช่มั้ยครับ หลังจากนั้นเราก็หาวิธีว่าจะเล่าเรื่องนี้ให้ดีที่สุดยังไง บางเรื่องมันตรงไปตรงมาแค่คุยกันก็รู้เรื่องมันก็โอเค แต่ว่าในบางเรื่องคุยกันเฉยๆ มันอาจจะได้ซัก 80 แล้ว แต่ถ้ามันนำเสนอด้วยภาพแบบอื่นหรือ role play บางอย่าง มันช่วยทำให้ 80 มันขยับไปถึง 90 หรือ 100 ได้ ก็เลยเลือกอันนั้นมา พูดง่ายๆ ก็คือเลือกวิธีเล่าให้มันเหมาะสมกับประเด็นที่จะบอก

บ๊อบ : อย่างลองนึกถึงบางประเด็น เช่น สมมติพูดหยาบคายนิดนึงหรือล่อแหลม เช่น การฝังมุกอะไรอย่างนี้ คือเราก็ใส่ภาพ insert ตรงๆไม่ได้ ฉะนั้นเราก็เลยต้องคิดสถานการณ์ขึ้นมาเป็นภาพอะไรที่มันใช้แทนกันได้ สามารถนั่งดูแล้วมันไม่รู้สึกขยะแขยง หรือดูแล้วน่าเกลียดน่ากลัวได้ เราก็จะใช้วิธีนี้ครับ

 

แม้แต่สื่อใหญ่ๆ อย่าง Fox อย่าง MSNBC เขาเป็นสื่อที่เลือกข้างชัดเจน แต่สิ่งที่เขาไม่ทำก็คือเขาไม่เต้าข้อมูลมั่วๆ

 

RAINMAKER : ในบางประเด็นที่หมิ่นเหม่ มีวิธี Balance การสื่อสารยังไงให้มันดูไม่ไปตัดสินเขาหรือ Bias ไปด้านใดด้านหนึ่ง

ธันว์ : โดยธรรมชาติของคนทำงาน Echo จำนวนนึงอย่างเช่นผม เป็นต้น เรารับได้กับการไบแอส คือเราไม่ได้คิดว่าทุกเรื่องมันจำเป็นจะต้องเล่าจากการเป็นกลางอย่างเดียว บางเรื่องมันก็เล่าจากฝั่งใดฝั่งหนึ่งก็ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็อธิบายให้ทันว่าเรื่องนี้มันเล่าจากฝั่งไหน มันเล่าจากจุดยืนตรงไหน ข้อดีของมันคือทำให้คนที่ดูอยู่รู้ว่าอ๋อ เรื่องนี้มันเอียงตั้งแต่แรก คือเขารู้ว่าเรื่องนี้มันเล่าเอียง แล้วเราจะได้ถกเถียงอันอื่น

บ๊อบ : ใช่ อันนี้ค่อนข้างเห็นด้วยครับ ซึ่งจริงๆ มันก็เป็นวัฒนธรรมที่ไม่ใหม่สำหรับโลกนะ แต่มันอาจจะใหม่สำหรับเมืองไทยก็ได้ คืออย่างในอเมริกา อย่างสื่อแม้แต่สื่อใหญ่ๆ อย่าง Fox อย่าง MSNBC เขาเป็นสื่อที่เลือกข้างชัดเจน แต่สิ่งที่เขาไม่ทำก็คือเขาไม่เต้าข้อมูลมั่วๆ ขึ้นมา เขาไม่ใส่ร้ายใคร แต่ว่าเขาเลือกที่จะเอาข้อมูลฝั่งที่มันเป็นข้อเท็จจริงจากฝั่งเขาขึ้นมาพูดให้ใหญ่กว่า เป็นอย่างนั้นมากกว่า

ธันว์ : ยกตัวอย่างวิดีโอที่พูดเรื่องการเกลียดพ่อแม่ เราก็ทำการบ้านพอสมควร มีงานวิจัยจำนวนมากที่บอกว่าความสัมพันธ์ในครอบครัว ไม่ใช่แค่ในไทยเนอะ มันไม่ดี ก็เด็กเกลียดพ่อแม่ พ่อแม่ทำร้ายลูกมันก็มีอยู่จริงๆ คำถามคือแล้วทำไมเราไม่คุยกันเรื่องนี้บ้าง ทำไมเราอยากพูดเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวเราต้องพูดแต่ความสัมพันธ์ที่ดีเพื่อเป็น ideal เป็นอุดมคติที่มันต้องไปถึง ในขณะที่ความเป็นจริงมันมีอะไรที่มันทำร้ายกันอยู่ มันเอียงกันอยู่ ก็เล่าให้มันเห็นเลยก็ได้เหมือนกัน

