ในช่วงสิ้นปี Pantone หลายคนจะพบว่าเพื่อนๆ ในวงการออกแบบหรือการพิมพ์มักจะแชร์เกี่ยวกับเรื่องการประกาศสีของ Pantone ในปีถัดไป อ้าว แล้วสีที่ Pantone ประกาศขึ้นมานั้น เราต้องอะไรยังไงกับมัน สีนั้นมาจากอะไร มีอิทธิพลอย่างไร?
รู้จักกับ Pantone
Pantone คือชื่อบริษัทที่ทำธุรกิจการพิมพ์และการออกแบบในสหรัฐอเมริกา หลายคนจะรู้จักกันในนามผู้ที่กำหนดมาตรฐานการเทียบสีที่เรียกว่า Pantone Matching System (PMS) เพื่อใช้ในโรงพิมพ์ทั่วโลก
ให้เราลองนึกถึงมาตรฐานของสีที่เราคุ้นเคยอย่าง CMYK หรือ RGB นั่นแหละครับ PMS ก็เป็นมาตรฐานอันหนึ่งสำหรับใช้ในงานพิมพ์ เพื่อให้เข้าใจตรงกันว่าสีที่ออกมาจะเป็นแบบนี้เป๊ะๆ ไม่มีผิดเพี้ยน
ซึ่งเวลาสั่งพิมพ์งานชิ้นหนึ่งก็จะขึ้นอยู่กับว่าทางลูกค้าและทางโรงพิมพ์คุยกันด้วยมาตรฐานของสีแบบไหน อาจจะเป็น CMYK หรือ PMS หรืออาจจะใช้ทั้งสองมาตรฐานในงานหนึ่งชิ้นก็ยังได้
นอกจากนี้ทาง Pantone ก็ได้กำหนดสีพร้อมรหัสที่เป็น ID ของสีนั้นๆ ออกมาสำหรับใช้ในการนิยามชื่อของสีตามมาตรฐาน Pantone คนที่ทำงานด้านนี้ก็จะมี Pantone formula guide ติดออฟฟิศเอาไว้สำหรับเลือกสีต่างๆ ที่ต้องการใช้งาน
“พี่ครับ รบกวนช่วยพิมพ์พื้นหลังตรงนี้ออกมาเป็นสีแดงหน่อย สีแดง PANTONE 1665 C” โรงพิมพ์ก็จะเข้าใจตรงกันทันทีว่าเป็นสีแบบไหน เหมือนเป็นภาษาสากลในการคุยเรื่องสำหรับงานพิมพ์นั่นเอง
ลองเข้าไปจิ้มเล่นกันได้ที่ : pantone.com/color-finder
ความแตกต่างระหว่าง CMYK และ PMS
การพิมพ์โดยใช้สีของ CMYK นั้นมาจากสี่สีเป็นหลัก อันได้แก่ cyan, magenta, yellow และ key โดยการนำจุดเล็กๆ ของแต่ละสีมาผสมกันหรืออาจจะใช้สีเดียวแต่ลดเปอร์เซ็นต์ความเข้มเพื่อให้ดูอ่อนลง
แต่ถ้าเราคุยในกันด้วยมาตรฐาน PMS เค้าก็จะใช้การพิมพ์ที่เรียกว่า spot color ซึ่งเป็นสีนั้นๆ เพียงสีเดียวในส่วนที่ต้องการ (ซึ่งจะใช้สีจาก Pantone หรือไม่ก็ได้) ซึ่งก็จะต้องใช้เครื่องพิมพ์สำหรับ spot color โดยเฉพาะด้วย
อย่างไรก็ตาม มาตรฐานสีแต่ละแบบไม่ได้มีอะไรดีกว่ากัน เพียงแต่ว่างานชิ้นไหนเหมาะกับการพิมพ์ด้วยมาตรฐานแบบไหนนั่นเอง
PANTONE Color of the year
ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา Pantone Color Institute ได้ประกาศสีที่เรียกว่าเป็น “Color of the Year” ออกมา ซึ่งเป็นเทรนด์สีที่มาจากการคาดการณ์แนวโน้มสีทั่วโลก พร้อมทั้งบอกเล่าถึงเรื่องราวที่กำลังจะเป็นไปของโลกใบนี้ด้วยความหมายแฝงในสี
สำหรับสีที่จาก Pantone ที่ถูกคัดเลือกให้เป็น Color of the year คล้ายกับเป็นสีที่เป็นเทรนด์ในช่วงปีนั้น มักจะถูกใช้ในการกำหนดทิศทางในการใช้สีในหลายแง่มุม เพื่อสื่อสารและบ่งบอกตัวตนของงานศิลปะด้วยสี
สีดังกล่าวจะมีอิทธิพลกับงานออกแบบในหลายวงการ ทั้งสิ่งพิมพ์, ผลิตภัณฑ์, แฟชั่น, การออกแบบภายใน และอีกมากมาย
แน่นอนว่าเราจะเห็นโทนสีนี้ถูกนำมาใช้ในงานศิลปะสำคัญต่างๆ
สำหรับ Color of the Year 2020 ก็ออกมาแล้วไม่นานมานี้ เป็นสี Classic Blue จากค่าสี PANTONE 19-4052
โดย Pantone ให้คำกล่าวกับสีนี้ว่า “ความสงบ, ความเชื่อมั่น และการเชื่อมต่อ เฉดสีน้ำเงินนี้แสดงให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือและความมั่นคง ในขณะที่เรากำลังจะก้าวเข้าสู่ยุคใหม่”
“มันเป็นสีที่คาดการณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต จะเกิดอะไรขึ้นบ้างนะ เมื่อเข้าสู่ช่วงเวลาเย็น” กล่าวโดย Laurie Pressman ผู้บริหารของ Pantone ผู้อยู่เบื้องหลังการเลือกสีประจำปีในครั้งนี้
เรียบเรียงโดย
ทีมงาน RAiNMaker
ที่มา :