Case StudyJournalism

Avatar

Nutn0n February 24, 2020

ปฏิบัติการข่าวสาร, Fake News, IO ต่างกันอย่างไร ที่เรากำลังเจออยู่เรียกว่าอะไร

มนุษย์ต่างจากสัตว์อื่น ๆ อย่างไร ในหนังสือเรื่อง Life 3.0 ของ Max Tegmark นักฟิสิกส์จาก MIT ได้อธิบายระดับขั้นของสิ่งมีชีวิตด้วยการแบ่งเป็น 3 ขั้นได้แก่ Biological, Cultural และ Bio-Technological ซึ่งความแตกต่างของมันอยู่ที่ว่า มนุษย์เราไม่ได้ใช้ชีวิตและสืบพันธ์ุ แสดงออก และรับรู้แค่ผ่านกลไกลทางชีววิทยาหรือ Biological เท่านั้น แต่เรามีสิ่งที่เรียกว่า Cultural หรือวัฒนธรรม ทำให้มนุษย์พันธุ์เดียวกัน แต่กลับรับรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ไม่เหมือนกัน และมีความรู้สึกนึกคิดเป็นของตัวเอง หรือร่วมกับมนุษย์กลุ่มอื่น ๆ เกิดเป็นกลุ่มก้อน หมู่ เหล่า ความเชื่อ ศาสนา ค่านิยม ซึ่งทั้งหมดนี้ อาศัยสิ่งที่เรียกว่าการสื่อสาร หรือ Communication

ด้วยเหตุนี้การสื่อสารจึงกลายเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ มนุษย์หลีกเลี่ยงการสื่อสารไม่ได้ มีคำกล่าวโดยนักจิตวิทยาชื่อ Paul Watzlawick ที่ว่า One cannot not communicate หรือไม่มีใครที่ไม่สื่อสารได้ ซึ่งเราสื่อสารกันแบบไหน ก็ให้ไปอ่านในบทความเรื่อง ย้อนดูตำรา Rhetoric บทเรียนการสร้างคอนเทนต์ให้ถูกใจ ที่มีมาแต่ยุคกรีก ซึ่งเราเลยเล่าไปก่อนหน้านี้แล้ว

แต่ “สื่อ” ล่ะ อะไรบ้างที่เป็นสื่อ สารอยู่ดี ๆ เกิดขึ้นไม่ได้เข้าไปอยู่ในตัวมนุษย์ แต่ต้องอาศัยตัวกลาง Medium หรือ Media ในการพาไป และเมื่อเป็นเช่นนี้ ข้อความที่ออกมาจึงไม่มีวันเหมือนกับต้นฉบับ แต่จะผิดเพี้ยนไปมากแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กลับตัวกลางนี่เอง

ตัวกลางอาจจะไม่ใช่สิ่งของหรือวัตถุ เช่น อากาศ, สายสัญญาณหรือแสงไฟ หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า แต่ตัวกลางที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องมีก็คือมนุษย์ และมนุษย์นั้นเต็มไปด้วยความ Bias ความต้องการ มุมมองส่วนตัว ที่ผสมผสานจากการเป็น Cultural Life ทำให้สารนั้นถูกดัดแปลงแก้ไข และไม่มีวันตรงจากต้นฉบับของมัน

กำเนิด Fake News, Propaganda และ IO คืออะไรกันแน่ อะไรจริง ปลอม

ช่วงนี้เราได้ยินคำว่า IO หรือ Information Operation กันค่อนข้างหนาหู จากความอื้อฉาวเรื่องกรณีกองทัพบก มีหน่วยงานที่ออกมาทำหน้าที่ “ใส่ข้อมูล” เข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ต อ้างอิงจากเอกสารที่ถูกนำมาเผยแพร่โดยเพจ พระเจ้า ซึ่งอ้างว่าเป็นเอกสารที่กองทัพบกภายใต้รัฐบาลสืบทอดอำนาจ คสช. ใช้เพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้ามในเอกสารชัดเจนว่าคือ พรรคอนาคตใหม่ และกลุ่มผู้ที่ถูกเรียกว่าไม่จงรักภักดีต่อสถาบัน ทำให้กระแสเรื่อง IO กลับมาถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางอีกครั้ง