บ๊อบ : ตัวเนื้อหาคอนเทนต์นั้นเองมันไม่ได้บอกว่าทุกคนอย่ากตัญญู อย่ารักพ่อแม่ เราไม่ได้พูดเลยนะจริงๆ มันก็แค่บอกว่าให้ดูว่ามันมีกรณีอย่างนี้อยู่เท่านั้นเอง

ธันว์ : เราจะเข้าใจมันได้ยังไงด้วย

แชมป์ : อย่างในมุมผม ผมก็รู้สึกว่าเราก็ทำงานกันหาเลี้ยงชีพอะเนอะ สิ้นปีเราก็คงไม่ได้อยากจะได้รางวัลลูกกตัญญูลูกดีเด่นแห่งชาติอะไรกันขนาดนั้น แล้วเราก็เลยรู้สึกว่า เอ้.. ในเมื่อเรื่องนี้มันมีอยู่ แล้วมันเป็นปัญหาทำไมเราไม่หยิบมันมาพูดกันสักที คือเราจะปล่อยให้มันอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ แล้วก็ทำตัวเหมือนว่าเราอยู่ใน Utopia กันอย่างนี้ไป แบบเนี่ยผมว่ามันก็ไปกันไม่ถึงไหนเนอะ ประมาณนี้มากกว่า

RAINMAKER : แล้วอย่างวิดีโอที่มีดราม่าเยอะสุดเรื่องการศึกษา จนต้องออกมาทำคลิปที่ 2 ที่ 3 ตามมา ตอนนั้นมันเกิดอะไรขึ้นบ้าง

บ๊อบ : เมื่อเราเลือกที่จะนำเสนอจากฝั่งใดฝั่งหนึ่งไปเลย ตอนนั้นน้องคนที่รับผิดชอบคอนเทนต์นี้ก็ถามผมเหมือนกันว่า เราจำเป็นมั้ยที่ต้องหาข้อมูลอีกด้านมา balance ผมบอกว่าไม่จำเป็นหรอก คือตอนนี้เราตั้งใจจะนำเสนอว่าประสบการณ์ของนักเรียนที่ผ่านมาเขาเคยเจออะไรมาบ้าง เราไม่ได้เลือกว่าเอาคนที่เกลียดระบบการศึกษา เราเลือกคนที่เรารู้จักมานั่งคุยว่าเขามีประสบการณ์อะไรบ้างเท่านั้นเอง คือเราไม่จำเป็นต้องไปดึงคนที่เป็นครูมาอยู่ในคลิปเดียวกัน ตอนนั้นที่ผมคิด แล้วมันก็ออกมาเป็นอย่างที่เห็น คือเป็นเสียงสะท้อนจากฝั่งของคนที่เรียนจบมาแล้วและมีประสบการณ์อย่างไรกับระบบการศึกษานั้นๆ

ธันว์ : ผมก็คิดว่ามันเป็นปัญหาอันนึงแหละที่ผมเข้าใจว่าเราทุกคนไม่ใช่แค่คนดูอื่นๆ เราเอง ณ เวลาที่ทำเราก็ยังรู้สึกไม่ค่อยชินนะที่จะเล่าเรื่องที่มันเอียงไปฝั่งเดียว แต่อย่างน้อยๆ ที่ผมบอกไปแล้วคือเราแสดงจุดยืนตั้งแต่เปิดคลิปแล้วว่า การศึกษาทำร้ายคุณยังไง แน่นอนว่าทั้งคลิปมันก็จะมีคนพูดว่าด้านที่ทำร้ายของการศึกษามันคืออะไร นั่นแปลว่าด้วยเวลาที่มีจำกัด 5-6 นาที เราก็เลือกเล่าฝั่งนี้ไปเลยให้สุด เพื่อให้มันมีการถกเถียงกันเกิดขึ้น

