ช่วงหลังมานี้ หลายคนคงเห็น ‘Virtual Influencer’ แจ้งเกิดกันมากมายบนโลกออนไลน์ ทั้งจากหลากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งอเมริกา หรือแถบเอเชียอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลี จีน และที่ไทยของเราเอง ที่เพิ่งจะเปิดตัวไปไม่นานมานี้
ถึงจะดูเป็นเรื่องใหม่สำหรับบางคน แต่ที่จริงแล้ว Virtual Influencer ได้มีมาสักระยะนึงแล้ว โดยเริ่มเป็นกระแสตั้งแต่ช่วงปี 2020 ที่แบรนด์เริ่มขยับตัวตามเทรนด์ เพื่อมีส่วนร่วมกับ Virtual Influencer ในการเตรียมพร้อมแคมเปญ Influencer marketing ในอนาคต
Virtual Influencer คืออะไร?
คือ ผู้มีอิทธิพลทางความคิดแบบเสมือนจริง ไม่ใช่มนุษย์ แต่ถูกพัฒนามาจากเทคโนโลยี ผ่านการปั้นโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือ CGI ขึ้นมา ซึ่งบางบริษัทก็จะสร้างขึ้นมาแค่ส่วนหัวลงไปในภาพถ่ายจริงเท่านั้น แต่สำหรับบางคนก็จะเป็นทั้งตัวจริง ๆ เลย
ถึงแม้รูปร่างหน้าตาจะถูกสร้างขึ้นมา แต่ไลฟ์สไตล์ต่าง ๆ กลับเหมือนกับมนุษย์ทั่วไปที่ใช้ชีวิตอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง ทำให้ Virtual Influencer สามารถเข้าถึงผู้คนหนุ่มสาวบนโซเชียลมีเดียได้อย่างง่ายดาย
ทำไมโลกต้องมี Virtual Influencer?
โลกในทุกวันนี้มีความปรับเข้าสู่โลก Metaverse ที่มีการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการพัฒนาสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าสักวันจะต้องมี Virtual Influencer เกิดขึ้นบนโลกของเรา
โดยการถ่ายทอดไลฟ์สไตล์ชีวิตประจำวันผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เสมือนเป็นคนจริง ๆ ที่สำคัญจะไม่มีวันแก่ สามารถปรับแต่งทุกอย่างได้ตามต้องการ จุดนี้จึงอาจช่วยตอบโจทย์แบรนด์ได้ดีมากยิ่งขึ้น จนแบรนด์ระดับโลกหลายแรนด์อย่าง PRADA, CHANEL, Louis Vuitton, Dior เองก็นำ Virtual Influencer มาร่วมงานกับแบรนด์ด้วยเช่นกัน
ซึ่งอินฟลูเอนเซอร์ไม่จำเป็นต้องออกอีเวนต์จริง ๆ เพราะมีกราฟิกดีไซเนอร์ที่คอยออกแบบรูปภาพให้สำหรับงานต่าง ๆ เพื่อโพสต์ลงโซเชียลมีเดียอยู่แล้ว ซึ่งผลตอบรับก็ค่อนข้างดี ยอดเอ็นเกจเมนต์เรียกได้ว่าพุ่งกว่าอินฟลูเอนเซอร์จริงก็มี
นอกจากนี้ยังสามารถปรับแต่งให้อยู่ได้ทั้งในภาพนิ่ง และวิดีโอ และไม่ได้อยู่แค่โลกออนไลน์ แต่ยังสามารถไปปรากฏตัวบนโทรศัพท์ ธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงนิตยสารได้เช่นกัน
จุดแข็งที่แบรนด์ควรหันมามอง Virtual Influencer
ความไร้ข้อจำกัดของ Virtual Influencer ทำให้แบรนด์สามารถควบคุมทุกอย่างได้ 100% และที่สำคัญคือเหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีข้อจำกัดมากมาย
นอกจากนี้ยังมีความสมบูรณ์แบบมากกว่า ทั้งด้านรูปร่างหน้าตา และอายุที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง
ที่สำคัญคือ Virtual Influencer สามารถรักษาภาพลักษณ์ได้อย่างมั่นคง ความเสี่ยงต่อภาพลักษณ์ขอแบรนด์จึงค่อนข้างต่ำ เพราะไม่ได้มีชีวิตจริง หรือพื้นหลังที่มีพฤติกรรมที่ทำให้มีแนวโน้มเกิดเรื่องอื้อฉาว หรือสิ่งที่กระทบต่อภาพลักษณ์แบรนด์ได้
นอกจากนี้ยังมีความยืดหยุ่นในการทำงานมากกว่า โดยเฉพาะเรื่องตารางงาน ที่ไม่ต้องกังวลเรื่องความแน่น หรือการชนกันของตารางงาน ไม่มีปัญหาสุขภาพ หรืออุบัติเหตุกระทันหันที่ทำให้ต้องเลื่อนรับงาน รวมถึงสามารถไปปรากฏตัวในที่ต่าง ๆ ได้หลายที่ในครั้งงเดียว
แถมค่าใช้จ่ายคุ้มค่ากว่าในระยะยาว เมื่อเทียบกับอินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นคนจริง ๆ และ Virtual Influencer สามารถสร้างความเชื่อมโยงกับกลุ่มเปป้าหมายวัยหนุ่มสาวได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีไลฟ์สไตล์ที่ตอบโจทย์คนยุคใหม่นั่นเอง