แล้ว IO หรือ Information Operation คืออะไรกันแน่ จริง ๆ แล้ว คำนี้มาจากวิธีคิดของกองทัพสหรัฐฯ ที่บอกว่าในการทำสงคราม ปัจจุบันไม่ได้มีแค่การรบกันในทาง Physical อย่างเดียว แต่มีการรบกันในเชิง Cultural หรือในทางวัฒนธรรม ซึ่งคำจำกัดความนี้ก็ว้างพอสมควร หมายความว่าอะไรก็ตามที่เป็นการแทรกแซงทางวัฒนธรรม การออกข่าว, การร้องเพลง, การโปรยใบปลิว ล้วนแต่เป็นหนึ่งในวิธีการทำ IO

แต่ IO ที่อยู่ในคำจำกัดความของคนไทยนั้น จะพูดถึงการกระทำของกองทัพบกเสียมากกว่า คำถามก็คือแล้ว IO กับ Fake News ต่างกันอย่างไร

คำว่า Fake News เกิดขึ้นมาช่วงท้าย ๆ ในช่วงของ Donald Trump ที่เรียกสื่อที่ตัวเองไม่ชอบว่า Fake News และคำว่า Fake News ก็เป็น Buzz Word หลังจากนั้นมา ในขณะที่ New York Times เคยออกมาเขียนบทความเรื่อง How Hitler Pioneered ‘Fake News’ ซึ่งเป็นการยกเอาการสร้าง Propaganda (การชวนเชื่อ) มาสร้างลัทธินาซีขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ที่คนชอบเรียกว่า Proganda แต่นั่นไม่ใช่สิ่งสำคัญ ว่ามันจะเป็น Fake News หรือ Propaganda อะไร สิ่งสำคัญคือเราแค่เรียกมันจากบริบทสังคมที่เปลี่ยนไปต่างหาก

นั่นหมายความว่า ไม่ว่าจะ IO จะ Fake News, Propaganda ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นการพูดถึง การแทรกแซงทางวัฒนธรรม (Cultural) ซึ่งเป็นระดับขั้นที่ 2 จากแนวคิดของ Max Tegmark ใน Life 3.0 ทั้งสิ้น และเมื่อรวมจากแนวคิดของทฤษฏีการสื่อสาร การส่งต่อผ่านตัวกลาง (media) ใด ๆ ไม่มีทางส่งได้ในรูปแบบเดิม

นั่นทำให้ไม่ว่าจะเป็น IO, Fake News, Propaganda ไม่อาจบอกได้ว่าสิ่งนั้นเป็นจริงหรือเท็จ เพราะมันคือสาร และสารไม่ว่าจะมาในรูปแบบไหน ใครสร้าง จะยุคกรีกโบราณ หรือจะยุค Twitter ก็ล้วนแต่ผ่านการดัดแปลงโดยตัวกลางทั้งนั้น คำถามก็คือ แล้วอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุด สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการไม่สนว่าเขาจะเรียกมันว่าอะไร แต่แบ่งให้ได้ว่ามันคืออะไรต่างหาก เช่น Fact (ข้อเท็จจริง) หรือ Opinion (ข้อคิดเห็น) หรือ Objective (ภววิสัย) หรือ Subjective (อัตวิสัย) ใครที่ไม่เข้าให้ไปอ่านบทความเรื่อง หัดแยกข้อเท็จจริง และข้อคิดเห็น เพื่อสร้างคอนเทนต์ที่ดี

และสิ่งที่เป็นอัตวิสัยหรือภววิสัยนี่แหละที่จะบอกว่า สิ่งนั้นคืออะไร (ไม่ได้พูดว่าให้เชื่อหรือไม่เชื่อด้วยนะ แค่บอกว่ามันคืออะไร) การแยกแยะ Objective และ Subjective เป็นสิ่งที่สำคัญมากในการรับรู้ เพราะมันทำให้เราเข้าใจ Life ในรูปแบบของ Cultural ว่าชุดความจริงจริง ๆ ไม่มีเลย ตราบใดที่มนุษย์ยังคงใช้ชีวิตและกำหนดชะตาชีวิตของตนและผู้อื่นผ่านสิ่งที่เรียกว่า “การสื่อสาร”

One cannot not communicate รวมถึงกองทัพบกก็เช่นกัน

เรียบเรียงโดย ทีมงาน RAiNMAKER

Copyright © 2025 RAiNMaker. All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save