ส่วนเรื่องที่มันทำตามมาเราไม่ได้คิดว่ามันเป็นการทำคลิปมาแก้ เราก็คิดไว้เหมือนกันว่ามันก็มีคนอีกฝั่งที่โดนกระทำอยู่เหมือนกันที่จะอยากอธิบาย เราก็ขยับไปเล่า ขยับไปเล่า แค่มันไม่ได้ออกมาพร้อมกัน

RAINMAKER : วิดีโอการศึกษาอิมแพคไปถึงรัฐมนตรีได้อย่างไร

แชมป์ : อยู่ดีๆ ก็มีเลขาฯ ของท่านรัฐมนตรี

บ๊อบ : หลังไมค์มาเลย

แชมป์ : หลังไมค์มาเลย โอ้ บอกว่า

บ๊อบ : ท่านรัฐมนตรีดูแล้ว ชอบมาก

แชมป์ : อยากเจอทีมงานและคนทำ จะได้เหมือนว่ามาหารือ มาร่วมกันว่าเราจะช่วยให้มันพัฒนาไปได้ยังไง ซึ่งไอ้เราก็ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ เราก็ไม่ได้เป็นคนทำงานด้านการศึกษากันนะครับผม เราก็เป็นคน media พอเขามาเชิญแบบนั้นเราก็ใจตุ้มๆ ต่อมๆ นะ ตอนแรกก็ยังถามเอาไงกันดีวะ เขาจะหลอกเราไปปรับทัศนคติหรือเปล่า ก็เลยใจดีสู้เสือถามไปว่า ถ้าไปแล้วท่านให้ถ่ายวิดีโอด้วยไหมครับ ปรากฏว่าเขาก็ตอบกลับมาว่าได้ โอเคก็เลยไป

บ๊อบ : เป็นเรื่องที่ดี

แชมป์ : เป็นเรื่องที่ดีๆ

บ๊อบ : คือมันเหมือนเปิดพื้นที่การพูดคุยกัน เขาแสดงตัวออกมาแล้วว่าเขารับฟัง ฉะนั้นเราก็ทำเนื้อหาให้เขาเกิด dialogue ขึ้น ระหว่างคนดูในเพจหรือว่าตัวท่านเองอะไรอย่างงี้ฮะ เป็นเรื่องที่ดี

แชมป์ : ผมคิดว่าถ้าเกิดว่าหลายๆคอนเทนต์ของเราสามารถไปถึงจุดนี้ได้ผมว่ามันดีนะ เราจะรู้สึกแบบ เราภูมิใจนะว่าเอออย่างน้อยเราเป็นสะพานเชื่อมให้เสียงของทุกคนเนี่ย มันไปถึงคนที่เขาดูแลจัดการ มันไปถึงคนที่เขามีอำนาจ ยังไม่รู้หรอกว่าการแก้ไขมันจะสำเร็จภายในปี 2 ปีหรือ 5 ปี 10 ปีแต่อย่างน้อย เออ เฮ้ย มันไปถึงว่ะ

RAINMAKER : การขอข้อมูลหรือข้อสัมภาษณ์ผู้ใหญ่ นักวิชาการ ยากมั้ย อธิบายให้เขาเข้าใจสิ่งที่เราจะสื่ออย่างไร

แชมป์ : จริงๆ เรื่องนี้ผมว่าไม่น่ายาก มันน่าจะเป็นเรื่องของการที่เรา approach เข้าไปหาคนที่เราอยากจะคุยด้วยมากกว่า ต้องอาศัยแบบลูกล่อลูกชน เพราะจะมีอยู่ 2 อย่างคือ “อ้อ! Echo เหรอ เฮ้ยๆ ชอบๆ กวนตีนดี มาดิๆ” กับ “อะไรคือ Echo ครับไม่รู้จัก” จะเจออยู่แค่นี้