เหล่า Virtual Influencer น่าจับตามอง
-
Miquela (@lilmiquela)
อินฟลูเอนเซอร์สายแฟชัน และศิลปิน เชื้อสายอเมริกัน-บราซิล วัย 19 ปี ที่แจ้งเกิดตั้งแต่ปี 2016 โดยบนิษัท Brud Records แถมยังเป็นนักเสรีนิยมที่เคลื่อนไหวเพื่อกลุ่ม LGBTQ+ ที่มีเพลงพร้อมเอ็มวีเป็นของตัวเอง
รวมถึงร่วมแคมเปญของ CALVIN KLEIN กับ Bell Hadid ที่เป็นที่ฮือฮาอย่างมาก และเคยร่วมงานกับ Samsung ในแคมเปญ #teamgalaxy อีกด้วย นอกจากนี้เธอยังได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารไทม์ให้เป็น 1 ใน 25 ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในอินเทอร์เน็ต เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา
-
Imma (@imma.gram)
อินฟลูเอนเซอร์สายนางแบบคนแรกจากญี่ปุ่น เปิดตัวเมื่อปี 2018 ภายใต้สังกัด Aww Inc. เมื่อเปิดตัวไม่นานก็ได้เป็นนางแบบให้กับแบรนด์ KATE และถ่ายแบบแฟชันรวมถึงร่วมงานกับแบรนด์ชื่อดังอย่าง Valentino, Hermes, Tiffany and Co, Porche, IKEA และ Burberry เป็นต้น
นอกจากนี้เธอยังมีส่วนร่วมในพิธีปิดงาน Paralympics 2020 อีกด้วย (ในคลิปวิดีโอตั้งแต่วินาทีที่ 9:38 เป็นต้นไป)
สามารถพบเจอเธอได้บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เช่น Instagram, Facebook, Twitter, TikTok, Weibo, Zepeto และ Douyin
-
Rozy (@rozy.gram)
อินฟลูเอนเซอร์สาววัย 22 ปี จาก Sidus Studio X บริษัทจากเกาหลี ที่มีสปอนเซอร์กว่า 100 เจ้า สร้างรายได้จากงานโฆษณาไปกว่าพันล้านวอน หรือประมาณ 27 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้เธอก็ได้มีผู้ติดตามทะลุแสนคนไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นอกจากภาพนิ่งแล้ว เธอยังมีผลงานเป็นนางแบบโฆษณาให้กับบริษัทประกัน Shinhan Life ของเกาหลีที่มาในรูปแบบของวิดีโออีกด้วย
-
Ayayi (@ayayi.iiiii)
อินฟลูเอนเซอร์สาว จากจีน โดยบริษัท RM Inc. ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาบน Red จุดเด่นของเธอคือความสมจริงแม้กระทั่งผิว และแสงเงา ที่ทำให้คนตกตลึงในความสวยงามสมจริง จนไปเข้าตา Guerlain แบรนด์น้ำหอมจากฝรั่งเศส ซึ่งนับเป็นการร่วมงานครั้งแรกของแบรนด์ด้วย
-
Ai Ailynn (@ai_ailynn)
หรือไอรีน อายุ 21 ปี จากเอเจนซี SIA Bangkok สัญชาติไทย ที่เพิ่งเปิดตัวครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา และเพิ่งผ่านวันเกิดครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม โดยเธอมีคาแร็กเตอร์เป็นสาวน้อยสดใส ที่มาพร้อมความมั่นใจ พ่วงอาชีพครีเอทีฟที่พร้อมเปิดรับงานจากแบรนด์อย่างเต็มที่ในอนาคต
นอกจากนี้ยังมี Bangkok (@bangkoknaughtyboo) ที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์รุ่นพี่ของไอรีนอีกด้วย เรียกว่ายังมี Virtual Influencer ที่ถูกสร้างขึ้นมาอีกมากมายทั้งไทยและต่างประเทศ และคงจะเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยเมื่อเวลาผ่านไป
ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ ในสถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้ Virtual Influencer ค่อนข้างได้เปรียบอย่างมากในจุดนี้ คงเป็นที่น่าติดตามต่อไปว่าจะมีจุดเด่นอะไรที่สามารถครองใจคน หรือสามารถนำเสนอความ Realistic ออกมาได้มากพอ ๆ กับอินฟลูเอนเซอร์ตัวจริง
รวมถึงสร้างการเปลี่ยนแปลงก้าวใหญ่ให้กับแบรนด์ในระยะยาวได้หรือไม่ และหากหมดยุคของโควิดไป Virtual Influencer จะยังเป็นกระแสฮิตเหมือนเดิมอยู่หรือเปล่า แต่ถึงอย่างไรการที่เราได้เห็นโลกของ Virtual Influencer ค่อย ๆ เติบโตขึ้น ก็นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญของ Metaverse Human ส่วนหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรก็คงต้องคอยติดตามกันต่อไป
ที่มา : VOGUE