ธันว์ : วิธีของเราก็คือเราไม่ได้สุ่มสี่สุ่มห้า เรารู้อยู่แล้วว่าคนนี้สนใจเรื่องนี้ ทำเรื่องนี้อยู่ เราก็บอกเขาไปตรงๆ ว่าผมกำลังเล่าเรื่องเดียวกับที่คุณเก่งอยู่นะ ผมขอยืมข้อมูลคุณหน่อย แล้วคุณเป็นคนเล่าเองเลย แต่ทีนี้หน้าตาของมัน วิธีการเล่าเรื่องมันอาจจะประหลาดหน่อย มันอาจจะไม่เหมือนสัมภาษณ์ในทีวีนะ อาจจะไม่เหมือนรายการข่าวนะ แล้วก็เอาตัวอย่างเก่าๆ เราไปให้ดู เขาก็จะเก็ตว่า อ๋อ มันเล่าได้ แล้วข้อมูลมันก็ครบนี่นา แล้วก็เข้าถึงคนกลุ่มใหม่ด้วย เพราะหลายๆท่านเขาก็รู้ครับ โดยเฉพาะนักวิชาการเขารู้ว่าเขาเขียนงานมาเนี่ย วิจัยเป็น 5 ปี 10 ปี บางทีก็มีคนอ่านไม่เท่าคลิปวิดีโอตัวนึงที่อยู่ในอินเตอร์เน็ตด้วยซ้ำ เขาก็อยากได้พื้นที่แบบนี้เหมือนกัน ในหลายๆ กรณีนะครับ

แชมป์ : อย่างเช่นเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ เราเจอกับนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ อาจารย์ชล ตอนนั้นเราทำเรื่อง ความจนมันแพง เห็นพูดกันมานานแล้วไอ้ความจนมันแพง ความจนมันแพงมันเป็นยังไง งานวิจัยด้านนี้ก็มีออกมารองรับแต่ว่ามันก็ไม่เคยถูกหยิบออกมาพูดแล้วมันเห็นภาพแล้วมันเข้าใจง่ายแล้วมันเสพได้แล้วมันสนุก พอเราทำได้ปุ๊บมันก็ยังจะมีกลุ่มนักวิชาการอีกจำนวนหนึ่งที่เขามีงานวิจัยตรงนี้มารอให้เราแปรรูปออกมาเป็นงานวิดีโอให้ได้ชมในวงกว้างกันอยู่

RAINMAKER : ถึงประเด็นจะดูหลากหลายมากแต่จะมีจังหวะที่ไอเดียตันบ้างไหม?

แชมป์ : ไม่มีนะ เพราะว่าเราประชุมกัน ผมตีเดือนละครั้งละกัน เดือนนึงประชุมวันเดียว แล้วทุกคนก็โยนไอเดียในหัวตัวเองลงมากองบนโต๊ะให้หมด โยนลงมาๆๆ เราได้ไอเดียกันประมาณซัก… ผมว่าต้องมี 60-70 ไอเดียต่อ 1 เดือน เดือนนึงมี 30 วัน ต่อให้เราทำกันได้วันละ 1 ไอเดีย ทำออกมาให้กลายเป็นชิ้นงานได้จริงๆ เนี่ยยังทำกันไม่ทันเลย ยังทำกันไม่พอเลย ใช่ไหม เรายังไม่เคยประสบปัญหาตันมุกกัน

บ๊อบ : มีปัญหาอย่างเดียวคือทำไม่ทันมากกว่า

แชมป์ : ใช่ ทั้งๆที่ทุกคนในทีมเราตัดต่อเป็น ทุกคนเขียนสคริปต์เป็นตัดต่อเป็น ไม่เป็นก็เอาไปเทรนด์ เพื่อจะได้เล่าเรื่องในอย่างที่ตั้งใจไว้ได้

ธันว์ : ประเด็นเนื้อหาผมว่ามันไม่ตันมั้งถ้าคุณยังอยู่บนโลกอะ บางทีเรื่องที่เล่าไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้ววันนี้แม่งก็มีเรื่องใหม่เข้ามาแล้ว

บ๊อบ : คอนเทนต์มันอยู่ทุกที่แหละ จริงๆ มองไปเห็นต้นกระบองเพชรมันก็เล่าได้ มันอยู่ที่ว่าจะหามุมไหนมาเล่าต่างหากจริงๆ แล้ว

RAINMAKER : วิดีโอที่เป็น Branded Content หรือคอนเทนต์โฆษณา Echo มีขั้นตอนการทำงานยังไงบ้าง

บ๊อบ : เรื่องนี้มันจะมีทั้งลูกค้าที่เข้าใจและยังไม่เข้าใจนะ ถึงรูปแบบที่เราทำอยู่ ลูกค้าที่เก็ตเลยมันก็มีแหละแล้วก็งานก็ออกไปแล้วด้วย แล้วก็แทบจะไม่ได้แก้อะไรเลย เขาปล่อยให้เป็นตัวเราเลย คือเขารู้ว่าสิ่งที่เขามี message เขาคืออะไรแล้วเขาคิดมาก่อนว่าเขาจะมา match กับวิธีการเล่าของ Echo ยังไงซึ่งแบบนี้มันก็จะไม่มีปัญหา แต่ปัญหาก็คืออย่างที่ทราบกัน คืองาน corporate อย่างนี้เขาไม่ได้เป็นงานออฟฟิศเล็กๆ ที่จะมีคนสองคนคิดแล้วมันจะใช้ได้เลย มันต้องผ่านกระบวนการภายใน 10-20 แผนกอะไรอย่างนี้มันเลยไม่สามารถจูนกันได้เร็วขนาดนั้น แต่ว่ายังไงครับ มีอะไรจะเสริมไหม เรื่องว่าเขาจะมองเรายังไง

แชมป์ : คือผมว่าการที่เรา character จัด มันก็มีข้อดีของมันนะ ข้อดีอย่างแรกคือมันสกรีนแล้วก็ดึงดูดลูกค้าที่จะเข้ามาหาเราทันที อัตโนมัติ ก็คือคนที่เข้ามาหาเรา ลูกค้าที่ approach เรา เข้ามาเป็น direct approach เนี่ยเขาจะรู้อยู่แล้วว่าไอ้พวกนี้มันบ้า มันเวรตะไล เฮ้ยแม่ง หยาบโลนว่ะ เป็นคนหยาบโลน มันสุดโต่งได้ แต่ทีนี้ถ้าเขาดูแล้วรู้สึกว่ามัน match กับแบรนด์ของเขามัน match กับ product ของเขา เขาก็ approach เราเข้ามา เพราะฉะนั้นเนี่ยเราก็จะดึงดูดทันทีกับกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ แต่ว่าข้อเสียของมันก็คือ เราก็จะ approach เข้าไปหากลุ่มลูกค้าที่ไม่ได้มี

บ๊อบ : มีความเป็นองค์กรสูง

แชมป์ : ยากหน่อย ก็มีข้อเสียข้อดีต่างกันไป แต่ถามว่าในเชิงธุรกิจแล้วเนี่ยเรายัง make money ไหมเราก็ยังพอไหวนะครับ ก็น้องๆ ได้ยินคลิปนี้แล้วก็ที่บ้านทำธุรกิจอะไรก็อาจจะลองติดต่อเข้ามาจ้างได้ อย่าง Branded คอนเทนต์มันคือเนื้อหาที่พยายามสื่อสารแบรนด์ แต่ว่าในไทยมันก็ยังไม่ได้นิยมมากนัก ก็จะออกไปทางเป็นหนังไปเลย แต่ไอ้ที่เป็นกึ่งสารคดีเนี่ยมันยังไม่ค่อยมีตัวอย่างด้วยอันนี้เราก็เข้าใจ มันจะเจอคนละครึ่งทางได้ไง

 

การทำ Branded คอนเทนต์มันคือ 2 แบรนด์มาเจอกัน

 

ในกรณีของเรานะ คือแบรนด์ของลูกค้าและแบรนด์ของเรา ทีนี้ถ้าเขาเข้าใจหรือเราพยายามอธิบายจนเข้าใจได้ก็เจอกันแบบเกือบๆ ครึ่งทางได้แล้วก็พอที่จะได้ประโยชน์ทั้งคู่ แต่หลายคนก็ยังเข้าใจว่าเรารับจ้างผลิตนะครับ เช่น เดินเข้ามาบอกว่า เฮ้ย ธันว์ ทำโฆษณาให้ชิ้นนึงดิ 1 นาทีมีตังค์เท่านี้ แล้วเดี๋ยวเขาจะเอาไปออกทีวีก็มี

RAINMAKER : เริ่มมีการเรียนวิดีโอที่เล่าในลักษณะแบบ Echo ว่าเป็นการทำวิดีโอสไตล์ Echo เรารู้สึกยังไง นิยามตัวเองจากที่เขาเข้าใจยังไงบ้าง

แชมป์ : เฮ้ยวิดีโอแบบ Echo ว่ะ!

บ๊อบ : เราไม่รู้อะ คือถ้ามาพูดกันเอง เฮ้ย โหทำแบบนี้ Echo เลยนี่จะรู้สึกแย่นะ

แชมป์ : เรากระดากปากกันมากเลยนะ

บ๊อบ : เอ้าเราถูกจับทางได้แล้วเหรอวะ

แชมป์ : มีอยู่ช่วงนึงก็มีคนติดพูดนะว่าเฮ้ยมันไม่ใช่สไตล์ Echo ในทีมเราเองเนี่ย ฟังแล้วต้องบอกว่า เฮ้ย ตบปากตัวเองด้วยรองเท้าแตะที่เปียกจนกว่ารองเท้าจะแห้ง อย่างนี้เราก็รู้สึก… แหม จะพูดว่าไงอะ

บ๊อบ : พูดมาตรงๆ เลยมั้ยอะ เราก็อปใครมา (หัวเราะ)

ธันว์ : ล้อเล่นๆ ก็ตอนแรกเราพยายามจะไม่มีสไตล์ด้วยซ้ำ มั้ย?

แชมป์ : ก็ไม่ขนาดนั้น

ธันว์ : ตอนนั้นเราคิดว่าอินเตอร์เน็ตมันมีอะไรให้ดูเยอะมาก ความสนใจหรือความต้องการในการเสพของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมันก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ อะเนอะ ผมคิดว่าถ้าวันนึงที่สไตล์ของเรามันชัดจนมันหยุดแล้วเนี่ย มันเป็นปัญหาของเรา

แชมป์ : ใช่

ธันว์ : อันนี้ก็ต้องหาข้อมูลกันว่าที่เขาบอกว่ามัน Echo มันคือตรงไหนบ้าง

บ๊อบ : คือเขาจับอะไรได้ เขาจับเรื่องมุมกล้องเหรอ เขาจับสไตล์การจัดแสงเหรอหรือว่าเนื้อหา หรือว่าอะไร แต่ถ้าเรื่องที่เห็นหน้าธันว์ไปโผล่ในวิดีโอบ่อยๆ มันเป็นเรื่องประหยัดค่าตัวนักแสดงเท่านั้นแหละ

ธันว์ : ก็เอาคนกันเองมาเล่น (หัวเราะ)

แชมป์ : แต่ถ้าเกิดถามจริงๆ ว่าเราคิดยังไงที่มีคนเรียกแบบนั้นเราก็รู้สึกดีนะ เราก็ดีใจๆ ก็ของแบบนี้มันก็ไม่ได้มีลิขสิทธิ์อะเนอะ ใครๆ ก็ทำได้ เทคโนโลยีอะไรมันก็เท่าๆ กันหมดแล้ว ใครทำได้ก็ดี

บ๊อบ : ทำตามเลยก็ไม่ว่านะ

แชมป์ : ไม่ว่า แล้วก็จะโทรเข้ามาถามก็ได้นะครับผม ซึ่งจริงๆ ก็เคยมีคนถาม เราก็บอก เราก็ไม่มีความลับอะไร ยินดีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเป็นตัวเราเองต่างหากที่เราจะหยุดนิ่งอยู่กับที่ไม่ได้ เราก็ต้องวิ่งตาม เราก็ต้องวิ่งหนีคนอื่นออกไปให้ไกลที่สุด

ธันว์ : คือถ้าเขาพูดในทางที่ดีในเชิงสรรเสริญว่า โห Echo มันเจ๋งจังเลยนะ ควรค่าแก่การทำ

บ๊อบ : เราก็ยินดีอยู่แล้ว

ธันว์ : เราก็ยินดี แล้วเราคิดว่าอยากให้ทำกันเยอะๆ ด้วย เพราะว่าถ้าเขาเชื่อว่าแบบนี้มันทำแล้วมันเกิดผลก็ช่วยกันทำเยอะๆ เดี๋ยวส่วนการที่เราจะวิ่งหนีทันไหมก็อีกเรื่องนึง

RAINMAKER : คิดว่ามันยังต้องปรับตรงไหน คิดว่าอะไรที่มันอิ่มตัวแล้วบ้าง

แชมป์ : ผมว่าเราต้องปรับปรุงกันอีกเยอะนะครับ ทั้งหมดเลย

บ๊อบ : เราก็มีคุยกันเองอยู่ เราก็คุยกันกับน้องๆ ในทีมหลายคนครับ ว่าวิธีการนำเสนอของเราบางทีมันรู้สึกมันไม่ fresh แล้ว เรารู้สึกเคยชินกับมันแล้ว แปลว่าเราต้องหาวิธีใหม่ๆ แล้ว

RAINMAKER : เปิดเพจมาได้เกือบปีแล้ว ที่ผ่านมามีฟีดแบ็คเป็นอย่างไรบ้าง

แชมป์ : มันก็มีทั้งเสียงสรรเสริญแล้วก็มีทั้งเสียง… เราจะเรียกว่าอะไรดี

บ๊อบ : มีทั้งดอกไม้และก้อนหิน

แชมป์ : โห สวยหรูทีเดียวนะครับผม แต่มันก็ดีนะครับก็คือเราก็ไม่ได้อยากจะได้แต่คำชมอย่างเดียว เราก็รับฟังคำด่าอยู่เสมอนะครับ เราก็รับฟังนะครับ เราจะได้เอามาปรับปรุงนะครับ แล้วก็อะไรเราพลาดไปเราก็ไม่ได้มีเจตนาที่จะไปทำอะไรให้มัน…

บ๊อบ : offend เขา

แชมป์ : เออ offend ใครอะไรอย่างนี้หรอกนะครับ เราก็รับฟังเสมอนะครับเสียงติชม

RAINMAKER : สุดท้ายอยากจะฝากอะไรถึงน้องรุ่นใหม่ๆ ที่อยากทำวิดีโอแนวสนุกๆ แล้วก็ยังสะท้อนประเด็นสังคมไปด้วยแบบ Echo

ธันว์ : ถ้าอยากทำก็ทำเถอะครับ ทำมาเลย ทำมาแข่งกัน ทำมาเรียนรู้กัน แบ่งกันดู ช่วยๆ กัน จริงๆ ก็อยากได้แค่นี้ คือมองในเชิงธุรกิจด้วยนะ ถ้ามันมีคนทำแบบนี้เยอะขึ้นเรื่อยๆ มันก็จะมีการผลักดันให้มาตรฐานมันขึ้นสูงไปเรื่อยๆ มันก็เป็นผลดีต่อทางพวกเราเองที่จะหาทางในการพัฒนาตัวเองในฐานะผู้ผลิตเนอะ ในฐานะคนดูก็ได้เสพสิ่งที่มันพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ เราคิดว่ายิ่งทำยิ่ง work

แชมป์ : อุตสาหกรรมมันก็ก้าวหน้านะครับ

บ๊อบ : แล้วก็ผมคิดว่าถ้าจะทำอะไรอย่างนี้ไม่ต้องรอพร้อม คือไม่ต้องรอมีคอมพ์แรงๆ ก่อนแล้วค่อยทำ รอมีกล้องดีๆ ก่อนแล้วค่อยทำ คือจริงๆ ทุกวันนี้มือถือตัวเดียวมันทำได้ทุกอย่าง ถ่าย-ตัดต่อได้ คือฉะนั้นอย่ารอพร้อม ทำเลย เหมือนประชาธิปไตยแหละ มันไม่ต้องรอพร้อม apply การใช้ได้เลย อย่าไปเชื่ออะไรที่เขาบอกว่าคนไทยยังไม่พร้อม ต้องพร้อมก่อนแล้วค่อยมี อย่าไปเชื่อเขา อย่ารอพร้อม

แชมป์ : ก็… ผมคิดว่าน้องๆ เก่งอะ เดี๋ยวนี้เก่งกันมากๆ แล้ว สมัยผมเป็นนักศึกษาผมยังหาปุ่มกด record ไม่เจอด้วยซ้ำ ผมยังไม่รู้เลยว่าไอ้ปุ่มนี้คืออะไร ปุ่มแดงกดไปมันจะระเบิดหรือเปล่า สมัยนั้นยังไม่มีกล้อง DSLR เนอะ แล้วก็สมัยนี้เทคโนโลยีอะไรมันก็เอื้อด้วยอะครับ ก็อย่างที่ทั้งพี่ธันว์แล้วก็พี่บ๊อบบอก ก็ทำไปเลยเต็มที่ แล้วก็ไม่ต้องรอนู่นนี่หรอก เดี๋ยวนี้เนี่ยอะไรมันก็ง่ายไปหมดแล้วเรื่องเทคโนโลยี เราอยู่ที่ไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งน้องๆ เดี๋ยวนี้เนี่ย สดกว่าเราเยอะ แต่ถ้ามีอะไรให้ช่วยก็ยินดีให้คำปรึกษาครับ

Copyright © 2025 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save